แวว มยุรา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
แวว มยุรา
เกิด18 มกราคม พ.ศ. 2505
สมหมาย เวียงษา
เสียชีวิต24 มกราคม พ.ศ. 2532 (27 ปี) สาเหตุ อัตวินิบาตกรรม
นครหลวงคอนโดมิเนียม กรุงเทพมหานคร
คู่สมรสสกล อลงกรณ์ (เสียชีวิต)​
อาชีพนักร้อง
ปีที่แสดงพ.ศ. 2518 - 2532
สังกัดวงดนตรีสายัณห์ สัญญา

แวว มยุรา หรือ แวว อาภัสรา (18 มกราคม พ.ศ. 2505 - 24 มกราคม พ.ศ. 2532) มีชื่อจริงว่า สมหมาย เวียงษา เป็นนักร้องหญิงชาวไทย และเป็นนักร้องเพลงลูกทุ่ง มีภูมิลำเนาอยู่ที่อำเภอห้วยคต จังหวัดอุทัยธานี เธอมีน้ำเสียงที่ เศร้าสร้อย หวานกังวาล ใสแจ๋ว ขึ้นอยู่กับเพลงที่ร้องแต่ละเพลง

ประวัติ[แก้]

ก่อนเข้าวงการ[แก้]

แวว มยุรา หรือ แวว อาภัสรา เกิดเมื่อ พ.ศ. 2505 ที่บ้านเลขที่ 63 หมู่ 2 อ.ห้วยคต จ.อุทัยธานี ครอบครัวมีอาชีพทำนา มีพี่น้อง 8 คน เธอเป็นคนที่ 4 เธอเข้าสู่วงการลูกทุ่งด้วยการประกวดร้องเพลงมาตั้งแต่เด็ก จนในที่สุดประมาณปี 2518 ได้เข้าประกวดร้องเพลงที่จัดโดยสถานีวิทยุ วศป. (ลพบุรี) ที่มี “ จันทร์จ๋า “ หัวหน้าวงดนตรีวงพรนารายณ์อันโด่งดังดำเนินงานอยู่ ด้วยเพลง " เสียงครวญจากสวนแตง " ของน้ำอ้อย พรวิเชียร จันทร์จ๋ามองเห็นความสามารถของเด็กหญิงอายุแค่ 10 ขวบจึงชวนมาร่วมวง ในที่สุดเธอก็มาเป็นบุตรบุญธรรมของ พร พรนารายณ์ เจ้าของวงดนตรีพรนารายณ์ และเริ่มต้นอาชีพนักร้องมาตั้งแต่เด็กในชื่อของ แวว อาภัสรา รุ่นไล่เรี่ยกันกับน้ำอ้อย พรวิเชียร โดยมีผลงานบันทึกเสียงเพลงแรกชื่อ “แม่ค้าแผงลอย“

ชีวิตการเป็นนักร้อง[แก้]

ต่อมา เมื่อวงพรนารายณ์ยุบวงไป แววที่โตเป็นสาวแล้วก็ได้ย้ายไปอยู่กับวง สายัณห์ - ครรชิต (สายัณห์ จันทรวิบูลย์ กับ ครรชิต ขวัญประชา) จากนั้นก็มาอยู่กับวง สายัณห์ สัญญา และที่นี่ได้เปลี่ยนมาใช้ชื่อว่า แวว มยุรา และมีชื่อเสียงจากการร้องเพลงแก้กับเพลงของสายัณห์ และต่อมาก็พบรักกับสกล อลงกรณ์ หนึ่งในเจ็ดทีมพลังหนุ่ม ที่มีส่วนสำคัญที่ผลักดันให้วงสายัณห์ สัญญา มีชื่อเสียงโด่งดังอย่างมาก

ต่อมา สกล ที่ลงทุนทำร้านอาหารได้เกิดขัดแย้งกับหุ้นส่วนจนถูกยิงตาย และเมื่อสายัณห์ยุบวง ด้วยการสนับสนุนของ อุทัย ศรีสุวรรณ และสายัณห์ สัญญา แววก็ได้ตั้งวงของตัวเองขึ้นมา แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ จนต้องขายบ้านของตัวเองออกไปเพื่อหาเงินมาใช้หนี้ และหาเลี้ยงชีพตัวเองและญาติพี่น้องโดยการร้องเพลงตามคาเฟ่

การเสียชีวิต[แก้]

ชะตาชีวิตของเธอต้องพลิกผัน เมื่อ “สกล อลงกรณ์” ผู้เป็นสามี ถูกมือปืนลอบยิงเสียชีวิต ที่ห้องอาหาร แอล.เอ.คาเฟ่ ปากซอยพาณิชยการธนบุรี เมื่อต้นปี 2531 เธอคนเดียวไม่อาจแบกภาระได้ จึงต้องล้มเลิกวงดนตรี หลังจากนั้นก็เริ่มประสบปัญหาเรื่องการเงิน จนต้องขายบ้านที่ร่วมกันสร้างไว้กับสามี เพื่อนำเงินมาเป็นค่าใช้จ่าย และมาเช่าห้องเป็นบ้านพักอยู่ที่ “นครหลวงคอนโดมิเนียม” ใกล้ ๆ กับสามแยกไฟฉาย และได้นำญาติพี่น้องมาอยู่ด้วยหลายคน โดยเธอเป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด ต่อมาเธอไปสมัครเป็นนักร้องคาเฟ่ ที่ห้องอาหาร “นภาลัยคาเฟ่” ย่านศูนย์การค้านครหลวง การเงินช่วงนี้ยังพออยู่ได้ แต่มรสุมชีวิตก็ถาโถมเข้าหาเธออย่างหนัก เมื่อนาย “สายชล เวียงสา” ผู้เป็นน้องชาย ซึ่งทำงานเป็นพนักงานอยู่ที่ “นภาลัยคาเฟ่” ร่วมกับพวกรุมทำร้ายนักศึกษาธุรกิจการบิน ที่พาเพื่อนมาเที่ยวห้องอาหาร ถึงแก่ความตาย ต่อมาตำรวจจับกุมนายสายชลดำเนินคดี และไม่ประกันในชั้นศาล แวว มยุรา พยายามหาเงินมาประกันตัวน้องชายอย่างเต็มที่ แต่ยังขาดอยู่ 2 แสนบาท ไม่สามารถกู้ยืมจากใครได้อีกต่อไป ทำให้เธอกลุ้มหนัก แม้กระทั่งไปขอความช่วยเหลือจากคนที่เธอให้ความนับถือที่สุด ก็ได้รับการปฏิเสธอย่างไม่เหลือเยื่อใย ชีวิตเธอเหมือนหมดที่พึ่ง

กระทั่งเมื่อวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2532 ก่อนเวลา 09.30 น. เธอตัดสินใจหนีปัญหาชีวิตด้วยการผูกคอตายในห้องน้ำ ที่ห้องเช่าเลขที่ 261/329 แฟลตนครหลวงคอนโดมิเนียม ชั้น 4 เธอเสียชีวิตด้วยวัยเพียง 27 ปีเท่านั้นเอง แวว มยุรา ได้ออกเทปชุดสุดท้ายก่อนตาย ชื่อชุด “สาวเวียงพิงค์” โดย “อุทัย ศรีสุวรรณ” ที่เฝ้ามองดูความเป็นอยู่ของเธอด้วยความสงสาร จึงอยากช่วยเหลือให้เธอกลับมามีชื่อเสียงอีกครั้ง ได้ลงทุนทำเพลงชุดนี้ให้ บันทึกเสียงเสร็จเมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2532 แต่หลังจากนั้นไม่ถึง 2 อาทิตย์ เธอก็ปลิดชีวิตตัวเอง[1]

การรำลึก[แก้]

หลังการเสียชีวิต[แก้]

ในช่วงที่อยู่กับวงดนตรีสายัณห์ สายัณห์ได้ให้บันทึกวีดีโอการแสดงสดของทางวงเก็บเอาไว้ และมีการนำวีดีโอชุดนี้ออกมาตัดเป็นวีซีดี 3 แผ่นเพื่อนำออกจำหน่าย ทำให้คนรุ่นหลังได้มีโอกาสเห็นแวว มยุรา ในช่วงที่กำลังโด่งดัง ขณะกำลังโลดแล่นอยู่บนเวทีเมื่อปี 2527

นักร้องที่นำบทเพลงของเธอมาร้องใหม่[แก้]

ผลงานเพลง[แก้]

  • ตัวไกลใจเหงา
  • แอบรักแอบคิดถึง
  • ห้องนอนคนจน
  • น้องไม่มีสิทธิ์
  • แฟนเดิม
  • จากบ้านนาด้วยรัก
  • ใครลืมใครก่อน
  • น้ำตาชาวนา
  • สัญญาสามข้อ
  • หมอนใจคนกลางคืน
  • รักหล่นเมื่อฝนซา
  • ฯลฯ

อ้างอิง[แก้]