ไมซ์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ไมซ์ (อังกฤษ: MICE) หมายถึงธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ 4 คำที่ย่อมาจากภาษาอังกฤษ คือ การประชุมขององค์กร (M = Meetings), การท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล (I = Incentive Travel), การประชุมวิชาชีพ (C = Conventions หรือ Conference) และนิทรรศการหรือเหตุการณ์ต่าง ๆ (E = Exhibitions หรือ Events) ไมซ์เป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว แต่มีความแตกต่างจากนักท่องเที่ยวหรืออุตสาหกรรมท่องเที่ยวทั่วไปคือ

  • วัตถุประสงค์ของการเดินทาง โดยนักท่องเที่ยวกลุ่มไมซ์จะมีวัตถุประสงค์หลักในการเดินทางที่เฉพาะเจาะจง ที่เกี่ยวเนื่องกับการเดินทางเพื่อร่วมประชุมบริษัท การท่องเที่ยวจากรางวัลที่ได้รับ การเข้าร่วมงานประชุมนานาชาติ หรือการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าหรือนิทรรศการนานาชาติ
  • คุณภาพของนักท่องเที่ยว ซึ่งอุตสาหกรรมไมซ์สามารถนำนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศที่มีคุณภาพ (Quality Visitors) นักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศกลุ่มนี้ มีระดับการใช้จ่ายสูงกว่านักท่องเที่ยวทั่วไป 3-4 เท่า
  • ภาคธุรกิจ / อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ที่อุตสาหกรรมไมซ์มีภาคธุรกิจ / อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องแตกต่างกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เช่น ผู้จัดงานประชุม ผู้จัดงานนิทรรศการ สถานที่จัดประชุม ศูนย์แสดงสินค้าและนิทรรศการ เป็นต้น [1]

อุตสาหกรรมไมซ์ของโลก[แก้]

เฉพาะอุตสาหกรรมการจัดนิทรรศการ มีมูลค่ารวมทั้งโลกประมาณ 29 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ [2] แบ่งเป็น

  • สหรัฐอเมริกา 13 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • เยอรมัน 2.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • ฝรั่งเศส 1.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • สหราชอาณาจักร 1.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • อิตาลี 1.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • จีน 1.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • รัสเซีย 0.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • สเปน 0.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • บราซิล 0.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • อินเดีย 0.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

อุตสาหกรรมไมซ์ของไทย[แก้]

ความหมาย[แก้]

หากใช้คำว่าไมซ์ จะหมายถึงงานระดับนานาชาติ แต่หากพูดถึงโดเมสติกไมซ์ หรือ ไมซ์ภายในประเทศ (อังกฤษ: Domestic MICE) จะหมายถึงการจัดงานที่เน้นกลุ่มเป้าหมายผู้เข้าร่วมงานเป็นคนในประเทศ

รายได้ของอุตสาหกรรมไมซ์ในประเทศไทย[แก้]

โดยในปี พ.ศ. 2554 คาดว่า จะมีจำนวนผู้เดินทางกลุ่มไมซ์เข้ามาประเทศไทย ประมาณ 720,000 คน สร้างรายได้เข้าประเทศกว่า 57,600 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 11 จากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวทั้งหมด และคิดเป็นร้อยละ 6.5 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ยังไม่รวมในส่วนของไมซ์ภายในประเทศ

จำนวนธุรกิจ / องค์กร ในอุตสาหกรรมไมซ์ในประเทศไทย[แก้]

จากการสำรวจข้อมูลพบว่า จำนวนธุรกิจ / องค์กร ในอุตสาหกรรมไมซ์ มีประมาณ 1,156 ราย ในจำนวนนี้เป็นสมาชิกของสมาคมส่งเสริมการจัดประชุมนานาชาติ (ไทย) (อังกฤษ: Thailand Incentive & Convention Association - TICA) 302 ราย และ สมาคมการแสดงสินค้า (ไทย) 199 ราย

ความสำคัญของอุตสาหกรรมไมซ์ต่อเศรษฐกิจของประเทศไทย[แก้]

  1. ความสำคัญด้านรายได้ทางตรงจากรายได้ของนักท่องเที่ยวที่มาใช้จ่ายในประเทศไทย
  2. ความสำคัญด้านรายได้ทางอ้อมและการส่งเสริมธุรกิจอื่น นอกเหนือจากรายได้จากนักท่องเที่ยวไมซ์ทางตรงแล้ว รายได้ที่เกิดจากการเจรจาการค้า การลงทุน การจัดงานแสดงสินค้า เป็นต้น ล้วนก่อให้เกิดรายได้ต่อประเทศหมุนเวียนจำนวนมหาศาล อุตสาหกรรมไมซ์ยังสามารถส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ หรือถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อพัฒนาทรัพยากรบุคคลของประเทศได้ด้วย
  3. ความสำคัญในการยกระดับภาพลักษณ์และสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศ

อ้างอิง[แก้]

  1. อ้างอิงจากเว็บไซต์[1] เก็บถาวร 2012-02-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  2. Opportunities and Threats in ASEAN exhibition market Jimé Essink, President & CEO of UBM Asia, TCEB Exhibition Forum 2011