โอโอกะ ทาดาซูเกะ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก โอโอะกะ ทะดะซุเกะ)

โอโอกะ ทาดาซูเกะ (大岡 忠相; 1677 – 3 กุมภาพันธ์ 1752) เป็นซามูไรในโชกุนตระกูลโทกูงาวะ

โอโอกะเกิดในปี ค.ศ. 1677 รับราชการเป็นข้าราชการตุลาการตั้งแต่อายุ 35 ปี เดิมทีเขาดำรงตำแหน่งที่ไม่สลักสำคัญนัก เวลานั้น ชาวนาในมณฑลอิเซะกับแคว้นคิชูพิพาทกันเรื่องที่ดินมาเป็นเวลายาวนาน และสิทธิเรียกร้องของฝั่งอิเซะนั้นมีมูล แต่ไม่เคยมีตุลาการคนใดใจกล้าพอจะชี้ขาดให้ชาวอิเซะชนะคดี เพราะเกรงจะเป็นที่ระคายเคืองของโทกูงาวะ โยชิมูเนะ (Tokugawa Yoshimune) เจ้าแคว้นคิชู ซึ่งเป็นคนสนิทของโชกุน โทกูงาวะ อิเอสึงุ (Tokugawa Ietsugu) คดีจึงค้างพิจารณาเรื่อยมา เมื่อโอโอกะเข้าสู่ตำแหน่งตุลาการดังกล่าว ก็รับคดีนี้ต่อมา และวินิจฉัยตามรูปคดี[1] โทกูงาวะ โยะชิมุเนะ ประทับใจในความเที่ยงตรงและเด็ดเดี่ยวของเขามาก ห้าปีให้หลัง เมื่อโทกูงาวะ โยชิมูเนะ ได้เป็นโชกุนแล้ว ก็แต่งตั้งโอโอกะเข้าสู่ตำแหน่งสำคัญหลายตำแหน่ง เช่น

โอโอกะได้รับยกย่องว่า เป็นตุลาการผู้ฉลาดและเที่ยงตรงเสมือนเป็นเปาบุ้นจิ้นของญี่ปุ่น[2] ในระหว่างรับราชการนั้น เขาได้ปฏิรูปบ้านเมือง จัดตั้งกองตระเวนซึ่งเป็นไพร่ทั้งหมด จัดตั้งโรงพยาบาลประจำเมือง ทั้งได้ตัดสินคดีด้วยความเป็นธรรมและหลักแหลม คดีหนึ่งซึ่งโดดเด่นเกิดขึ้นเมื่อเจ้าสำนักโรงแรมฟ้องนักศึกษายากจนคนหนึ่งว่า แอบดมกลิ่นอาหารโรงแรมเพื่อแกล้มข้าวเปล่า เพื่อนตุลาการเห็นว่า ไม่ควรรับคดีนี้เพราะไร้สาระเกินไป แต่โอโอกะก็สั่งรับไว้ หลังฟังคู่ความแถลง โอโอกะก็สั่งให้นักศึกษาโยนเงินจากมือหนึ่งไปยังอีกหนึ่ง ก่อนประกาศว่า เสียงเงินนั้นคือค่าดมกลิ่นอาหารแล้ว[3]

อีกคดี ช่างตัดกิโมโนมาแจ้งความว่า ผ้าถูกขโมยไปหลายสำรับ โอโอกะสั่งให้เจ้าพนักงานเอาเชือกไปคล้องรูปปั้นพระกษิติครรภที่วัดโทเซ็ง (Tōsen-ji) มาขึ้นศาลไต่สวนว่า เหตุใดไม่ทำหน้าที่ปกป้องคุ้มครอง เมื่อรูปปั้นมาถึง ประชาชนที่มาฟังการพิจารณาก็หัวเราะกันยกใหญ่ โอโอกะจึงทำขึงขังแล้วสั่งลงโทษคนเหล่านั้นด้วยการปรับผ้า ขณะที่ผู้คนกำลังจ่ายค่าปรับนั้น ช่างตัดกิโมโนเห็นคนคนหนึ่งส่งผ้าซึ่งเหมือนผ้าที่ถูกขโมยไปก็ร้องบอกโอโอกะ โอโอกะจึงสั่งให้จับกุมคนผู้นั้นไว้ทันที คนผู้นั้นก็สารภาพว่า ขโมยผ้ามาจริง ๆ คดีก็เป็นอันคลี่คลาย ในปี ค.ศ. 1925 มีการเคลื่อนย้ายรูปปั้นพระกษิติครรภไปยังวัดนันโจ (Nanjo-in) ที่ชานเมือง และรูปปั้นก็อยู่ที่วัดดังกล่าวมาจนทุกวันนี้

ความนิยมที่เขาได้รับทำให้เขากลายเป็นตัวละครสำคัญในละครโทรทัศน์หลายเรื่อง เช่น

นอกจากนี้ โอโอกะยังเป็นตัวละครในวรรณกรรม เช่น ชุดหนังสือของโดโรธี ฮูบเลอร์ (Dorothy Hoobler) กับ โทมัส ฮูบเลอร์ (Thomas Hoobler)[4] เป็นต้นว่า ตอน เดอะโกสต์อินเดอะโทะไกโดอิน (The Ghost in the Tokaido Inn) เผยแพร่เมื่อปี 1999 ตอน เดอะดีมอนอินเดอะทีเฮาส์ (The Demon in the Teahouse) เผยแพร่เมื่อปี 2001 ตอน อินดาร์กเนสเดท (In Darkness, Death) เผยแพร่เมื่อปี 2004 ตอน เดอะซอร์ดแดตคัตเดอะเบิร์นนิงแกรส (The Sword That Cut the Burning Grass) เผยแพร่เมื่อปี 2005 ตอน อะซามูไรเนเวอร์เฟียส์เดท (A Samurai Never Fears Death) เผยแพร่เมื่อปี 2007 และตอน เซเวนแพทส์ดูเดท (Seven Paths To Death) เผยแพร่เมื่อปี 2008

ระเบียงภาพ[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. Murdoch, James. (1996). A History of Japan, p. 334.
  2. Mark Schreiber (2006-06-18). "The lore and legend of Asian lawmen". Japan Times. สืบค้นเมื่อ 2014-03-30.[ลิงก์เสีย]
  3. Graham, Paul (2012). Defining Property.
  4. Schreiber, Mark (2004-11-21). "A boy detective of Old Edo". Japan Times.