ไวน์ร้อน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
หม้อต้มไวร์ร้อนในตลาดคริสต์มาสบูดาเปสท์

ไวน์ร้อน (อังกฤษ: Mulled Wine, เยอรมัน: Glühwein) เป็นไวน์ที่ปรุงอีกแบบหนึ่ง ปัจจุบันนิยมดื่มในฤดูหนาว

ไวน์เป็นเครื่องดื่มประเภทหนึ่งที่ได้รับความนิยมในหลายประเทศทั่วโลก แต่เนื่องจากมีอายุในการจัดเก็บที่จำกัด หากเก็บรักษาไม่ดีจะไม่สามารถดื่มได้อีก การทำไวน์ร้อนเป็นวิธีหนึ่งที่ทำให้ไวน์ที่เสื่อมคุณภาพกลับมาดื่มได้อีกครั้ง โดยทั่วไปแล้วไวน์ร้อนมักหมายถึงไวน์ที่ถูกอุ่นโดยการต้ม แต่งรสด้วยน้ำตาลหรือน้ำผึ้ง และปรุงกลิ่นด้วยอบเชย

ไวน์ร้อนในเยอรมนี[แก้]

ไวน์ร้อนในประเทศเยอรมนี หรือ Glühwein เป็นเครื่องดื่มที่นิยมดื่มในช่วงเทศกาลคริสต์มาส เป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประเภทเดียวที่ได้รับอนุญาตให้จำหน่ายและดื่มได้ในที่สาธารณะในประเทศเยอรมนี จึงเป็นเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมในช่วงการจัดตลาดคริสต์มาส โดยทั่วไปไวน์ร้อนจะถูกแต่งรสด้วยน้ำตาลและปรุงกลิ่นด้วยอบเชย วานิลา หรือ กานพลู ตามความชอบ นอกจากนี้ยังมีบางส่วนผสมที่นำไวน์จากผลเชอร์รี่มาใช้แทนไวน์จากองุ่น แต่ไม่นิยมนัก

นอกจากการปรุงรสด้วยน้ำตาลแล้ว บางครั้งยังมีการนำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ชนิดอื่น อาทิ เหล้ารัม มาผสมด้วยเพื่อเพิ่มรสชาติ ความเข้มข้น และสร้างความอบอุ่นให้แก่ร่างกาย เนื่องจากโดยทั่วไป คนเยอรมันนิยมดื่มเครื่องดื่มนี้ในตลาดคริสต์มาส ท่ามกลางอากาศหนาวนั่นเอง ไวน์ร้อนที่ผสมรัม มีชื่อเรียกเฉพาะว่า Feuerzangen Bowle ซึ่งมีความหมายว่า การถูกตีตราด้วยเหล็กร้อน ๆ เนื่องจากเมื่อดื่มเครื่องดื่มชนิดนี้เข้าไปแล้วจะรู้สึกร้อนขึ้นทันที

ไวน์ร้อนในอังกฤษ[แก้]

ไวน์ร้อนในประเทศอังกฤษ ถูกบันทึกไว้ในคู่มือแม่บ้าน โดยนางบีตัน ซึ่งตีพิมพ์ในฉบับแก้ไขเพิ่มเติมในปี ค.ศ. 1869[1] โดยบอกส่วนประกอบของไวน์ร้อนไว้ดังนี้

  • ไวน์ ซึ่งจะใช้ไวน์ประเภทใดก็ได้ แต่ไวน์ต่างชนิด จะต้องการปริมาณเครื่องปรุงที่แตกต่างกัน
  • น้ำเปล่า
  • น้ำตาล
  • เครื่องเทศ

โดยต้มน้ำเปล่าจนเดือดแล้วใส่เครื่องเทศลงไปเพื่อให้กลิ่นและรสของเครื่องเทศออกมาผสมกับน้ำ จากนั้นจึงนำน้ำที่ได้ไปเติมน้ำตาลและไวน์ อุ่นให้ร้อน ทั้งนี้ในคู่มือแม่บ้านนี้ ไม่ได้ระบุส่วนผสมที่ชัดเจนของไวน์ร้อนไว้ หากแต่เพียงระบุว่า ปริมาณเครื่องเทศและน้ำตาลที่ใส่นั้นขึ้นกับความชอบของแต่ละคน

ไวน์ร้อนในสแกนดิเนเวีย[แก้]

ไวน์ร้อน ในกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย หรือมีชื่อเรียกเฉพาะในภาษาถิ่นของแต่ละประเทศ ดังนี้ 'Glögg' เป็นชื่อเรียกในประเทศสวีเดนและไอซ์แลนด์ 'Gløgg' เป็นชื่อเรียกในประเทศนอร์เวย์และเดนมาร์ก และ 'Glögi' เป็นชื่อเรียกในประเทศฟินแลนด์และเอสโตเนีย

ไวน์ร้อนในประเทศกลุ่มนี้ มีทั้งแบบที่เป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ แต่กระนั้น ไวน์ร้อนแบบดั้งเดิม เป็นส่วนผสมดังนี้

  1. ไวน์องุ่น
  2. น้ำตาลหรือน้ำแอปเปิ้ล
  3. เครื่องเทศ ได้แก่ อบเชย วานิลา กระวาน กานพลู น้ำส้มบิทเทอร์ หรือขิง แล้วแต่ความชอบ

การปรุงไวน์ร้อน ทำโดยการอุ่นไวน์ที่อุณหภูมิประมาณ 60 - 70 องศาเซลเซียส เพื่อป้องกันไม่ให้แอลกอฮอล์ระเหย ไวน์ร้อนนี้มักเสริฟคู่กับคุกกี้รสขิง และนิยมดื่มในช่วงเทศกาลคริสต์มาส นอกจากนี้ ในกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวียยังมีการดัดแปลงไวน์ร้อนในรูปแบบอื่น เช่น การผสมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อื่น อาทิ วอดก้า วิสกี้ บรั่นดี เป็นต้น หรืออาจทำเป็นเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์โดยการอุ่นน้ำผลไม้แทนไวน์ หรือการต้มไวน์จนเดือดเพื่อให้แอลกอฮอล์ระเหยไปจนหมดก็มี

ไวน์ร้อนในประเทศอื่น ๆ[แก้]

  • ประเทศชิลี: ชิลีเป็นอีกประเทศที่นิยมดื่มไวน์ร้อน หรือที่เรียกกันว่า นาเวกาโด (Navegado) โดยมีส่วนผสมของน้ำตาลหรือน้ำแอปเปิลและเครื่องเทศ อาทิ อบเชย จันทน์เทศ ผลส้มฝานบาง นอกจากนี้แล้วมักจะใส่อัลมอนด์และลูกเกด ผสมไปด้วย
  • ประเทศโรมาเนีย: ไวน์ร้อนในโรมาเนีย อาจทำมาจากไวน์แดงหรือไวน์ขาวก็ได้ และบางครั้งมีการผสมเมล็ดพริกไทยลงไปด้วย
  • ประเทศมอลโดวา: ไวน์ร้อนจะปรุงจากไวน์แดง และปรุงรสด้วยน้ำผึ้งและพริกไทยดำ
  • ประเทศอิตาลี: ไวน์ร้อนเป็นเครื่องดื่มท้องถิ่นทางตอนเหนือของประเทศ

อ้างอิง[แก้]

  1. Mrs Beeton's Book of Household Management at paragraph 1961 on page 929 to 930 of the revised edition dated 1869

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]