โรคพยาธิไส้เดือน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
โรคพยาธิไส้เดือน
(Ascariasis)
บัญชีจำแนกและลิงก์ไปภายนอก
ICD-10B77
ICD-9127.0
DiseasesDB934
MedlinePlus000628
MeSHD001196

โรคพยาธิไส้เดือน (อังกฤษ: Ascariasis) เป็นโรคของมนุษย์ซึ่งเกิดจากพยาธิไส้เดือน (Ascaris lumbricoides) ประมาณกันว่าหนึ่งในสี่ของประชากรโลกมีการติดเชื้อพยาธิดังกล่าว[1] โรคพยาธิไส้เดือนมักเกิดในเขตร้อนและในบริเวณที่สุขลักษณะไม่ดี

การติดเชื้อพยาธิไส้เดือนมักเกิดจากการรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนไข่พยาธิ ตัวอ่อนของพยาธิจะออกมาจากไข่และไชผ่านผนังลำไส้ เข้าไปสู่ปอด และออกมายังทางเดินหายใจ ก่อนจะถูกกลืนกลับเข้าไปและเจริญเป็นตัวเต็มวัยในลำไส้ซึ่งมีความยาวถึง 30 เซนติเมตร (ประมาณ 12 นิ้ว) เกาะติดกับผนังของลำไส้

ผู้ที่ติดเชื้อพยาธิไส้เดือนอาจไม่มีอาการหากมีการติดเชื้อในปริมาณน้อย ผู้ป่วยที่มีอาการมีการอักเสบ ไข้ และท้องเสีย และมีอาการแทรกซ้อนจากการไชไปตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายของพยาธิตัวอ่อน

วงชีวิตของพยาธิ[แก้]

พยาธิตัวเต็มวัย (1) อาศัยในลำไส้เล็ก ตัวเมียจะออกไข่ประมาณ 200,000 ฟองต่อวัน ซึ่งจะออกมาพร้อมกับอุจจาระ (2) ไข่ที่ไม่ได้รับการผสมแม้จะออกมากับอุจจาระและถูกรับประทานก็จะไม่ทำให้ติดเชื้อต่อไป ส่วนไข่ที่ได้รับการผสมจะเจริญเป็นเอ็มบริโอและกลายเป็นระยะติดต่อใน 18 วันหรือหลายสัปดาห์ (3) ขึ้นกับสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสม คือ ดินชื้น อบอุ่น และมีร่มเงา หลังจากระยะติดต่อคือไข่ถูกกลืนเข้าไป (4) ตัวอ่อนจะฟักออกจากไข่ (5) และไชทะลุเยื่อเมือกของลำไส้ ผ่านทางระบบเลือดพอร์ทัล ระบบเลือดเลี้ยงกาย และ/หรือระบบน้ำเหลืองเข้าสู่ปอด ตัวอ่อนจะเจริญต่อภายในปอด (6) (10-14 วัน) ไชทะลุผ่านผนังถุงลม เคลื่อนขึ้นไปยังกิ่งก้านหลอดลมและช่องคอ จากนั้นถูกกลืนกลับ (7) เข้าไปยังลำไส้เล็กและเจริญเป็นตัวเต็มวัย (8) ทั้งหมดใช้เวลาประมาณ 2-3 เดือนตั้งแต่การรับประทานไข่พยาธิจนถึงพยาธิตัวเมียวางไข่ พยาธิตัวเต็มวัยสามารถมีชีวิตได้ถึง 1-2 ปี

ไข่จะเริ่มปรากฏในอุจจาระประมาณวันที่ 60-70 อาการจากการติดเชื้อพยาธิตัวอ่อนจะเกิดราว 4-16 วันหลังจากการติดเชื้อ อาการสุดท้ายคือปวดท้อง อาเจียน เป็นไข้ พบไข่พยาธิในอุจจาระ ผู้ป่วยบางคนอาจมีอาการเกี่ยวกับปอดหรือความผิดปกติของระบบประสาทจากการไชผ่านร่างกายของพยาธิตัวอ่อน อย่างไรก็ตามทั่วไปมักมีอาการน้อยหรือไม่มีอาการ ก้อนกระจุกของพยาธิอาจอุดกั้นทางเดินอาหาร การไชของตัวอ่อนอาจทำให้เกิดปอดอักเสบหรืออีโอสิโนฟิเลีย (eosinophilia)

อ้างอิง[แก้]

  1. Williams-Blangero S, VandeBerg JL, Subedi J; และคณะ (April 2002). "Genes on chromosomes 1 and 13 have significant effects on Ascaris infection". Proc. Natl. Acad. Sci. U.S.A. 99 (8): 5533–8. doi:10.1073/pnas.082115999. PMC 122804. PMID 11960011. {{cite journal}}: ใช้ et al. อย่างชัดเจน ใน |author= (help)CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]