โคกิ คาเมดะ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก โคกิ คะเมะดะ)
โคกิ คาเมดะ
ฉายาウミガメ (Umigame)
"เต่าทะเล"
浪速の闘拳 (Naniwa no Tōken)
"กำปั้นนักสู้แห่งโอซากะ"[1]
น้ำหนักไลท์ฟลายเวท
ฟลายเวท
ซูเปอร์ฟลายเวท
แบนตัมเวท
ส่วนสูง165.9 เซนติเมตร
เกิด17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2529 (37 ปี)
โอซากะ ประเทศญี่ปุ่น
ชกทั้งหมด35
ชนะ33
ชนะน็อก18
แพ้2
เสมอ0

โคกิ คาเมดะ (ญี่ปุ่น: 亀田 興毅โรมาจิKameda Kōki) นักมวยชาวญี่ปุ่น เป็นนักมวยสากลชาวญี่ปุ่นคนแรกที่ครองแชมป์โลกได้ 3 รุ่น

ประวัติ[แก้]

คาเมดะเป็นบุตรคนโตของ ชิโร คาเมดะ ผู้เป็นเทรนเนอร์และพ่อของตนเอง ทั้งตัวของโคกิ คาเมดะเองก็ยังมีน้องอีก 3 คน ที่เป็นนักมวยเช่นเดียวกัน นั่นก็คือ ไดกิ คาเมดะ , โทโมกิ คาเมดะ และ ฮิเมกิ คาเมดะ ได้ชื่อว่าเป็นนักมวยที่มีทั้งชาวญี่ปุ่นรักและชังในเวลาเดียวกัน เนื่องจากมีบุคลิกท่าทางการชกมวยและการสัมภาษณ์ทางสื่อมวลชนที่กวนประสาท

คาเมดะเริ่มต้นการชกมวยอาชีพ 8 ครั้งแรก ด้วยการชนะนักมวยชาวไทยล้วน ๆ รวมทั้งการชนะน็อค สมาน ส.จาตุรงค์ อดีตแชมป์โลกชาวไทยใน ยกที่ 1 ในการชกครั้งที่ 7 ด้วย จากนั้น ได้ครองแชมป์ OPBF รุ่นฟลายเวทและแชมป์โลกที่ว่างของสมาคมมวยโลก (WBA) ในรุ่นไลท์ฟลายเวท แล้วสละเพื่อขึ้นไปชกในรุ่นฟลายเวท เมื่อไดกิ คาเมดะ น้องชายทำผิดกติกาในการชกกับไดซูเกะ ไนโต ในการชิงแชมป์โลกสภามวยโลก (WBC) รุ่นฟลายเวท ทำให้ตระกูลคาเมดะทั้งหมดถูกสั่งห้ามชกในญี่ปุ่น ต้องเดินทางไปชกที่เม็กซิโกอยู่ 2 ครั้ง แต่ก็ได้รับอนุญาตให้กลับมาชกได้ในบ้านเกิดอีกครั้ง

ในที่สุด คาเมดะก็ได้มีโอกาสขึ้นชิงแชมป์โลกอีกครั้งของสภามวยโลกในรุ่นฟลายเวท ในฐานะรองแชมป์โลก WBC อันดับ 3 กับ ไดซูเกะ ไนโต นักมวยเพื่อนร่วมชาติที่คว้าแชมป์มาจาก พงษ์ศักดิ์เล็ก กระทิงแดงยิม นักมวยชาวไทย ผลการชกปรากฏว่าคาเมดะเป็นฝ่ายเอาชนะคะแนนไปได้อย่างขาดลอย 116–112, 117–111 และ 117–111 การชกครั้งนี้เป็นหนึ่งในการแข่งขันชกมวยที่มียอดผู้รับชมผ่านการถ่ายทอดสดจากโทรทัศน์สูงที่สุดครั้งหนึ่งในประเทศญี่ปุ่น[2]

แต่เมื่อมาป้องกันตำแหน่งครั้งแรกกับ พงษ์ศักดิ์เล็กซึ่งเป็นแชมป์เฉพาะกาลในรุ่นเดียวกัน เมื่อวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2553 คาเมดะเป็นฝ่ายมีแผลแตกตั้งแต่ยกที่ 4 และพงษ์ศักดิ์เล็กเป็นฝ่ายถูกตัดคะแนนในยกที่ 5 จากหัวชน แต่ก็ไม่อาจทำอะไรพงษ์ศักดิ์เล็กได้ชัดเจน จึงเป็นฝ่ายแพ้คะแนนไปอย่างไม่เป็นเอกฉันท์ 114–114, 116–112 และ 115–112 เสียแชมป์โลกไปเพียงการป้องกันตำแหน่งครั้งแรกเท่านั้นเอง

ต่อมา โคกิ คาเมดะ ได้เลื่อนรุ่นขึ้นไปชกในรุ่นแบนตัมเวท และสามารถคว้าแชมป์โลกที่ว่างในรุ่นนี้มาได้ของสมาคมมวยโลก ในปลายปี พ.ศ. 2553

ในการป้องกันตำแหน่งกับ พนมรุ้งเล็ก ไก่ย่างห้าดาวยิม นักมวยรองแชมป์โลก WBA อันดับ 8 ชาวไทยเมื่อต้นเดือนเมษายน พ.ศ. 2556 ปรากฏว่าคาเมดะเอาชนะคะแนนไม่เป็นเอกฉันท์ ท่ามกลางเสียงวิจารณ์จากสื่อมวลชนชาติที่เป็นกลางหรือแม้แต่ของญี่ปุ่นเองก็ตาม เห็นว่าคาเมดะไม่สมควรที่จะเป็นผู้ชนะ และเจ้าตัวเองก็ได้ยอมรับด้วยว่า ตัวเองชกได้แย่ในครั้งนี้และกล่าวขอโทษต่อแฟน ๆ มวยบนเวทีหลังการชกเสร็จถึง 6 ครั้ง ในการสัมภาษณ์หลังชก[3]

โคกิ คาเมดะ ได้ป้องกันตำแหน่งไปอีก 2 ครั้ง และได้สละตำแหน่งเมื่อเดือนเมษายน ปีถัดมา เพื่อที่จะลดรุ่นลงไปชกในรุ่นซูเปอร์ฟลายเวทแทน โดยมีเป้าหมายจะขอชิงแชมป์โลกของ WBA รุ่นนี้ กับ โคเฮ โคโนะ ในสหรัฐอเมริกา นักมวยเพื่อนร่วมชาติที่ได้ตำแหน่งมาจากการเอาชนะน็อก เด่นเก้าแสน กระทิงแดงยิม ซึ่งเป็นแชมป์เฉพาะกาลชาวไทย ไปก่อนหน้านี้ไม่นาน แต่ไม่สำเร็จ ผลการชกโคโนะชนะคะแนนยังรักษาแชมป์โลก WBA ไว้ได้ [4]

โคกิ คาเมดะ (หันหลัง) ในการชกชิงแชมป์โลก WBC รุ่นฟลายเวท กับไดซูเกะ ไนโตที่ไซตามะ

เกียรติประวัติ[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. "ニッカン★バトル 亀田特集" (ภาษาญี่ปุ่น). Nikkan Sports. 2010. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ November 23, 2013. สืบค้นเมื่อ 2013-11-23.
  2. badlefthook.com
  3. "สื่อตีข่าว พนมรุ้งเล็ก แพ้ คาเมดะ แบบค้านสายตา". สนุกดอตคอม.
  4. ""ทับทิมแดง" ส้มหล่น ได้ไปชิงแชมป์โลกที่ว่างรุ่นแบนตั้มเวต WBA". ผู้จัดการออนไลน์. 18 April 2014. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ March 5, 2016. สืบค้นเมื่อ 19 April 2014.
  5. "japan-kameda-defends-wba-bantamweight-title Japan's Kameda defends WBA bantamweight title". บางกอกโพสต์ (ภาษาอังกฤษ).[ลิงก์เสีย]
  6. พนมรุ้งเล็ก, หน้า 19 กีฬา. เดลินิวส์ฉบับที่ 23,188: วันจันทร์ที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2556 แรม 13 ค่ำ เดือน 4 ปีมะโรง

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]