ไทย (หนังสือพิมพ์)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ไทย
ประเภทหนังสือพิมพ์รายวัน
รูปแบบข่าวรัฐบาล
เจ้าของหลวงฤทธิศักดิ์ชลเขต (2451)
หลวงสันทัดอักษรสาร, พระคลังข้างที่ (2453)
พระยาอิศรพันธ์โสภณ, พระคลังข้างที่ (2466-สมัยรัชกาลที่ 7)
บรรณาธิการพระอรุณพนาวาณัตถ์ (สมัยรัชกาลที่ 7)
ก่อตั้งเมื่อพ.ศ. 2451
ภาษาภาษาไทย
ฉบับสุดท้าย12 กรกฎาคม พ.ศ. 2475
สำนักงานใหญ่พระนครหลวงกรุงเทพ

ไทย คือหนังสือพิมพ์ออกเมื่อปี พ.ศ. 2451 มีเจ้าของคือหลวงฤทธิศักดิ์ชลเขต ต่อมาเปลี่ยนเป็นจมื่นเทพดรุณาทร ในปี พ.ศ. 2453 หนังสือพิมพ์ไทย เลิกกิจการเพราะมีหนี้สินมากมาย รัฐบาลได้ซื้อไว้ และออกใหม่ภายใต้ชื่อว่า ไทยใหม่ เพื่อหลีกปัญหาหนี้สินเก่า แต่ยังเรียกกันโดยทั่วไปว่า ไทย ได้เลิกกิจการเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2475 ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

ประวัติ[แก้]

หนังสือพิมพ์ ไทย ออกในปี พ.ศ. 2451 ต่อมาเลิกกิจการเพราะมีหนี้สินมากมาย รัฐบาลได้ซื้อไว้ และออกใหม่ภายใต้ชื่อว่า ไทยใหม่ เพื่อหลีกปัญหาหนี้สินเก่า โดยทางหนังสือพิมพ์กราบบังคมทูลรัชกาลที่ 6 ว่า "นับแต่ใช้ตราแผ่นดิน (ตราครุฑ) ประทับที่หัวหนังสือหน้า 1 แล้วก็มีผู้นิยมอ่านมากขึ้น ผู้บอกรับประจำ เดิมมี 300 คน เพิ่มเป็น 500 คน แต่ราคาขายยังคงเดิม คือรับประจำปี ปีละ 30 บาท ขายปลีกฉบับละ 3 สตางค์ จึงกราบบังคมทูลขอเงินเพิ่มอีกเป็นรายได้ประจำ 4,000 บาทตั้งแต่ ร.ศ. 131 เพื่อลดราคา"[1]

ไทย ยังคงยังไม่ได้ทำหน้าที่เป็นของรัฐบาลเต็มตัว แม้จะมีตราครุฑประทับอยู่ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ จึงได้กราบบังคมทูลให้มีหนังสือพิมพ์ที่ทำหน้าที่เป็นปากเสียงของรัฐบาลโดยตรง เหมือนกับเป็นฝ่ายประชาสัมพันธ์ของรัฐเนื่องจากเวลานั้นมีหนังสือพิมพ์เป็นสื่อมวลชนชนิดเดียวที่สามารถทำหน้าที่นี้ได้ หลังจากนั้นได้มีการจัดตั้งหน่วยงานรัฐคือกระทรวงมุรธาธรที่ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับหนังสือพิมพ์โดยตรง ไทย จึงได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลอย่างเต็มที่มาตั้งแต่นั้น

ในปี พ.ศ. 2457 อันเป็นปีความรุนแรงแห่งสงครามปากกา พระราชทานเงินให้ ไทย อีก 20,000 บาท เพื่อจัดการโรงพิมพ์ให้เรียบร้อย ไทย ได้เสนอข่าวตามนโยบายของรัฐบาล ทั้งยังขอสิทธิพิเศษในการลงข่าวการประชุมเสนาบดีบางเรื่องที่ไม่ปิดบังด้วย[2]

ต่อมาในปี พ.ศ. 2466 ไทยเปลี่ยนเจ้าของเป็นพระยาอิศรพันธุ์ ได้เลิกกิจการเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2475 ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

รูปแบบ[แก้]

ไทย เป็นหนังสือพิมพ์รายวันฝ่ายรัฐบาล เผยแพร่ความเห็นของรัฐบาล มีการจัดคอลัมน์ที่ไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย ส่วนใหญ่มีประมาณ 6 คอลัมน์ ยังไม่แยกข่าวออกเป็นหมวดหมู่ เนื้อหาข่าวยังปนกับเนื้อหาประเภทอื่น การพาดหัวข่าวโดยใช้ภาษาที่ดึงดูดใจผู้อ่าน แต่ขนาดของตัวพิมพ์เป็นตัวใหญ่ธรรมดา ใหญ่กว่าตัวพิมพ์เล็ก แต่ไม่ใช้ตัวโป้งเพื่อให้สะดุดตาเท่านั้น

การจัดหน้าและภาพ มีการลงภาพบุคคลสำคัญในข่าว มีการจัดภาพหลาย ๆ ภาพรวมเป็นกลุ่มเดียวกันในฉบับหลัง ๆ โดยไม่กระจายรูปภาพเหมือนในหนังสือพิมพ์ปัจจุบัน ภาพประกอบโฆษณาส่วนมากเป็นภาพเขียน ส่วนเนื้อหา เป็นข่าว บทความ ประกาศ และโฆษณา บันเทิงคดี เช่นนิทานชาดก เรื่องแปลจีน และบทกวี

การเขียนข่าว เขียนแบบรายงานจากโทรเลข คือเขียนสั้น ๆ ไม่มีสำนวนโลดโผนหรือตื่นเต้น แต่เก็บเนื้อหาสาระได้ชัดเจน ข่าวต่างจังหวัดมีความล่าช้าอยู่มาก เช่นตีพิมพ์ข่าวเมื่อวันที่ 18 มกราคม แต่เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนธันวาคม ปีที่แล้ว

การวิพากษ์วิจารณ์[แก้]

อวันตี โจมตี ไทย ในฉบับวันศุกร์ที่ 20 เมษายน 2452 ว่า

พิมพ์ไทยเอ๋ย ตั้งแต่เพื่อนอุบัติมาในบรรณาโลก เรายังไม่เห็นได้ทำประโยชน์อันใดให้แก่ชาติบ้างเลย นอกจากใช้วิธี ป.จ. ตะบันไป เราพิเคราะห์ดูไม่สมควรกับเกียรติยศที่ได้เอาตราครุฑมาติดหน้าโรงพิมพ์เลย เช่นนี้เราเห็นควรจะปลดเอาตราครุฑออกเสีย เอารูปแร้งกินผีเข้ามาติดไว้แทนจะเหมาะกว่ากระมัง____เราใคร่จะขนานนามหนังสือพิมพ์ไทยเสียเดี๋ยวนี้ว่า หนังสือพิมพ์ไทยคือหนังสือพิมพ์ภัยของประเทศนั่นเอง

อ้างอิง[แก้]

  1. สุกัญญา ตีระวนิช. พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวกับการหนังสือพิมพ์ --: โรงพิมพ์ชวนพิมพ์ กรุงเทพฯ, ISBN 974-7442-60-4
  2. หจช.เอกสารรัชกาลที่ 6 บ13/3 หนังสือพระราชเสวกฯ (14 มีนาคม ร.ศ. 130)