ไทรทัน (เทพปกรณัม)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ประติมากรรมไทรทันจับฮิปโปแคมปัส ที่น้ำพุเทรวี กรุงโรม ประเทศอิตาลี

ไทรทัน (อังกฤษ: Triton) เป็นเทพองค์หนึ่งในเทพปกรณัมกรีก โดยเป็นโอรสของโพไซดอน เจ้าสมุทร กับแอมฟิไทรที มารดาแห่งท้องทะเล ไทรทันเป็นผู้แจ้งข่าวแห่งท้องทะเล มีร่างกายเป็นเงือก คือ กายท่อนบนเป็นอย่างกายมนุษย์ท่อนบนทั่ว ๆ ไป ส่วนท่อนล่างเป็นหางปลา

อาวุธประจำกายของไทรทันคือตรีศูลเช่นเดียวกับบิดา แต่มักปรากฏในศิลปกรรมต่าง ๆ ว่าถือสังข์ซึ่งเมื่อใช้เป่าดั่งแตรแล้วมีอำนาจบันดาลให้เกิดคลื่นลมในทะเลหรือให้ท้องทะเลสงบลงได้ ว่ากันว่าสังข์ของไทรทันนี้มีเสียงประหลาดชอบกล เมื่อเป่าอย่างแรงแล้วจะบังเกิดเป็นพลยักษ์เตรียมพร้อมประจัน ซึ่งเชื่อว่าเป็นจินตนาการถึงเสียงคำรามของสัตว์ป่า[1]

ตามหนังสือ "เทวกำเนิด" ของเฮซิออด กวีชาวกรีก ว่า ไทรทันนั้นพำนักอยู่กับบิดา ณ สุวรรณปราสาทซึ่งประดิษฐานอยู่ใต้สมุทร ในขณะที่ตำนานของชาวอาโกนอตส์ว่า ไทรทันอยู่ตำหนักที่ชายฝั่งของประเทศลิเบีย และเมื่อพวกตนได้แล่นเรือไปถึงฝั่งทะเลเลสเซอร์ซีตส์ ก็ได้ใช้ใบต่อไปถึงทะเลสาบไทรทันนิส ณ ที่นั้นปรากฏว่าไทรทันซึ่งเป็นเทพประจำถิ่นได้มาชี้ทางให้สามารถผ่านทะเลเมดิเทอร์เรเนียนได้[2]

ไทรทันเป็นบิดาของเทพีพาลลัส และเป็นบิดาบุญธรรมของเทพีอะธีนา ต่อมาเทพีทั้งสองเกิดทะเลาะเบาะแว้งและเข้าต่อสู้กัน สุดท้าย เทพีอะธีนาประหารเทพีพาลลัสได้[3] นอกจากนี้ บางทีก็มีการกล่าวว่าไทรทันเป็นบิดาของสกิลลาซึ่งเกิดแค่เทพีลาเมีย และยังเชื่อว่าไทรทันเป็นผู้ครอบครองโคตรเพชรแห่งสมุทรที่ชื่อ "ไทรทันส์" ด้วย

อนึ่ง ไทรทันยังปรากฏตัวในเทพปกรณัมและมหากาพย์ของโรมันอีกหลายเรื่อง โดยในมหากาพย์อีนีด มิเซนุส ผู้บรรเลงสังข์ประจำตัวเอนีแอส เหิมเกริมบังอาจขอประลองเป่าสังข์กับเทพไทรทัน ไทรทันจึงจับเขาทุ่มดิ่งลงมหาสมุทรถึงแก่ความตาย

สำหรับชาวโรมันแล้ว นิยมทำรูปปั้นไทรทันไว้คู่กับบ่อน้ำพุ เซกส์ทุส พรอเพรอทีอุส กวีโรมัน พรรณนาถึงบ่อน้ำพุที่ประดับด้วยรูปปั้นไทรทันว่า อุดมไปด้วย "ศัพทสำเนียงของกระแสน้ำที่พวยพุ่งตรงออกมาจากโอษฐ์แห่งไทรทันนั้นซ่านกระเซ็นไปรอบ ๆ บ่อ "[4] [5]

สมัยต่อมายังมีการบัญญัติศัพท์สำหรับเรียกอมนุษย์ที่มีลักษณะคล้ายเงือกว่า "ไทรทันเนส" (อังกฤษ: Tritones) ซึ่งคำนี้อาจหมายถึงที่มีเพศผู้หรือเพศเมียก็ได้ ซึ่งปรากฏการบรรยายลักษณะของอมุนษย์ดังกล่าวไว้ในบันทึกของโพซาเนียส นักผจญภัย ว่า "เหล่าไทรทันเนสมีรูปพรรณดังต่อไปนี้ บนศีรษะของพวกมันมีขนคล้ายกับศีรษะของกบในหนอง ที่คล้ายไม่ใช่แต่สีสันเท่านั้น แต่การที่สามารถแยกขนเส้นหนึ่งออกจากเส้นได้ก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่คล้ายคลึงกัน ร่างกายส่วนที่เหลือเป็นแต่ตะปุ่มตะป่ำประดุจปลาฉลาม มีหงอนและจมูกอย่างของมนุษย์อยู่เบื้องล่างหูของพวกมัน แต่ส่วนปากนั้นกว้างใหญ่ และมีฟันแหลมคมอย่างของสัตว์ดุร้าย ดวงตานั้นเล่าข้าพเจ้าก็เห็นเป็นสีฟ้า นอกจากนี้ พวกมันยังมีมือ มีนิ้ว และมีเล็บสัณฐานดั่งเปลือกของทากทะเล ถัดจากแผ่นอกและช่วงท้อง แทนที่จะเป็นขาเยี่ยงคนเรา กลับปรากฏเป็นหางดั่งปลาโลมา"[6] [7]

ต่อมาหลังยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการเป็นต้นมา มีหลายสิ่งหลายอย่างได้รับการขนานนามตามชื่อของไทรทัน ในจำนวนนั้นได้แก่ พระจันทร์ไทรทัน พระจันทร์ดวงใหญ่ที่สุดของดาวพระเกตุหรือดาวเนปจูน การตั้งชื่อนี้เป็นเชิงสัญลักษณ์ ด้วยเนปจูนนั้นเป็นอีกชื่อหนึ่งของโพไซดอน บิดาของไทรทัน

บทร้อยกรองซอนเนตของวิลเลียม เวิดส์เวิร์ท ชื่อ "เดอะเวิลด์อิสทูมัชวิทอัส" (อังกฤษ: The world is too much with us) รำพันถึงความจำเจอันน่าเบื่อของโลกสมัยใหม่ โดยปรารถนาซึ่ง[8]

สายตาที่พาฉัน ลืมวานวันอันทุกข์ทน
ได้เห็นเทวันวน จากชลธารผ่านฉันมา
ได้ฟังเสียงสังข์สวรรค์ จากไทรทันที่ฝันหา
ร่ำแตรแผ่วิญญาณ์ พาดื่มด่ำปลื้มฉ่ำใจ

ชื่อของไทรทันยังได้รับการนำไปตั้งให้แก่เครื่องกลอย่าง เครื่องจักรไทรทันของฟอร์ด และรถบรรทุกแบบมีกระบะรุ่นไทรทันของมิตซูบิชิ และตั้งเป็นชื่อวิทยาศาสตร์ของหอยสังข์แตรตามอย่างในเทพปกรณัมที่ไทรทันได้เป่า ว่า Charonia tritonis[9]

นอกจากนี้ เมื่อ ค.ศ. 1989 ไทรทันยังได้รับการดัดแปลงเป็นตัวละครหลักในภาพยนตร์การ์ตูนนของวอลต์ดิสนีย์แอนิเมชันสตูดิโอส์เรื่อง เงือกน้อยผจญภัย โดยเป็นเจ้าสมุทรผู้ปกครองดินแดนใต้สมุทร "แอตแลนทิกา"

เชิงอรรถ[แก้]

  1. Hyginus, Poet. astronom. ii. 23
  2. Apollonius Rhodius iv. 1552
  3. Apollodorus: Bibliotheca, 3.12.3
  4. Propertius, Elegy 2,32, translation by Goold.
  5. ต้นฉบับว่า "The sound of water which splashes all round the basin, when the Triton suddenly pours forth a fountain from his lips."
  6. Pausanius' Description of Greece 9.21.2
  7. : "The Tritons have the following appearance. On their heads they grow hair like that of marsh frogs not only in color, but also in the impossibility of separating one hair from another. The rest of their body is rough with fine scales just as is the shark. Under their ears they have gills and a man's nose; but the mouth is broader and the teeth are those of a beast. Their eyes seem to me blue, and they have hands, fingers, and nails like the shells of the murex. Under the breast and belly is a tail like a dolphin's instead of feet."
  8. กลอนต้นฉบับว่า "glimpses that would make me less forlorn; Have sight of Proteus rising from the sea; Or hear old Triton blow his wreathèd horn." ในที่นี้เป็นการแปลอย่างไม่เป็นทางการ.
  9. ["Charonia tritonis Linne`(อังกฤษ)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-09-11. สืบค้นเมื่อ 2012-04-12. Charonia tritonis Linne`(อังกฤษ)]