โยเซ็ฟ ไฮเดิน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก โจเซฟ ไฮเดิน)
ภาพวาดโยเซ็ฟ ไฮเดิน

ฟรันทซ์ โยเซ็ฟ ไฮเดิน (เยอรมัน: Franz Joseph Haydn; 31 มีนาคม ค.ศ. 1732 – 31 พฤษภาคม ค.ศ. 1809) เป็นคีตกวีชาวออสเตรียในยุคคลาสสิก เนื่องจากเป็นคีตกวีในความดูแลของราชสำนัก จึงได้ประพันธ์บทเพลงไว้เป็นจำนวนมาก ได้ชื่อว่าเป็น "บิดาแห่งซิมโฟนี" และ "บิดาแห่งควอเท็ตเครื่องสาย"

นอกจากนั้น ฟรันทซ์ โยเซ็ฟ ไฮเดิน ยังเป็นพี่ของโยฮัน มิชชาเอล ไฮเดิน (Johann Michael Haydn) คีตกวีคนสำคัญอีกคนหนึ่งของออสเตรียอีกด้วย

ประวัติ[แก้]

วัยเด็ก[แก้]

แผนที่แสดงตำแหน่งเมืองที่ไฮเดินเคยอาศัยอยู่

โยเซ็ฟ ไฮเดิน เกิดในหมู่บ้านเล็ก ๆ แห่งหนึ่งในเมืองโรเรา ประเทศออสเตรีย ใกล้พรมแดนประเทศฮังการี บิดาคือมาทีอัส ไฮเดิน เป็นช่างทำรถเทียมม้าที่หลงใหลในดนตรี ส่วนมารดาคือมาเรีย เป็นแม่ครัวในบ้านของคหบดีผู้ครองเมืองโรเรา ไฮเดินเป็นบุตรคนที่ 2 จากทั้งหมด 12 คน ทั้งบิดาและมารดาของเขาไม่เคยเรียนรู้เรื่องตัวโน้ตมาก่อน แต่มาทีอัส บิดาของโยเซ็ฟก็เป็นนักดนตรีพื้นบ้านที่บรรเลงได้ไพเราะอยู่ไม่น้อย ซึ่งได้มาจากการเรียนรู้ฮาร์ปด้วยตัวเอง ด้วยเหตุนี้ ชีวิตวัยเด็กของเขาจึงเติบโตมากับครอบครัวนักดนตรีอย่างแท้จริง และมักจะมาร้องเพลงด้วยกันกับครอบครัวและเพื่อนบ้านอยู่บ่อย ๆ[1]

เมื่อไฮเดินอายุได้ 6 ขวบ โยฮัน มาทีอัส ฟรังค์ (Johann Mathias Frank) นักดนตรีผู้ยิ่งใหญ่และเป็นครูสอนดนตรีที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งแห่งเมืองไฮน์บวร์ค (Hainburg) ซึ่งเป็นญาติห่าง ๆ กับบิดาไฮเดิน เดินทางมาทำธุระที่โรห์เรา และแวะมาเยี่ยมครอบครัวไฮเดิน เมื่อเขาได้ยินเด็กน้อยไฮเดินร้องเพลงก็เกิดความสนใจ จนเอ่ยปากกับบิดาของไฮเดินว่า หากเด็กน้อยคนนี้ได้รับการฝึกฝนอย่างถูกทางแล้วจะเป็นผู้มีชื่อเสียงทีเดียว ฟรังค์ได้หว่านล้อมบิดาของไฮเดินเพื่อขอรับเด็กน้อยไปอยู่ในความอุปการะของเขา โดยสัญญาว่าจะให้การศึกษาและเลี้ยงดูเป็นอย่างดี ด้วยความรักอนาคตของลูกชาย แม้บิดาของเขาจะแสนรักและอาลัยเพียงใดก็ตาม เนื่องจากบิดามารดาของไฮเดินเห็นมานานแล้วว่าลูกชายของพวกเขามีพรสวรรค์ทางดนตรีอย่างมาก และรู้ว่าหากอยู่ที่เมืองโรห์เราต่อไป เขาคงจะไม่มีโอกาสได้ซึมซับดนตรีอย่างจริงจัง จึงต้องตัดใจมอบลูกชายให้ไปอยู่กับฟรังค์ เพื่อให้เติบโตเป็นนักดนตรีอย่างแท้จริง[2] ดังนั้น ไฮเดินจึงได้ออกเดินทางกับฟรังค์ไปยังเมืองไฮน์บวร์คซึ่งอยู่ห่างจากบ้านออกไป 7 ไมล์ และจากนั้นเขาก็ไม่เคยได้กลับมาอาศัยอยู่กับบิดามารดาอีกเลย

ชีวิตในบ้านของฟรังค์นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับไฮเดิน เขาต้องตกระกำลำบากกับความหิว[3] และยังต้องทนอับอายกับการใส่เสื้อผ้าที่สกปรกตลอดเวลา[4] อย่างไรก็ตาม เขาได้อดทนอยู่เพื่อเริ่มเรียนดนตรีที่นั่น จากนั้นเขาก็สามารถเล่นฮาร์ปซิคอร์ดและไวโอลินได้ จากนั้นชาวเมืองไฮน์บวร์คต่างก็สะดุดหูกับโซปราโนอันแหลมสูงของไฮเดินในคณะประสานเสียงของโบสถ์ ทำให้ใครก็ตามที่ได้ฟังเสียงร้องของไฮเดินจะประทับใจในเสียงของเขา

สองปีต่อมา (ใน ค.ศ. 1740) เมื่อไฮเดินอายุได้ 8 ขวบ เกออร์ค ฟ็อน ร็อยเทอร์ (Georg von Reutter) ผู้อำนวยการดนตรีของอาสนวิหารนักบุญสเทเฟนในเมืองเวียนนา เกิดความสนใจในเสียงร้องของไฮเดินมาก อันที่จริงแล้วร็อยเทอร์เป็นคนที่จะเดินทางค้นหาเด็ก ๆ นักร้องประสานเสียงในโบสถ์ที่มีเสียงอันไพเราะอยู่เสมอ ไฮเดินสามารถผ่านการทดสอบเสียงร้องกับร็อยเทอร์ และจากนั้นก็ได้ย้ายมากรุงเวียนนา อันเป็นที่ทำงานของเขา 9 ปีในฐานะนักร้องประสานเสียงของมหาวิหาร และในสี่ปีหลังสุดก็ได้ร่วมร้องเพลงกับมิชชาเอล น้องชายของเขาที่นี่อีกด้วย ด้วยความสามารถในการร้องอันเป็นเลิศนี้เอง ทำให้เขาได้รับตำแหน่งเป็นหัวหน้านักร้องนำหมู่[5]

อย่างไรก็ตาม ชีวิตของไฮเดินก็ไม่ต่างกับตอนอยู่กับฟรังค์ เนื่องจากร็อยเทอร์ไม่ได้สนใจว่าไฮเดินมีอาหารกินทุกมื้อหรือไม่ ทำให้ชีวิตไฮเดินในช่วงนี้ได้แต่เฝ้ารอการออกแสดงต่อหน้าผู้ชมที่มีฐานะเพียงอย่างเดียวเท่านั้น เพราะในบางครั้ง คณะนักร้องจะมีโอกาสได้กินอาหารและเครื่องดื่มที่ผู้มีจิตศรัทธาให้มา[6] นอกจากนั้น ร็อยเทอร์ก็แทบจะไม่ได้สนใจว่าจะให้นักร้องประสานเสียงของเขาได้รับการศึกษาวิชาดนตรีแต่อย่างใดเลย ถึงกระนั้น อาสนวิหารนักบุญสเทเฟนนี้ก็เคยเป็นหนึ่งในศูนย์กลางทางดนตรีชั้นนำของยุโรป มักจะมีเพลงใหม่ ๆ จากคีตกวีชั้นนำออกแสดงอยู่หลายครั้ง จึงเป็นโอกาสที่ไฮเดินจะได้เรียนดนตรีจากการสังเกตนักดนตรีระดับมืออาชีพของที่นี่ ทำให้ต่อมา หลังจากที่ได้เรียนรู้ด้วยตนเองที่มหาวิหารแห่งนี้ เขาจึงได้เติบโตเป็นนักดนตรีอาชีพที่มีความสามารถในที่สุด[7]

ต่อสู้กับชีวิตนักดนตรีพเนจร[แก้]

อาสนวิหารนักบุญสเทเฟน กรุงเวียนนา

ต่อมาใน ค.ศ. 1749 เมื่อไฮเดินอายุ 17 ปี เขาก็ไม่สามารถร้องคอรัสเสียงสูงได้อีกต่อไป เนื่องจากเสียงที่เคยแจ่มใสแตกเป็นเสียงห้าวเครือ ซึ่งตามกฎเขาจะต้องออกจากโรงเรียน แต่ครูทั้งหลายยังรักเขาอยู่จึงให้อยู่ต่อไป แต่แล้ววันหนึ่งขณะที่เขาเห็นหางเปียของเพื่อนที่นั่งอยู่ข้างหน้า ด้วยความคะนองเขาจึงเอากรรไกรที่ซ่อนไว้มาตัดหางเปียเพื่อน พอเด็กคนนั้นรู้ว่าหางเปียของตัวหายไปก็ร้องโวยวายขึ้น เมื่อครูทราบจึงโกรธมาก ไฮเดินจึงต้องออกจากอาสนวิหารนักบุญสเทเฟนด้วยเหตุนี้[8]

เมื่อไฮเดินถูกขับออกจากอาสนวิหาร เขากลายเป็นคนพเนจรไม่มีบ้านอยู่[9] และต้องมีชีวิตที่ลำบาก ความเป็นอยู่แร้นแค้น แต่ยังโชคดีที่ได้รับความช่วยเหลือจากโยฮัน มิชชาเอล สปางเลอร์ (Johann Michael Spangler) ที่ให้ไฮเดินมาอาศัยอยู่ที่ห้องใต้หลังคา ทั้ง ๆ ที่ลำพังแล้ว บ้านของสปางเลอร์ก็มีคนอาศัยไม่น้อย ไฮเดินได้มาอาศัยอยู่กับสปางเลอร์ระยะหนึ่ง จึงทำให้เขาเริ่มหาเลี้ยงชีพด้วยการเป็นนักดนตรีพเนจรได้แล้ว

ในช่วงมรสุมของชีวิตนี้ ไฮเดินต้องทำงานหลากหลายประเภท โดยเป็นทั้งครูสอนดนตรี นักดนตรีร่วมบรรเลงกับนักดนตรีตามริมถนนยามค่ำคืน ในงานเต้นรำ และงานพิธีฝังศพเป็นครั้งคราว โดยเป็นนักร้องบ้าง นักดนตรีบ้าง ได้เงินวันละ 2 ถึง 3 ฟลอรินส์ พอจะเลี้ยงปากเลี้ยงท้องไปวันหนึ่ง ๆ[10] ในช่วงนี้เองเขาได้แต่งเพลงเซเรเนด (serenade) สำหรับบรรเลงในวง บทประพันธ์แรกของไฮเดินนี้ ถ้าใครได้ยินเป็นต้องหยุดยืนฟังให้จบ เพราะมีความไพเราะจับใจผู้ฟังอย่างยิ่ง ปรากฏเป็นที่นิยมชมชอบของผู้ฟังทั้งหลาย[11] จนในวันหนึ่ง นีโกลา ปอร์โปรา คีตกวีชื่อดังชาวอิตาลีมาได้สดับฟังเพลงนั้นเข้าก็เกิดความสนใจ พอรู้ว่าไฮเดินเป็นผู้แต่งก็รู้สึกสนใจในตัวไฮเดินมาก และได้เอ่ยปากชักชวนไฮเดินให้มาอยู่กับเขา ไฮเดินจึงได้มาเป็นเลขานุการส่วนตัวและผู้ช่วยขับร้องของปอร์โปราตั้งแต่นั้นมา ซึ่งในภายหลังเขากล่าวว่านี่เป็นโอกาสที่เขาได้เรียนรู้ "รากฐานของการประพันธ์เพลงที่แท้จริง" อีกด้วย[12] ปอร์โปราได้สอนให้ไฮเดินประพันธ์เพลง เรียนดนตรีทั้งทางทฤษฎีและทางปฏิบัติ และนอกจากนั้นยังแนะนำให้เขารู้จักกับแวดวงสังคมชั้นสูงอีกด้วย

เมื่อครั้งที่ไฮเดินเป็นนักร้องประสานเสียงอยู่นั้น เขาไม่เคยได้เรียนรู้ทฤษฎีดนตรีและการประพันธ์เพลงเลย และกลายเป็นช่องว่างในการเข้าถึงศาสตร์นี้อย่างมาก ดังนั้น เพื่อความเข้าใจในศาสตร์นี้ เขาจึงเริ่มศึกษาหลักการแต่งเพลงจากหนังสือ Gradus ad Parnassum ของโยฮัน โยเซ็ฟ ฟุคส์ และศึกษาผลงานของคาร์ล ฟิลลิพ เอมานูเอ็ล บัค อย่างละเอียดถี่ถ้วน ซึ่งต่อมาเขาได้ถือว่าเป็นแนวทางสำคัญของการแต่งเพลงของเขาเลยทีเดียว[13]

ในขณะที่ทักษะของไฮเดินกำลังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้น เขาเริ่มเป็นที่รู้จักกันมากขึ้นจากผลงานอุปรากรเรื่องแรกของเขา คือ Der krumme Teufel หรือ The Limping Devil ซึ่งประพันธ์ให้กับนักเขียนนิยายภาพ โยฮัน โยเซ็ฟ เฟลิคส์ ฟ็อน ควทซ์ เจ้าของฉายา "เบอร์นาร์ดอน" จากนั้น ผลงานของเขาก็ประสบความสำเร็จอย่างใหญ่หลวงใน ค.ศ. 1753 แต่หลังจากนั้นก็เงียบไปเนื่องจากถูกตรวจพิจารณา[14]

ไฮเดินเห็นว่าผลงานเพลงที่เขาแต่งขึ้นถูกนำไปเผยแพร่และขายในร้านดนตรีท้องถิ่นอีกด้วย แต่เขาก็ไม่ได้รู้สึกกังวลใจใด ๆ[15]

หลังจากที่เขากำลังมีชื่อเสียงมากขึ้นเรื่อย ๆ นั้น ในที่สุดไฮเดินได้มาอยู่ในสังคมชั้นสูง อันเป็นช่วงที่สำคัญยิ่งในช่วงชีวิตนักประพันธ์ของเขา เคาน์เทสทูน (Countess Thun) ได้ฟังบทประพันธ์ของไฮเดินเพลงหนึ่งแล้วประทับใจมาก จึงได้เรียกตัวเขาและว่าจ้างให้มาเป็นครูสอนร้องเพลงและคีย์บอร์ดส่วนตัวของเธอ และบารอน คาร์ล โยเซ็ฟ เฟือร์นแบร์ค (Carl Josef Fürnberg) ก็ได้ว่าจ้างไฮเดินและให้มาอยู่ที่ไวนท์เซียร์ล (Weinzierl) คฤหาสน์ในชนบทของเขา ซึ่งเป็นที่ที่เขาได้ประพันธ์บทเพลงควอเท็ตบทแรก ๆ ต่อมาเฟือร์นแบร์คได้แนะนำให้ไฮเดินรู้จักกับเคานต์มอร์ทซีน หลังจากนั้นใน ค.ศ. 1757 เคานต์มอร์ทซีน ก็ได้ว่าจ้างไฮเดินที่เมืองลูกาแว็ตส์ (Lukavec) ซึ่งเป็นการทำงานเต็มเวลาครั้งแรกของเขา

อาชีพนักประพันธ์[แก้]

ภาพวาดไฮเดิน โดยลูทวิช กุทเทินบรุน ค.ศ. 1770

งานหลัก ๆ ของไฮเดินภายใต้การว่าจ้างของเคานต์มอร์ทซีน คือ Kapellmeister หมายถึงผู้กำกับดนตรีของโบสถ์นั่นเอง (มาจากภาษาเยอรมัน) เขาเป็นคนคุมวงดุริยางค์เล็ก ๆ วงหนึ่ง และที่นี่เองที่เขาได้ประพันธ์ซิมโฟนีบทแรก ในกุญแจเสียงดี เมเจอร์ เพื่อใช้ในการบรรเลงของวงนี้ ในขณะที่เขามีอายุได้ 27 ปีพอดี อันถือว่าเป็นผลงานซิมโฟนีชิ้นแรกของโลก เขาจึงได้รับการยกย่องว่าเป็น"บิดาแห่งซิมโฟนี" (ก่อนหน้านี้ คำว่าซิมโฟนีไม่เคยปรากฏในโลกของดนตรีเลย)

จากนั้นใน ค.ศ. 1760 ไฮเดินได้ตกหลุมรักลูกศิษย์คนหนึ่งจากจำนวนสองพี่น้องที่มาเรียนดนตรีกับเขา นั่นก็คือ เทเรเซอ เค็ลเลอร์ (Therese Keller) ซึ่งเป็นลูกสาวของช่างตัดผม[16] หลังจากที่มีความมั่นคงในหน้าที่การงานเรียบร้อยแล้ว เขาจึงได้ขอเธอแต่งงาน แต่เนื่องจากหญิงผู้นี้จะต้องเข้าคอนแวนต์ และต่อมาฝ่ายบิดาของผู้หญิงก็สนับสนุนให้แต่งงานกับพี่สาวที่มีอายุแก่กว่าเธอสี่ปี มีชื่อว่ามารีอา อันนา เค็ลเลอร์ (Maria Anna Aloysia Apollonia Keller (1729–1800)) ไฮเดินจึงยอมรับที่จะแต่งงาน แต่ทั้งคู่ไม่มีความสุขกับชีวิตสมรส[17] ทั้งนี้ก็เพราะมีหลายอย่างที่ไม่สามารถจะไปด้วยกันได้ ในที่สุดไม่กี่ปีต่อมาก็ต้องแยกทางกันโดยไม่มีบุตรด้วยกัน ในปีนี้เขาได้ประพันธ์ซิมโฟนีหมายเลข 2 ในกุญแจเสียงซี เมเจอร์ขึ้นอีกด้วย

ใน ค.ศ. 1761 เคานต์มอร์ทซีนได้เลิกวงดนตรี แต่ไฮเดินก็มาได้ตำแหน่งเป็นผู้ช่วยหัวหน้าวงในครอบครัวคหบดีที่ร่ำรวยที่สุดครอบครัวหนึ่งในยุโรป นั่นคือครอบครัวของเจ้าชายเพาล์ อันโทน แอ็สแตร์ฮาซี (Paul Anton Esterházy) แห่งฮังการีในพระราชวังแอ็สแตร์ฮาซี (Esterházy) เมืองไอเซินชตัท อยู่นอกกรุงเวียนนา 30 ไมล์ อันเป็นของตระกูลเจ้านายชั้นสูงรองจากกษัตริย์ในสมัยนั้น[18] ในปีนี้เขาได้ประพันธ์ซิมโฟนีหมายเลข 3 ในกุญแจเสียงจี เมเจอร์, หมายเลข 4 ในกุญแจเสียงดี เมเจอร์, หมายเลข 5 ในกุญแจเสียงเอ เมเจอร์ และเพลงอื่น ๆ อีกมาก[19] ต่อมาเจ้าชายเพาล์ อันโทน แอ็สแตร์ฮาซีได้สิ้นพระชนม์ และเจ้าชายนิคโคเลาส์ แอ็สแตร์ฮาซี พระอนุชา ผู้มีสมญานามว่า "The Magnificent" ได้เป็นรัชทายาทผู้สืบทอด ได้สร้างพระราชวังแอ็สแตร์ฮาซอ (Eszterháza) ขึ้นราวคริสต์ทศวรรษ 1760 ไฮเดินได้ทำงานอยู่ที่นั่นในตำแหน่งหัวหน้าวง เนื่องจากหัวหน้าวงคนก่อนเสียชีวิตไป เขาทำงานนานถึงสามสิบปี ซึ่งเป็นงานอันทรงเกียรติ ตลอดเวลาเขาได้สวมใส่เสื้อผ้าอาภรณ์อย่างสวยงาม ดำรงตำแหน่งที่มีมาแต่โบราณของตระกูลนี้ ไฮเดินมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบหลายด้าน เป็นทั้งนักประพันธ์ ผู้ควบคุมวงดุริยางค์ บรรเลงเชมเบอร์มิวสิก (chamber music) ร่วมกับผู้อุปการะ และสุดท้ายคือการควบคุมวงอุปรากร ถึงแม้งานจะค่อนข้างหนัก แต่ไฮเดินก็คิดว่าเป็นงานของศิลปินที่สร้างโอกาสให้กับชีวิตของเขาได้ดีมาก เจ้าชายแอ็สแตร์ฮาซีทรงเป็นผู้เชี่ยวชาญดนตรีที่ประทับใจฝีมือของไฮเดินมาก และอนุญาตให้เขานำวงดุริยางค์ของพระองค์เองในแต่ละวันได้อย่างอิสระ

มุมหนึ่งของพระราชวังแอ็สแตร์ฮาซอ

ตลอดช่วงเวลาดังกล่าว เขาได้ประพันธ์บทเพลงไว้มากมายทั้งซิมโฟนี ควอเท็ตเครื่องสาย คอนแชร์โต โซนาตาสำหรับเครื่องดีด บทเพลงสำหรับบาริทอน อุปรากร บทเพลงเพื่องานรื่นเริง รวมถึงบทเพลงทางศาสนา ความโด่งดังของไฮเดินเป็นที่ขจรขจายไปทั่วทวีปยุโรป นักดนตรีในวงของเขาได้ตั้งฉายาให้เขาว่า "คุณพ่อไฮเดิน" เนื่องจากไฮเดินได้ดูแลพวกเขาเป็นอย่างดี

เจ้าชายนิคโคเลาส์ เอสเตอร์ฮาซี ผู้อุปการะคนสำคัญของไฮเดิน

ยิ่งนานไป ไฮเดินก็ยิ่งรู้สึกเหงาและโดดเดี่ยวมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคราวต้องมาใช้ชีวิตส่วนใหญ่ในแต่ละปีที่พระราชวังแอ็สแตร์ฮาซอซึ่งห่างไกลจากกรุงเวียนนา แทนที่จะได้อยู่ที่พระราชวัง ไอเซินชตัทซึ่งอยู่ใกล้กรุงเวียนนามากกว่า[20] ไฮเดินจึงอยากจะกลับไปยังเวียนนาสักระยะ เนื่องจากเขามีเพื่อนสนิทอยู่ที่นั่นมากมาย[21]

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หนึ่งในนั้นคือมิตรภาพกับมารีอา อันนา ฟ็อน เก็นซิงเงอร์ (Maria Anna von Genzinger) ผู้เป็นภรรยาของแพทย์ส่วนพระองค์ของเจ้าชายนิคโคเลาส์ในกรุงเวียนนา ซึ่งหญิงคนนี้มีความเกี่ยวข้องกับบทประพันธ์ของเขาใน ค.ศ. 1789 อย่างมาก ไฮเดินได้เขียนจดหมายถึงมาดามเก็นซิงเงอร์บ่อยครั้ง โดยมักจะพรรณาถึงความเหงาและโดดเดี่ยวที่แอ็สแตร์ฮาซอ และพรรณนาถึงช่วงเวลาแห่งความสุขของโอกาสเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เขาได้ไปเจอเธอที่เวียนนา นอกจากนั้น ไฮเดินยังได้เขียนถึงเธอบ่อยมากเมื่อคราวที่เขาเดินทางไปยังลอนดอน ข่าวการเสียชีวิตอย่างกะทันหันของมาดามเก็นซิงเงอร์ใน ค.ศ. 1793 ทำให้ไฮเดินเสียใจอย่างมาก โดยเขาได้ประพันธ์เพลงบรรยายความรู้สึกของเขาเอาไว้ในแวรีเอชันส์ ในบันไดเสียงเอฟ ไมเนอร์ สำหรับเปียโน Hob. XVII:6 อาจจะเป็นบทเพลงที่สะท้อนถึงอารมณ์เศร้าต่อการจากไปของเธอมากที่สุดก็เป็นได้[22]

ภาพวาดโมทซาร์ท โดยโยเซ็ฟ ลังเงอ

นอกจากมาดามเก็นซิงเงอร์แล้ว ใน ค.ศ. 1781 โยเซ็ฟ ไฮเดินได้ผูกมิตรกับโมทซาร์ท สหายต่างวัย แม้ว่าทั้งคู่จะมีอายุห่างกันกว่า 24 ปี ทั้งคู่มีอิทธิพลทางดนตรีซึ่งกันและกันจนเป็นเพื่อนสนิทกัน ผู้คนในสมัยนั้นมักจะเห็นทั้งคู่เล่นสตริงควอเท็ตด้วยกันบ่อยครั้ง โมทซาร์ทเห็นว่าไฮเดินมีอัจฉริยะภาพในทางดนตรี และไฮเดินก็มองโมทซาร์ทว่าเป็นอัจฉริยะที่แท้จริง

ฉันพึ่งเคยเห็นความอัจฉริยะทางดนตรีซึ่งในยุคไม่มีใครเทียบได้ จนเขียนจดหมายส่งไปหาพ่อของโมทซาร์ทและยกย่องโมทซาร์ทว่า "โมทซาร์ทนั้นเปรียบเสมือนเป็นบุตรที่พระเจ้าประทานพรมาให้และสร้างความรื่นเริงแก่มวลชน ซึ่งฉันเทียบไม่ติดเลยกับโมทซาร์ท ฉันต้องคุกเข่าให้แก่โมทซาร์ท ซึ่งเหนือกว่าฉันเสียด้วยซ้ำ"

— ไฮเดิน

เดินทางไปลอนดอน[แก้]

ใน ค.ศ. 1790 หลังจากที่เจ้าชายนิคโคเลาส์สิ้นพระชนม์และมีเจ้าชายพระองค์ใหม่ซึ่งไม่โปรดดนตรีมาดำรงตำแหน่งแทน เจ้าชายพระองค์นี้ได้ยกเลิกสถาบันดนตรีทั้งหมดและจ่ายเงินบำนาญให้กับไฮเดินแทน หลังทางที่ไม่มีพันธสัญญาใด ๆ แล้ว ไฮเดินจึงสามารถตอบตกลงข้อเสนอที่มีค่าตอบแทนอย่างงามจากโยฮัน เพเทอร์ ซาโลม็อน (Johann Peter Salomon) ผู้อำนวยการแสดงชาวเยอรมันได้ โดยเป็นข้อเสนอให้ไฮเดินเดินทางไปยังประเทศอังกฤษและทำหน้าที่ควบคุมวงซิมโฟนีใหม่และวงดุริยางค์ขนาดใหญ่

การไปเยือนอังกฤษทั้งสองครั้ง คือใน ค.ศ. 1791–1792 และ ค.ศ. 1794–1795 ทำให้เขาประสบความสำเร็จอย่างใหญ่หลวง มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดได้มอบปริญญาดุษฎีบัณฑิตทางดนตรีให้แก่ไฮเดิน[23] โดยจัดพิธีอย่างใหญ่โตโดยนายกเทศมนตรีเป็นผู้มอบให้ นับเป็นความภาคภูมิใจในชีวิตของเขาที่ได้รับเกียรติอันนี้[24]

การเดินทางไปเยือนอังกฤษนี้ ไฮเดินได้ประพันธ์ผลงานที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในวงการดนตรี ซึ่งได้แก่ Surprise, Military, Drumroll และ London symphonies, ควอเท็ต Rider, และเปียโนทริโอ Gypsy Rondo ความผิดพลาดครั้งเดียวของเขาในอาชีพนี้ก็คือการประพันธ์อุปรากรเรื่อง Orfeo ed Euridice หรือที่รู้จักกันในชื่อของ L'Anima del Filosofo ที่ไฮเดินได้สัญญาว่าจะประพันธ์ขึ้น แต่ก็ไม่ได้นำมาออกแสดงเนื่องจากถูกระงับโดยกลุ่มผู้ก่อกวน

ขณะที่ไฮเดินอยู่ในกรุงลอนดอนก็ได้รับข่าวมรณกรรมของโมทซาร์ท ทำให้เขาโศกเศร้าสะเทือนใจอย่างมาก เพราะโมทซาร์ทอายุยังน้อยและกำลังมีชื่อเสียงโด่งดัง ไฮเดินพำนักอยู่ในลอนดอนจนกระทั่งถึงกลาง ค.ศ. 1792 จึงเดินทางกลับกรุงเวียนนาพร้อมด้วยงานที่แต่งใหม่เป็นจำนวนถึง 768 หน้า และได้เงิน 24,000 ฟลอรินส์ (ประมาณ 2,400 ดอลลาร์สหรัฐ)[25] ซึ่งนับว่าเป็นรายได้ที่งามพอควร ดังนั้น ฐานะทางการเงินของเขาจึงถือว่ามั่นคงทีเดียว

ภาพวาดเบทโฮเฟินสมัยวัยรุ่น โดยจิตรกรคาร์ล เทราก็อท รีเดิล ใน ค.ศ. 1769

ด้วยเกียรติประวัติอันดีงามที่ไฮเดินได้สร้างชื่อเสียงให้กับตนเองและชาติบ้านเกิดเมืองนอนของตน Count Harrach จึงได้สร้างอนุสาวรีย์เพื่อเป็นเกียรติแก่ไฮเดินที่เมืองโรเรา บ้านเกิดของเขา เมื่อ ค.ศ. 1793

ในขณะที่ไฮเดินกำลังเดินทางไปกรุงลอนดอน ได้ผ่านกรุงบ็อน ได้พบกับเบทโฮเฟิน เมื่อได้ฟังเบทโฮเฟินเล่นเปียโนแล้วก็กล่าวว่า เด็กคนนี้มีความสามารถสูง ต่อมาเบทโฮเฟินก็ไปพบไฮเดิน พร้อมกับนำเพลงต่าง ๆ ที่เขาแต่งไปให้ไฮเดินดูด้วย เมื่อไฮเดินได้ดูก็รู้สึกพอใจเป็นอย่างยิ่ง และกล่าวกับเบทโฮเฟินว่า ถ้าเธอไปหาฉันที่เวียนนา ฉันจะสอนให้ ดังนั้น ใน ค.ศ. 1792 เบทโฮเฟินเดินทางไปยังกรุงเวียนนาเป็นครั้งที่ 2 และไปเรียนดนตรีกับไฮเดินอยู่เกือบปี[26] ในตอนแรกเขามีความนิยมชมชอบในตัวไฮเดินซึ่งเป็นครู แต่ต่อมา เวลาเรียนดนตรีกับไฮเดินนั้น เบทโฮเฟินมักจะมีความคิดแย้งกับไฮเดิน เพราะไฮเดินดูจู้จี้และขี้บ่นเกินไป และไฮเดินก็ไม่พอใจกับศิษย์เท่าใดนัก เพราะเบทโฮเฟินเป็นคนหัวแข็ง ไม่ฟังอาจารย์สอน และไฮเดินก็ไม่ชอบเพลงทริโอของเบทโฮเฟินมากนัก เบทโฮเฟินต้องแอบไปเรียนการแต่งเพลงกับโยฮัน เกออร์ค อัลเบร็ชทซ์แบร์เกอร์ (Johann Georg Albrechtsberger) อยู่ 2 ปี เบทโฮเฟินได้เก็บเป็นความลับมานานจนไฮเดินรู้ความลับ ไฮเดินโกรธมากเพราะว่าเขาไม่เคยสนใจไฮเดินเลย เบทโฮเฟินเคืองจัด ตวาดโดยไม่ยั้งคิดออกมาว่า แล้วทำไมจะให้ฉันต้องดำเนินทฤษฏีดนตรีแบบแผนเก่า ๆ ไปอีกด้วย ฉันมีรูปแบบของฉัน และความสัมพันธ์ของไฮเดินและเบทโฮเฟินต้องแยกจากกัน แต่ไฮเดินก็คิดว่า เบทโฮเฟินจะมีความคิดยังไงก็ช่างเขา เขาถือว่าสอนศิษย์แล้ว ก็คือว่าศิษย์มีครูก็แล้วกัน

ชีวิตบั้นปลายที่เวียนนา[แก้]

ใน ค.ศ. 1795 เขาได้กลับมาตั้งรกรากในบ้านหลังใหญ่หลังหนึ่งบริเวณชานเมืองกุมเพินดอร์ฟ (Gumpendorf) ของกรุงเวียนนา และหันมาประพันธ์เพลงศาสนาสำหรับวงดุริยางค์และคณะนักร้องประสานเสียงเป็นส่วนใหญ่ โดยรวมไปถึงบทเพลงอมตะสองบท (The Creation และ The Seasons) และบทเพลงสดุดีตระกูลแอ็สแตร์ฮาซี 6 บท ซึ่งต่อมาได้ทำให้เจ้าชายที่ไม่โปรดดนตรีหันมาสนใจดนตรีมากยิ่งขึ้น ไฮเดินยังได้ประพันธ์เพลงสำหรับเครื่องดนตรีบางชนิดโดยเฉพาะอีกด้วย เช่น ทรัมเป็ตคอนแซร์โต และ 9 บทสุดท้ายของเขาก็เป็นชุดสตริงควอเท็ต รวมไปถึงควอเท็ต Fifths, Emperor และ Sunrise ด้วย

ใน ค.ศ. 1802 ไฮเดินต้องหยุดการประพันธ์ผลงานเพลงเนื่องด้วยความเหนื่อยล้าและป่วยหนัก เพราะตรากตรำทำงานหนักมากเกินไปในช่วงชีวิตที่ผ่านมา และซึ่งก็ถือว่าเป็นงานที่ยากสำหรับเขาอย่างไม่ต้องสงสัยเลย เนื่องจากไฮเดินจะมีความคิดใหม่ ๆ ในการประพันธ์เพลงตลอดเวลา แต่ไม่สามารถถ่ายทอดออกมาได้เลย ไฮเดินได้รับการดูแลจากบรรดาบริวารของเขาเป็นอย่างดี เขาได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติมากมาย และมีแขกมากหน้าหลายตาแวะเวียนมาหาในช่วงบั้นปลายชีวิต แต่ชีวิตช่วงนี้ก็ไม่ได้เป็นช่วงที่มีความสุขนักสำหรับเขา

เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม ค.ศ. 1809 อาการป่วยได้คุกคามจนต้องล้มหมอนนอนเสื่อ เขาได้ขอร้องให้ใครก็ได้ช่วยพยุงเขาไปที่เปียโนเป็นครั้งสุดท้ายแล้วเขาเล่นเพลง Gott erhalte Franz den Kaiser ที่เขาประพันธ์ด้วยตัวเองตั้งแต่ ค.ศ. 1797 เพื่อแสดงถึงความรักชาติ[27] และเป็นเกียรติแก่จักรพรรดิฟรันทซ์ที่ 2 (Franz II) เนื่องในวันพระราชสมภพ[28] เขาเล่นเพลงนี้พร้อมแก้ไขไปด้วยทั้งหมด 3 ครั้ง ก่อนที่ทำนองของเพลงนี้จะกลายมาเป็นเพลงชาติของออสเตรียและเยอรมนีในเวลาต่อมา

จากนั้นไม่นาน ไฮเดินก็เสียชีวิตลงเมื่อสิ้นเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1809 สิริรวมอายุได้ 77 ปี หลังจากที่กรุงเวียนนาถูกกองทัพฝรั่งเศสภายใต้การนำของจักรพรรดินโปเลียนเข้ายึดครองไม่นานนัก คำสั่งเสียสุดท้ายของเขาดูเหมือนจะเป็นคำพูดให้บริวารของเขาใจเย็นลงและมีความอุ่นใจมากขึ้นในคราวที่ลูกกระสุนปืนใหญ่ตกใกล้ ๆ ละแวกบ้านของเขา[29] ศพของไฮเดินนั้นดูไม่น่าชมเท่าไรนัก เป็นต้นว่าศีรษะหายไป โดยที่ไม่มีใครพบศีรษะของเขาอีกเลย

สองสัปดาห์ต่อมา ทหารฝรั่งเศสได้มีการจัดพิธีฝังศพให้เขาอย่างสมเกียรติเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน ค.ศ. 1809 ที่โบสถ์ช็อทเทินเคียร์เชอ (Schottenkirche) กรุงเวียนนา ซึ่งได้มีการบรรเลงเพลงสวด K.626 ของโมทซาร์ทให้กับดวงวิญญาณของเขาด้วย จึงมีคนเรียกเขาโดยทั่วไปว่า "คุณพ่อไฮเดิน" (Papa Haydn) เมื่อไฮเดินเสียชีวิตไปแล้ว เขาได้ทิ้งมรดกทางดนตรีไว้ให้แก่โลกมากมาย ทั้งซิมโฟนีหมายเลข 104 อันโด่งดัง, งาน Stage works 16 บท, เพลงโหมโรง 16 บท, สตริงควอเท็ต 85 บท, คอนเซอร์โตจำนวนมาก นอกจากนั้นยังมีเพลงเบ็ดเตล็ดต่าง ๆ อีกมากมายหลายร้อยบท[30]

ผลงาน[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. Dies 1810, 80–81
  2. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-02-10. สืบค้นเมื่อ 2008-02-03.
  3. Griesinger 1810, 9
  4. Dies 1810, 82
  5. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-12-10. สืบค้นเมื่อ 2008-02-03.
  6. Dies 1801, 87
  7. Robbins Landon and Jones 1988, 27
  8. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-12-10. สืบค้นเมื่อ 2008-02-03.
  9. Geiringer, 27
  10. [1]
  11. [2]
  12. Larsen 1980, 8
  13. Geiringer, 30
  14. Geiringer 30–2
  15. Griesinger 1810, 15
  16. [3]
  17. See, e.g., Geiringer 1982, 36–40
  18. [4]
  19. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-12-10. สืบค้นเมื่อ 2008-02-03.
  20. Geiringer 1982, 60
  21. รายละเอียดดูที่ Geiringer 1982, Chapter 6
  22. Geiringer 1982, 316, citing Robbins Landon
  23. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-12-25. สืบค้นเมื่อ 2008-02-03.
  24. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-12-10. สืบค้นเมื่อ 2008-02-03.
  25. [5]
  26. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-03-04. สืบค้นเมื่อ 2008-02-03.
  27. Geiringer 1982, 161–2
  28. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-12-10. สืบค้นเมื่อ 2008-02-03.
  29. Geiringer 1982, 189
  30. [6]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]