โรงเรียนพิบูลมังสาหาร

พิกัด: 15°14′34″N 105°13′49″E / 15.2426509°N 105.2303536°E / 15.2426509; 105.2303536
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
โรงเรียนพิบูลมังสาหาร
Phibunmangsahan School
ตราประจำโรงเรียนพิบูลมังสาหาร
ที่ตั้ง
เลขที่ 29/3 ถ.เทศบาล 2 ต.พิบูล อ.พิบูลมังสาหาร
จ.อุบลราชธานี 34110 ไทย
พิกัด15°14′34″N 105°13′49″E / 15.2426509°N 105.2303536°E / 15.2426509; 105.2303536
ข้อมูล
ชื่ออื่นพ.ม. / P.M.
ประเภทโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดใหญ่พิเศษ
โรงเรียนรัฐบาล
คำขวัญความรู้ดี มีจรรยา พลานามัยสมบูรณ์ เกื้อกูลสังคม
เขตการศึกษาองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี
กระทรวงมหาดไทย
สี███ เทา
███ แดง
เพลงมาร์ชโรงเรียนพิบูลมังสาหาร
(มาร์ช พ.ม.)
เว็บไซต์http://www.phibun.ac.th

โรงเรียนพิบูลมังสาหาร (อักษรย่อ : พ.ม. / P.M.) เป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดใหญ่พิเศษ ประเภทสหศึกษา สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย จัดการศึกษาในระดับมัธยมศึกษา สายสามัญ ตั้งแต่ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 ตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ เป็นโรงเรียนประจำจังหวัด (โรงเรียนยอดนิยม) และเป็นโรงเรียนอันดับ 1 ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี เเละปัจจุบันมีนักเรียนเกือบ 4,000 คน

โรงเรียนพิบูลมังสาหาร ตั้งอยู่เลขที่ 29/3 ถนนเทศบาล 2 ตำบลพิบูล อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี มีเนื้อที่ 51 ไร่

  • สถานที่ใกล้โรงเรียนพิบูลมังสาหาร
  1. ตลาดสดเทศบาลพิบูลมังสาหาร
  2. บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ พิบูลมังสาหาร
  3. สถานีตำรวจภูธรอำเภอพิบูลมังสาหาร
  4. สนามกีฬากลางพิบูลมังสาหาร

ประวัติ[แก้]

อาคารเรียนหลังแรก ในปี พ.ศ. 2506 เรียกขานนามว่า "อาคารราษฎร์รังสรรค์"

โรงเรียนพิบูลมังสาหาร[1] ได้รับอนุมัติจัดตั้งจากกระทรวงศึกษาธิการ ตามคำสั่งกระทรวงศึกษาธิการที่ 6816/2506 เริ่มเปิดทำการเรียนการสอน เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2506 ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 มีจำนวนนักเรียนทั้งสิ้น 49 คน เป็นนักเรียนชาย 24 คน นักเรียนหญิง 25 คน ซึ่งการจัดตั้งโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น สายสามัญ ประจำอำเภอ เป็นความคิดเริ่มของคณะกรรมการการศึกษาอำเภอพิบูลมังสาหาร โดยมีผู้ปกครองนักเรียน ข้าราชการครู พ่อค้า และประชาชน ร่วมกันบริจาคทรัพย์เพื่อก่อสร้างอาคารเรียนหลังแรก เป็นอาคารไม้ 2 ชั้น 4 ห้องเรียน รวมเป็นเงินก่อสร้าง 90,000 บาท ทั้งนี้ไม่ได้รับเงินสมทบจากทางราชการเลย โดยบริเวณสถานที่ตั้งของโรงเรียนเป็นพื้นที่สาธารณประโยชน์ มีเนื้อที่ 51 ไร่ และอีกหนึ่งแปลงบริเวณพื้นที่สาธารณประโยชน์หนองโจด ตำบลโพธิ์ไทร อำเภอพิบูลมังสาหาร มีเนื้อที่ 58 ไร่ ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้อนุมัติให้โรงเรียนใช้ประโยชน์เพื่อการศึกษา

ในปี พ.ศ. 2506 เดิมโรงเรียนมีชื่อว่า "โรงเรียนพิบูลประชาสรรค์" เริ่มเปิดทำการ เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2506 และถือว่าเป็นวันสถาปนาโรงเรียน

ในปี พ.ศ. 2507 นายเชื้อ สาริมาน รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการในขณะนั้น ได้เปลี่ยนชื่อโรงเรียนใหม่ว่า "โรงเรียนพิบูลราษฏร์รังสรรค์"'

อาคารเรียนและสภาพพื้นที่ในอดีต

ในปี พ.ศ. 2511 กรมสามัญศึกษา ได้กำหนดให้โรงเรียนในสังกัด ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำอำเภอ ให้ใช้ชื่ออำเภอเป็นชื่อโรงเรียน ดังนั้น โรงเรียนจึงได้เปลี่ยนชื่อใหม่ว่า "โรงเรียนพิบูลมังสาหาร"

ในปี พ.ศ. 2512 โรงเรียนเข้าโครงการพัฒนาการศึกษาโรงเรียนมัธยมแบบประสมแบบที่ 2 (คมส.2) รุ่นที่ 5

ในปี พ.ศ. 2514 โรงเรียนเข้าโครงการมัธยมศึกษาเพื่อพัฒนาชนบท (คมช.) รุ่นที่ 8 เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2514

ในปี พ.ศ. 2520 โรงเรียนได้เปิดสอนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย

ในปี พ.ศ. 2526 สภาตำบลโพธิ์ไทร ได้รับบริจาคที่ดินบริเวณหนองโจด บ้านสนามชัย ตำบลโพธิ์ไทร อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี ให้โรงเรียน 58 ไร่

ในปี พ.ศ. 2545 เปิดการสอนตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน

ในปี พ.ศ. 2547 สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาอุบลราชธานี เขต 3

อาคารเรียน 6 หรือ อาคารพิกุลแก้ว โรงเรียนพิบูลมังสาหาร ในปัจจุบัน

ในปี พ.ศ. 2549 ถ่ายโอนภารกิจไปสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี

ในปี พ.ศ. 2550 ถ่ายโอนโรงเรียนไปสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี

ในปี พ.ศ. 2553 โรงเรียนพิบูลมังสาหารเข้ารับการประเมินการประกันคุณภาพภายนอก และผ่านการประเมินรับรองจากสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน)

ในปี พ.ศ. 2554 โรงเรียนพิบูลมังสาหารจัดหลักสูตรการเรียนการสอน โดยใช้หลักสูตรสถานศึกษาขั้นพื้นฐานโรงเรียนมาตรฐานสากล (World Class Standard School) ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551

โรงเรียนพิบูลมังสาหาร เปิดทำการเรียนการสอนในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 ซึ่งได้รับการพัฒนาให้ก้าวหน้ามาเป็นลำดับจนถึงปัจจุบัน

สัญลักษณ์ประจำโรงเรียน[แก้]

ตราสัญลักษณ์โรงเรียน[แก้]

ตราสัญลักษณ์โรงเรียน
ตราสัญลักษณ์โรงเรียน

สัญลักษณ์ของโรงเรียนพิบูลมังสาหารคือ "หินพระปรมาภิไธย"[2] พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในวโรกาสเสด็จเยือนอำเภอพิบูลมังสาหาร เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2498 อันเป็นเครื่องหมายแห่งความเป็นสิริมงคลของชาวอำเภอพิบูลมังสาหาร วงกลม เป็นสัญลักษณ์แห่งความสามัคคีกลมเกลียวเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน สลักชื่อ โรงเรียนพิบูลมังสาหาร และคติพจน์ อตฺตานํ ทมยนฺติ สุพฺพตา มีความหมายว่า ผู้ประพฤติดี ย่อมฝึกตน ดอกบัวบาน เป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดอุบลราชธานี อันเป็นเป็นเครื่องหมายแห่งการเกิดของความรู้

ตราสัญลักษณ์และความหมาย สะท้อนให้เห็นแนวปรัชญาการศึกษาของสถาบันแห่งนี้ ซึ่งมุ่งฝึกฝนอบรมเด็กและเยาวชนที่เข้ามาเป็นศิษย์ ให้เกิดการพัฒนาทางการศึกษา มีจิตใจที่หนักแน่น มีสติปัญญา เป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้อันได้แก่ ความขยันหมั่นเพียรใฝ่เรียนรู้ มีความรู้คู่คุณธรรม รู้รักสามัคคีเกื้อกูลสังคม มีจิตใจหนักแน่นมั่นคง เสมือนหินพระปรมาภิไธยที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถได้พระราชทานไว้

พระพุทธรูปประจำโรงเรียน[แก้]

พระศรีทศพลญาณ พระประจำโรงเรียน
  • "พระศรีทศพลญาณ" จัดสร้างในโอกาสครบรอบ 30 ปี วันสถาปนาโรงเรียนพิบูลมังสาหาร ในปี พ.ศ. 2536

สีประจำโรงเรียน[แก้]

  •   สีเทา หมายถึง ความเฉลียดฉลาดและสติปัญญา
  •   สีแดง หมายถึง ความกล้าหาญและเข้มแข็ง

อักษรย่อ[แก้]

  • พ.ม. หมายถึง โรงเรียนพิบูลมังสาหาร

คติพจน์[แก้]

  • "อตฺตานํ ทมยนฺติ สุพฺพตา"

ความหมาย : ผู้ประพฤติดี ย่อมฝึกตน

ปรัชญา[แก้]

  • "การศึกษาเป็นการพัฒนาชีวิตและสังคม"

ความหมาย : นักเรียนโรงเรียนพิบูลมังสาหารทุกคน ต้องได้รับการฝึกฝนตนเอง ให้เป็นคนใฝ่เรียนใฝ่รู้ ศึกษาหาความรู้ตลอดเวลา เพื่อเป็นฐานในการพัฒนาชีวิตและสังคมที่ดีต่อไป

คำขวัญ[แก้]

  • "ความรู้ดี มีจรรยา พลานามัยสมบูรณ์ เกื้อกูลสังคม"
    ประตูด้านหน้า โรงเรียนพิบูลมังสาหาร

อัตลักษณ์[แก้]

  • "เก่งสื่อสาร ขยันออม พร้อมรักษ์สะอาด งามมารยาทไทย"

ต้นไม้ประจำโรงเรียน[แก้]

  • ต้นไทรเงิน, ต้นกันเกรา

เพลงประจำโรงเรียน[แก้]

  • มาร์ชโรงเรียนพิบูลมังสาหาร
    ประตูอิฐแดงเดิม โรงเรียนพิบูลมังสาหาร

ผู้ประพันธ์ คำร้อง-ทำนอง : คุณครู วีระพล เวชพันธุ์ (ปี พ.ศ. 2515)

"...พิบูลมังสาหารลั่นลือชื่อกระเดื่อง
เป็นนามเมืองแก่งงามตระการสดใส
แดนอุดมสมชื่อระบือไกล
ทั่วทุกเขตเทศไทยได้รู้นาม
...การศึกษาการเรียนพากเพียรมั่น
การกีฬาครบครันช่วยเกื้อหนุน
สถาบันงามสง่าน่าเทิดทูน
พลีวิชาเพิ่มพูนแด่ผองเรา
...เหล่าน้องพี่เทาแดง
ขอร่วมแรงร่วมสมัครรักผูกพัน
เราน้องพี่ร่วมกัน
ช่วยสร้างสรรค์ให้กระเดื่องลือชา
...แม้ชีวิตยอมพลีวจียึดมั่น
กายและใจมิหวั่นยอมท้อถอย
ขอเทิดเกียรติสถาบันอันเลิศลอย
ให้อยู่สูงสุดสอยชั่วนิรันดร์..."

อาคารเรียนและอาคารอื่นๆ[แก้]

อาคารหอประชุมศรีวนาลัย
  • อาคาร 1 ทองกวาว
  • อาคาร 2 พุทธรักษา
  • อาคาร 3 ภูแก้ว
  • อาคาร 4 นวรัช
  • อาคาร 5 กันเกรา
  • อาคาร 6 พิกุลแก้ว
  • อาคาร 7 เพชรบงกช
  • อาคาร 8 โกมุท
  • อาคาร 9 อุบลมาศ
  • อาคาร 10 อุบลมณี
  • อาคารห้องสมุด IT
    โดมอเนกประสงค์ ลานกิจกรรม
  • อาคารอุตสาหกรรม
  • อาคารคหกรรม
  • อาคารศิลปะ
  • อาคารพยาบาล
  • อาคารหอประชุมราษฎร์รังสรรค์
  • อาคารหอประชุมศรีวนาลัย
  • อาคารหอประชุมหลังใหม่
  • อาคารโรงอาหาร
  • โดมอเนกประสงค์
  • ศาลาแห่งความฮักแพง

ทำเนียบผู้บริหารโรงเรียน[แก้]

นับตั้งแต่ก่อตั้งโรงเรียนจนถึงปัจจุบัน โรงเรียนพิบูลมังสาหาร มีรายนามผู้บริหารดังต่อไปนี้

ที่ ชื่อ ตำแหน่ง ปีที่ดำรงตำแหน่ง
1 นายวิเชียร วรรณพงศ์ รักษาการครูใหญ่ พ.ศ. 2506-2506
2 นายไสว ทองรอง ครูใหญ่ พ.ศ. 2506-2512
3 นายสัมฤทธิ์ มุสิกสวัสดิ์ รักษาการครูใหญ่ พ.ศ. 2512-2512
4 นายณรงค์ ไชยกาล ครูใหญ่ พ.ศ. 2512-2512
5 นายมนูญ ส่งเสริม ครูใหญ่, อาจารย์ใหญ่, ผู้อำนวยการ พ.ศ. 2512-2525
6 นายทองขาว โคตรโยธา ผู้อำนวยการ พ.ศ. 2525-2527
7 นายสมพงษ์ โลมะรัตต์ ผู้อำนวยการ พ.ศ. 2527-2530
8 นายพงษ์ศักดิ์ คูณเรือง ผู้อำนวยการ พ.ศ. 2530-2537
9 นายเกษม คำทวี ผู้อำนวยการ พ.ศ. 2537-2539
10 นายพิชัย พิทยาธรพิทักษ์ ผู้อำนวยการ พ.ศ. 2539-2542
11 นายวิชัย ศิริบูรณ์ ผู้อำนวยการ พ.ศ. 2542-2543
12 นายวิโรจน์ บรรดาศักดิ์ ผู้อำนวยการ พ.ศ. 2543-2554
13 นายลำพอง ทองปน ผู้อำนวยการ พ.ศ. 2554-2556
14 นาเกษม เพชรดี ผู้อำนวยการ พ.ศ. 2556-2560
15 นายสงวน แสงชาติ ผู้อำนวยการ พ.ศ. 2560-2565

อ้างอิง[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]