โขนนั่งราว

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

โขนนั่งราว เป็นโขนโรงนอกเป็นโขนที่จัดแสดงบนโรง ไม่มีเตียงสำหรับตัวนายโรงนั่ง มีราวไม้กระบอกพาดตามส่วนยาวของโรง ตรงหน้าฉากออกมามีช่องทางให้ผู้แสดงเดินได้รอบราว ตัวโรงมีหลังคา เมื่อตัวโขนแสดงบทของตนแล้วก็ไปประจำบนราวไม้กระบอก สมมติเป็นเตียงหรือที่นั่งประจำตำแหน่ง ลักษณะการนั่งจะนั่งตะแคงข้างมาหน้าเวที พับขาข้างหนึ่งไว้บนราว อีกข้างหนึ่งเหยียบบนพื้น

ผู้แสดงจะครอบหน้าหมดทั้งฝ่ายพลับพลา ( ฝ่ายพระราม ) และฝ่ายลงกา ( ฝ่ายทศกัณฐ์ )การแสดงโขนนั่งราวไม่มีบทขับร้อง มีแต่บทพากย์และบทเจรจา ปี่พาทย์ก็บรรเลงแต่เพลงหน้าพาทย์ เพราะต้องบรรเลงเพลงหน้าพาทย์มากจึงใช้วงปี่พาทย์ 2 วง วงหนึ่งตั้งหัวโรง วงหนึ่งตั้งท้ายโรง หรือตั้งทางซ้ายและทางขวาของโรงจึงเรียกวงปี่พาทย์ 2 วงนี้ว่า วงหัว วงท้าย หรือวงซ้าย วงขวา

จากจดหมายเหตุลาลูแบร์ กล่าวถึงการละเล่นบนเวทีในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีอยู่ 3 อย่าง คือ โขน ละคร และระบำ ทำให้สันนิษฐานได้ว่าโขนในสมัยนั้นดีมีการปลูกโรงให้เล่นแล้ว และน่าจะเป็นลักษณะของโขนโรงนอกหรือโขนนั่งราวนี้เอง

โขนนอนโรง[แก้]

ในเวลาบ่ายก่อนถึงวันแสดงหนึ่งวัน ปี่พาทย์ทั้งสองวงจะบรรเลงเพลงโหมโรง พวกแสดงจะออกมากระทุ้งเส้าตามจังหวะเพลงที่กลางโรง

จบการโหมโรงแล้วก็จะแสดงตอนพระพิราพออกเที่ยวป่าจับสัตว์กินเป็นอาหาร พระรามหลงเจ้าสวนพวาทองของพระพิราพ เสร็จการแสดงตอนนี้แล้วก็หยุดพัก นอนเฝ้าโรงอยู่คืนหนึ่ง ในตอนนี้เองคือที่มาของคำว่า "โขนนอนโรง" รุ่งขึ้นจึงแสดงตามเรื่องที่จัดไว้ต่อไป

สำหรับการแสดงในวันนอนโรงนี้ ในสมัยโบราณจะเคยแสดงตอนอื่นหรือไม่นั้นยังไม่พบหลักฐาน แต่เท่าที่ปรากฏมีเพียงแต่ตอนพิราพพบพระรามเท่านั้น

จารีตในการแสดงโขน[แก้]

ฝ่ายพลับพลาหรือฝ่ายพระรามจะออกทางประตูด้านขวาของเวที พระรามจะนั่งบนราวริมสุดด้านขวา พระลักษณ์และไพร่พลจะนั่งหันหน้าไปทางขวา ฝ่ายลงกาหรือฝ่ายยักษ์ จะออกทางประตูด้านซ้ายของเวที ทศกัณฐ์จะนั่งบนราวริมสุดด้านซ้าย ยักษ์ตัวอื่น ๆ จะหันหน้าไปทางซ้าย

จารีตเรื่องซ้ายขวานี้ใช้กับการแสดงโขนทุกชนิด ตำแหน่งของผู้แสดง ทางด้านขวามือบนเวที เป็นตำแหน่งของฝ่ายธรรมะหรือฝ่ายชนะ ส่วนตำแหน่งทางด้านซ้ายมือบนเวที เป็นตำแหน่งของฝ่ายอธรรม หรือฝ่ายแพ้

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]