ปลาตะพัด

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ไฮแบ็ก)

ปลาตะพัด
ปลาตะพัดหรือปลาแอโรวานาสายพันธุ์ทองอินโดนีเซีย (RTG)
สถานะการอนุรักษ์
CITES Appendix I (CITES)[2]
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ แก้ไขการจำแนกนี้
โดเมน: ยูแคริโอตา
อาณาจักร: สัตว์
ไฟลัม: สัตว์มีแกนสันหลัง
ชั้น: ปลาที่มีก้านครีบ
อันดับ: อันดับปลาลิ้นกระดูก
วงศ์: วงศ์ปลาตะพัด
สกุล: ปลาอะโรวาน่าเอเชีย
(Sa. Müller & Schlegel, 1844)
สปีชีส์: Scleropages formosus
ชื่อทวินาม
Scleropages formosus
(Sa. Müller & Schlegel, 1844)
ชื่อพ้อง
  • Scleropages macrocephalus Pouyaud et al., 2003
  • Scleropages aureus Pouyaud et al., 2003
  • Scleropages legendrei Pouyaud et al., 2003

ปลาตะพัด หรือที่นิยมเรียกว่า ปลาแอโรวานา (อังกฤษ: arowana; ชื่อวิทยาศาสตร์: Scleropages formosus) เป็นปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง ในวงศ์ปลาตะพัด (Osteoglossidae) ซึ่งถือได้ว่าเป็นปลาที่สืบเผ่าพันธุ์มาตั้งแต่ปลาในยุคก่อนประวัติศาสตร์ จัดได้ว่าเป็นซากดึกดำบรรพ์มีชีวิตชนิดหนึ่ง นับว่าเป็นปลาที่ใกล้สูญพันธุ์ในธรรมชาติ เนื่องจากเป็นปลาที่สืบพันธุ์ยาก ประกอบกับแหล่งที่อยู่ถูกทำลายไป ได้รับความนิยมอย่างสูงของนักเลี้ยงปลาสวยงาม ในฐานะของปลาสวยงาม ราคาแพง และถือเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535

ลักษณะ[แก้]

ลำตัวยาว ด้านข้างแบน เกล็ดมีขนาดใหญ่สีเงินอมเขียวหรือฟ้าเรียงเป็นระเบียบอย่างสวยงาม เกล็ดบริเวณเส้นข้างลำตัวมีประมาณ 24 ชิ้น ตาโต ปากใหญ่เฉียงขึ้นด้านบน ฟันแหลม ครีบหลังและครีบก้นยาวไปใกล้บริเวณครีบหาง สันท้องคม มีหนวด 1 คู่อยู่ใต้คาง ปลาตะพัดขนาดโตเต็มที่ได้ยาวได้ราว 90 เซนติเมตร น้ำหนักหนักได้ถึง 7 กิโลกรัม พฤติกรรมมักจะว่ายบริเวณริมผิวน้ำ อาหารของปลาตะพัด ได้แก่ สัตว์น้ำขนาดเล็ก ตลอดจนแมลง สัตว์เลื้อยคลานและสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำขนาดเล็ก ปลาโตเต็มวัยสามารถกระโดดงับอาหารได้สูงถึง 1 เมตร

ถิ่นที่อยู่[แก้]

อาศัยอยู่ในแม่น้ำที่มีสภาพใสสะอาด มีนิสัยค่อนข้างดุ ก้าวร้าว ขี้ตกใจ มักอาศัยอยู่ลำพังตัวเดียวหรือเป็นคู่ ถ้าอยู่เป็นฝูง ก็จะอยู่เป็นฝูงเล็ก ๆ ไม่เกิน 3–5 ตัว พบได้ในหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย กัมพูชา และปลาในแต่ละแหล่งน้ำจะมีสีสันแตกต่างหลากหลายกันออกไป เชื่อว่าเกิดเนื่องจากลักษณะทางพันธุกรรมและสภาพแวดล้อมที่อยู่ เช่น สีทอง สีแดง สีเงิน สีทองอ่อน สีเขียวอ่อน เป็นต้น

สถานะในประเทศไทย[แก้]

สำหรับชื่อ "ตะพัด" เป็นชื่อที่เรียกกันในภาคตะวันออก แถบจังหวัดจันทบุรีและตราด ในภาคใต้จังหวัดสุราษฎร์ธานีจะเรียกปลาชนิดนี้ว่า "หางเข้" ถูกค้นพบเป็นทางการครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อปี ค.ศ. 1931 ตามรายงานของสมิธที่ลำน้ำเขาสมิง จังหวัดตราด โดยระบุว่าในขณะนั้น ปลาตะพัดเป็นปลาที่พบได้ทั่วไปในแม่น้ำลำคลองในภาคตะวันออก ไข่มีลักษณะสีส้มลูกกลมใหญ่ ฟักไข่ในปาก เนื้อมีรสชาติอร่อย นิยมใช้ทำเป็นอาหาร

ในปัจจุบัน สำหรับประเทศไทย เชื่อว่าเหลือเพียงบริเวณเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสงและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองยันซึ่งเป็นต้นแม่น้ำตาปี และบริเวณแม่น้ำที่อำเภอละงู จังหวัดสตูล เท่านั้น ส่วนทางภาคตะวันออกที่เคยชุกชุมในอดีต ไม่มีรายงานการพบอีกเลย อีกที่หนึ่งที่ได้เคยได้ชื่อว่ามีปลาตะพัดชุกชุมคือ บึงน้ำใส อำเภอรามัน จังหวัดยะลา ในอดีตเป็นแหล่งจับปลาตะพัดที่มีชื่อเสียงมาก จนมีชื่อปรากฏในคำขวัญประจำอำเภอ โดยชาวบ้านจะเรียกปลาชนิดนี้ว่า "กรือซอ" แต่จากการจับอย่างมากในอดีต ทำให้ในปัจจุบัน ปริมาณปลาตะพัดลดน้อยลงจนแทบจะสูญพันธุ์

การเลี้ยง[แก้]

ปลาตะพัดนับว่าเป็นปลาสวยงามที่ได้รับความนิยมอย่างสูงสุดมาโดยตลอด อาจจะเป็นเพราะปลาชนิดนี้เป็นปลาที่มีรูปร่างสวยงาม มีเกล็ดขนาดใหญ่ และมีสีสันแวววาวมีหนวดซึ่งมีลักษณะคล้าย "มังกร" นอกจากนี้ยังมีเรื่องความเชื่อต่าง ๆ เข้ามาเกี่ยวข้องกับปลาตะพัด โดยชาวจีนเชื่อว่าผู้ใดเลี้ยงปลาชนิดนี้แล้วจะร่ำรวยมีโชคลาภ จึงทำให้ปลาชนิดนี้ได้รับความนิยมอย่างสูง

ตะพัดเขียว
บลัดเรด
ทองอินโดนีเซีย
ทองมลายู
เกล็ดของปลาตะพัด

สายพันธุ์ที่นิยมเลี้ยง[แก้]

แอโรวานาเขียว (Green Arowana) เป็นปลาที่มีสีเงินขุ่นทั้งตัว อาจมีเหลือบสีฟ้า]]หรือเขียวอ่อน ปลายครีบหางเมื่อโตเต็มที่แล้วเป็นสีขาว ขณะยังเป็นลูกปลาครีบต่าง ๆ จะใส ขณะที่ตามลำตัวจะมีสีดำแซมอยู่ระหว่างเกล็ด พบกระจายพันธุ์ในประเทศไทยและกัมพูชา รวมถึงบางส่วนในมาเลเซีย

แอโรวานาแดงอินโดนีเซีย (Super Red) เป็นปลาที่มีสีแดงสดทั้งตัว ทั้งครีบและหาง มีถิ่นกำเนิดในประเทศอินโดนีเซีย ในแถบทะเลสาบขนาดเล็กในป่าบริเวณรอบ ๆ ทะเลสาบเซินตารุมทางตอนบนซึ่งต่อเชื่อมกับแม่น้ำกาปูวัซในจังหวัดกาลีมันตันตะวันตก ซึ่งเป็นแหล่งน้ำที่มีค่าความเป็นกรดค่อนข้างต่ำ (pH น้อยกว่า 5.5) จัดเป็นสายพันธุ์ที่มีราคาสูงรองลงมาจากอะโรวาน่าทองมลายู

ในตัวที่มีสีแดงตัดขอบเกล็ดคมชัดเจน เรียกว่า ชิลลีเรด (Chili Red) ตัวที่มีสีแดงทั้งตัว เรียกว่า บลัดเรด (Blood Red) หรือในบางตัวมีเหลือบสีม่วงในเกล็ด เรียกว่า ไวโอเลตฟิวชัน (Violet Fusion) ทั้งนี้สีปลาอ่อนหรือเข้มขึ้นอยู่กับตัวปลาเองและผู้เลี้ยง

นอกจากนี้ยังมีสายพันธุ์ที่ใกล้เคียงกัน โดยพบในประเทศอินโดนีเซียเช่นเดียวกัน แต่พบคนละแหล่งน้ำ คือ เรด บี (Red B) หรือ บันจาเรด (Banja Red) (แต่ปัจจุบันถูกเรียกว่า เรดแอโรวานา) ซึ่งเมื่อยังเล็กจะมีสีแดงสดเหมือนปลาแอโรวานาแดงอินโดนีเซียทั่วไป แต่เมื่อโตขึ้นสีจะซีดลง จนเกล็ดมีเพียงสีเงินเหลือบเหลืองอ่อน ๆ สีครีบและหางเป็นสีเหลืองปนส้มเท่านั้น แลดูคล้ายปลาทองอ่อน และเป็นปลาที่มีราคาต่ำกว่า

ปัจจุบัน ได้มีการผสมข้ามสายพันธุ์กับปลาแอโรวานาทองมลายู เป็นปลาลูกผสมระหว่างสายพันธุ์ทั้ง 2 ที่มีสีทองแดง เรียกว่า เรดสเปลนเดอร์ (Red Splendor)

อนึ่ง ในปี ค.ศ. 1994 มีนักวิทยาศาสตร์ได้ตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ของปลาแอโรวานาแดงอินโดนีเซียแยกออกมาต่างหาก โดยเรียกว่า Scleropages legendrei แต่ชื่อนี้ยังไม่ได้รับการยอมรับเป็นสากลเท่าที่ควร

แอโรวานาทองอินโดนีเซีย (Red Tail Golden Arowana) เป็นปลาที่ได้รับความนิยม เนื่องจากมีราคาที่ไม่สูงมาก หากเทียบกับสายพันธุ์อื่นที่พบในเอเชียด้วยกัน อีกทั้งมีความสวยงามมีสีทองเข้ม ครีบอก กระโดงต่าง ๆ และหาง มีสีแดงสด ด้วยเหตุนี้ จึงมีชื่อเรียก ว่า Red Tail Golden (นิยมเรียกสั้น ๆ ว่า RTG) ครีบหลังและหางส่วนบนจะมีสีแดงคล้ำปนดำ บนหลังจะมีเกล็ดสีดำ เกล็ดสีทองจะมีขึ้นมาถึงเกล็ดแถวที่ 4 และอาจจะมีขึ้นประปรายบ้างบนแถวที่ 5 เรียกว่า ไฮแบ็ก (High Back) ปัจจุบันมีการผสมข้ามสายพันธุ์กับปลาแอโรวานาทองมลายูจนได้สายพันธุ์ปลาพันธุ์ใหม่ที่เรียกว่าไฮแบ็กมากขึ้น โดยเกล็ดเงางามขึ้น และเกล็ดเปิดถึงแถวที่ 5 ได้เร็วขึ้น

นอกจากนี้แล้วยังมีสายพันธุ์ที่สีอ่อนกว่า เมื่อเล็กมีลักษณะคล้ายปลาตะพัดหรือปลาแอโรวานาเขียวมาก โตขึ้นครีบมีสีใสและเกล็ดเป็นสีเงินปนเหลืองอ่อน ๆ เรียกว่า "ทองอ่อน" และตัวใดที่ครีบมีสีเหลืองเข้มขึ้นมาหน่อย ก็จะถูกเรียกว่า "ทองหางเหลือง" (Yellow Tail) เป็นต้น

เป็นปลาที่พบในประเทศอินโดนีเซีย บริเวณบอร์เนียวเหนือและเกาะสุมาตรา และส่วนของทางหางเหลืองก็อยู่ในแหล่งน้ำที่ต่างจากทองอินโดนีเซีย

อนึ่ง ในปี ค.ศ. 1994 มีนักวิทยาศาสตร์ได้ตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ของแอโรวานาทองอินโดนีเซียแยกออกมาต่างหากว่า Scleropages aureu ส่วนทองหางเหลืองก็ได้มีการตั้งชื่อวิทยาศาสตร์แยกออกมาอีกว่า Scleropages macrocephalus ในปี ค.ศ. 2003[3]

แอโรวานาทองมลายู (Malayan Bonytongue, Cross Back) ที่มีแหล่งกำเนิดในประเทศมาเลเซีย แถบรัฐปะหัง เปรัก และมาเลเซียตะวันตก เป็นสายพันธุ์ของปลาอะโรวาน่าที่มีราคาแพงที่สุด โดยอาจมีราคาสูงถึงหลักแสนบาท เนื่องจากเป็นปลาที่มีสีทองสดใสที่สุด เกล็ดมีความเงางามมาก เมื่อปลาโตเต็มวัยจะมีสีทองจะเปิดสูงข้ามบริเวณส่วนหลัง จึงมีอีกชื่อเรียกหนึ่งว่า ครอสแบ็ก (Cross Back)

อีกทั้งในบางตัวยังมีฐานสีที่บริเวณเกล็ดเป็นสีม่วงหรือสีน้ำเงินเรียกว่า บลูเบส (Blue Base) ในบางตัวที่มีฐานเกล็ดเป็นสีเขียวเรียกว่า กรีนเบส (Green Base) ในขณะที่ตัวที่มีสีทองเหลืองอร่ามทั้งตัวโดยไม่มีสีอื่นปะปนจะเรียกว่า ฟูลโกลด์ (Full Gold)

เมื่อเทียบกับปลาตะพัดสายพันธุ์อื่น ๆ จะพบว่าแอโรวานาทองมลายูเป็นสายพันธุ์ที่มีขนาดเล็กที่สุด อีกทั้งครีบและหางเล็กกว่า แต่มีสีสันที่สวยที่สุด

ไฮแบ็ก (Hight Back) เป็นปลาลูกผสมระหว่างทองอินโดนีเซียกับทองมลายู ทำให้ลูกปลาที่เกิดออกมามีส่วนเด่นของทั้งสองสายพันธุ์ คือ มีเกล็ดที่แวววาวกว่าทองอินโดทั่วไปและสีทองของเกล็ดจะเปิดถึงแถวที่ 5 มากกว่าทองอินโดปกติ

ชื่อเรียกในภาษาต่าง ๆ[แก้]

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. Larson, H.; Vidthayanon, C. (2019). "Scleropages formosus". IUCN Red List of Threatened Species. 2019: e.T152320185A89797267. doi:10.2305/IUCN.UK.2019-3.RLTS.T152320185A89797267.en. สืบค้นเมื่อ 12 November 2021.
  2. "Appendices | CITES". cites.org. สืบค้นเมื่อ 2022-01-14.
  3. แนวทางการจำแนกเอเชียอะโรวาน่า (Asian Arowana.)
  4. สุรศักดิ์ วงศ์กิตติเวชสกุล. คู่มือเลี้ยงปลาอะโรวาน่า. กรุงเทพฯ : เอม ซัพพลาย, 2540. 252 หน้า. ISBN 974-86869-5-7

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]