หลวงอาวุธวิเศษประเทศพานิช (โรเบิร์ต ฮันเตอร์)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก โรเบิร์ต ฮันเตอร์)
หลวงอาวุธวิเศษประเทศพานิช
(โรเบิร์ต ฮันเตอร์)
ฮันเตอร์ ประมาณปี 2363–2383
เกิด27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2335
กลาสโกว์ เเค้วนสก๊อตแลนด์ ราชอาณาจักรบริเตนใหญ่
เสียชีวิต7 กันยายน พ.ศ. 2391 (55 ปี)
กลาสโกว์ สก๊อตแลนด์ สหราชอาณาจักร
สัญชาติบริติช (สหราชอาณาจักร)
อาชีพพ่อค้า นักการทูต

โรเบิร์ต ฮันเตอร์ (อังกฤษ: Robert Hunter; 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2335 – 7 กันยายน พ.ศ. 2391) เป็นพ่อค้าชาวบริติช สหราชอาณาจักรเป็นชาวยุโรปคนแรกที่เข้ามาตั้งร้านค้าในอาณาจักรรัตนโกสินทร์ เมื่อ พ.ศ. 2368 ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น หลวงอาวุธวิเศษประเทศพานิช[1] ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อได้ทูลเกล้าฯ ถวาย ปืนคาบศิลา จำนวน 1,000 กระบอก ขณะที่ไทยมีกรณีพิพาทกับเจ้าอนุวงศ์ แห่งเมืองเวียงจันทน์เเละมีเรือชื่อว่าเอ็กเพรสซึ่งจะนำเข้ามาขายให้รัชกาลที่3

ประวัติ[แก้]

งานแกะสลักสีแฝดสยามอิน-จัน (2371)

ฮันเตอร์ หรือที่คนไทยร่วมสมัยเรียกว่า นายหันแตร เป็นพ่อค้าที่เข้ามาตั้งห้างในกรุงรัตนโกสินทร์ชื่อ "โรงสินค้าบริเตน" (The British Factory) ส่วนคนไทยร่วมสมัยเรียกว่า ห้างหันแตร นับได้ว่าเป็นห้างสรรพสินค้าแห่งแรกในกรุงรัตนโกสินทร์ เขายังเป็นบุคคลที่นำตัวอิน-จัน แฝดสยามชาวไทยเดินไปแสดงตัวที่สหรัฐ

ฮันเตอร์ นับได้ว่าเป็นชาวตะวันตกที่สามารถพูดภาษาไทยและเข้าใจคนไทยได้เป็นอย่างดี และมีความรู้จักกับขุนนางในราชสำนักคนสำคัญหลายคน

ชีวิตส่วนตัว[แก้]

ชีวิตส่วนตัวได้สมรสกับหญิงไทยเชื้อสายโปรตุเกสที่บ้านกุฎีจีน มีชื่อว่า แองเจลิน่า โดยมีชื่อภาษาไทยว่าทรัพย์ เชื่อว่าสืบเชื้อสายมาจากเจ้าพระยาวิชาเยนทร์รุ่นที่สี่ เรียกกันอย่างยกย่องว่า ท่านผู้หญิงทรัพย์ เธอเป็นผู้นำชุมชนกระดีจีน(ชุมชนกุฎีจีน)[2][3]

บทบาททางการทูต[แก้]

ที่อยู่อาศัยของฮันเตอร์ในกรุงเทพฯ ซึ่งทำหน้าที่เป็นโรงงานของบริติชโดยพฤตินัย

แต่นายฮันเตอร์มีพฤติกรรมที่ไม่ชอบมาพากลหลายอย่าง เช่น เคยเสนอขายพรมให้แก่ราชสำนัก โดยที่ไม่ได้สั่ง แต่ราชสำนักไม่ซื้อก็เกิดความไม่พอใจ หรือมักลักลอบค้าฝิ่นจากอังกฤษโดยซ่อนมากับสินค้าประเภทอื่น ทั้งที่กฎหมายไทยในเวลานั้นประกาศห้ามสูบฝิ่น เพื่อส่งเสริมศีลธรรมที่ดีงาม หลายครั้งเมื่อถูกตรวจพบ นายฮันเตอร์ก็มักอ้างเพื่อให้เห็นแก่ความสัมพันธ์ระหว่างชาติ หรือไม่ก็ขู่ว่าจะนำเรื่องไปฟ้องต่อทางการสหราชอาณาจักรให้นำเรือรบมาปิดปากอ่าวไทย เป็นต้น

ต่อมา สหายชาวต่างชาติของนายฮันเตอร์คนหนึ่งได้ทดลองยิงปืนคาบศิลา ในบริเวณที่วัด พระสงฆ์ที่จำพรรษาอยู่ไม่พอใจ ได้เข้าไปห้ามปรามแต่ก็ไม่ฟัง พระสงฆ์จึงทำร้ายสหายของนายฮันเตอร์ด้วยการตีที่ศีรษะจนแตก ทางการไทยสอบสวน โดยมีองค์ประธานคือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ในขณะนั้นดำรงพระอิสริยยศ เจ้าฟ้ามงกุฎ สมมติเทวาวงศ์พงษ์อิศรกษัตริย์) ผลการสอบสวนพบว่า พระสงฆ์ไทยผิด จึงโปรดฯ ให้ลงโทษด้วยการให้นั่งสมาธิกลางแดดครึ่งวัน ยังความไม่พอใจแก่นายฮันเตอร์เพราะต้องการให้ลงโทษถึงขั้นประหารชีวิต

คุณหญิงทรัพย์ (ศาสนนาม แองเจลินา, พ.ศ. 2348 – พ.ศ. 2427)

ความสัมพันธ์ระหว่างนายฮันเตอร์กับทางการไทยขาดสะบั้นลง เมื่อทางไทยจะทำการรบกับโครชินไชน่า (เวียดนาม) นายฮันเตอร์ได้เสนอขายปืนคาบศิลาจำนวน 200 กระบอก และต้องการให้ทางไทยซื้อให้หมด ทั้งที่ทางการไทยต้องการเพียง 100 กระบอกเท่านั้น และยังยัดเยียดขายเรือกลไฟที่ขึ้นสนิมอีกลำหนึ่ง ที่ชื่อ เอ็กเพรส (Express) โดยเรือลำนี้แล่นมาจากเมืองท่าลิเวอร์พูลพร้อมกัปตันชื่อ พี.บราวน์ แม้คนไทยในเวลานั้นจะฮือฮาเพราะไม่เคยเห็น "เหล็กลอยน้ำได้" อย่างเช่นเรือกลไฟมาก่อน แต่นายฮันเตอร์ได้เสนอขายในราคา 67,000 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งทางไทยมองว่าเป็นการขายที่ไม่ชอบธรรม ประกอบกับพฤติกรรมของนายฮันเตอร์ในระยะหลังที่มักแสดงออกถึงการไม่แสดงความเคารพต่อไทยซึ่งเป็นเจ้าของประเทศ เช่น เมื่อขายเรือกลไฟไม่ได้ นายฮันเตอร์ได้ประกาศว่าจะนำไปขายให้โครชินไชน่าซึ่งเป็นคู่กรณีของไทยแทน จึงได้เนรเทศนายฮันเตอร์พร้อมกับภรรยาให้ออกนอกราชอาณาจักรและห้ามกลับเข้ามาอีกตลอดชีวิตไปในปี พ.ศ. 2387 โดยได้เดินทางไปที่สิงคโปร์ด้วยเรือเอ็กเพรสนี่เอง รวมระยะเวลาที่นายฮันเตอร์อยู่ในเมืองไทยทั้งหมด 18 ปี

แต่ก็ได้มีบันทึกโดยชาวตะวันตกด้วยกันเอง ที่บันทึกไว้ว่า นายฮันเตอร์ก็ยังได้กลับมาที่เมืองไทยมากกว่า 1 ครั้ง แต่เป็นการเข้ามาเพื่อสะสางสัมภาระของตนที่เหลืออยู่และจัดแจงธุระต่าง ๆ ก่อนที่จะจากไปโดยถาวรในที่สุด

บั้นปลายชีวิต[แก้]

หลังจากถูกเนรเทศจากเมืองไทย นายฮันเตอร์ได้เดินทางกลับไปใช้ชีวิตอยู่ที่ สก็อตเเเลนด์ ประเทศสหราชอาณาจักรซึ่งเป็นบ้านเกิด จนกระทั่งเสียชีวิตที่บ้านในเขตลิลลี่แบงค์ เมืองกลาสโกว์ เมื่อวันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2391[4] บุตรชายของนายฮันเตอร์ชื่อ โรเบิร์ต ฮันเตอร์ จูเนียร์ (Robert Hunter, Jr.) ยังคงอยู่ในเมืองไทยหลังจากบิดาถูกเนรเทศ เนื่องจากมีความสัมพันธ์ที่ดีกับราชสำนักไทยมากกว่าบิดา[5] เขาเสียชีวิตเมื่อวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2408 ศพได้ฝังไว้ที่สุสานโปรเตสแตนต์กรุงเทพ[6] จดหมายเหตุบางกอกรีคอร์เดอร์ของหมอบรัดเลย์ระบุว่า "ณ วันพุทธ เดือนห้า แรมเก้าค่ำ ปีฉลู สัพตศก, มิศเตอโรเบิดหันแตร, ผู้เป็นล่ามแลเสมียน, ในเจ้าพระยาศรีสุริย์วงษ ถึงอนิจกำม์ที่บ้านเขา. มีข่าวว่าถึงแก่กำม์เพราะกินสุรา"[7]

ในวัฒนธรรมสมัยนิยม[แก้]

ภาพยนตร์ไทยแนวย้อนยุค–โรแมนติกคอเมดีที่ร่วมทุนสร้างระหว่างค่ายจีดีเอชและบรอดคาซท์ ไทย เทเลวิชั่น เรื่อง บุพเพสันนิวาส 2 ออกฉายเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2565 มีตัวละครหนึ่งชื่อ "หลวงอาวุธวิเศษประเทศพานิช" หรือ "นายห้างหันแตร" รับบทโดยแดเนียล เฟรเซอร์[8][9][10]

อ้างอิง[แก้]

  1. ทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค), เจ้าพระยา. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3. กรุงเทพฯ : ไทยควอลิตี้บุ๊คส์ (2006), 2560, หน้า 280
  2. ประวัติศาสตร์เว็บไซต์เรือนไทย
  3. "ทายาทของคอนสแตนติน ฟอลคอน". โพสต์ทูเดย์. 29 Mar 2018. สืบค้นเมื่อ 7 Jun 2020.
  4. Singapore Free Press, 16 November 1848
  5. Hunter, Duet For a Lifetime p. 88
  6. Nelson, Chris. "Robert Hunter". Find A Grave. สืบค้นเมื่อ 16 Oct 2018.
  7. หนังสือจดหมายเหตุ The Bangkok Recorder เก็บถาวร 2021-06-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. เล่ม 1 เดือน 6 ขึ้น 7 ค่ำ จุลศักราช 1227. ใบ 5. หน้า 22
  8. รีวิวหนังบุพเพสันนิวาส2 : ไปดูกันหรือยังหนาออเจ้า
  9. เผยโฉมเหล่าบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ ปรากฏให้เห็นกันแล้วใน "บุพเพสันนิวาส ๒"
  10. ย้อนรอย 4 บุคคลในประวัติศาสตร์ “บุพเพสันนิวาส 2” เล่ายังไงให้สนุก กรุงเทพธุรกิจ สืบค้นเมื่อ 2 สิงหาคม 2565

บรรณานุกรม[แก้]