โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น
ที่ตั้ง
ข้อมูล
ชื่ออื่นสาธิต มข., สมข., SATIT KKU
คำขวัญวิชาการเด่น กล้าแสดงออก
สถาปนาพ.ศ. 2513
ผู้ก่อตั้งคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
หน่วยงานกำกับโรงเรียนสาธิต สังกัด สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา
ผู้อำนวยการอ.พวงทอง พูลเรือง
สี███ สีเทา สาธิต มข. (ศึกษาศาสตร์)
███ สีอิฐ สาธิต มข. (มอดินแดง)
เพลงมาร์ชสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น
เว็บไซต์www.satit.kku.ac.th

โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น (อังกฤษ : Demonstration School of Khon Kaen University : สธ.มข. - DSKKU) เป็นหน่วยงานเทียบเท่าภาควิชา สังกัดคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยจัดการเรียนการสอนในระดับก่อนประถมศึกษาไปจนถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย

หน่วยงานภายใน[แก้]

โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น ตั้งอยู่ 2 แห่งภายในมหาวิทยาลัยขอนแก่น แบ่งเป็น 7 ฝ่าย ได้แก่

โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น (ศึกษาศาสตร์)[แก้]

เป็นโรงเรียนทดลองเพื่อศึกษาวิจัย ตั้งอยู่อยู่บริเวณริมบึงสีฐาน ประตูมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่ 2 ถนนมะลิวัลย์ มีเนื้อที่ 60 ไร่ ประกอบด้วย

  1. โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น ฝ่ายอนุบาล
  2. โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น ฝ่ายประถมศึกษา (ศึกษาศาสตร์)
  3. โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น ฝ่ายมัธยมศึกษา (ศึกษาศาสตร์)
  4. โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น ฝ่ายนานาชาติ

โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มอดินแดง)[แก้]

เป็นโรงเรียนสวัสดิการสำหรับบุคลากรของมหาวิทยาลัย ตั้งอยู่บริเวณศาลเจ้าพ่อมอดินแดง ประตูมหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ 1 ถนนมิตรภาพ ประกอบด้วย

  1. โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น ฝ่ายประถมศึกษา (มอดินแดง)
  2. โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น ฝ่ายมัธยมศึกษา (มอดินแดง)
  3. โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น ฝ่ายการศึกษาพิเศษ (ศูนย์วิจัยออทิสติก)

ประวัติ[แก้]

โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น เดิมชื่อ โรงเรียนสาธิตคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น สังกัดคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2513 โดย ดร.สายสุรี จุติกุล คณบดีคนแรกของคณะศึกษาศาสตร์ เปิดสอนด้วยกัน 3 ระดับ คือ ระดับอนุบาล ระดับประถมศึกษา ระดับมัธยมศึกษา

โดยโรงเรียนสาธิตคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นแหล่งค้นคว้า วิจัย ทดลอง และสาธิตวิทยาการทางการศึกษาเพื่อให้เหมาะสมกับความแตกต่างกันระหว่างบุคคล มีคณาจารย์จากคณะศึกษาศาสตร์เป็นผู้ดำเนินการสอน โรงเรียนได้มีการรับนักเรียนโดยการทดสอบวัดความสามารถทางสติปัญญา ทั้งภายนอกและภายในมหาวิทยาลัยขอนแก่น ไม่มีนโยบายรับสวัสดิการ

ภายหลังมหาวิทยาลัยขอนแก่นได้ขยายหน่วยงาน ก่อตั้งคณะวิชาและสำนักงานต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น บุคลากรที่มาปฏิบัติหน้าที่ก็เพิ่มมากขึ้นตาม ทำให้บุคลากรของมหาวิทยาลัยมีปัญหาเรื่องที่เรียนของบุตร โรงเรียนสาธิตคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ไม่สามารถสนองความต้องการนี้ได้ทั้งหมด เพราะต้องดำเนินตามวัตถุประสงค์และหลักการเดิมของการก่อตั้งโรงเรียนไว้ ในปี พ.ศ. 2524 รศ.นพ.กวี ทังสุบุตร อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่นในขณะนั้น จึงมีดำริใหก่อตั้งโรงเรียนสวัสดิการขึ้น ใช้ชื่อว่า โรงเรียนสาธิตมอดินแดง มีสถานะเป็นโรงเรียนราษฎร์ สังกัดสำนักงานอธิการบดี เปิดสอน 3 ระดับเช่นเดียวกับโรงเรียนสาธิตคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อดำเนินการได้ระยะหนึ่งโรงเรียนสาธิตมอดินแดงได้เกิดปัญหาขึ้นมากมาย โดยเฉพาะด้านการเงินและงบประมาณที่ไม่เพียงพอ บุคลากรขาดขวัญและกำลังใจ ลาออกเพื่อหางานที่มีความมั่นคงกว่า ทางผู้บริหาระดับคณะและมหาวิทยาลัยจึงได้ปรับเปลี่ยนวิธีการดำเนินการใหม่

พ.ศ. 2527 ได้มีการโอนโรงเรียนสาธิตมอดินแดงมาสังกัดคณะศึกษาศาสตร์ และได้รวมโรงเรียนสาธิตคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นและโรงเรียนสาธิตมอดินแดงเข้าด้วยกัน และยังคงให้ดำเนินการตามวัตถุประสงค์การจัดตั้งเดิม ภายใต้ชื่อ โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น ประกอบด้วย โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น (ศึกษาศาสตร์) เป็นโรงเรียนทดลองเพื่อศึกษาวิจัย และโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มอดินแดง) เป็นโรงเรียนเพื่อสวัสดิการเพื่อบุคลากรของมหาวิทยาลัยขอนแก่น นอกจากนี้ยังให้ปรับเปลี่ยนเครื่องแต่งกายของโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มอดินแดง) จากเดิมสีน้ำตาลแก่ มาเป็น สีเทาแก่ ให้เหมือนเครื่องแบบนักเรียนโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น (ศึกษาศาสตร์)

พ.ศ. 2532 รศ.นพ.นพดล ทองโสภิต อธิการบดี และ รศ.ดร.แก้วตา คณะวรรณ คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ ขณะนั้น มีนโยบายให้ย้ายนักเรียนโรงเรียนสาธิตฯ (มอดินแดง) มารวมกันที่โรงรียนสาธิตฯ (ศึกษาศาสตร์) ทั้งหมด เพื่อความเป็นเอกภาพ แต่ทำได้เพียงรับนักเรียนระดับอนุบาล 1 ของโรงเรียนสาธิตฯ (มอดินแดง) มาเรียนรวมกันที่โรงเรียนสาธิตฯ (ศึกษาศาสตร์) เป็นปีแรกเท่านั้น ทำให้โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น (ศึกษาศาสตร์) ระดับอนุบาล เปลี่ยนมาเป็น โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น ระดับอนุบาล

พ.ศ. 2542 สภามหาวิทยาลัย ได้มอบหมายให้คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ ปรับแก้โครงสร้างเชิงบริหารของโรงเรียนสาธิตทั้ง 2 แห่ง ให้เป็นเอกภาพโดยให้มีผู้อำนวยการคนเดียวกัน รวมทั้งใช้นโยบายการจัดการเป็นอันเดียวกัน เพื่อลดช่องว่างระหว่างความรู้สึกเปรียบเทียบของผู้ปกครองที่ต้องการความทัดเทียม จึงการยกเลิกข้อบังคับมหาวิทยาลัยขอนแก่นว่าด้วยโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น พ.ศ. 2534 โดยใช้ข้อบังคับฯ ว่าด้วยโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น พ.ศ. 2544 และระเบียบว่าด้วยโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น พ.ศ. 2546 แทน

พ.ศ. 2545 ได้มีการจัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาการจัดการศึกษาพิเศษแบบเรียมรวมสำหรับเด็กออทิสติก โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อพัฒนาหารูปแบบการพัฒนาเด็กออทิสติกให้เรียนรวมกับเด็กปกติได้

วันที่ 2 กันยายน 2557 ได้รับการแจ้งมติโครงการจัดตั้งโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น (นานาชาติ) และได้รับแจ้งผลการขออนุมัติใช้พื้นที่สำหรับจัดตั้งโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น ฝ่ายนานาชาติ โดยมีการรับนักเรียนระดับประถมศึกษาชั้นปีที่ 1 และ 2 ในปีการศึกษา 2560

ปัจจุบันโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นหน่วยงานเทียบเท่าภาควิชา สังกัดคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ตั้งอยู่ 2 แห่งภายในมหาวิทยาลัยขอนแก่น แบ่งเป็น 7 ฝ่าย

สัญลักษณ์ประจำโรงเรียน[แก้]

ตราประจำโรงเรียน[แก้]

ตราสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นพระธาตุพนม ซึ่งเป็นปูชนียสถาน อันสำคัญและศักดิ์สิทธิ์แห่งภาคอีสาน ประดิษฐานอยู่เหนือขอนไม้แก่น สองข้างมีเทวดาอัญเชิญมิ่งขวัญสิริมงคลจากองค์พระธาตุพนมประทานสู่สถาบันแห่งนี้ พื้นหลังแบ่งเป็น 3 ช่อง หมายถึง คุณธรรมของนักเรียน ได้แก่ วิทยา คือ ความรู้ดี จริยา คือ ความประพฤติดี ปัญญา คือ ความฉลาดเกิดแต่เรียนและคิด

สีประจำโรงเรียน[แก้]

โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น (ศึกษาศาสตร์) ใช้สีเทา มาจากสีเครื่องแบบนักเรียน หมายถึง มันสมอง คือ ความฉลาดทั้งทางด้านวิชาการ อารมณ์ และสังคม อีกทั้งยังเป็นเป็นการรวมกันของสีต่างๆที่มีในโลกอย่างลงตัว หมายถึง การคิด การรวบรวมข้อมูลรอบด้านอย่างมีวิจารณญาณ การเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อเสริมสร้างและพัฒนาสมรรถนะในการปรับตัวของบุคคลตามบริบทเท่าทันการเปลี่ยนแปลงของของโลกอย่างมีคุณภาพ

โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มอดินแดง) ใช้สีอิฐ ซึ่งเป็นสีของมหาวิทยาลัยขอนแก่น

ต้นไม้ประจำโรงเรียน[แก้]

กาลพฤกษ์ (กัลปพฤกษ์) เป็นต้นไม้ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงปลูกพระราชทาน เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนิน ประกอบพิธีเปิดมหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม พุทธศักราช 2510 ต้นกัลปพฤกษ์เป็นต้นไม้ที่มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ ว่า Cassia bakeriana Craib ลักษณะเป็นต้นไม้ขนาดย่อม พุ่มใบแบนกว้าง ดอกสีชมพู เมื่อโรยจะกลายเป็นสีขาว ออกดอกเป็นช่อช่วงฤดูหนาวย่างเข้าฤดูร้อน เป็นสัญญาณเข้าสู่ฤดูกาลแห่งการสอบไล่

คำขวัญประจำโรงเรียน[แก้]

คำขวัญโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น (ศึกษาศาสตร์) คือ คุณธรรมนำปัญญา พลานามัยเข้มแข็ง วินัยมั่นคง ดำรงสังคมประชาธิปไตย ใฝ่หาความรู้ มุ่งสู่สากล

คำขวัญโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มอดินแดง) คือ ประพฤติดี มีพลานามัย ใฝ่หาความรู้ เชิดชูคุณธรรม

พระมหากรุณาธิคุณของราชวงศ์ต่อโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น[แก้]

"ประดู่แดง" พระราชทาน[แก้]

ในคราวที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเสด็จพระราชดำเนิน พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมโอสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารสมเด็จพระโอรสาธิราชสยาม และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2517 ในการนี้ได้ทรงเยี่ยมและทอดพระเนตรการเรียนการสอนของโรงเรียนสาธิตคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งในขณะนั้นโรงเรียนสาธิตฯ ถือได้ว่าเป็นโรงเรียนที่ได้นำนวัตรกรรมการเรียนการสอนสมัยใหม่เข้ามาใช้กับนักเรียนเป็นครั้งแรก และได้ทรงปลูกต้นประดู่แดง (Phyllocarpus septentrionalis Donn. Smith) ไว้เป็นที่ระลึก ซึ่งประดู่แดงเป็นไม้มงคล อายุยืนและแข็งแรง ออกดอกสีแดงสะพรั่งในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ เชื่อว่าหากปลูกต้นประดู่แดงไว้ จะเกิดพลังแห่งความรัก ความสามัคคี และความยิ่งใหญ่ของสถาบัน ตราบเท่าทุกวันนี้ต้นประดู่แดงที่ทรงปลูกนั้นเปรียบเสมือนการปลูกฝังคุณธรรมความดี ให้แก่นักเรียน และบรรดาครู อาจารย์ของโรงเรียน เป็นเครื่องเตือนใจให้รู้ว่าทุกคนมีส่วนร่วมในการดูแลสังคม รวมทั้งการสืบทอดเจตนรมย์ในการให้นักเรียนได้เห็นคุณค่าของการอนุรักษ์ต้นไม้และธรรมชาติ[1]

"พิทยอนันต์" นามมงคล[แก้]

ในคราวที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปยังมหาวิทยาลัยขอนแก่นในการพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2552 ในการนี้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปยังโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น (ศึกษาศาสตร์) ทรงเปิด"อาคารพิทยอนันต์" อันเป็นนามพระราชทานมีความหมายว่า อาคารที่มากด้วยความรู้ โอกาสนี้ได้ทอดพระเนตรนิทรรศการ การสาธิตการเรียนการสอนผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต และผลงานของนักเรียนในด้านวิทยาศาสตร์ ฟิสิกส์ ดาราศาสตร์ ที่ได้รับรางวัลระดับนานาชาติ โดยมีโครงการที่จะพัฒนาเป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์ที่ได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยมหิดล อาคารพิทยอนันต์เป็นอาคาร 4 ชั้น สร้างขึ้นโดยงบสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น และการสนับสนุนจากผู้ปกครอง ภายในประกอบด้วย ห้องเรียน ห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ ห้องพักอาจารย์ ห้องสมุดระบบอิเลคทรอนิค ห้องสมุดอาชีพ ห้องปฏิบัติการทางภาษาจีนที่ได้รับการสนับสนุนจากสถาบันขงจื๊อ ห้องปฏิบัติการภาษาญี่ปุ่น ห้องปฏิบัติการภาษาอังกฤษ ซึ่งมีอาจารย์เจ้าของภาษามาสอนทั้งการฟัง การพูด การอ่าน และการเขียน[2]

บุคคลมีชื่อเสียง[แก้]

บุคคลจากโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น (ศึกษาศาสตร์)[แก้]

บุคคลจากโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มอดินแดง)[แก้]

อ้างอิง[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]