3 จีในประเทศไทย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
แผนที่พื้นที่ให้บริการ 3G ของเครือข่ายทรูมูฟในกรุงเทพมหานคร ปัจจุบันยุติการให้บริการแล้วและถูกแทนที่โดยทรูมูฟ เอช ซึ่งมีพื้นที่บริการที่กว้างกว่า

3 จีในประเทศไทย เป็นความพยายามในการก้าวเข้าสู่การให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระยะที่ 3 ของประเทศไทย ซึ่งการให้บริการดังกล่าวจำเป็นต้องมีการนำคลื่นความถี่ชุดใหม่ที่ไม่ได้ใช้งานและไม่มีผู้ถือครองอื่นใดนอกจากกองทัพไทยออกมาใช้งานเป็นครั้งแรก นั่นคือคลื่นความถี่ 2100 เมกกะเฮิร์ตซ์ ท่ามกลางความสับสน รวมถึงการเปลี่ยนโครงสร้างทางการเมือง และการบริหารคลื่นความถี่ในประเทศไทยที่ถูกบังคับย้ายเข้ามาอยู่ภายใต้การดูแลของหน่วยงานอิสระแทนหน่วยงานกำกับการดูแลการสื่อสารในประเทศไทยในขณะนั้น ทำให้การพัฒนา 3 จีในประเทศไทย จึงล่าช้าไปจากกำหนดการของโลกนานนับสิบปี

จนในที่สุด 3 จี ก็สามารถเริ่มทดลองให้บริการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 แต่ก็เกิดปัญหามากมายและยังไม่มีการให้บริการอย่างเป็นทางการนับจากนั้นจนถึงอีกหลายปีต่อมา ปัจจุบัน เอไอเอส ดีแทค ทรูมูฟ เอช และเอ็นที มีพื้นที่ให้บริการ 3 จีทั่วประเทศกว่า 99% และกำลังให้บริการควบคู่ไปกับ 4 จี กับ 5 จี

ประวัติ[แก้]

แผนงานเร่งด่วนของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร[แก้]

ใน พ.ศ. 2550 กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเริ่มเห็นความสำคัญของระบบโครงข่ายโทรศัพท์มือถือระยะที่ 3 (3 จี) และได้เรียกประชุมผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในขณะนั้น คือ บริษัท กสท. โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน), บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน), บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน), บริษัท โทเทิล แอคเซส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน), บริษัท ทรูมูฟ จำกัด และบริษัท ฮัจจิสัน ซีเอที ไวร์เลส มัลติมีเดีย จำกัด มาร่วมกันหารือเรื่องการพัฒนาโครงข่าย 3 จีบนคลื่นความถี่เดิมที่ตัวเองถืออยู่ภายในระยะเวลา 6 เดือนหลังจากการประชุมเสร็จสิ้น โดยบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) เห็นว่าสามารถให้บริการได้แน่นอนภายในกรอบระยะเวลา 6 เดือน แต่ติดปัญหาที่ตนถือคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิร์ต[1] ส่วนทางบริษัท โทเทิล แอคเซส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) นั้นถือคลื่นความถี่ 850 เมกะเฮิร์ตจากกสท. โทรคมนาคมอยู่[1] ส่วนทางบริษัท ทรูมูฟ จำกัด หวังแบ่งสัมปทานคลื่นความถี่ 850 เมกกะเฮิร์ต ของเครือข่ายฮัทซ์ จากทางกสท. โทรคมนาคมมาทำการพัฒนาเพิ่มเติมเท่านั้น[1]

หลังเสร็จสิ้นการประชุม ต่อมา บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ได้เปิดให้บริการ 3 จีเอสเอ็ม แอดวานซ์ขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ในเดือนพฤษภาคม ปีเดียวกัน โดยประกันว่ามีข้อดีตรงที่ใช้งบในการวางเสาสัญญาณน้อย เพราะคลื่นความถี่สามารถเดินทางได้ไกลกว่า[2] แต่การให้บริการในขณะนั้นเป็นเพียงการให้บริการกลุ่มเล็ก เพราะเครื่องที่รองรับยังมีน้อย แต่ไม่กี่วันก่อนเปิดให้บริการ คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติได้มีหนังสือเร่งด่วนส่งถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารว่า ไม่ให้ออกใบอนุญาตนำเข้าอุปกรณ์อัพเกรดคลื่นความถี่เดิมเป็น 3 จี บนคลื่นความถี่เดิม โดยให้ความเห็นว่าต้องการออกกฎ กติกาและระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการให้ใบอนุญาตนำเข้าอุปกรณ์อัพเกรดระบบ 3 จี ให้เรียบร้อยเสียก่อน แล้วจะให้ใบอนุญาตแก่ผู้ประกอบการทุกรายไปพร้อม ๆ กัน[3] ซึ่งในขณะนั้นสมาคมจีเอสเอ็มโลกได้ออกมาเกลี้ยกล่อมให้คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติทำการออกใบอนุญาต 3 จี คลื่นความถี่ 2100 เมกกะเฮิร์ตโดยเร็ว[4]

การประกาศที่ส่อความขัดแย้งของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ[แก้]

หลังกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมีคำสั่งให้ชะลอการให้ใบอนุญาตในการนำเข้าและติดตั้งอุปกรณ์และเทคโนโลยี HSPA เพื่ออัพเกรดคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิร์ตของบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) นั้น ไม่กี่วันคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติกลับประกาศตรงกันข้าม คือ อนุญาตให้เอไอเอสนำเข้าอุปกรณ์เพื่อทำการอัพเกรดโครงข่ายโทรศัพท์มือถือบนคลื่นความถี่เดิม ซึ่งเป็นการติดตั้งเพิ่มเติมในจังหวัดเชียงใหม่ที่ได้เปิดให้บริการไปแล้ว โดยในกรุงเทพมหานครก็กำลังอยู่ในระหว่างการเตรียมการออกใบอนุญาตการอัพเกรดให้เอไอเอสเช่นเดียวกัน ส่วนทางทรูมูฟและดีแทคนั้นยังไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะติดปัญหาเรื่องการตกลงเรื่องคลื่นความถี่ 850 เมกกะเฮิร์ตที่เป็นของกสท. โทรคมนาคม[5]

เอไอเอสเปิดบริการ 3จี บนคลื่นความถี่ 900 เมกกะเฮิร์ต[แก้]

หลังคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติได้เตรียมออกใบอนุญาตการอัพเกรดโครงข่ายเป็นโครงข่าย 3 จีบนคลื่นความถี่ 900 เมกกะเฮิร์ตของเอไอเอสนั้น กลับกลายเป็นว่าเอไอเอสต้องการที่จะใช้งานคลื่นความถี่ 850 เมกะเฮิร์ตแทน เพราะเอไอเอสเห็นว่าลงทุนคุ้มกว่าคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิร์ตที่เปิดใช้งานอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ เพราะติดปัญหาเรื่องจำนวนเครื่องที่รองรับน้อย รวมไปถึงไอโฟน 3 จีนั้นไม่รองรับคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิร์ตเช่นกัน เอไอเอสจึงไม่สามารถใช้เรื่องคลื่นความถี่ไปต่อรองกับแอปเปิลได้ และมองว่าการที่คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาตินั้นทำการแบ่งคลื่นความถี่ให้ดีแทคและทรูมูฟนั้นผิดกฎหมาย[6]

ในที่สุดคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติก็สามารถออกใบอนุญาตการอัพเกรดโครงข่ายโทรศัพท์มือถือระยะที่ 3 ในประเทศไทยได้สำเร็จ[7] โดยแบ่งจากมากไปหาน้อยได้ดังนี้

  • ดีแทค ได้อัพเกรด 1,200 สถานีฐานในกรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ ปทุมธานี ชลบุรี ขอนแก่น นครราชสีมา ลำพูน พิษณุโลก และหาดใหญ่
  • กสท. โทรคมนาคม ได้อัพเกรด 656 สถานีฐานโดยกรุงเทพมหานคร จะลงทุนมากที่สุด รองลงมาก็จะเป็น ภูเก็ต เชียงใหม่ ขอนแก่น หาดใหญ่ และมหาสารคาม โดยให้ทรูมูฟเป็นผู้ดำเนินการ และทำการตลาดให้
  • เอไอเอส ได้อัพเกรด 400 สถานีฐานใน กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ เชียงราย สงขลา ภูเก็ต ชลบุรี ประจวบคีรีขันธ์ นครราชสีมา และขอนแก่น

ซึ่งในช่วงแรกหลังได้รับอนุญาต เอไอเอสได้เริ่มเปิดให้บริการ 3 จีเอสเอ็ม แอดวานซ์ อีกครั้งที่เซ็นทรัลเวิลด์ในวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2551 โดยผู้ที่ต้องการทดสอบไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนซิมการ์ด เพียงแต่อยู่ในระยะที่ตัวเครื่องสามารถรับสัญญาณได้เท่านั้น[8] ต่อมาทรูมูฟจึงได้ประกาศแถลงข่าวร่วมกับ กสท. โทรคมนาคม ว่าตอนนี้ได้วางโครงข่ายเอาไว้พร้อมแล้ว โดยเน้นพื้นที่ใจกลางเมือง เช่น สีลม สาทร ราชประสงค์ และท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ แต่ติดปัญหาเรื่องคลื่นความถี่ จึงยังไม่สามารถเปิดให้บริการได้[9] แต่ทางดีแทคยังไม่มีความคืบหน้าอะไรมาก แต่ก็ได้เตรียมความพร้อมในการอัพเกรดเช่นเดียวกัน เพียงแต่เป็นการลงทุนแบบช้า ๆ เนื่องจากดีแทคมองว่าประเทศไทยยังไม่มีความจำเป็นที่ต้องการรับข้อมูลข่าวสารทางโทรศัพท์มือถือมากขึ้น และมองว่าเทคโนโลยีเอดจ์ (EDGE) ยังเพียงพอต่อการใช้งาน[10]

คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติแถลงข่าวเรื่อง 3 จีคลื่นความถี่ 2100 เมกกะเฮิร์ต[แก้]

คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติได้กล่าวในงานเสวนาว่า กำลังอยู่ในระหว่างการกำหนดวิธีการจัดสรรคลื่นความถี่ให้ได้ภายในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552 และจะสามารถออกใบอนุญาตให้ได้ภายในเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม พ.ศ. 2552 แต่แล้วกำหนดการทั้งหมดก็ถูกเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด เพียงแต่ยืนยันว่าจะพยายามเปิดประมูลให้ได้ภายในไตรมาสที่สามของ พ.ศ. 2552[11]

จนกระทั่งวันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2552 คณะกรรมการกิจการโครงคมนาคมแห่งชาติได้ออกประกาศร่างสุดท้ายก่อนการประมูลคลื่นความถี่เพื่อให้บริการ 3 จี ซึ่งเป็นการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 2100 เมกกะเฮิร์ต ซึ่งจะเป็นการอนุญาตใช้คลื่นความถี่ตั้งแต่ย่าน 1920-1965 และ 2110-2155 ซึ่งเป็นค่าคลาดเคลื่อนจากมาตรฐาน UMTS สากล ซึ่งกำหนดย่านความถี่ที่ให้ใช้งานที่ 1885-2025 และ 2110-2200[12]

และการประมูลดังกล่าวเป็นการประมูลแบบซื้อขาด 15 ปี ซึ่งต่างจากระบบสัมปทานของเดิม ที่ผู้ให้บริการต้องจ่ายค่าใช้สัมปทาน 20-30% ให้กับเจ้าของคลื่นความถี่ ซึ่งคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติได้คาดไว้ว่าใบอนุญาตดังกล่าวจะมีราคาเพียง 1-3% ของรายได้เท่านั้น[13]

กระทรวงไอซีทีไม่พอใจเงื่อนไขของการประมูล[แก้]

หลังประกาศเงื่อนไขการประมูล กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารได้เข้าร้องเรียนต่อนายกรัฐมนตรีให้เลื่อนการประมูลออกไป เพราะเงื่อนไขดังกล่าว คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติได้มีการจำกัดไม่ให้กสท. โทรคมนาคม และทีโอที เข้าร่วมประมูล[14] ซึ่งคำตอบของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความเห็นว่าขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ และการประมูลคลื่นความถี่ก็ไม่ควรช้าไปกว่านี้ เพราะมีผลต่อเศรษฐกิจและความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เพราะถ้าล่าช้ากว่านี้ก็ควรจะเลิกใช้เทคโนโลยีดังกล่าวไปเลย และมองไปยังเทคโนโลยีที่ใหม่กว่าแทน[15]

สุดท้ายคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติก็ได้เลื่อนการประมูลออกไปเป็นเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553 เพราะติดประเด็นข้อกฎหมายอำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ และการขยายกรอบเอกชนเพื่อยื่นเอกสาร[16] ภายหลังที่ประกาศดังกล่าวได้ถูกประกาศออกไปสมาคมจีเอสเอ็มโลกจึงได้ระบุว่า เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ภาครัฐสูญเสียรายได้ถึง 2.3 พันล้านดอลล่าร์[17]

รัฐบาลตั้งทีมล้มการประมูล 3 จี[แก้]

หลังจากที่คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ได้ออกแถลงข่าวว่าเลื่อนการประมูล 3 จี ออกไปนั้น ทำให้มีเสียงต่อต้านข้างมากจนกระทั่งเหตุการณ์ร้ายแรงที่สุดคือ กระทรวงการคลังออกแถลงข่าวว่า ถ้าคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมรีบออกใบอนุญาต 3 จี ตามกำหนดเดิม จะทำให้ประเทศสูญเสียรายได้ เพราะปัจจุบันผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือต้องจ่ายค่าใช้สัมปทาน 20-30% ให้กับทีโอที และกสท. โทรคมนาคม ซึ่งทั้งสองบริษัทเป็นรัฐวิสาหกิจที่กระทรวงการคลังถือหุ้นทั้งหมด[18] โดยกรณีของทีโอทีได้มีการเปิดเผยหลังเอไอเอสประกาศว่าจะไม่ทำการต่อสัญญาสัมปทานที่มีอยู่ ซึ่งจะหมดอายุในปี พ.ศ. 2558 และมองว่าไม่เห็นประโยชน์ในการใช้งานคลื่นความถี่เดิมนั้น มีผลจะทำให้ทีโอทีต้องสูญเสียรายได้ถึง 3 หมื่นล้านบาทหรือ 50% ของรายได้ทั้งหมดของทีโอที[19]

เหตุการณ์เริ่มตึงเครียดมากขึ้น เมื่อคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจที่มีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะเป็นประธานกรรมการ มีมติมอบหมายให้คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เข้าร่วมหารือกับสำนักงานกฤษฎีกา เพื่อพิจารณาข้อกฎหมาย เกี่ยวกับอำนาจของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ในเรื่องของการออกใบอนุญาต 3 จี โดยสำทับว่า ถ้ามีข้อขัดข้อง จะเชิญคณะกรรมการกฤษฎีกามาชี้แจงในการประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรี และต้องเลื่อนการประมูล 3 จี ออกไปอีก[20]

ทีโอทีเปิดบริการ 3จี เอง[แก้]

ต่อมา ทีโอทีจับมือกับผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือใหม่ 5 ราย (MVNO) ได้แก่

  1. บริษัท ล็อกซ์เล่ย์ จำกัด (i-Kool Real3G) - (Tunetalk)
  2. บริษัท สามารถ ไอ-โมบาย จำกัด (I-mobile 3GX)
  3. บริษัท 365 คอมมูนิเคชั่น จำกัด (365 3G)
  4. บริษัท ไออีซี อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (IEC 3G)
  5. บริษัท เอ็ม คอนซัลท์ เอเชีย จำกัด (MOJO 3G)

เปิดให้บริการโครงข่ายโทรศัพท์มือถือระยะที่ 3 บนคลื่นความถี่ 2100 เมกกะเฮิร์ต โดยความร่วมมือระหว่างเอไอเอสและทีโอที แต่แท้จริงแล้ว บริการดังกล่าวคือการนำเอาคลื่นความถี่ 1900 เมกะเฮิร์ตที่ทีโอทีมีอยู่จากกิจการไทยโมบาย มาพัฒนาแล้วให้รันเสมือนบนคลื่นความถี่ 2100 เมกะเฮิร์ตแทน ซึ่งผู้ให้บริการทั้งหมด 5 รายนี้ จะเข้ามาใช้คลื่นความถี่ของทีโอทีร่วมกันในลักษณะผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือที่ไม่มีโครงข่ายเป็นของตนเอง หรือ MVNO[21]

แต่ในวันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2552 ที่เป็นวันเปิดตัวและเปิดให้บริการ ทีโอทีกลับแถลงข่าวว่ามีเพียงแค่สองบริษัทที่พร้อมให้บริการทันที คือ บริษัท ล็อกซ์เล่ย์ จำกัด และบริษัท สามารถ ไอ-โมบาย จำกัด แต่จากรายงานกลับพบว่าทีโอทีมีข้อขัดแย้งกับ บริษัท 365 คอมมูนิเคชั่น จำกัด เพียงบริษัทเดียว เพราะมองว่าเป็นบริษัทใหม่ ไม่มีประสบการณ์ และบริษัทคู่แข่งไม่ต้องการให้มาแข่งขันด้วย[22]

เหตุการณ์ความขัดแย้งของบริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือที่ไม่มีโครงข่ายเป็นของตนเองกับทีโอทีเริ่มส่อเค้าความรุนแรงมากขึ้น เมื่อเอไอเอสประกาศการนโยบายการโรมมิ่ง 3 จี ของทางเอไอเอส ไปยังฝั่งของทางทีโอที ซึ่งนั่นหมายความว่าจะทำให้ผู้ใช้บริการกว่า 17 ล้านเลขหมายของเอไอเอส สามารถใช้งานเครือข่ายทีโอที 3 จีได้เลยทันที[23] เหตุการณ์นี้ถูกคัดค้านอย่างหนักจากกลุ่มผู้ให้บริการปัจจุบัน ซึ่งร้ายแรงถึงขั้นถอนตัวจากการเป็นผู้ให้บริการในทันที แต่ทางทีโอทีไม่ได้สนใจข้อเรียกร้องนี้[24] จนกระทั่งเมื่อทางทรูมูฟได้เข้ามาติดต่อขอโรมมิ่งเครือข่ายในลักษณะเดียวกันกับเอไอเอส ทีโอทีได้ตีกลับข้อเสนอไปว่า ต้องไปเจรจาขออนุญาตจากทาง กสท. โทรคมนาคมเสียก่อน จากข้อเสนอนี้ก็ทำให้กลุ่มผู้ให้บริการได้ลุกขึ้นคัดค้านอย่างหนักอีกครั้ง[25]

ในที่สุดเบื้องต้นทีโอทีได้ประกาศว่ายังไม่สามารถทำการโรมมิ่งเครือข่ายให้กับทางเอไอเอสได้ เนื่องจากว่าทีโอทียังไม่รู้ขีดความสามารถของเครือข่ายของตัวเอง ว่าจะสามารถรองรับการใช้งานอย่างหนัก ต่อจำนวนลูกค้าทั้งหมดของเอไอเอสได้หรือเปล่า แต่ก็พยายามจะเสนอแผนความร่วมมือทางธุรกิจ 3 จี ระหว่าง ทีโอที กับ เอไอเอส เข้าที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณาในวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2553[26]

ท้ายที่สุดเหตุการณ์นี้ก็จบลงด้วยคำตัดสินของบอร์ดทีโอทีว่า ไม่อนุญาตให้ทางเอไอเอสเข้ามาโรมมิ่งเครือข่ายด้วย ทางเอไอเอสจึงไม่มีทางเลือก และตัดการโรมมิ่งเครือข่ายของทางทีโอทีเช่นกัน[27]

การมาถึงของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติชุดสุดท้าย[แก้]

ในวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2553 คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติชุดใหม่ ที่เกิดขึ้นจากการจับฉลากออก และสรรหากรรมการใหม่บางส่วน ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้เข้าทำงานต่อ และได้การันตีแผนงานว่า จะต้องเร่งการประมูล 3 จี ให้เกิดขึ้นภายในเวลา 3 เดือนให้ได้[28]

ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2553 คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ได้มีมติให้ออกใบอนุญาตย่านความถี่ 2100 เมกะเฮิร์ต บนเทคโนโลยี 3.9G หรือเทคโนโลยี HSPA+ ที่เปิดให้บริการแล้วในปัจจุบัน ซึ่งมีความสามารถในการรับส่งข้อมูลเร็วกว่า 20 เท่า ซึ่งถ้าหากไทยสามารถให้บริการได้ภายในปีเดียวกัน ประเทศไทยก็จะกลายเป็นประเทศแรกในเอเชียที่ให้บริการ 3.9G พร้อมกับประเทศญี่ปุ่น[29]

ในที่สุดคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ก็สามารถออกเงื่อนไขการประมูล 3 จีได้ เงื่อนไขเปลี่ยนจากเดิมคือ จากเดิมที่จะให้ใบอนุญาต 4 ใบ (2x10 เมกกะเฮิร์ต 3 ใบ และ 2x15 เมกกะเฮิร์ต 1 ใบ) เป็นให้ใบอนุญาต 3 ใบ โดยทุกใบเท่ากันคือ 2x15 เมกกะเฮิร์ต เพื่อลดความได้เปรียบเสียเปรียบในการให้บริการ และเพื่อให้สอดคล้องกับจำนวนคลื่นความถี่ของทีโอที และยังมีเงื่อนไขที่ว่าผู้ชนะการประมูล จะต้องมีบริษัทให้บริการ MVNO รวมอยู่ด้วย ส่วนการประมูลจะใช้วิธีประมูลแบบเดิม โดยถ้ามีผู้เข้าประมูล 3 ราย จะมีผู้ชนะการประมูลเพียง 2 ราย แต่ถ้ามีผู้เข้าประมูล 4 รายขึ้นไป จะมีผู้ชนะการประมูล 3 รายโดยทั้งนี้ ก็เพื่อให้เกิดการแข่งขันกันเองของผู้ให้บริการ[30]

ความขัดแย้งระหว่าง กสท. โทรคมนาคม กับคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่องการประมูล 3 จี[แก้]

ช่วงที่ผ่านมาทางคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติได้ออกเงื่อนไข และทำประชาพิจารณ์การดำเนินการออกใบอนุญาต 3 จีอยู่ตลอด[31][32][33] ในที่สุดก็สามารถออกประกาศนโยบาย 3 จี ฉบับจริงได้[34] และเปิดให้ผู้ที่สนใจสามารถเข้ายื่นเอกสารประกอบการประกวดราคา[35] ท้ายที่สุดผู้ที่เข้าร่วมการประมูลคลื่นความถี่ 3 จี ที่ผ่านเงื่อนไขและสามารถเข้าประมูลได้เหลือเพียง 3 ราย จากเอกชนทั้งหมด 21 ราย[36] คือ

จนแล้วจนรอด กลุ่มพนักงานของกสท. โทรคมนาคม ได้รวมตัวกันเป็นสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท กสท. โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) โดยมีสุขุม ชื่นมะนา เป็นประธานสหภาพ ได้เข้ายื่นฟ้องคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติต่อศาลปกครอง โดยระบุว่าการดำเนินการประมูลคลื่นความถี่ของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาตินั้น ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะปัจจุบันอยู่ในระหว่างการจัดตั้งคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติขึ้นมาแทน แต่ศาลกลับไม่รับฟ้อง เพราะศาลเห็นว่า สหภาพ กสท. ไม่ใช่ผู้เสียหายโดยตรง[37]

วันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2553 ฝ่ายกฎหมายของบริษัท กสท. โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ได้เข้าเป็นฝ่ายยื่นฟ้องคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติอีกครั้ง โดยให้ข้อหาว่าคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติไม่มีอำนาจในการจัดสรรคลื่นความถี่ พร้อมทั้งขอคำสั่งคุ้มครองการประมูลชั่วคราวจากศาลปกครองกลางด้วย ทางศาลปกครองกลางก็ได้รับคำฟ้อง แต่ยังไม่พิจารณาว่าจะกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวหรือไม่[38] และต่อมาในวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2553 คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ โดยพล.อ. ดร. นที ศุกลรัตน์ ได้เข้าชี้แจงเหตุผลต่อศาลปกครองว่าเหตุใดจึงต้องมีการประมูล[39]

วันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2553 ทางทีโอทีก็ได้ยื่นฟ้องคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติอีก โดยให้เหตุผลที่ต่างจากของ กสท. โทรคมนาคม ว่าหลักเกณฑ์การประมูลของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาตินั้นเอื้อประโยชน์แก่เอกชนซึ่งเป็นบริษัทลูกของรายเดิมที่มีสัญญาสัมปทานอยู่ทั้งหมด[40]

ศาลปกครองล้มการประมูล 3 จี[แก้]

วันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2553 ศาลปกครองกลางสั่งระงับการประมูล 3 จีที่ทั้งหมดชั่วคราว และให้ทางคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมทำหนังสือยื่นอุทธรณ์เข้ามาแก้ต่าง[41] และต่อมาในวันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2553 คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติได้เข้ายื่นหนังสือแก้ต่างต่อศาลปกครองสูงสุด โดยศาลปกครองสูงสุดได้รับคำอุทธรณ์ของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ และให้ทางกสท. โทรคมนาคม ทำหนังสือแก้ต่างมายืนต่อศาลปกครองสูงสุดอีกครั้ง[42]

การยื่นฟ้องร้องการประมูลกินเวลายืดเยื้ออยู่หลายวันจนในที่สุด วันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2553 ศาลปกครองสูงสุดยังคงยืนคำสั่งเดิมของศาลปกครองกลาง โดยศาลมีความเห็นบางส่วนว่า

หลังการประกาศยืนคำสั่งระงับการประมูล 3 จี คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติก็ได้ประกาศการล้มประมูลในเวลาต่อมา และกลับไปทำหน้าที่ตามเดิมจนกว่าจะหมดวาระ ซึ่งในช่วงเวลาเดียวกัน รัฐบาลก็ได้นำเอาพระราชบัญญัติการจัดสรรคลื่นความถี่ฉบับใหม่ขึ้นมาพิจารณา เพื่อเร่งการจัดตั้งคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. โดยเร็ว[43]

การให้บริการ 3จี บนคลื่นความถี่ 850 เมกะเฮิร์ต[แก้]

เมื่อตัวเลือกคลื่นความถี่มาตรฐานถูกล้มประมูลลงไป ผู้ให้บริการจึงเลือกใช้วิธีเดิมคือเปิดให้บริการ 3 จี บนคลื่นความถี่เดิมที่ได้รับมา โดยเบื้องต้นทางเอไอเอส ได้ยื่นหนังสือขออนุญาตเปิด 3 จี ต่อ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ซึ่งทางกสทช. ก็ได้อนุมัติคำร้องของเอไอเอส ให้สามารถเปลี่ยนแปลงพื้นที่ให้บริการ 3 จี บนระบบ HSPA จำนวน 1,884 สถานีฐาน โดยมีทีโอทีเป็นคู่สัญญาสัมปทาน[44] และก็ได้เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2554[45]

ส่วนทางทรูมูฟ เลือกที่จะซื้อกิจการฮัทซ์ต่อ[46] หลังจากที่ กสท. โทรคมนาคม ไม่สามารถเข้าซื้อได้สำเร็จ[47] โดยกลุ่มทรูสามารถเข้าซื้อกิจการของฮัทซ์ได้[48] และได้รับอนุญาตในการเปิดให้บริการ 3 จี บนระบบ HSPA+ หรือ 3.9 จี บนคลื่นความถี่ 850 เมกกะเฮิร์ต ซึ่งทางกลุ่มทรูก็ได้เปิดตัวเครือข่ายทรูมูฟ-เอชขึ้นในเวลาต่อมา โดยเป็นเครือข่าย 3 จี ที่ดำเนินการร่วมกันระหว่างทรูมูฟและ กสท. โทรคมนาคม มีระยะเวลาดำเนินการถึง 14 ปี และเครือข่ายที่ลงทุนทั้งหมด จะเป็นของสิทธิ์ของทางกสท. โทรคมนาคมทั้งหมด[49] และทางกลุ่มทรูก็ได้ทำการเปิดตัวเครือข่ายจริงในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2554[50] ซึ่งกสท. โทรคมนาคมจะใช้เครือข่ายนี้ดำเนินการเปิดตัวเครือข่ายมายซึ่งเป็นเครือข่าย 3 จี ของตนเองแทนเครือข่ายแคท ซีดีเอ็มเอเดิม[51]

วันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2554 ดีแทคเปิดให้บริการ 3 จี เชิงพาณิชย์บนคลื่นความถี่ 850 เมกะเฮิร์ตที่ได้รับมาจาก กสท. โทรคมนาคมและคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเช่นกัน[52] แต่หลังจากเปิดได้ไม่ถึงครึ่งวัน ดีแทคกลับถูกจดหมายสั่งระงับการให้บริการลง เพื่อให้รอคำสั่งจากอัยการสูงสุดก่อน[53] แต่ต่อมาในวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2554 นาวาเอกอนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ได้ออกมาแถลงข่าวว่า อัยการสูงสุดมีคำสั่งให้ดีแทคเปิดให้บริการ 3 จี เชิงพาณิชย์ได้[54]

ปัจจุบัน 3จี บนคลื่นความถี่ 850 เมกะเฮิร์ต มีผู้ให้บริการดังนี้

  • ทรูมูฟ-เอช และ กสท โทรคมนาคม
  • ดีแทค

ส่วนของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาตินั้น ก็มีนโยบายยินดีสนับสนุนให้ผู้บริการ ร่วมมือกับคู่สัญญาสัมปทานในการทดสอบ LTE บนคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิร์ต และ 2300 เมกะเฮิร์ต และคาดว่าการประมูลคลื่นความถี่ 4 จี จะเริ่มขึ้นใน พ.ศ. 2556 หรืออย่างช้าภายใน พ.ศ. 2557[55]

[56][57][58]

การออกใบอนุญาตคลื่นความถี่ 2100 MHz เพื่อให้บริการ 3 จี[แก้]

เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2555 กสทช. ได้ออกใบอนุญาตคลื่นความถี่ 2100 MHz เป็นระยะเวลา 15 ปี ให้กับ 3 ราย ได้แก่

  • บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (เอไอเอส) เสนอราคาประมูลสูงสุด 14,625 ล้านบาท
  • บริษัท ดีแทค เนทเวอร์ค จำกัด (ดีแทค) เสนอราคาประมูล 13,500 ล้านบาท
  • บริษัท เรียล ฟิวเจอร์ จำกัด (ทรูมูฟเอช) เสนอราคาประมูล 13,500 ล้านบาท

มีมติรับรองผลการประมูลในวันที่ 18 ตุลาคม 2555 โดย ทั้ง 3 ราย สามารถดำเนินการติดตั้งเสาสัญญาณ และเริ่มทดสอบได้ทันที โดยคาดว่า ทั้ง 3 ราย จะให้บริการเชิงพาณิชย์ภายในเดือนเมษายน-มิถุนายน 2556 เป็นต้นไป

  • เอไอเอส ได้เริ่มการให้บริการ 3 จี คลื่น 2100 MHz ในเดือนพฤษภาคม 2556 ในบางพื้นที่[59] จากนั้นมีการขยายการให้บริการไปยังจังหวัดอื่น ๆ และพื้นที่ที่ยังไม่ครอบคลุมอย่างต่อเนื่อง
  • ทรูมูฟ เอช นำคลื่น 2100 MHz มาให้บริการทั้ง 3 จี และ 4 จี โดยได้เริ่มให้บริการ 4 จี ในพื้นที่สำคัญและในเมืองใหญ่บางจังหวัดตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2556 จากนั้นจึงค่อย ๆ ขยายไปยังจังหวัดอื่น ๆ จนครบ 77 จังหวัด
  • ดีแทค เริ่มให้บริการ 3 จี คลื่น 2100 MHz ตั้งแต่ช่วงกลางปี 2556 โดยในช่วงนั้นเป็นการให้บริการควบคู่กับ 3 จี คลื่น 850 MHz ที่มีอยู่เดิม[60] ปัจจุบันมีการแบ่งคลื่นความถี่ 2100 MHz บางส่วนมาให้บริการ 4 จี แทน 3 จี

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 ""มั่น"ขีดเส้นไทยต้องมี3Gใน6เดือน หวั่นทีโอทีประเคนHSPAเอไอเอสผิดกม". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 2012-01-01.
  2. AISโชว์ไฮเทค"3G"มือถือเห็นหน้าได้ ชิงเปิดตัวก่อนนำร่องที่เชียงใหม่ต้นพ.ค.[ลิงก์เสีย]
  3. กทช.เตะตัดขาแผนบริการ 3G เอไอเอส[ลิงก์เสีย]
  4. สมาคมจีเอสเอ็มโลกกล่อมกทช. ออกใบอนุญาต3Gย่าน2100MHz[ลิงก์เสีย]
  5. กทช. ไม่สนรัฐบาล ออกไลเซนส์อัปเกรด 3G ใน กทม.
  6. "เอไอเอสท้วงกทช.แบ่งคลื่นผิดกม. ยันอนุมัติ 850 MHz ต้องแก้สัญญา". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 2012-01-01.
  7. กทช. อนุมัติอัพเกรดเครือข่าย 3G ในประเทศไทยแล้ว!!!!!
  8. AIS เริ่มทดสอบ 3G ในกทม.
  9. TrueMove เปิดบริการ 3G พร้อม iPhone 3G
  10. 3G Contract Awarded to Nokia-Siemens/Huawei in Thailand
  11. "กทช.ขีดเส้น 5ก.พ. เคาะวิธีจัดสรรความถี่ 3G". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 2012-01-01.
  12. โค้งสุดท้ายก่อนประมูล 3G
  13. โค้งสุดท้ายก่อนประมูล 3G
  14. "ไอซีทีวิ่งล็อบบี้นายกฯกดดันกทช. ขอให้เลื่อนประมูล3จี อ้างกรรมการไม่ครบ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-10-09. สืบค้นเมื่อ 2012-01-01.
  15. อภิสิทธิ์ แนะ กทช. สางปม 3จีจบในปี 52
  16. กทช.เร่งถก 3จี เลื่อนประมูลออกเป็น ก.พ.53
  17. "จีเอสเอ็มเอชี้ไทยเปิด3จีช้า ฉุดจีดีพี2.3พันล้านดอลล์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-07-25. สืบค้นเมื่อ 2012-01-01.
  18. โละสัมปทานสื่อสารปี 53!
  19. TOT เครียด AIS อาจไม่ต่อสัญญา เงินหายวูบ 3 หมื่นล้าน
  20. รัฐบาลตั้งท่าล้มโต๊ะ 3G
  21. 3G เมืองไทยบน 5 เครือข่ายใหม่ เริ่มใช้ 3 ธันวาคมนี้
  22. พนักงานทีโอทีคึกคัก รับโทรศัพท์พร้อมซิม 3จี
  23. AIS จะเปิดโรมมิ่งกับ TOT 3G เริ่ม 1 กุมภาพันธ์นี้
  24. ดราม่า 3G ไทย ผูกขาดรายเดียวจะทำอย่างไรก็ได้
  25. "ทรูแก้ลำเอไอเอสประกาศจับมือทีโอทีทำ3จี". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-05-08. สืบค้นเมื่อ 2012-01-01.
  26. ดราม่า 3G ไทย ผูกขาดรายเดียวจะทำอย่างไรก็ได้
  27. "บอร์ด TOT ลงมติ ห้ามให้ AIS roaming TOT 3G". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-02-02. สืบค้นเมื่อ 2012-01-01.
  28. "กทช.ชุดใหม่ เริ่มงานวันแรกขณะที่ภารกิจสานต่อจากชุดเดิมยังเป็นเรื่อง การออกใบอนุญาตและเปิดประมูลคลื่นความถี่ระบบ 3 จี". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-03-05. สืบค้นเมื่อ 2012-01-01.
  29. "กทช.มอง3Gล้าหลัง เปิดใบอนุญาต3.9G". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 2012-01-01.
  30. กทช. เดินเครื่อง 3.9G เต็มกำลัง!
  31. กทช. เผยแพร่ร่างหลักเกณฑ์ออกใบอนุญาต 3G แล้ว
  32. เอกสาร กทช. - ผลกระทบจากการอนุญาตการประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ IMT
  33. เอกสารนำเสนอ อธิบายหลักเกณฑ์การออกใบอนุญาต 3G ของ กทช.
  34. กทช. ออกประกาศ 3G ฉบับจริง, เดินทางโรดโชว์ที่จีน-เกาหลี-ญี่ปุ่น
  35. "กทช.เปิดให้ยื่นซองประมูลไลเซ่น3จี30ส.ค." คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-07-29. สืบค้นเมื่อ 2012-01-01.
  36. เอไอเอส-ดีแทค-ทรู ลุ้นชิงดำไล่เซ่นส์ 3จี 14ก.ย.
  37. ศาลไม่รับฟ้อง "กสท" กรณี กทช.เปิดประมูล3จี
  38. ศาลขอ 3-4 วันพิจารณารับฟ้อง 'กทช.' หรือไม่
  39. ศาลปค.ยังไม่สั่ง รับคำฟ้อง ล้มประมูล'3จี'
  40. ทีโอที เตรียมเอกสารยื่นฟ้อง กทช. 16 ก.ย.
  41. ศาลปค.คุ้มครอง ประมูล3จีแท้ง รอมี'กสทช.'ก่อน
  42. "กทช.ยื่นอุทธรณ์ศาล ปค.สูงสุดไต่สวนฉุกเฉินชะลอเปิดประมูล 3G". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-09-22. สืบค้นเมื่อ 2012-01-01.
  43. "ปิดฉาก 3G ศาลปกครองสูงสุด ยืนตามศาลปกครองกลาง ระงับการดำเนินการประมูล 3G". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-09-26. สืบค้นเมื่อ 2012-01-01.
  44. "กสทช.ไฟเขียว เอไอเอสลุย 3จี". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-11-25. สืบค้นเมื่อ 2012-01-01.
  45. "AIS kicks off 3G in Bangkok, 7 provinces". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-06-11. สืบค้นเมื่อ 2012-01-01.
  46. "ทรูชี้แจงตลาดฯยังไม่ได้ข้อสรุปดีลฮัทช์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-05-15. สืบค้นเมื่อ 2012-01-01.
  47. ล้มแผนซื้อฮัทช์ กสท ชี้ ไม่กระทบลูกค้า-เล็งปรับโครงสร้างธุรกิจ[ลิงก์เสีย]
  48. "แจ้งข้อมูลเกี่ยวกับการเข้าซื้อหุ้นของบริษัท ฮัทชิสัน ไวร์เลส มัลติมีเดีย โฮลดิ้งส์ จำกัด, บีเอฟเคที, Rosy Legend และ Prospect Gain". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-11-30. สืบค้นเมื่อ 2012-01-01.
  49. "TRUE เซ็นสัญญา CAT ทำโครงข่าย 3G เสียบแทน Hutch เรียบร้อย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-04-04. สืบค้นเมื่อ 2012-01-01.
  50. 3G ใหม่ ไวกว่าเดิม Truemove H เปิดแล้วในกรุงเทพฯ และอีก 16 จังหวัด
  51. CAT เปิดตัว 'my" บริการ 3G เพื่อคนไทย
  52. ""ดีแทค"ดีเดย์วันนี้ เปิดบริการ 3G บนคลื่น 850 เมกะเฮิร์ตซ์ ในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-12-24. สืบค้นเมื่อ 2012-01-01.
  53. กสท. โทรคมนาคมร่อนหนังสือถึงดีแทคสั่งระงับ "dtac3g" เผยให้รอผลอัยการก่อน
  54. "ไอซีทีเปรยอัยการไฟเขียว 3G ดีแทคเชิงพาณิชย์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-12-25. สืบค้นเมื่อ 2012-01-01.
  55. "TOT seeks more trial partners". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-01-08. สืบค้นเมื่อ 2012-01-01.
  56. http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1350376356&grpid=03&catid=00&subcatid=0000
  57. http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1350365913&grpid=00&catid=06&subcatid=0600
  58. http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1350377529&grpid=02&catid=06&subcatid=0600
  59. โฆษณาประชาสัมพันธ์ 3 จี บนคลื่นความถี่ 2100 MHz ของเอไอเอส
  60. วิดีโอประชาสัมพันธ์ dtac TriNet