แฮร์รี นิโคเลดส์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

แฮร์รี นิโคเลดส์ (เกิด พ.ศ. 2510 - ) เป็นนักเขียนชาวเมืองเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย เคยเดินทางเข้ามาในประเทศไทย เป็นครูสอนภาษาที่จังหวัดเชียงราย ระหว่าง พ.ศ. 2546 - 2548 และเขียนบทความให้กับหนังสือพิมพ์ออสเตรเลียหลายฉบับ [1] ก่อนหน้านั้นเคยทำงานในตำแหน่งพนักงานยกกระเป๋า (concierge) ในโรงแรม และเขียนหนังสือชื่อ Concierge Confidential เกี่ยวกับเรื่องซุบซิบของคนดัง ที่ทราบจากประสบการณ์ทำงาน [2]

ในปี พ.ศ. 2548 นายแฮร์รี นิโคเลดส์ ได้ตีพิมพ์นวนิยาย ซึ่งแสดงความเห็นเกี่ยวกับการเมืองและสังคมปัจจุบันของไทย ชื่อเรื่อง Verisimilitude. Is the truth, the truth? ทำให้ถูกออกหมายจับเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2551 เนื่องจากเนื้อหาบางส่วนในนวนิยายมีข้อความที่หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2551 ที่สนามบินสุวรรณภูมิ ขณะกำลังจะออกเดินทางออกจากประเทศไทย

ศาลอาญามีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2552 ว่านายแฮร์รี นิโคเลดส์ มีความผิดตามฟ้อง ตัดสินลงโทษจำคุก 6 ปี และลดโทษเหลือ 3 ปี เนื่องจากจำเลยรับสารภาพ [3] และได้รับพระราชทานอภัยโทษในวันที่21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552 [4]

ผลการการตัดสินคดีนายนิโคเลดส์ ทำให้สื่อมวลชนต่างชาติ เช่น ซีเอ็นเอ็น รายงานข่าวโดยปฏิเสธที่จะตีพิมพ์ข้อความที่เป็นปัญหา โดยให้เหตุผลว่าเพื่อเป็นการป้องกันตัวผู้สื่อข่าว [3] ในขณะที่หนังสือพิมพ์ดิ อีโคโนมิสต์ ที่รายงานข่าวการวิพากษ์วิจารณ์สถาบัน โดยอ้างอิงข่าวนายใจ อึ๊งภากรณ์ อีกหนึ่งผู้ต้องคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และข่าวนายนิโคเลดส์ พร้อมกับตีพิมพ์ข้อความที่เป็นปัญหาโดยไม่ได้ตัดทอน ถูกผู้จัดจำหน่ายในประเทศไทย ระงับการจำหน่าย [5]

อ้างอิง[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]