โฌเซฟีน เดอ โบอาร์แน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก โยเซฟิน)
โฌเซฟีน เดอ โบอาร์แน
ไวเคาน์เตสแห่งโบอาร์แน
ดัชเชสแห่งนาวาร์
จักรพรรดินีโฌเซฟีน โดยอ็องตวน-ณ็อง กร็อส
จักรพรรดินีแห่งฝรั่งเศส
ดำรงพระยศ18 พฤษภาคม 1804 – 10 มกราคม 1810
ก่อนหน้ามารีอา อันโทนีอาแห่งออสเตรีย (ในฐานะสมเด็จพระราชินี)
ถัดไปมารี ลูซิอาแห่งออสเตรีย
สมเด็จพระราชินีแห่งอิตาลี
ดำรงพระยศ26 พฤษภาคม 1805 – 10 มกราคม 1810
ก่อนหน้าฟื้นฟูพระอิสริยยศ
อีซาแบลแห่งโปรตุเกส
ถัดไปมารี ลูซิอาแห่งออสเตรีย
เกิด23 มิถุนายน ค.ศ. 1763(1763-06-23)
โดแฟ็ง เซนต์ลูเชีย เลสเซอร์แอนทิลลีส
โฌแซ็ฟ เดอ ลา ปาเฌอรี
พิราลัย29 พฤษภาคม ค.ศ. 1814(1814-05-29) (50 ปี)
โอดแซน อีล-เดอ-ฟร็องส์ ราชอาณาจักรฝรั่งเศส
ฝังศพเรย-มัลเมซง
คู่สมรสอาแล็กซ็องดร์ เดอ โบอาร์แน (สมรส 1779; เสียชีวิต 1794)
จักรพรรดินโปเลียนที่ 1 (สมรส 1796; โมฆะ 1810)
บุตรเออแฌน เดอ โบอาร์แน เจ้าชายแห่งเวนิส
สมเด็จพระราชินีออร์ต็องส์แห่งฮอลแลนด์
นามเต็มมารี โฌแซ็ฟ โรซ ตาเช เดอ ลา ปาเฌอรี
ราชวงศ์โบนาปาร์ต (โดยสมรส)
บิดาโฌแซ็ฟ-กัสปาร์ ตาเช เดอ ลา ปาเฌอรี
มารดาโรซ-แกลร์ เด แวร์เฌ เดอ ซานัว
ศาสนาโรมันคาทอลิก
ลายมือชื่อ

โฌเซฟีน โบนาปาร์ต (ภาษาฝรั่งเศส: [ʒozefin bɔnapaʁt], ชื่อเกิดคือ มารี โฌแซ็ฟ โรซ ตาเช เดอ ลา ปาเฌอรี; 23 มิถุนายน ค.ศ. 1763 – 29 พฤษภาคม ค.ศ. 1814) เป็นจักรพรรดินีแห่งชาวฝรั่งเศสพระองค์แรก ซึ่งเป็นมเหสีพระองค์แรกในจักรพรรดินโปเลียนที่ 1 แห่งฝรั่งเศส ตั้งแต่วันที่ 18 พฤษภาคม ค.ศ. 1804 จนกระทั่งการอภิเษกสมรสของทั้งสองพระองค์เป็นโมฆะ เมื่อวันที่ 10 มกราคม ค.ศ. 1810 ในฐานะพระมเหสีของนโปเลียน พระนางยังเป็นสมเด็จพระราชินีแห่งอิตาลี ตั้งแต่วันที่ 26 พฤษภาคม ค.ศ. 1805 จนกระทั่งได้ถูกทำให้เป็นโมฆะ ค.ศ. 1810 พระนางยังเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางว่า โฌเซฟีน เดอ โบอาร์แน (ภาษาฝรั่งเศส: [ʒozefin də boaʁnɛ])

โฌเซฟีนได้สมรสกับนโปเลียนเป็นสามีคนที่สอง สามีคนแรกของนางคือ อาแล็กซ็องดร์ เดอ โบอาร์แน ซึ่งได้ถูกประหารชีวิตด้วยกิโยตินในช่วงยุคสมัยแห่งความน่าสะพรึง และนางถูกจองจำคุกในเรือนจำคาร์เมสจนถึงห้าวันหลังจากที่เขาถูกประหาร จากเหล่าบรรดาบุตรของนางโดยโบอาร์แน นางเป็นอัยกีของนโปเลียนที่ 3 จักรพรรดิแห่งชาวฝรั่งเศส และอเมลีแห่งเลาช์เทนเบิร์ก จักรพรรดินีแห่งบราซิล สมาชิกราชวงศ์ปัจจุบันของสวีเดน เดนมาร์ก เบลเยียม และนอร์เวย์ และราชตระกูลแกรนด์ดิวคัลแห่งลักเซมเบิร์กก็สืบเชื้อสายจากนางเช่นกัน เนื่องจากนางไม่สามารถมีบุตรใด ๆ ให้กับนโปเลียนได้ พระองค์ได้ทำให้การอภิเษกสมรสของทั้งสองพระองค์เป็นโมฆะและอภิเษกสมรสกับพระนางมารี หลุยส์แห่งออสเตรีย โฌเซฟีนได้รับจดหมายรักจำนวนมากมายที่ถูกเขียนโดยนโปเลียน ซึ่งหลายฉบับยังคงมีอยู่

ในฐานะผู้อุปถัมภ์ศิลปะ โฌเซฟีนได้ทำงานใกล้ชิดกับประติมากร จิตรกรและมัณฑนากรตกแต่งภายใน เพื่อสร้างสไตล์กงสุลและจักรวรรดิอันเป็นเอกลักษณ์ที่ชาโตเดอมัลเมซง นางกลายเป็นหนึ่งในนักสะสมชั้นนำด้านงานศิลปะในรูปแบบต่าง ๆ ในยุคสมัยของนาง เช่น ประติมากรรมและภาพวาด ชาโตเดอมัลเมซงขึ้นชื่อในเรื่องสวนกุหลาบ ซึ่งนางได้ดูแลอย่างใกล้ชิด

ประวัติ[แก้]

โฌเซฟีนไม่ได้เกิดมาในตระกูลชั้นสูง บิดาของพระนางเคยเป็นทหารเรือฝรั่งเศสที่ไปทำไร่อยู่บนเกาะมาร์ตินีกในทะเลแคริบเบียน เมื่อโฌเซฟีนอายุได้ 3 ขวบ พายุเฮอร์ริเคนก็ถล่มเกาะมาร์ตินีก จนไร่ของครอบครัวตาเชได้รับความเสียหายอย่างหนัก บิดาของโฌเซฟีนไม่เหลือเงินเลยแม้แต่ฟรังก์เดียว ความหวังของเขาที่เหลืออยู่คือหาผู้ชายรวย ๆ มาแต่งงานกับลูกสาวทั้ง 3 คนของตัวเองเพื่อช่วยพยุงฐานะของครอบครัวให้ดีขึ้นมาบ้าง โดยเริ่มจากลูกสาวคนกลาง กาเตอรีน เดซีเร ซึ่งมีคุณน้าผู้เป็นภริยาน้อยของขุนนางชั้นผู้ใหญ่ผู้หนึ่งในปารีสเป็นผู้จัดหาเจ้าบ่าวให้ คือเป็นลูกชายของขุนนางผู้นั้น กาเตอรีน เดซีเร เสียชีวิตอย่างกะทันหันในปี ค.ศ. 1777 ทำให้คุณน้าจึงยกลูกสาวคนโตคือ โรซ ให้แทน ซึ่งตอนนั้นเธอมีอายุเพียง 15 ปี

ชีวิตคู่[แก้]

หลังจากที่ได้แต่งงานกับสามีแล้ว สามีก็เริ่มเบื่อโฌเซฟีน และในขณะนั้นเองอยู่ในช่วงการปฏิวัติฝรั่งเศส สามีของโฌเซฟีนถูกประหารแต่นางรอดมาได้ ต่อมาโฌเซฟีนมีสามีคนที่ 2 คือ ปอล บารัส ผู้นำคนสำคัญของการปฏิวัติฝรั่งเศสและนางก็เป็นเพียงภริยาน้อยของปอล ต่อมาไม่นาน บารัสก็เริ่มเบื่อและคิดจะเอาเพื่อนรักของโฌเซฟีนมาเป็นภริยาน้อยแทน เมื่อบารัสต้องการหย่าขาดจากโฌเซฟีนจึงได้แนะนำนางไปให้นายทหารคนสนิทคือ นายพลนโปเลียน โบนาปาร์ต[1] ซึ่งเป็นชาวอิตาลีจากเกาะคอร์ซิกา ตอนแรกโฌเซฟีนไม่ได้รักนโปเลียนเลยแม้แต่น้อย แต่นโปเลียนรักโฌเซฟีนมากถึงขนาดส่งจดหมายถึงนางทุกวัน และระหว่างที่นโปเลียนไม่อยู่ โฌเซฟีนก็หาผู้ชายไปเรื่อย ๆ นางรู้ดีว่าอีกไม่นานก็จะหาความรักไม่ได้แล้วเพราะอีกไม่นานนางจะย่างเข้าสู่วัยกลางคน เมื่อนโปเลียนขอนางแต่งงานเดือนมกราคมในปีถัดมา โฌเซฟีนจึงไม่อาจปฏิเสธได้ ในตอนนั้นเขาเต็มใจที่จะยอมรับลูกทั้งสองของโฌเซฟีนมาเลี้ยง นางจึงแต่งงานกับเขาในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1796 ของขวัญวันแต่งงานที่โฌเซฟีนได้จากนโปเลียนคือ เหรียญทองที่สลักคำไว้ว่า "แด่ชะตากรรม" แต่ว่าทุกครั้งที่นโปเลียนไปรบ โฌเซฟีนก็มักจะพาผู้ชายเข้ามาในบ้าน โดยเฉพาะนายทหารหนุ่มที่ชื่อ อีปอลิต ชาร์ล ซึ่งอายุน้อยกว่าถึง 10 ปี โฌเซฟีนลุ่มหลงเขามากถึงเขียนจดหมายไปคร่ำครวญ เมื่อหมดทางเลี่ยง โฌเซฟีนจึงต้องจำใจไปมิลานโดยไม่ลืมที่จะเอาอีปอลิตของเธอไปด้วย จนในที่สุดนโปเลียนก็รู้เรื่องนี้ ในตอนแรกนโปเลียนเองก็ไม่เชื่อ แต่เมื่อกลับมาที่บ้านในมิลานก็พบว่าโฌเซฟีนเดินทางไปเจนัวพร้อมกับอีปอลิต เมื่อโฌเซฟีนกลับมาจากเจนัวก็ปฏิเสธ แต่นโปเลียนไม่เชื่อและอาละวาด หลังจากนั้นโฌเซฟีนก็เริ่มตระหนักว่านโปเลียนรักพระองค์มากเพียงใด[2] และชีวิตของนางจะเป็นอย่างไรถ้าขาดเขา จากเวลานั้นเองโฌเซฟีนจึงเริ่มมีใจให้กับนโปเลียน

วาระสุดท้าย[แก้]

จิตรกรรม ปราบดาภิเษกของนโปเลียน แสดงภาพนโปเลียนกำลังสวมมงกุฎให้แก่โฌเซฟีน

ตั้งแต่วันนั้น โฌเซฟีนก็ไม่ได้ก่อเรื่องอื้อฉาวขึ้นมาอีกเลย แต่นโปเลียนเริ่มไม่วางใจในตัวโฌเซฟีนอีกต่อไป เขามอบความเย็นชาให้กับนาง และไม่นานนโปเลียนไปหาผู้หญิงอื่นที่พร้อมจะเป็นคุณนายโบนาปาร์ตกันทั้งสิ้น โฌเซฟีนมอบความรักให้มากขึ้นเท่าที่นโปเลียนได้ทวีความเย็นชาต่อนาง เมื่อนโปเลียนได้ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นจักรพรรดิแห่งฝรั่งเศส โฌเซฟีนได้รับการสวมมงกุฎเป็นจักรพรรดินีจากนโปเลียน หลังจากนั้นโฌเซฟีนไม่สามารถที่จะมีพระโอรสให้แก่จักรพรรดิได้ โฌเซฟีนจึงต้องหย่าขาดจากนโปเลียนในที่สุด หลังจากนั้นโฌเซฟีนก็ย้ายไปอยู่ที่คฤหาสน์มาลเมซอง เพื่อเปิดทางให้จักรพรรดินีพระองค์ใหม่ซึ่งก็คือ อาร์คดัชเชสมารี หลุยส์แห่งออสเตรีย ซึ่งต่อมาพระนางก็ให้กำเนิดพระโอรสคือจักรพรรดินโปเลียนที่ 2 แห่งฝรั่งเศส นั่นเอง โฌเซฟีนใช้เวลาให้ผ่านไปกับการทำสวนดอกไม้ ซึ่งโดยเฉพาะกุหลาบที่ชอบมากที่สุด จนสวนดอกไม้ของโฌเซฟีนเป็นสวนที่สวยที่สุดในปารีส นโปเลียนจะมาเยี่ยมและสนทนารวมทั้งปรึกษาเรื่องต่าง ๆ เสมอ จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1814 นโปเลียนพ่ายแพ้ยับเยินในสงครามสหสัมพันธมิตรครั้งที่หก นโปเลียนถูกบังคับให้สละราชสมบัติและถูกคุมตัวไปที่เกาะเอลบา แต่ก็ก่อนเดินทางก็ทรงมาเยี่ยมโฌเซฟีน และในขณะที่โฌเซฟีนมีอายุ 51 ปี โฌเซฟีนก็ได้เสียชีวิต (คาดว่าน่าจะเป็นปอดบวม) ขณะกำลังเดินเล่นในสวนที่หนาวเย็นในเสื้อผ้าที่บางเบา เมื่อนโปเลียนทราบข่าวถึงกับขังตัวเองไว้ในห้องถึงสามวัน เมื่อนโปเลียนหลบหนีออกจากเกาะเอลบามาได้พระองค์ก็เดินทางไปยังคฤหาสน์มาลเมซองในสมัยที่โฌเซฟีนยังมีชีวิตอยู่ เธอชอบกลิ่นของดอกไวโอเลตมาก เธอจะพรมตัวด้วยกลิ่นของดอกไวโอเลตอยู่เป็นประจำ เมื่อนโปเลียนไปที่คฤหาสน์พระองค์ก็นำล็อกเกตไปใส่ดอกไวโอเลต และเก็บล็อกเกตนี้ไว้จนกระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิตพระองค์

คำพูดสุดท้ายของนโปเลียนคือ "ฝรั่งเศส... กองทัพ... โฌเซฟีน" ("France... armée... Joséphine") นั่นเป็นหลักฐานว่านโปเลียนรักโฌเซฟีนมาก เพียงแต่ไม่มีเวลาที่จะอยู่ร่วมกันเท่านั้น[3]

อ้างอิง[แก้]

  1. "ประสบการณ์รักนโปเลียนโบนาปาร์ต4". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-04-07. สืบค้นเมื่อ 2015-06-07.
  2. "โยเซฟีน"หญิงหม้ายเจ้าเสน่ห์แห่งปารีส
  3. โฌเซฟีน เดอ โบอาร์เนส์


ก่อนหน้า โฌเซฟีน เดอ โบอาร์แน ถัดไป
อาร์คดัชเชสมารี อองตัวเนตแห่งออสเตรีย
คำรงพระอิสริยยศเป็นพระราชินี
จักรพรรดินีแห่งฝรั่งเศส
(ค.ศ. 1804 - 1810)
อาร์คดัชเชสมารี หลุยส์แห่งออสเตรีย