มหาศึกชิงบัลลังก์ (บันเทิงคดี)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก A Song of Ice and Fire)
มหาศึกชิงบัลลังก์
ผู้ประพันธ์จอร์จ อาร์. อาร์. มาร์ติน
ชื่อต้นฉบับA Song of Ice and Fire
ประเทศสหรัฐอเมริกา
ภาษาอังกฤษ
ประเภทแฟนตาซีระดับสูง[1]
สำนักพิมพ์
จัดพิมพ์เมื่อสิงหาคม 2539 – ปัจจุบัน
ประเภทสื่อสิ่งพิมพ์ (ปกแข็งและปกอ่อน)
หนังสือเสียง

มหาศึกชิงบัลลังก์ (อังกฤษ: A Song of Ice and Fire) เป็นชุดนวนิยายแฟนตาซีระดับสูง เขียนโดย จอร์จ อาร์. อาร์. มาร์ติน ผู้ประพันธ์นวนิยายและผู้เขียนบทภาพยนตร์ชาวอเมริกัน เริ่มชุดในปี 2534 และจัดพิมพ์เกมล่าบัลลังก์ซึ่งเป็นเล่มแรก ในปี 2539 มาร์ตินค่อย ๆ ขยายไตรภาคที่วางโครงไว้เดิมเป็นเจ็ดเล่ม เล่มห้า มังกรร่อนระบำ (A Dance with Dragons) ใช้เวลาเขียนห้าปีกระทั่งจัดพิมพ์ในปี 2554 ขณะนี้ เล่มหก ชื่อ The Winds of Winter อยู่ระหว่างการเขียน

เรื่องราวของมหาศึกชิงบัลลังก์เกิดขึ้นในทวีปสมมติ เวสเทอรอสและเอ็สซอส โดยมีประวัติศาสตร์หลายพันปี บันเทิงคดีชุดนี้บอกเล่าในตัวละครมุมมองบุคคลที่สาม ซึ่งมีจำนวนมากถึง 31 ตัวละครจนถึงเล่มห้า เกี่ยวข้องกับสามเรื่องราว ได้แก่ บันทึกเหตุการณ์สงครามระหว่างราชวงศ์หลายตระกูลเพื่อชิงการควบคุมเวสเทอรอส ภัยคุกคามจากอมนุษย์เหนือธรรมชาติที่จำศีลอยู่ซึ่งอาศัยอยู่พ้นกำแพงน้ำแข็งมหึมาทางพรมแดนทิศเหนือของเวสเทอรอส และความทะเยอทะยานของเดเนอริส ทาร์แกร์เรียน พระราชธิดาที่ทรงถูกเนรเทศของพระมหากษัตริย์ที่ถูกปลงพระชนม์ในสงครามกลางเมืองไม่นานก่อนพระนางประสูติ ที่จะเสด็จกลับเวสเทอรอสพร้อมด้วยมังกรและอ้างสิทธิ์เหนือราชบัลลังก์อันชอบธรรม

มาร์ตินได้รับแรงบันดาลใจจากเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ อย่างยุคสงครามดอกกุหลาบของอังกฤษ เขาแต่งขัดสัญนิยมของประเภทแฟนตาซีระดับสูง บันเทิงคดีชุดนี้ได้รับการยกย่องสำหรับความสมจริง โดยให้การยุทธ์และเล่ห์การเมืองอยู่เหนือเวทมนตร์ เล่มแรกไม่มีเวทมนตร์ในทางปฏิบัติเลย แต่เวทมนตร์เริ่มมีอยู่มากขึ้นในแต่ละเล่ม ความรุนแรง เพศสภาพและความกำกวมทางจริยธรรมมักถูกแสดงโดยตัวละครที่ออกชื่อกว่าหนึ่งพันตัวละคร ตัวละครหลักมักถูกฆ่าเพื่อที่ผู้อ่านไม่สามารถวางใจว่าผู้ที่สมเป็นวีรบุรุษอยู่รอดปลอดภัย โครงสร้างหลายมุมมองทำให้สามารถสำรวจตัวละครได้จากหลายด้าน เพื่อที่ผู้ที่สมเป็นตัวโกงจะได้ให้มุมมองของตนบ้าง ตรงกันข้ามกับการเล่าเรื่องคนเดียว โครงสร้างนี้สามารถเสนอสารสนเทศที่ชวนให้ไขว้เขวเพราะถูกการตีความเหตุการณ์ของตัวละครแต่ละตัวบิดเบือนไป แทนที่จะเป็นการนำเสนอข้อเท็จจริงอย่างแท้จริง มหาศึกชิงบัลลังก์ยังได้รับการวิจารณ์เชิงวิพากษ์จากการพรรณนาถึงหญิงและศาสนาที่หลากหลาย

แม้ทีแรกจะจัดพิมพ์โดยไม่มีการโฆษณายิ่งใหญ่ ปัจจุบันหนังสือในชุดขายได้กว่า 15 ล้านเล่มทั่วโลก[2] และได้รับการแปลเป็นภาษาต่าง ๆ กว่า 20 ภาษา เล่มสี่และเล่มห้าขึ้นอันดับหนังสือขายดีเดอะนิวยอร์กไทมส์ทันทีที่วางจำหน่าย[3] ในบรรดางานดัดแปลงจำนวนมากมีนวนิยายขนาดสั้น ซีรีส์ทางโทรทัศน์ มหาศึกชิงบัลลังก์ ทางเอชบีโอ การดัดแปลงเป็นหนังสือการ์ตูน ตลอดจนเกมไพ่ เกมกระดานและวิดีโอเกมต่าง ๆ

อ้างอิง[แก้]

  1. Flood, Alison (April 13, 2011). "George RR Martin: Barbarians at the gate". guardian.co.uk. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-04-04. สืบค้นเมื่อ January 21, 2012.
  2. Barber, John (July 11, 2011). "George R.R. Martin: At the top of his Game (of Thrones)". theglobeandmail.com. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-07-13. สืบค้นเมื่อ August 18, 2011.
  3. Smith, Dinitia (December 12, 2005). "A Fantasy Realm Too Vile For Hobbits". nytimes.com. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-04-04. สืบค้นเมื่อ January 21, 2012.