รักนาร็อก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก แร็กนาร็อก)
ไฟบรรลัยกัลป์ล้างโลกในเหตุการณ์รักนาร็อก
กำเนิดยุคใหม่หลังเหตุการณ์รักนาร็อก

ในเทวตำนานนอร์ส รักนาร็อก (นอร์สเก่า: Ragnarǫk) หรือ แร็กนาร็อก (อังกฤษ: Ragnarok) เป็นชุดเหตุการณ์ในอนาคต ประกอบด้วยสงครามครั้งใหญ่ตามคำทำนายซึ่งนำไปสู่การสิ้นชีพของทวยเทพที่สำคัญ บังเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ แผ่นดินจมลงใต้สมุทร ต่อจากนั้น แผ่นดินจะผุดขึ้นจากทะเลอีกครั้งและกลับมาอุดมสมบูรณ์ ทวยเทพที่รอดชีวิตและทวยเทพผู้กลับมาจากความตายจะมาพบกันอีกครั้ง มนุษย์สองคนที่เหลือรอดจะให้กำเนิดพลเมืองมนุษย์ รักนาร็อกเป็นเหตุการณ์สำคัญในทางความเชื่อและศาสนาของชาวนอร์ส และเป็นหัวข้อของวจนิพนธ์ทางวิชาการและทฤษฎี

เหตุการณ์นี้ปรากฏครั้งแรกใน เอ็ดดาร้อยกรอง (Poetic Edda) ซึ่งแปลในคริสต์ศตวรรษที่ 13 จากบันทึกโบราณ และ เอ็ดดาร้อยแก้ว (Prose Edda) ซึ่งเขียนขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 13 ในเอกสารทั้งสองฉบับเรียกเหตุการณ์นี้เป็นภาษานอร์สเก่าว่า Ragnarök หรือ Ragnarøkkr มีความหมายว่า "ชะตาเทพ" หรือ "เทวาอัสดง" ตามลำดับ ริชชาร์ท วากเนอร์ คีตกวีชาวเยอรมัน แปลคำนี้เป็นภาษาเยอรมันว่า เกิทเทอร์เด็มเมอรุง ซึ่งเป็นภาคสุดท้ายของในอุปรากร แหวนของนีเบอลุง

ศัพทมูลวิทยา[แก้]

คำว่า Ragnarök ในภาษานอร์สเก่าเป็นคำผสมจากคำสองคำ คำแรกคือ ragna คำแสดงความเป็นเจ้าของในรูปพหูพจน์ของคำ regin (แปลว่า "เทพเจ้า" หรือ "พลังอำนาจ" คำที่สอง rök มีหลายความหมาย เช่น "การพัฒนา, แหล่งกำเนิด, สาเหตุ, ความสัมพันธ์, ชะตากรรม, สิ้นสุด" การตีความแบบเดิมก่อนควบรวม /ǫ/ และ /ø/ ในภาษาไอซ์แลนด์ (ประมาณ ค.ศ. 1200) คำ rök มีรากคำมาจากคำในภาษาเจอร์แมนิกดั้งเดิม *rakō[1]

คำว่า ragnarök เมื่อรวมคำแล้วมักตีความเป็น "ชะตาเทพ"[2] ใน ค.ศ. 2007 Haraldur Bernharðsson เสนอว่าต้นกำเนิดของคำที่สองในคำผสมเป็น røk นำไปสู่การสร้างคำขึ้นใหม่ในภาษาเจอร์แมนิกดั้งเดิม *rekwa และเปิดไปสู่ความไปได้ในความหมายอื่นๆ[3]

อ้างอิง[แก้]

  1. See e.g. Bjordvand and Lindemann (2007:856–857).
  2. Simek (2000:259).
  3. Haraldur Bernharðsson (2007:30–32).

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

  • วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ Ragnarök