แมลงสาบ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก แมลงสาป)
แมลงสาบ
ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่: 358.9–0Ma ยุคคาร์บอนิเฟอรัส – ปัจจุบัน
ภาพวาดของแมลงสาบหลากหลายสายพันธุ์ที่พบได้ตามบ้านเรือนทั่วไป–A. แมลงสาบเยอรมัน (Blattella germanica), B. แมลงสาบอเมริกัน (Periplaneta americana), C. แมลงสาบออสเตรเลีย (P. australasiae), D. แมลงสาบสามัญ (Blatta orientalis) ตัวเมีย, E. แมลงสาบสามัญตัวผู้
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Arthropoda
ชั้น: Insecta
ชั้นย่อย: Pterygota
ชั้นฐาน: Neoptera
อันดับใหญ่: Dictyoptera
อันดับ: Blattidea
วงศ์
ชื่อพ้อง
  • Blattaria

แมลงสาบ เป็นแมลงที่อยู่ในอันดับ Blattodea หรือ Blattaria จัดเป็นแมลงที่มีวงจรชีวิตไม่สมบูรณ์ คือ ไม่เป็นตัวหนอนและดักแด้ ปัจจุบันเป็นแมลงที่พบกระจายไปแล้วทั่วโลก โดยติดไปกับยานพาหนะต่าง ๆ พบได้ถึงขนาดบนเครื่องบินโดยสาร[1] ถือเป็นสัตว์ที่เป็นพาหะนำโรค

ชื่อ[แก้]

โดยชื่อภาษาอังกฤษนั้นมีที่มาจากภาษาสเปน และชื่อทางวิทยาศาสตร์มาจากภาษากรีก (สเปน: cucaracha หมายถึง "แมลง" และกรีก: βλάττα และ βλάττη) แมลงสาบที่รู้จักกันโดยทั่วไปเป็นชนิด Periplaneta americana ในวงศ์ Blattidae หรือเรียก แมลงสาบอเมริกัน มีลำตัวยาวประมาณ 3 เซนติเมตร ส่วนแมลงสาบไทยหรือแมลงสาบชนิดเอเชียเป็นชนิด Blattella asahinai ซึ่งมีความยาวลำตัวประมาณ 2 เซนติเมตร

ลักษณะ[แก้]

โดยทั่วไปแล้ว มีลักษณะลำตัวยาวรีเป็นรูปไข่ เป็นสีดำหรือสีน้ำตาลเข้ม มีส่วนหัวซ่อนอยู่ใต้อก มีหนวดยาวคล้ายเส้นด้าย ส่วนขายาวมีหนามคลุม ตัวเต็มวัยมีทั้ง มีปีกและไม่มีปีก เป็นแมลงที่หากินตามพื้นดินเป็นหลักตามที่มืด ๆ หรือในเวลากลางคืน ไม่ชอบที่จะบิน และวิ่งได้เร็วมาก

ชนิด[แก้]

ปัจจุบันนี้พบมากกว่า 9,000 สกุล 4,500 ชนิด และพบ 4 ชนิดที่เลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยง เช่น แมลงสาบมาดากัสการ์ (Gromphadorhina portentosa) [2][3]

ความเป็นมาและวิวัฒนาการของแมลงสาบ[แก้]

แมลงสาบในยุคก่อนประวัติศาสตร์ในอำพัน

จากการศึกษาซากฟอสซิลของแมลงสาบ บ่งชี้ได้ว่า แมลงสาบได้ถือกำเนิดมาบนโลกนี้ยาวนานกว่ามนุษย์หลายเท่า (ราว 250 ล้านปีมาแล้ว) ความแตกต่างของแมลงสาบโบราณกับแมลงสาบในปัจจุบัน คือ ช่องออกไข่ที่ปลายช่องท้อง และมีการค้นพบฟอสซิลแมลงสาบที่เป็นยุคปัจจุบันคือมีรังไข่เหมือนกับปัจจุบันในยุคที่ไดโนเสาร์สูญพันธุ์จากโลกไปแล้ว คือ มหายุคมีโซโซอิก แมลงสาบสามารถปรับตัวได้กับทุกสภาพแวดล้อม เนื่องจากการที่แมลงสาบกินทุกอย่างเป็นอาหาร บางสายพันธุ์สามารถกินไม้ได้ด้วย แมลงสาบจะปรากฏตัวให้เห็นอยู่ในประเทศที่เป็นเขตเมืองร้อน แมลงสาบในประเทศไทยจะอาศัยอยู่ตามบ้านเรือน แหล่งของเสีย ขยะแมลงสาบที่อาศัยอยู่ตามฟาร์ม เช่น โรงผสมอาหารสัตว์ ปัจจุบันมีวิธีกำจัดแมลงสาบโดยชีววิธี ด้วยแมลงที่เป็นศัตรู[4] เพื่อลดการใช้สารเคมีกำจัดแมลง แมลงสาบสามารถใช้ชีวิตอยู่โดยไม่ได้ทานอาหารเป็นเวลา 1 สัปดาห์ และสามารถงอกขาใหม่ได้

แมลงสาบที่พบในประเทศไทย[แก้]

ดูบทความหลัก แมลงสาบอเมริกัน

1. แมลงสาบอเมริกัน มีแหล่งกำเนิดในทวีปแอฟริกา เป็นแมลงสาบที่มีลำตัวขนาดใหญ่ ยาวประมาณ 30–40 มิลลิเมตร มีสีน้ำตาลแดง ปีกยาวทั้งตัวผู้และตัวเมีย บินเก่ง ชอบออกหากินในเวลากลางคืน กลางวันจะนอนพัก หรือหลบซ่อนตัวตามซอกมุม ใต้ตู้ ชั้นเก็บของ ในที่มืด อับ จะพบมากตามโกดังเก็บสินค้า หรือบ้านเรือนทั่วไป โตเต็มวัยเมื่อ 7 วัน อายุ 4–7 วันเริ่มผสมพันธุ์ วางไข่ครั้งละ 16–28 ฟอง ในหนึ่งรังไข่ ตัวเมีย 1 ตัวสามารถวางไข่ได้ 22–40 รังไข่ ฟักภายใน 30–46 วัน มีอายุประมาณ 212–294 วัน นอกจากนี้แล้วจากการศึกษาของนักกีฏวิทยาชาวญี่ปุ่นพบว่า สามารถขยายพันธุ์ได้เองโดยไม่ต้องพึ่งตัวผู้ได้ [5]ชอบอากาศอบอุ่นและชื้น

ดูบทความหลัก แมลงสาบออสเตรเลีย

2. แมลงสาบออสเตรเลีย มีแหล่งกำเนิดในทวีปแอฟริกา แต่จะพบมากในเขตอบอุ่นและเขตร้อนรวมทั้งประเทศไทย มีขนาดใหญ่ ลำตัวยาวประมาณ 27–3 มิลลิเมตร แต่เล็กกว่า แมลงสาบอเมริกันเล็กน้อย สีเข้มกว่า มีแถบสีอ่อนอยู่ด้านข้างของปีกคู่แรก มีแถบสีเหลืองที่ทรวงอกท่อนแรก บินได้เก่ง Pronotumจะมีสีดำเป็นกลุ่มเห็นชัด มีการเจริญเติบโตแบบลอกคราบ มีอายุยืนประมาณ 170–304 วัน พบได้เช่นเดียวกับแมลงสาบอเมริกันแต่จำนวนน้อยกว่า

ดูบทความหลักที่ แมลงสาบสามัญ

3. แมลงสาบสามัญ เป็นแมลงสาบตัวขนาดใหญ่ ยาวประมาณ 22–27 มิลลิเมตร ตัวสีน้ำตาลเข้มหรือดำ และมีลายสีเหลืองหรือขาวเด่นชัดด้านบนทรวงอกทั้ง 3 ท่อนและขอบด้านนอกของส่วนท้อง ตัวเมียไม่มีปีก ส่วนตัวผู้จะมีปีกสั้น ๆ เพียง 1/4 ของส่วนท้อง แต่บินไม่ได้ แมลงสาบชนิดนี้มักอยู่กันเป็นกลุ่ม ๆ ในที่มืด ตามซอกที่เก็บของ กองหนังสือเก่า ๆ เป็นต้น

ดูบทความหลักที่ แมลงสาบเยอรมัน

4. แมลงสาบเยอรมัน มีลำตัวสีน้ำตาลอ่อน ยาว ขนาดประมาณครึ่งนิ้ว ปีกยาวทั้งสองเพศ บินเก่ง ที่ด้านหลังของทรวงอกท่อนแรก มีแถบสีดำสองแถบ เห็นชัดเจน มีอายุประมาณ 100 วัน ชอบอากาศอบอุ่น ตัวเต็มวัย 7–10 วันจะผสมพันธุ์ ตัวเมียที่มีไข่จะลากเกราะหุ้มไข่ติดกับท้องตลอดเวลาจนกว่าไข่จะสุก ประมาณ 2–4 สัปดาห์ แมลงสาบชนิดนี้จะพบบ้างประปรายตามบ้านเรือน แต่ในเรือใหญ่ ๆ เช่นเรือรบ เรือสินค้า จะประสบปัญหาจากการรบกวนของแมลงสาบจำพวกนี้มาก แพร่พันธุ์ได้เร็วมาก และยังได้พบว่าสามารถขยายพันธุ์ได้เองโดยไม่ต้องพึ่งเพศผู้ได้[5] ปัจจุบันพบว่าแมลงสาบพวกนี้ต้านยากำจัดแมลงพวก Hydrocarbon series เช่น DDT. Dieldrin

ดูบทความหลักที่ แมลงสาบลายน้ำตาล

5. แมลงสาบลายน้ำตาล มีตัวขนาดเท่ากับแมลงสาบเยอรมัน สีน้ำตาลอ่อน ลักษณะที่สังเกตได้ง่ายคือแถบสีน้ำตาลพาดผ่านเป็นสองแถบที่ปีก แมลงสาบชนิดนี้จะอยู่เป็นกลุ่ม ๆ ในกล่องหรือปีบ ซอกที่มืดทึบ แต่พบน้อยมาก หากินไม่ไกลจากที่อยู่อาศัย

ดูบทความหลักที่ แมลงสาบซูรินาม

6. แมลงสาบซูรินาม ตัวมีสีน้ำตาลเข้มหรือดำ ขนาดยาว 18–24 มิลลิเมตร มักพบอยู่ตามดินไต้กองขยะ กองใบไม้ เวลากลางคืนอาจบินเข้ามาตามแสงไฟในบ้านบ้าง

ดูบทความหลักที่ แมลงแกลบ

7. แมลงแกลบ มีลักษณะคล้ายแมลงสาบซูรินาม ปัจจุบันสามารถใช้ประโยชน์ในการกำจัดขยะอินทรีย์และเป็นเหยื่อตกปลาได้

เพศของแมลงสาบ[แก้]

ความแตกต่างระหว่างแมลงสาบตัวผู้กับตัวเมียสังเกตได้จากปลายท้องของตัวผู้จะมีระยางค์ 2 คู่ที่ใช้รับความรู้สึกและใช้ผสมพันธุ์ ส่วนตัวเมียจะมีรยางค์ที่เป็นแผ่นแบน ๆ เหมือนแคปซูลเรียกว่า รังไข่ ใช้สำหรับวางไข่ตามมุมห้องหรือซอกเล็ก ๆ การวางไข่ของตัวเมียนั้น จะมีการปล่อยน้ำที่มีความเหนียว สีขาวขุ่นออกมา ทำหน้าที่เพื่อให้ไข่นั้นติดนานไป ไข่เมื่อโตเต็มที่จะมีสีเหมือนเม็ดมะขามแต่ขนาดเล็กกว่า

โรคที่ตามมากับแมลงสาบ[แก้]

ด้วยแหล่งอาศัยของแมลงสาบจะอยู่ตามขยะ ของเสีย แมลงสาบจึงนำมาสู่เชื้อโรคมากมายที่เป็นพาหะนำโรคมาสู่มนุษย์ เช่น ท้องเดิน, บิด, ไทฟอยด์, อหิวา

อ้างอิง[แก้]

  1. ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับแมลงสาบ
  2. Valles, SM; Koehler, PG; Brenner, RJ. (1999). "Comparative insecticide susceptibility and detoxification enzyme activities among pestiferous blattodea". Comp Infibous Biochem Physiol C Pharmacol Toxicol Endocrinol 124 (3) : 227–232. doi:10.1016/S0742-8413 (99) 00076-6. PMID 10661713.
  3. Schal, C; Hamilton, R. L. (1990). "Integrated suppression of synanthropic cockroaches". Annu. Rev. Entomol 35: 521–551. doi:10.1146/annurev.en.35.010190.002513. PMID 2405773. http://www4.ncsu.edu/~coby/schal/1990SchalAREreview.pdf.
  4. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-09-27. สืบค้นเมื่อ 2008-10-01.
  5. 5.0 5.1 จุดประกาย 7 WILD, 'แมลงสาบ' ขยายพันธุ์เอง ไม่ง้อตัวผู้. "Wild UPDATE". กรุงเทพธุรกิจปีที่ 29 ฉบับที่ 10427: วันจันทร์ที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2560

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]