ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ภาพถ่ายใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรม ระดับวุฒิสถาปนิก

ใบประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรม หรือเดิม (ก่อน พ.ร.บ. สภาสถาปนิก 2543) เรียกย่อว่า ก.ส. เป็นเอกสารรับรองของสถาปนิกในการออกแบบและเซ็นรับรองแบบ ที่รับรองโดยสภาสถาปนิก ในปัจจุบันมีอยู่ 4 สาขาด้วยกันได้แก่ สถาปัตยกรรมหลัก สถาปัตยกรรมภายในและมัณฑนศิลป์ สถาปัตยกรรมผังเมือง และ ภูมิสถาปัตยกรรม ใบประกอบวิชาชีพฯมี 4 ระดับเรียงจากสูงไปต่ำ คือ วุฒิสถาปนิก สามัญสถาปนิก ภาคีสถาปนิก และ สถาปนิกภาคีพิเศษขอบเขตงานที่ควบคุมในสาขาต่าง ๆ ถูกกำหนดไว้โดยในกฎกระทรวง (พ.ศ. 2549) ว่าด้วยการกำหนดวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม

กฎกระทรวงการกำหนดวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมนี้ ได้มีการกำหนดให้งานสถาปัตยกรรมควบคุมสาขาต่างๆ ทั้ง 4 สาขานั้น ผู้ดำเนินการงานออกแบบ ให้คำปรึกษา ตรวจสอบ ศึกษาโครงการ บริหารและอำนวยการก่อสร้าง ต้องเป็นสถาปนิก (แต่ละสาขา) ที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพในระดับขั้นต่าง ๆ กันไปตามขอบเขตของงาน

งานที่ต้องมีใบอนุญาต[แก้]

ตัวอย่างงานที่ต้องมีสถาปนิกที่มีใบอนุญาต (ตามกฎกระทรวงปี 2549[1]) ได้แก่

  • สาขาสถาปัตยกรรมหลัก - งานวางผังที่อาคารที่อยู่อาศัย พื้นที่ 150 ตารางเมตร ขึ้นไป หรืออาคารทางการเกษตร 400 ตารางเมตรขึ้นไป
  • สาขาสถาปัตยกรรมผังเมือง - งานวางผังพื้นที่ผังเมืองเฉพาะในเขตที่มีการบังคับใช้ผังเมืองรวม งานวางผังพื้นที่ที่มีการจัดรูปที่ดิน งานวางผังพื้นที่ที่มีการจัดสรรที่ดิน งานวางผังพื้นที่อนุรักษ์ศิลปกรรมและสิ่งแวดล้อม งานวางผังพื้นที่เขตเพลิงไหม้และเขตภัยพิบัติ งานวางผังพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม งานวางผังพื้นที่กลุ่มอาคารขนาดใหญ่ - ใหญ่พิเศษ อาคารสาธารณะ อาคารสูง อาคารพิเศษ ที่มีพื้นที่รวมกัน 30,000 ตารางเมตรขึ้นไป
  • สาขาภูมิสถาปัตยกรรม - งานในพื้นที่สาธารณะ บริเวณอาคารสาธารณะ พื้นที่ที่บุคคลทั่วไปใช้สอยได้ ตั้งแต่ 1,000 ตารางเมตร หรือชุมนุมคนได้ 500 คนขึ้นไป, พื้นที่การจัดสรรที่ดิน (ยกเว้นพื้นที่เกษตรกรรม และที่พักอาศัยส่วนบุคคล)
  • สาขาสถาปัตยกรรมภายใน และมัณฑนศิลป์ - พื้นที่ภายในอาคารสาธารณะ 500 ตารางเมตรขึ้นไป

จะเห็นได้ว่าขอบเขตงานที่ต้องใช้สถาปนิกที่มีใบประกอบอนุญาตวิชาชีพจากกฎกระทรวงฯ ฉบับล่าสุดนั้นยังเป็นไปได้ยากในการปฏิบัติ เนื่องจากจำนวนสถาปนิกที่มีใบประกอบวิชาชีพมีไม่พอกับงานที่ต้องการควบคุม (จากข้อมูลปี 2548-49 นี้ โดยเฉพาะงานสถาปัตยกรรมผังเมือง มีผู้มีใบประกอบวิชาชีพ 8 คน งานภูมิสถาปัตยกรรม มีภูมิสถาปนิกที่มีใบอนุญาตเพียง 80 คน เป็นต้น) ไม่มีหน่วยงานและบุคลากรที่ทำการตรวจสอบและดูแลการบังคับใช้ และหลายๆงานไม่จำเป็นที่จะต้องมีสถาปนิกที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพก็คงไม่ทำความเสียหาย หรือในหลายกรณีเป็นขอบเขตของงานที่รัฐมีหน้าที่จัดทำ (ตาม พ.ร.บ. หรือกฎหมายอยู่แล้ว) ซึ่งไม่จำเป็นต้องออกใบประกอบวิชาชีพแต่อย่างใด และตามเจตนารมณ์ของการออกกฎกระทรวงนั้นมีวัตถุประสงค์ในการบังคับใช้กับสถาปนิกนอกระบบราชการเป็นสำคัญ ทำให้เกิดการร้องเรียนคัดค้านเกิดขึ้นจากผู้ประกอบวิชาชีพเอง นักวิชาการ และผู้เกี่ยวข้อง [2], [3]

ใบประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรม มีลักษณะเหมือนกับใบประกอบวิชาชีพในสาขาอื่น ๆ เช่น ใบประกอบวิชาชีพวิศวกรรม และ ใบประกอบวิชาชีพเวชกรรมของแพทย์ กล่าวคือผู้ที่ไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพจะไม่สามารถประกอบวิชาชีพนั้น ๆ ได้ ถ้าฝ่าฝืนจะมีโทษตามที่องค์กรวิชาชีพแต่ล่ะองค์กรกำหนดไว้ ในกรณีของสถาปนิกนี้ มีบทลงโทษ ตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ. สถาปนิก (2543) [4] ว่าจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

อ้างอิง[แก้]

  1. กฎกระทรวงการกำหนดวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม ปี 2549
  2. "ข่าวการคัดค้านของกลุ่มภูมิสถาปนิกต่อกฎกระทรวง จาก หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ 18 สค.49". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-03-11. สืบค้นเมื่อ 2006-08-18.
  3. การคัดค้านกฎกระทรวงกำหนดวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม 2549 ของกลุ่มภูมิสถาปนิกไทย
  4. "พ.ร.บ. สถาปนิก 2549" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2007-09-30. สืบค้นเมื่อ 2006-08-18.

ดูเพิ่ม[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]