แสตมป์ตลก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
แสตมป์ที่ชื่อ Inverted Jenny เป็น error สีน้ำเงินพิมพ์กลับหัว

แสตมป์ตลก (อังกฤษ error, freak, oddity หรือ variety) คือแสตมป์ที่เกิดความผิดพลาดระหว่างการออกแบบหรือการพิมพ์ ทำให้แสตมป์ที่พิมพ์ออกมาผิดจากที่ควรจะเป็น แสตมป์ตลกมีได้หลายแบบ

เกิดบางแผ่น[แก้]

ความผิดพลาดในการพิมพ์แสตมป์บางแผ่น บางครั้งจะเรียกรวม ๆ ว่า EFO เป็นตัวอักษรย่อของความผิดพลาดสามประเภทรวมกัน คือ error, freak และ oddity ดังนี้

  • error เป็นความผิดพลาดซึ่งปรากฏกับแสตมป์หลาย ๆ ดวง เช่น กับแสตมป์ทั้งแผ่น ตัวอย่าง คือ พิมพ์สีผิด พิมพ์ซ้ำ พิมพ์กลับหัว ใช้สีผิด ไม่ได้ปรุรู เป็นต้น
  • freak เป็นความผิดพลาดที่เกิดกับแสตมป์บางดวง ไม่สามารถคาดเดาตำแหน่งที่ผิดพลาดได้ว่าอยู่ส่วนไหนของแผ่น เช่น กระดาษพับ ปรุรูเคลื่อนเพียงแนวเดียว (ไม่เกิดทั้งแผ่น) มีแมลงติดอยู่ใต้หมึกที่พิมพ์บนแสตมป์ เป็นต้น
    แสตมป์ Australia 2d king george V orange die 1 , 1920. มีบางอย่างฝังติดอยู่ในเนื้อกระดาษของแสตมป์ (ปรากฏอยู่ด้านบนเลข 2 ด้านขวา)
  • oddity เป็นความผิดพลาดเล็กน้อย เช่น พิมพ์สีเคลื่อนหรือปรุรูเคลื่อนไปเล็กน้อย แต่ยังไม่มากจนนับเป็น error

เกิดทุกแผ่น[แก้]

ความผิดพลาดในแม่พิมพ์ที่ส่งผลให้แสตมป์ทุกแผ่นที่ตำแหน่งดังกล่าวเกิดผิดพลาด แสตมป์ตลกแบบนี้มีแนวโน้มที่จะเกิดเป็นจำนวนมาก ภาษาอังกฤษเรียก variety

การออกแบบที่ผิดพลาด[แก้]

แสตมป์ชุด ที่ระลึกครบ 100 ปี พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร (เครื่องหมายกรอบสีแดงแสดงส่วนที่แตกต่างกันสองแบบ)

แสตมป์ที่ออกแบบผิดพลาด (design error) ตัวอย่างที่พบบ่อยเช่น ชื่อวิทยาศาสตร์ในแสตมป์ผิด ถึงแม้ว่าจะถูกจัดอยู่ในกลุ่ม error ในโลกตะวันตก แต่ในประเทศไทยจะไม่เรียกว่าเป็นแสตมป์ตลก เพราะเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก และอาจเกิดกับแสตมป์แบบดังกล่าวทุกดวงก็ได้ บางดวงมองผิวเผินอาจเห็นว่าออกแบบผิด แต่จริง ๆ แล้วเป็นความตั้งใจของนักออกแบบแสตมป์

ตัวอย่างแสตมป์ที่อาจเป็นความตั้งใจของนักออกแบบ เช่น แสตมป์ชุดรำไทย ของประเทศไทย (วันแรกจำหน่าย 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2512) บนแสตมป์ดวงราคา 2 บาท (ภาพรำกระทบไม้) และ 3 บาท (ภาพรำโนรา) ทุกดวง ปรากฏว่าคนหนึ่งในภาพมีนิ้วมือข้างละ 6 นิ้ว อาจหมายถึงศิลปินมีชื่อเสียงซึ่งมีความผิดปกติดังกล่าวก็ได้

ตัวอย่างของแสตมป์ไทยที่มีความผิดพลาดเป็นจำนวนมาก คือ แสตมป์ชุด ที่ระลึกครบ 100 ปี พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าธานีนิวัต กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร (วันแรกจำหน่าย 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2528) เป็นแสตมป์ชุดหนึ่งที่มีความผิดพลาดระหว่างการออกแบบแม่พิมพ์ พบว่าแสตมป์จำนวน 1 ล้านดวงจากทั้งหมด 4 ล้านดวง มีลวดลายกนก (ดูที่กรอบสีแดงที่ทำเครื่องหมายในรูป) ย้อนศรจากแสตมป์ปกติ

แสตมป์ดังกล่าวใน 1 แผ่นมีแสตมป์ 5 แถว แถวละ 10 ดวง พิมพ์เป็น 2 เพลต แสตมป์ในครึ่งแผ่นทางซ้ายเพลตที่หนึ่ง (นิยมเรียก แผ่นย้อน) เป็นแสตมป์ที่มีลวดลายผิดพลาด ส่วนที่เหลือ (ครึ่งแผ่นขวาของเพลตหนึ่ง และทั้งแผ่นของเพลตสอง) เป็นแสตมป์ลวดลายปกติ แสตมป์ดังกล่าวไม่ถือเป็นแสตมป์ตลกเพราะแสตมป์ที่พิมพ์ผิดเป็นจำนวนมากถึง 25% แต่จัดเป็นแสตมป์ธรรมดาที่มีภาพแตกต่างกัน 2 แบบ นักสะสมนิยมสะสมแสตมป์สองดวงติดกันตรงรอยต่อระหว่างลายแบบที่หนึ่งกับแบบที่สอง

ความหายาก[แก้]

แสตมป์ที่ระลึก Dag Hammarskjöld ของสหรัฐอเมริกาที่จงใจพิมพ์ขึ้น

แสตมป์ก่อนที่นำมาจำหน่ายที่ไปรษณีย์มักผ่านการตรวจสอบหลายขั้นตอน ทั้งจากโรงพิมพ์แสตมป์ จนถึงไปรษณีย์ เมื่อค้นพบมักจะนำไปทำลาย ทำให้แสตมป์ตลกที่ผ่านการจำหน่ายมีจำนวนน้อยและหายาก จึงมีราคาสูงกว่าแสตมป์ปกติ

แสตมป์ตลกที่ไม่ผ่านการจำหน่ายจากไปรษณีย์ มักมาจากบุคคลภายในโรงพิมพ์หรือไปรษณีย์ลักลอบนำออกมาขายแทนที่จะไปทำลาย ในบางประเทศเช่นสหรัฐอเมริกาถือว่าแสตมป์ตลกดังกล่าวเป็นของที่ถูกขโมย เมื่อแสตมป์ตลกดวงใหม่ถูกค้นพบ จะมีการตรวจสอบอย่างละเอียดถึงที่มาแสตมป์ตลกนี้ ถ้าเป็นของที่ถูกขโมยจะถูกยึดกลับไปและผู้ที่ขโมยจะถูกดำเนินคดี ผู้ที่ยังครอบครองแสตมป์ดังกล่าวจึงไม่สามารถนำแสตมป์มาเปิดเผยในที่สาธารณะได้

ไปรษณีย์ของสหรัฐอเมริกา (United States Postal Service) เคยพิมพ์แสตมป์ตลกขึ้นมาเป็นจำนวนมาก หลังพบว่ามีแสตมป์ตลกดังกล่าวปรากฏขึ้นในท้องตลาด แสตมป์ดังกล่าวเป็นแสตมป์ที่ระลึกในการเสียชีวิตของ Dag Hammarskjöld อดีตเลขาธิการทั่วไปของสหประชาชาติ ซึ่งมีแสตมป์จำนวนหนึ่งพิมพ์สีเหลืองกลับหัว เพื่อกันไม่ให้แสตมป์ตลกนี้เป็นสิ่งหายาก จึงจงใจพิมพ์แสตมป์ตลกเป็นจำนวนมากถึง 40,270,000 ดวงออกจำหน่าย[1] วิธีเดียวในการแยกแยะแสตมป์ตลกจริงกับแสตมป์ที่พิมพ์ขึ้นใหม่ คือดูจากวันที่ของตราประทับว่าประทับก่อนวันที่นำแสตมป์พิมพ์ใหม่ออกวางจำหน่ายหรือไม่

แสตมป์ตลกที่มีชื่อเสียง[แก้]

แสตมป์ Treskilling Yellow

แสตมป์ตลกที่มีชื่อเสียงมากที่สุดดวงหนึ่งของโลกคือ แสตมป์ที่ชื่อว่า Inverted Jenny เป็นแสตมป์ของประเทศสหรัฐอเมริกา วันแรกจำหน่าย 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2461 เพื่อใช้กับอากาศไปรษณีย์ที่จะเปิดให้บริการปฐมฤกษ์เมื่อ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2461 ความผิดพลาดเกิดจากการพิมพ์สีแดง (กรอบนอก) และสีน้ำเงิน (กรอบใน) กลับหัวกลับหางกัน ราคาแสตมป์ดวงเดี่ยว ๆ อยู่ที่ประมาณ 150,000 ดอลลาร์สหรัฐเมื่อปี พ.ศ. 2546 แสตมป์ติดกับเป็นบล็อกสี่ดวงเคยมีการซื้อขายกันที่ราคา 2,970,000 ดอลลาร์สหรัฐเมื่อธันวาคม พ.ศ. 2548

แสตมป์ตลกดวงที่มีราคาสูงที่สุด (สถิติเมื่อปี พ.ศ. 2547) คือ Treskilling Yellow เป็นแสตมป์ราคา 3 skilling และเป็นแสตมป์ชุดแรกของประเทศสวีเดน ใช้งานระหว่าง พ.ศ. 2398 ถึง 2401 ปกติแสตมป์ราคานี้มีสีเขียวอมฟ้า แต่เกิดความผิดพลาดพิมพ์เป็นสีเหลือง เข้าใจว่าเกิดจากระหว่างการพิมพ์ แม่พิมพ์สำหรับแสตมป์ราคา 8 skilling ซึ่งใช้สีเหลืองเกิดชำรุดและแทนที่แม่พิมพ์แสตมป์ตำแหน่งดังกล่าวด้วย 3 skilling โดยไม่ตั้งใจ ไม่มีใครสังเกตพบความผิดพลาดนี้จนกระทั่งปี พ.ศ. 2429 ซึ่งพบแสตมป์นี้เพียงดวงเดียว ถึงแม้ว่ามีความพยายามค้นหาก็ไม่พบแสตมป์ตลกนี้อีก เคยมีการซื้อขายในปี พ.ศ. 2539 ด้วยราคา 2,500,000 ฟรังก์สวิส

อ้างอิง[แก้]

  • ๑๒๐ ปี ตราไปรษณียากรไทย, บริษัทไปรษณีย์ไทยจำกัด, พ.ศ. 2546