โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย (จิรประวัติ) นครสวรรค์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย
(จิรประวัติ) นครสวรรค์ (เดิมชื่อ จิรประวัติวิทยาคม)
Suankularb Wittayalai (Jiraphawat) Nakhon Sawan School
ที่ตั้ง
แผนที่
เลขที่ 160 หมู่ 1 ตำบลนครสวรรค์ออก อำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ 60000
พิกัด15°39′52″N 100°07′51″E / 15.6643124°N 100.1308124°E / 15.6643124; 100.1308124
ข้อมูล
ชื่ออื่นส.ก.จ.
ประเภทโรงเรียนรัฐบาล
คำขวัญสุวิชาโน ภวํ โหติ
(ผู้รู้ดีเป็นผู้เจริญ)
สถาปนา27 ธันวาคม พ.ศ. 2550
หน่วยงานกำกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครสววรค์ ในสังกัดกองการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม กระทรวงมหาดไทย
ผู้บริหารอภิรักษ์ อุ่นใจ
ระดับปีที่จัดการศึกษามัธยมศึกษาปีที่ 1-6
สี   ชมพู-ฟ้า
เพลงเพลงประจำโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย
ดอกไม้กุหลาบพันธุ์จุฬาลงกรณ์
เว็บไซต์http://www.skj.ac.th

โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย (จิรประวัติ) นครสวรรค์ (อังกฤษ: Suankularb Wittayalai (Jiraprawat) Nakornsawan School; อักษรย่อ: ส.ก.จ., S.K.J.) เป็นโรงเรียนในจังหวัดนครสวรรค์ หนึ่งในสถาบันสวนกุหลาบวิทยาลัย ทั้ง 11 สวน โดยบริหารจัดการภายใต้ธรรมนูญการศึกษาแห่งสถาบันสวนกุหลาบ ทั้งยังมีกรีฑาสวนกุหลาบสัมพันธ์ และงานชุมนุมลูกเสือ - เนตรนารี สวนกุหลาบสัมพันธ์ ซึ่งจัดขึ้นร่วมกับโรงเรียนในเครือสวนกุหลาบวิทยาลัย เป็นประจำทุกปี โดยแต่ละโรงเรียนจะผลัดกันเป็นเจ้าภาพ

ประวัติ[แก้]

เดิมเป็นโรงเรียนสังกัดกองทัพบก โดยมีมณฑลทหารบกที่ 4 ดูแลและบริหาร ทั้งนี้ เนื่องจากต้องการให้การช่วยเหลือด้านการศึกษาแก่บุตรหลานทหารในค่ายจิรประวัติ โดยทำการสอนที่บ้านพักนายทหารระดับเสนาธิการ ต่อมาได้ขยายกิจการโดยจัดทำเป็นโรงเรียนเปิดทำการสอน ณ บริเวณที่ตั้งวิหารหลวงพ่อขาวในปัจจุบัน (ใกล้บ้านพักผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 31 ในปัจจุบัน) โดยใช้ชื่อว่าโรงเรียนทหารสงเคราะห์ เปิดการเรียนการสอนในระดับประถมศึกษา แต่การเรียนการสอนไม่ต่อเนื่อง เนื่องจากอยู่ในภาวะสงครามโลก ครั้งที่ 2

เมื่อสิ้นสุดสงครามโลก ได้ย้ายกิจการโรงเรียนมาตั้งที่แห่งใหม่เพราะมีนักเรียนเพิ่มมากขึ้น ตามความต้องการของชุมชน โดยใช้ที่ตั้ง ณ แผนกการฝึกกำลังสำรองในปัจจุบัน (ศูนย์การฝึกนักศึกษาวิชาทหาร มณฑลทหารบกที่ 31) ใช้ชื่อโรงเรียนว่า โรงเรียนกองทัพบกอุปถัมภ์ ให้อยู่ในความดูแล มณฑลทหารบกที่ 4 โดยให้สวัสดิการมณฑลทหารบกที่ 4 เป็นผู้บริหารและเปลี่ยนชื่อโรงเรียนเป็น โรงเรียนจิรประวัติวิทยาคม ตามชื่อค่ายจิรประวัติ เป็นเกียรติแก่ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช ซึ่งพระองค์ทรงเป็นต้นราชสกุล "จิรประวัติ" เปิดทำการสอนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาจนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 เป็นแบบสหศึกษา นักเรียนชายและหญิงใส่เสื้อสีขาว กระโปรงและกางเกงเป็นสีเขียวทหาร ปักอักษรย่อ จ.ป.

จอมพล พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช

ปี พ.ศ. 2517 พลตรีเยี่ยม อินทรกำแหง ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 4 (ยศและตำแหน่งขณะนั้น) มีความประสงค์จะให้โรงเรียนจิรประวัติวิทยาคม เป็นโรงเรียนที่มีการบริหารจัดการด้านการศึกษาอย่างสมบูรณ์ เพราะมีนักเรียนเพิ่มมากขึ้นจากเดิมมาก จึงได้โอนกิจการโรงเรียนจิรประวัติวิทยาคม จากกองทัพบกไปสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ โดยมี นายสายยนต์ เอี่ยมประสงค์ เป็นอาจารย์ใหญ่ ซึ่งยังคงใช้ชื่อโรงเรียนว่า โรงเรียนจิรประวัติวิทยาคม เช่นเดิม แต่เปลี่ยนสีกางเกงและกระโปรงเป็นสีดำ นักเรียนปักอักษรย่อ จ.ว. เปิดทำการสอนตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษา จนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และให้ลดชั้นประถมศึกษาไปทุกปี จนเหลือเฉพาะระดับชั้นมัธยมศึกษา โดยทำการมอบโรงเรียนอย่างเป็นทางการเมื่อ วันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2517 นายสำเนาว์ สินาคม เป็นผู้ประสานงาน นายประจวบ คำบุญรัตน์ เป็นตัวแทนของกระทรวงศึกษาธิการ เป็นผู้รับมอบ ต่อมากองทัพบกได้มอบที่ดินให้กับโรงเรียน จำนวน 100 ไร่ โดยใช้เป็นสถานที่ตั้งปัจจุบัน (เดิมคือสนามม้า) ให้เป็นที่ตั้งของโรงเรียนจิรประวัติวิทยาคม ซึ่งเปิดทำการสอนตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น จนถึงชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย

เพื่อเป็นการสืบสานพระราชปณิธานของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมีพระราชประสงค์ให้การศึกษาแก่ประชาชนทุกหมู่เหล่าอย่างทั่วถึง โรงเรียนจิรประวัติวิทยาคม ในสมัยของ ดร.กอบกิจ ส่งศิริ จึงขอเข้าเป็น 1 ในเครือ โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ลำดับที่ 9 โดยใช้ชื่อว่า โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย (จิรประวัติ) นครสวรรค์ ทั้งนี้ได้มองเห็นความเชื่อมต่ออันเป็นรากเหง้าทางการศึกษาอย่างแท้จริง เพราะแม้ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช ซึ่งเป็นพระราชโอรสของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับ เจ้าจอมมารดาทับทิม ก็ทรงเคยศึกษาอยู่ ณ โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ตามปรากฏหลักฐานเลขประจำพระองค์ 001 และทรงเป็น 1 ใน 18 ศิษย์เก่าดีเด่นสวนกุหลาบวิทยาลัย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานบรมราชานุญาตประกาศชื่อ โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย (จิรประวัติ) นครสวรรค์ เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2550 นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณและเกียรติประวัติอย่างยิ่งต่อพสกนิกรชาวนครสวรรค์ อย่างหาที่สุดมิได้

สัญลักษณ์ประจำโรงเรียน[แก้]

ตราเสมา ชมพู - ฟ้า โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย และในเครือโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย
ธงประจำโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย และในเครือโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย
  • ตราประจำโรงเรียน ตราประจำโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย (จิรประวัติ) นครสวรรค์ เป็นตราประจำโรงเรียนในเครือสวนกุหลาบทั้งหมด โดยเป็นตราของโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้พระมหาปรมาภิไธยย่อ "จปร." ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 กลับมาบรรจุในตราประจำโรงเรียนอีกครั้งหนึ่ง หลังมีการเปลี่ยนแปลงตราประจำโรงเรียนมาแล้ว 4 แบบ นับแต่มีการก่อตั้งโรงเรียนในปี พ.ศ. 2425 เป็นต้นมา มีลักษณะของตราเป็นรูปหนังสือ ที่บริเวณหน้าปกได้ประดิษฐาน พระปรมาภิไทยย่อ จ.ป.ร. และมี พระเกี้ยวยอด อยู่ด้านบน ในหนังสือ มีขนนก ดินสอ ไม้บรรทัด ด้านขวามีช่อกุหลาบ 4 ดอก อันหมายถึงหัวใจนักปราชญ์ คือ สุ จิ ปุ ริ หรือ ฟัง พูด อ่าน เขียน ด้านล่างซ้ายของ หนังสือมี ริบบิ้น ผูกอยู่ที่ก้านกุหลาบมีข้อความอยู่ที่ริบบิ้น เขียนว่า “โรงเรียนหลวงสวนกุหลาบ” ด้านบน ปรากฏมีปรัชญาและคติพจน์ “สุวิชาโน ภว โหติ” ด้านล่างมีคำแปลว่า “ผู้รู้ดีเป็นผู้เจริญ”[1]
  • อักษรย่อ ส.ก.จ. สำหรับเครื่องแบบนักเรียนทุกชั้นปี อักษรย่อ ส.ก. สีกรมท่าหรือน้ำเงินเข้ม ประดับบริเวณอกข้างขวา
  • ตราเสมาชมพู-ฟ้า สำหรับเครื่องแบบนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย ตราสัญลักษณ์เป็นด้ายปักรูปทรงใบเสมาสีชมพู-ฟ้าอย่างละครึ่ง ประดับเหนืออักษรย่อโรงเรียน ส.ก.จ. บริเวณอกข้างขวา
  • หลวงพ่อสวนกุหลาบ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย เป็นพระพุทธรูปที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้าง พระราชทานเป็นพระพุทธรูปประจำโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร เมื่อครั้งเป็นโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ ซึ่งรัชกาลที่ 5 ทรงพระมหากรุณาธิคุณให้ตั้งชื่อเป็นครั้งที่พระตำหนักสวนกุหลาบ ในพระบรมมหาราชวัง เมื่อ พ.ศ. 2424 เข้าใจว่าเมื่อโรงเรียนย้ายออกมาตั้งภายนอก พระบรมมหาราชวัง หลวงพ่อสวนกุหลาบคงได้เป็นพระพุทธรูปประจำโรงเรียนต่อมา โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ สวนกุหลาบวิทยาลัย สมุทรปราการ ในฐานะโรงเรียนน้องได้ถือให้ความเคารพบูชาหลวงพ่อสวนกุหลาบ เช่นเดียวกับโรงเรียนพี่ โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย
  • พระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระบรมรูปประทับยืนเต็มพระองค์ ขนาดหนึ่งเท่าครึ่งของพระองค์จริง ฉลองพระองค์ชุดสากล พระหัตถ์ซ้ายถือธารพระกร พระหัตถ์ขวาถือพระมาลา ความสูง 267 เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ 800 กิโลกรัม รมสีเนื้อมันปู หรือสีเม็ดมะขามสุก บนแผ่นจารึกที่ฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ อัญเชิญตราพระปรมาภิไธยย่อ จปร ไว้เหนือข้อความดังต่อไปนี้ :-

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยมหาราช พระมหากษัตริย์ พระองค์ที่ ๕ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ พระราชโอรส ใน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี

ทรงพระราชสมภพ วันอังคารที่ ๒๐ กันยายน พ.ศ. ๒๓๙๖ เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ วันพฤหัสบดีที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๑๑ เสด็จสวรรคต วันอาทิตย์ที่ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๓

ทรงตั้งมั่นอยู่ในทศพิธราชธรรม กอปรด้วยพระเมตตาธรรม และพระคุณธรรมอันประเสริฐ ทรงประกอบพระราชกรณียกิจนานัปการ สร้างความเจริญแก่ประเทศชาติเป็นอเนกประการ ทางด้านการปกครอง การเลิกทาส การเศรษฐกิจ การคมนาคม การสาธารณสุข การศาสนา ทรงส่งเสริมการศึกษา และวางรากฐานการศึกษาอย่างเป็นระบบ ทรงจัดตั้งโรงเรียนเพื่อพสกนิกรได้มีโอกาสศึกษาอย่างเสมอภาค ดังพระราชปณิธาน

‘เจ้านายราชตระกูล ตั้งแต่ลูกฉันเป็นต้นไป ตลอดจนถึงราษฎรที่ต่ำสุด จะให้ได้มีโอกาสเล่าเรียนได้เสมอกัน ไม่ว่าเจ้า ว่าขุนนาง ว่าไพร่ เพราะฉะนั้น จึงพอบอกได้ว่า การเล่าเรียนในบ้านเมืองเรานี้ จะเป็นข้อสำคัญข้อที่หนึ่ง ซึ่งฉันจะอุตส่าห์จัดขึ้นให้เจริญจงได้’

ข้าราชการ ผู้ปกครอง ศิษย์เก่า และนักเรียน โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ สวนกุหลาบวิทยาลัย สมุทรปราการ สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น จึงพร้อมใจกันสร้างและประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ เพื่อสักการะ เฉลิมพระเกียรติ ประกาศเกียรติคุณ ให้แผ่ไพศาล ตราบกาลนาน

  • ต้นกัลปพฤกษ์ คือ ต้นไม้ประจำโรงเรียน เป็นต้นไม้ที่เป็นสัญลักษณ์แห่งชัยชนะ
  • ดอกกุหลาบ พันธุ์จุฬาลงกรณ์ คือ ดอกไม้ประจำโรงเรียน ดอกกุหลาบพันธุ์หนึ่ง ไม่มีหนามที่ลำต้น มีขนาดดอกที่ใหญ่มาก เกือบครึ่งหนึ่งของใบหน้าคน สีชมพู และมีกลิ่นหอมจัด เกิดการการเพาะพันธุ์ของชาวยุโรปผู้หนึ่ง และชาวยุโรปผู้นั้นได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต ตั้งชื่อกุหลาบงามพันธุ์ที่เขาผสมขึ้นใหม่ว่า “King of Siam” ซึ่งเป็นดอกกุหลาบที่โปรดของพระราชชายาเจ้าดารารัศมี และทรงถวายนามกุหลาบนั้นว่า กุหลาบจุฬาลงกรณ์
  • คำขวัญประจำโรงเรียน รักษ์ศักดิ์ศรี มีคุณธรรม นำวิชาการ สืบสานงานพระราชดำริ
  • คติพจน์ประจำโรงเรียน "สุวิชาโน ภวํ โหติ" (อ่านว่า "สุ-วิ-ชา-โน-พะ-วัง-โห-ติ") แปลว่า "ผู้รู้ดี เป็นผู้เจริญ"
    • ผู้รู้ดี คือ ผู้รู้และเข้าใจในสิ่งต่างๆ ได้ดี คือรู้อ่าน รู้คิด รู้เท่าทัน รู้ความและรู้คุณ
    • ผู้เจริญ คือผู้ที่เจริญด้วย ความประพฤติดี ดีพร้อมทั้งกาย วาจา และใจ กระทำแต่สิ่งที่ดีงาม สร้างสรรค์คำนึงถึงผลประโยชน์ ส่วนรวมมากกว่าส่วนตัว[1]
  • เอกลักษณ์โรงเรียน เป็นเลิศทางวิชาการและความเป็นผู้นำ (Academic Excellence and Leadership)
    • ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน (High Academic Achievement)
    • มีความสามารถในการแข่งขั้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ (Achievement in International Competition)
    • กิจกรรมเด่น (Outstanding Student Activities)
  • อัตลักษณ์โรงเรียน ลูกชาวสวนกุหลาบ หมายถึง นักเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยที่ได้รับการปลูกฝังให้มีคุณลักษณะในด้านการเป็นผู้นำ ดูแลเอาใจใส่บุคคลรอบข้างตามบทบาทหน้าที่ อันควรมีตัวชี้วัดแห่งความสำเร็จ ดังต่อไปนี้
    • เป็นผู้นำ หมายถึง ลักษณะที่แสดงถึงการเป็นผู้กล้าแสดงออกในการพูด การกระทำที่ถูกต้องจนเป็นแบบอย่างให้ผู้อื่น
    • รักเพื่อน หมายถึง ลักษณะที่แสดงถึงความมีน้ำใจต่อเพื่อน มีความสามัคคีในหมู่คณะ ไม่ทอดทิ้งกันในยามยาก รู้จักทะนุถนอมน้ำใจ ให้อภัยซึ่งกันและกัน
    • นับถือพี่ หมายถึง ลักษณะที่แสดงออกถึงการมีสัมมาคารวะรุ่นพี่ผู้อาวุโสกว่า รับฟังคำแนะนำอย่างมีเหตุผล ยึดคุณลักษณะที่ถูกต้องของรุ่นพี่เป็นแบบอย่าง
    • เคารพครู หมายถึง ลักษณะที่แสดงออกถึงการตระหนัก ในคุณค่าของการประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้กตัญญูรู้คุณ อ่อนน้อมถ่อมตนต่อครูบาอาจารย์ เชื่อฟังคำสั่งสอนอย่างนอบน้อม
    • กตัญญูพ่อแม่ หมายถึง ลักษณะที่แสดงออกถึง ความสำนึกในพระคุณบุพการี และตอบแทนด้วยความซาบซึ้งใจ ปฏิบัติตนเป็นลูกที่ดีสม่ำเสมอ
    • ดูแลน้อง หมายถึง ลักษณะที่แสดงออกถึงความโอบอ้อมอารีต่อรุ่นน้อง ให้คำแนะนำในยามที่น้องเกิดปัญหา ดูแลด้วยความเต็มใจ โดยไม่หวังผลตอบแทน
    • สนองคุณแผ่นดิน หมายถึง การปฏิบัติตน เพื่อเป็นประโยชน์ของส่วนรวม อันได้แก่ ทำงานเพื่อชุมชน เพื่อแผ่นดิน และเพื่อประเทศชาติ

“ลูกชาวสวนกุหลาบ” เป็นผู้นำ รักเพื่อน นับถือพี่ เคารพครู กตัญญูพ่อแม่ ดูแลน้อง สนองคุณแผ่นดิน เป็นอัตลักษณ์ของโรงเรียน “ลูกชาวสวนกุหลาบ” หมายถึง นักเรียนโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยที่ได้รับการปลูกฝังให้เป็นเป็นเลิศด้านคุณธรรม เป็นผู้นำที่มีคุณภาพ มีความสามารถทางวิชาการ มีวินัย ใส่ใจในระบอบประชาธิปไตย ยึดมั่นในสถาบันแห่งชาติ ไม่ละเลยในประโยชน์ส่วนรวม เอื้ออาทรต่อกันด้วยความรักความสามัคคี ประจักษ์ในพระคุณครู ร่วมเชิดชูเกียรติภูมิแห่งสวนกุหลาบ “เป็นผู้นำ รักเพื่อน นับถือพี่ เคารพครู กตัญญูพ่อแม่ ดูแลน้อง” เป็นคำโปรย ช่วยให้จดจำได้ง่าย ต้องใส่ความเป็นสวนกุหลาบด้วยความภาคภูมิใจในเรื่องราวต่างๆ ของ “สวนกุหลาบฯ” เมื่อสิ่งต่างๆ สะสมอยู่ในตัวจึงจะเป็น “ลูกชาวสวนกุหลาบ” ที่สมบูรณ์

  • เพลงประจำโรงเรียน

เพลงประจำโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ประพันธ์ขึ้นตามพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คำร้องโดย หม่อมราชวงศ์เลื่อน สิงหรา ผู้เรียบเรียงคือ สุวัฒน์ เทียมหงษ์ ทำนองจากเพลงแขกต่อยหม้อ อัตราจังหวะสองชั้น เป็นเพลงไทยเดิมที่ใช้ประกอบการแสดง ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา มีจังหวะการเอื้อนทำนองโดยเฉพาะ[2][3] โดยเพลงนี้ได้ขับร้องครั้งแรกในงานรื่นเริงประจำปีพ.ศ. 2471 รู้จักกันในชื่อ บรรดาเรา[4] และมีเพลงอื่นๆ อีกดังต่อไปนี้

บันทึกต้นฉบับ เพลงประจำโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย
  • สีประจำโรงเรียน ชมพู - ฟ้า
    • ███ สีชมพู เป็นสีประจำวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งตรงกับวันอังคาร ความหมายของสีชมพู คือ ความสุภาพอ่อนหวาน อ่อนโยน นอบน้อมเป็นสีแห่งความรัก ความเอื้อเฟื้อที่มีต่อบุลคลทั่วไป เป็นสีแห่งความเมตตา
    • ███ สีฟ้า เป็นสีประจำนพระราชสมภพของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ซึ่งตรงกับวันศุกร์ ความหมายของสีฟ้า คือ ความเข้มแข็งอดทน ความกล้าหาญ ความเสียสละเป็นสีของท้องฟ้าที่มีอาณาเขตกว้างใหญ่ ไพศาลไม่มีที่สิ้นสุด เป็นสีแห่งจักรวาล
    • ██████ สีชมพู-ฟ้า จึงมีความหมายถึง องค์ผู้พระราชทานกำเนิดโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย และพระบรมราชินีนาถ ทั้งยังหมายถึง เป็นแหล่งที่มีความรัก ความสามัคคี ของผู้ที่มีความดีงาม มีความนึกคิดที่สูงส่ง[1]

รายนามผู้บริหาร[แก้]

โรงเรียนจิรประวัติวิทยาคม[แก้]

ทำเนียบผู้บริหาร จิรประวัติวิทยาคม (เดิม)
ลำดับ รายนาม ตำแหน่ง วาระการดำรงตำแหน่ง
1 นายสายยนต์ เอี่ยมประสงค์ อาจารย์ใหญ่ /
ผู้อำนวยการ
22 พ.ค. 2517 - 3 ก.พ. 2525 /
4 ก.พ. 2525 - 24 ก.พ.2529
2 นายเขจร เปรมจิตต์ ผู้อำนวยการ 12 พ.ย. 2529 - 30 ก.ย. 2529
3 นายธำรง แพรนิมิต ผู้อำนวยการ 28 พ.ย. 2531 - 1 ต.ค. 2535
4 นายเฉลิม หงษ์สัมฤทธิ์ ผู้อำนวยการ 1 ต.ค. 2536 - 22 มิ.ย. 2537
5 นายวิจารณ์ ภักดีรัตน์ ผู้อำนวยการ 29 มิ.ย. 2537 - 30 ก.ย. 2531
6 นายวิวัฒน์ อนิวรรตกูล ผู้อำนวยการ 19 ม.ค. 2540 - 27 ก.ย. 2543
7 ว่าที่ร้อยตรีไพศาล ประทุมชาติ ผู้อำนวยการ 27 ก.พ. 2543 - 1 พ.ค. 2546
8 นายประสิทธิ์ อุทยานวิทยา ผู้อำนวยการ 1 พ.ค. 2546 - 17 มี.ค. 2548
9 ดร.กอบกิจ ส่งศิริ รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการ 18 มี.ค. 2548 - 10 ต.ค. 2550

โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย (จิรประวัติ) นครสวรรค์[แก้]

ทำเนียบผู้บริหารสวนกุหลาบวิทยาลัย (จิรประวัติ) นครสวรรค์ (ปัจจุบัน)
ลำดับ รายนาม ตำแหน่ง วาระการดำรงตำแหน่ง
1 นายหิรัญ สถาพร ผู้อำนวยการ 18 ม.ค. 2551 - 30 ก.ย. 2554
2 นายประมวล อ่วมงาม ผู้อำนวยการ 10 ธ.ค. 2554 - 31 พ.ค. 2556
3 นายนภางค์พงศ์ เปรมจิตต์ ผู้อำนวยการ 6 ธ.ค. 2556 - 30 ก.ย. 2558
4 นางสาวอร่าม วัฒนะ รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการ 1 ต.ค. 2558 - 13 ต.ค. 2559
5 นายอภิรักษ์ อุ่นใจ ผู้อำนวยการ 14 ต.ค. 2559 - ปัจจุบัน

สถาบันสวนกุหลาบ[แก้]

ปัจจุบันโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยมีสถานศึกษาในเครือที่ใช้ชื่อ “สวนกุหลาบวิทยาลัย” ในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศไทยทั้งหมด 11 แห่ง มีการสร้างพันธกิจสำคัญร่วมกันขับเคลื่อนคุณภาพการศึกษาโดยการบริหารจัดการขององค์กรเครือข่ายสวนกุหลาบ สร้างบรรทัดฐานการเรียนการสอนทั้ง 11 แห่งให้ไปในทิศทางเดียวกัน ได้แก่

ลำดับที่ โรงเรียน อักษรย่อ จังหวัด สถาปนา สถานศึกษาเดิม
1 โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ส.ก. / S.K. กรุงเทพมหานคร 8 มีนาคม พ.ศ. 2425
(142 ปี 39 วัน)
2 โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นนทบุรี ส.ก.น. / S.K.N. นนทบุรี 30 มีนาคม พ.ศ. 2521
(46 ปี 17 วัน)
3 โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ สวนกุหลาบวิทยาลัย สมุทรปราการ นมร.ส.ก.ส. / NMR.S.K.S. สมุทรปราการ 8 เมษายน พ.ศ. 2534
(33 ปี 8 วัน)
4 โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ สวนกุหลาบวิทยาลัย ปทุมธานี นมร.ส.ก.ป. / NMR.S.K.P. ปทุมธานี 4 มีนาคม พ.ศ. 2535
(32 ปี 43 วัน)
5 โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย รังสิต ส.ก.ร. / S.K.R. ปทุมธานี 3 มีนาคม พ.ศ. 2536
(31 ปี 44 วัน)
6 โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ชลบุรี ส.ก.ช. / S.K.C. ชลบุรี 5 มีนาคม พ.ศ. 2542
(25 ปี 42 วัน)
7 โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย เพชรบูรณ์ ส.ก.พ. / S.K.PB. เพชรบูรณ์ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2542
(24 ปี 297 วัน)
โรงเรียนท่าพลพิทยาคม
(พ.ศ. 2519)
8 โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย สระบุรี ส.ก.บ. / S.K.B. สระบุรี 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549
(18 ปี 70 วัน)
โรงเรียนปากเพรียววิทยาคม
(พ.ศ. 2537)
9 โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย (จิรประวัติ) นครสวรรค์ ส.ก.จ. / S.K.J. นครสวรรค์ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2550
(16 ปี 111 วัน)
โรงเรียนจิรประวัติวิทยาคม
(พ.ศ. 2517)
10 โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ธนบุรี ส.ก.ธ. / S.K.T. กรุงเทพมหานคร 8 สิงหาคม พ.ศ. 2551
(15 ปี 252 วัน)
11 โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นครศรีธรรมราช ส.ก.นศ. / S.K.NS. นครศรีธรรมราช 3 มีนาคม พ.ศ. 2554
(13 ปี 44 วัน)
โรงเรียนลานสกาประชาสรรค์
(พ.ศ. 2516)

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย,"ข้อมูลทั่วไป">เว็บไซต์ ส.ก.
  2. กาญจนา เตชะวณิชย์ (18 ตุลาคม 2551). "เพลงประจำโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย". ไทยกู๊ดวิวดอตคอม. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-02-26. สืบค้นเมื่อ 15 มกราคม 2553. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  3. "บทเพลงชาวสวนฯ : เพลงประจำโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย". เว็บไซต์โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย. สืบค้นเมื่อ 15 มกราคม 2553. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  4. https://www.facebook.com/1526437537574312/photos/a.1529400270611372.1073741828.1526437537574312/1939118809639514/?type=3&theater