โลโกตตรวาท

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

โลโกตตรวาท หรือ โลโกตตระ เป็นหนึ่งใน 20 นิกายในศาสนาพุทธยุคแรก เป็นนิกายฝ่ายอาจริยวาทที่แตกแขนงมาจากสำนักมหาสังฆิกะ นิกายโลโกตตรวาทเป็นนิกายที่มีกล่าวถึงเฉพาะหลักฐานทางฝ่ายภาษาสันสกฤตเท่านั้น ไม่มีกล่าวถึงในหลักฐานของฝ่ายบาลี เคยเจริญรุ่งเรืองอยู่ในมัธยมประเทศของประเทศอินเดีย

นิกายโลโกตตรวาทเน้นหลักธรรมที่ว่า โลกียธรรมเท่านั้นที่ไร้แก่นสาร ส่วนโลกุตรธรรมเป็นของจริง กล่าวคือ ไม่มีสิ่งใดแท้จริงในโลกนี้ เว้นแต่ความว่าง (สุญญตา) สองอย่าง คือ ศูนฺยตาของบุคคล และศูนฺยตาของสรรพสิ่ง พระพุทธเจ้าคือผู้อยู่เหนือโลก (โลโกตตร : โลก + อุตฺตร) ชีวิตในชาติต่างๆ ของพระองค์ รวมทั้งการปรากฏให้เห็นทางกายภาพเป็นเพียงภาพเท่านั้น พระองค์มิใช่มนุษย์ธรรมดา ผู้ถือนิกายโลโกตตระ เรียกว่า โลโกตตรวาทิน

คัมภีร์สำคัญที่หลงเหลืออยู่อย่างสมบูรณ์ของนิกายโลโกตตรวาท คือ คัมภีร์มหาวัสตุอวทาน ที่แต่งขึ้นด้วยภาษาสันสกฤตผสม

อ้างอิง[แก้]

  • อภิชัย โพธิ์ประสิทธิ์ศาสตร์. พระพุทธศาสนามหายาน. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ : มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2539.