โรคลักปิดลักเปิด

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก โรคเลือดออกตามไรฟัน)
โรคลักปิดลักเปิด
เหงือกโรคลักปิดลักเปิด อาการของโรค สังเกตสีแดงของเหงือกในเหงือกสามเหลี่ยมระหว่างฟัน
บัญชีจำแนกและลิงก์ไปภายนอก
ICD-10E54
ICD-9267
OMIM240400
DiseasesDB13930
MedlinePlus000355
eMedicinemed/2086 derm/521 ped/2073 radio/628
MeSHD012614

โรคลักปิดลักเปิด (อังกฤษ: scurvy) เป็นโรคที่เกิดจากการขาดวิตามินซี ซึ่งจำเป็นต่อการสังเคราะห์คอลลาเจนในมนุษย์ ทั้งนี้ ชื่อเคมีของวิตามินซี กรดแอสคอร์บิก มาจากคำว่า scorbutus ในภาษาละติน หรือ scurvy ในภาษาอังกฤษ โรคลักปิดลักเปิดมักแสดงอาการความรู้สึกไม่สบายและภาวะง่วงงุนในระยะเริ่มแรก ตามมาด้วยการเกิดจุดบนผิวหนัง เหงือกยุ่ย และเลือดออกตามเยื่อเมือก จุดดังกล่าวพบมากที่สุดบนต้นขาและขา และบุคคลที่ป่วยเป็นโรคลักปิดลักเปิดจะดูซีด ซึมเศร้า และเคลื่อนไหวไม่ได้บางส่วน เมื่อโรคทวีความรุนแรงขึ้น อาจมีแผลกลัดหนองเปิด สูญเสียฟัน ดีซ่าน ไข้ โรคเส้นประสาท จนถึงเสียชีวิตได้

ครั้งหนึ่ง โรคลักปิดลักเปิดเคยพบมากในหมู่กะลาสี โจรสลัดและผู้ที่ล่องเรือในทะเลนานกว่าที่จะเก็บผักและผลไม้ได้ ซึ่งส่วนใหญ่คนเหล่านี้จะดำรงชีพด้วยเนื้อและธัญพืชที่ถนอมอาหารหรือเติมเกลือแทน และยังพบในหมู่ทหารที่ไม่ได้รับอาหารประเภทนี้เป็นเวลานาน ฮิปพอคราทีส (460-380 ปีก่อน ค.ศ.) เป็นผู้อธิบายโรคนี้ และการรักษาโรคด้วยสมุนไพรเป็นที่รู้จักกันในหลายวัฒนธรรมพื้นเมืองตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ โรคลักปิดลักเปิดเป็นหนึ่งในปัจจัยจำกัดการท่องทะเล มักคร่าชีวิตผู้โดยสารและลูกเรือเป็นจำนวนมากในการเดินทางไกล ๆ และยาวนาน

การรักษาโรคลักปิดลักเปิดด้วยการให้อาหารสด โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลไม้จำพวกส้ม เป็นคราว ๆ ปฏิบัติสืบต่อกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ เจมส์ ลินด์ ศัลยแพทย์ชาวสก็อตในกองทัพเรืออังกฤษ เป็นคนแรกที่พิสูจน์ว่าโรคนี้สามารถรักษาได้ด้วยผลไม้พวกส้มในการทดลองที่เขาอธิบายในหนังสือของเขา A Treatise of the Scurvy (ศาสตร์นิพนธ์โรคลักปิดลักเปิด)[1] ที่เขียนเมื่อ ค.ศ. 1753 แต่สาเหตุของโรคลักปิดลักเปิดยังไม่ทราบกันกระทั่ง ค.ศ. 1932

โรคลักปิดลักเปิดไม่เกิดในสัตว์ส่วนใหญ่ เพราะสัตว์สามารถสังเคราะห์วิตามินซีได้เอง ยกเว้นมนุษย์และไพรเมตชั้นสูงอื่น ๆ หนูตะเภา และค้างคาวเกือบทุกชนิด นกและปลาบางชนิด ที่ขาดเอนไซม์แอลกูโลโนแลกโตนอ็อกซิเดส (L-gulonolactone oxidase) ซึ่งจำเป็นต่อการสังเคราะห์วิตามินซี จึงจำเป็นต้องได้รับวิตามินซีจากอาหาร วิตามินซีพบมากในเยื่อพืช และมีความเข้มข้นสูงในผลไม้จำพวกส้ม (ส้ม เลมอน มะนาว เกรปฟรุต) มะเขือเทศ มันฝรั่ง กะหล่ำปลี และพริกหยวก นอกจากนี้ยังพบวิตามินซีในเนื้อเยื่อสัตว์ เช่นจากการศึกษาอาหารของชนพื้นเมืองอินุอิต (เอสกิโม) ซึ่งแทบไม่มีการรับประทานผักผลไม้แต่ไม่มีปัญหาโรคลักปิดลักเปิด พบว่าชาวอินุอิตได้รับวิตามินซีอย่างเพียงพอ จากอาหารพื้นเมืองเช่นหนังปลาวาฬ และผลิตภัณฑ์จากสัตว์อื่น ๆ ในเขตหนาวเช่น แมวน้ำ สิงโตทะเล ซึ่งมีวิตามินซีสูง โดยมีการรับประทานดิบ ๆ ไม่ผ่านความร้อน ทำให้วิตามินซีในเนื้อเยื่อสัตว์ไม่ถูกทำลาย

อ้างอิง[แก้]

  1. Lind, James (1753). A Treatise on the Scurvy. London: A. Millar.