โรแบร์ แลงกาต์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

โรแบร์ แลงกาต์ (ฝรั่งเศส: Robert Lingat รอแบร์ แล็งกา) หรือ ร. แลงกาต์ (พ.ศ. 2435[ต้องการอ้างอิง] – 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2515)[ต้องการอ้างอิง] เป็นนักนิติศาสตร์และอาจารย์สอนกฎหมายชาวฝรั่งเศส มีชื่อเสียงจากการค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับกฎหมายในภาคพื้นเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้[ต้องการอ้างอิง] ผลงานของเขามีอิทธิพลต่อวงการกฎหมายไทยในอดีตอย่างยิ่ง[ต้องการอ้างอิง]

ชีวิตช่วงต้น[แก้]

โรแบร์เกิดใน พ.ศ. 2435 ณ เมืองชาร์เลอวีล-เมซีแยร์ แคว้นอาร์แดน ประเทศฝรั่งเศส[ต้องการอ้างอิง] ชีวิตส่วนตัวของเขาไม่เป็นที่แพร่หลายนัก

ด้านการศึกษา ใน พ.ศ. 2462 เขาได้ศึกษาภาษาไทย ภาษาบาลี และภาษาสันสกฤต จนได้รับประกาศนียบัตรจากสถาบันภาษาตะวันออกแห่งกรุงปารีส[ต้องการอ้างอิง] ต่อมาได้ศึกษากฎหมายเอกชนจนได้รับปริญญานิติศาสตรดุษฎีบัณฑิตในปารีสเมื่อ พ.ศ. 2474[ต้องการอ้างอิง] มีผลงานเป็นวิทยานิพนธ์เรื่อง "เลสกลาวาชปรีเวดองเลอวีเยอดรัวซียามัว" (ฝรั่งเศส: L'esclavage privé dans le vieux droit siamois; "ระบบทาสเอกชนในกฎหมายเก่าของสยาม")[ต้องการอ้างอิง]

การงาน[แก้]

ด้านการทำงาน ระหว่าง พ.ศ. 2461 ถึง พ.ศ. 2462 โรแบร์เป็นล่ามให้กองทัพไทยในฝรั่งเศส[ต้องการอ้างอิง]

ครั้น พ.ศ. 2467 ถึง พ.ศ. 2483 โรแบร์ย้ายมาประกอบอาชีพในกรุงเทพมหานคร โดยเป็นที่ปรึกษากฎหมาย และอาจารย์วิชานิติศาสตร์ ณ มหาวิทยาลัยหลายแห่งในเอเชีย รวมถึงอาจารย์วิชานิติศาสตร์ระดับปริญญาตรีและปริญญาโทของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยสอนเป็นภาษาฝรั่งเศส และมีล่ามถ่ายทอดเป็นภาษาไทยอีกที[ต้องการอ้างอิง]

ช่วงนั้น เขายังได้เป็นที่ปรึกษากระทรวงยุติธรรม และได้ร่วมในการอภิปรายและศึกษาเกี่ยวกับระบบกฎหมายอินเดียที่กำลังเจริญเติบโต[ต้องการอ้างอิง]

เขาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยกระทั่ง พ.ศ. 2498 จึงออกจากงาน ณ มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในประเทศกัมพูชากลับไปบ้านเกิดเมืองนอนของเขา[ต้องการอ้างอิง]

ชีวิตส่วนตัว[แก้]

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงรายงานไว้ใน สาส์นสมเด็จ ว่า ใน พ.ศ. 2480 ระหว่างที่โรแบร์ทำงานในประเทศสยาม พระองค์เสด็จไปเยี่ยมเขาที่บ้าน และทรงพบว่า เขาสะสมพัดยศของพระภิกษุไว้มากมาย ในจำนวนนี้มีพัดโบราณและพัดประจำตำแหน่งซึ่งไม่ควรจะได้ไว้ เมื่อตรัสถามที่มา เขาก็บ่ายเบี่ยงเลี่ยงตอบ[1]

การตาย[แก้]

โรแบร์กลับประเทศฝรั่งเศสไปสอนที่ศูนย์อินเดียศึกษา มหาวิทยาลัยปารีส จนเสียชีวิตในวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2515[ต้องการอ้างอิง] หนึ่งปีก่อนที่ผลงานของเขาจะได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษและนำชื่อของเขาเข้าสู่โลกระดับสากล[ต้องการอ้างอิง]

อ้างอิง[แก้]

  1. กรมศิลปากร (ผู้รวบรวม). (2499). สาสน์สมเด็จ ลายพระหัตถ์สมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ และสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ (ภาค 22). พระนคร: โรงพิมพ์ฉัตรา. (พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพหม่อมหลวงหญิงประดับ อิศรเสนา ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม วันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2499). หน้า 45–46.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

  • สุรศักดิ์ ลิขสิทธิ์วัฒนกุล, และ กรรณิกา จรรย์แสง (บรรณาธิการ). (2548). ร. แลงกาต์ กับไทยศึกษา: รวมบทความแปลและบทความศึกษาผลงาน. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. ISBN 974-571-959-5