แมซงดูว์รัว

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
แมซง ดูว์ รัว
Maison du Rois
ตัวอาคารมองจากจัตุรัสบรัสเซลส์(กร็องปลัส)
แผนที่
ข้อมูลทั่วไป
สถาปัตยกรรมฟื้นฟูกอทิก
เมืองกร็องปลัส
บรัสเซลส์
ประเทศเบลเยียม เบลเยียม
พิกัด50°50′49″N 4°21′9″E / 50.84694°N 4.35250°E / 50.84694; 4.35250
เริ่มสร้างค.ศ. 1887
เว็บไซต์
www.museedelavilledebruxelles.be

แมซง ดูว์ รัว (ฝรั่งเศส: Maison du Rois) แปลตามศัพท์ภาษาฝรั่งเศสว่า "บ้านของพระราชา" ในภาษาดัตช์เรียกว่า โบรดฮัส (ดัตช์: Broodhuis) แปลว่า "บ้านขนมปัง" เป็นอาคารสำคัญทางประวัติศาสตร์แห่งหนึ่งในจัตุรัสกร็องปลัสแห่งบรัสเซลส์ ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของจัตุรัส ตรงข้ามกับออแตลเดอวีล ตัวอาคารเป็นแบบสถาปัตยกรรมฟื้นฟูกอทิก

แมซง ดูว์ รัว นั้นได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกโดยองค์การยูเนสโก โดยถือเป็นส่วนหนึ่งของกร็องปลัสแห่งบรัสเซลส์ ในปีค.ศ. 1998

ประวัติ[แก้]

ในอดีตนั้นบนสถานที่แห่งนี้เคยเป็นที่ตั้งของตลาดขนมปัง (ฝรั่งเศส: Halle au pain) ซึ่งเป็นที่มาของชื่อในภาษาดัตช์มาจนปัจจุบัน ประวัติการก่อสร้างครั้งแรกนั้นย้อนกลับไปถึงสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 13 โดยพบหลักฐานการกล่าวถึงประมาณปีค.ศ. 1321 ซึ่งเป็นการก่อสร้างหนึ่งในสามโครงการสำคัญทางเศรษฐกิจสมัยนั้น ได้แก่ ตลาดขนมปัง ตลาดผ้า และตลาดเนื้อ ซึ่งข้อมูลในรายละเอียดที่มีเกี่ยวกับสภาพอาคารแต่ละหลังในสมัยนั้นมีน้อยมาก[1]

อาคารหลังเดิมซึ่งมีสภาพชำรุดทรุดโทรมนั้นได้ถูกสร้างใหม่ในปีค.ศ. 1405 โดยเปลี่ยนมาเป็นที่ทำการหน่วยงานปกครองต่างๆของดัชชีบราบันต์[2] ซึ่งต่อมาได้เรียกชื่อเป็น บ้านของดยุก (ฝรั่งเศส: Maison du Duc) ซึ่งต่อมาในภายหลังกลายเป็น บ้านของพระราชา ภายหลังจากการเสวยราชย์ของดยุกแห่งบราบันต์โดยดยุกชาลส์ แก็งเป็นพระมหากษัตริย์แห่งสเปน ในปีค.ศ. 1516[3]

ต่อมาในปีค.ศ. 1504 ได้มีโครงการสร้างอาคารหลังใหม่แทนอีกโดยการออกแบบของสถาปนิกอ็องตวน เคลเดอแมนส์ โดยอาคารหลังเดิมนั้นกว่าจะถูกรื้อก็รอไปถึงปีค.ศ. 1512-1513 และในที่สุดได้มีการเริ่มการก่อสร้างอย่างจริงจังในปีค.ศ. 1515 จนกระทั่งเมื่อสถาปนิกได้เสียชีวิตลง ได้มีการว่าจ้างสถาปนิกคนใหม่แทน คือ หลุยส์ แวน โบเดอแคม แต่ช่วงหลังเขาไม่ว่างดูแลโครงการนี้เลย จนสุดท้ายอาคารก็สำเร็จลงด้วยฝีมือของอ็องรี แวน พีด และเนื่องจากสภาพดินแถบนี้มีความอ่อนตัวค่อนข้างสูง จึงต้องมีการสร้างบนเสาเข็มทำจากไม้ที่มัดเข้ากันด้วยหนังวัว ซึ่งได้มีการค้นพบซากฐานเหล่านี้ในสมัยปีค.ศ. 1873 ช่วงที่มีการสร้างอาคารใหม่ขึ้นอีกครั้ง[4]

สุดท้ายแล้วอาคารในสถาปัตยกรรมฟื้นฟูกอทิกแห่งนี้ก็สร้างไม่สำเร็จเช่นเดิม ในปีค.ศ. 1565-1566 ได้มีการสร้างน้ำพุบริเวณบันไดทางเข้าด้านหน้าอาคาร ในปีค.ศ. 1625 อาร์ชดัชเชสอิซาแบลได้สั่งให้เพิ่มเติมรูปปั้นแม่พระขึ้นเพื่อประดับบริเวณด้านหน้าอาคาร ขนาบข้างด้วยศิลาจารึกสองข้างมีความว่า «A PESTE FAME ET BELLO LIBERA NOS MARIA PACIS» และ «hIC VotUM paCIs pUbLICae eLIsabet ConseCraVIt» ซึ่งสามารถพบเห็นได้ในภาพสเก็ตช์ของฌัค กาลโล ต่อมาตัวอาคารนั้นได้รับความเสียหายมากมายจากการบุกทำลายโดยกองทัพฝรั่งเศสในปีค.ศ. 1695 และต่อมาได้ถูกสร้างขึ้นใหม่เกือบทั้งหมดโดยฌอง โกซิน ในปีค.ศ. 1767

ภายหลังการยึดครองเบลเยียมในการปฏิวัติฝรั่งเศส อาคารนี้ได้ถูกยึดเป็นสมบัติแห่งชาติ (ฝรั่งเศส: Bien National) โดยเปลี่ยนชื่อเป็น บ้านของราษฎร[5] (ฝรั่งเศส: Maison du Peuple) แทน โดยผนวกเข้ารวมกับนครบรัสเซลส์ แต่ต่อมาได้ถูกขายต่อในปีค.ศ. 1811 ให้กับมาร์ควิสพอล อาร์คอนาติ วิสคอนติ ซึ่งได้เป็นเจ้าของอาคารอยู่ไม่นานก็ขายต่อในปีค.ศ. 1817 โดยเจ้าของคนใหม่ได้ปล่อยให้เช่าเป็นบริษัทเกี่ยวกับงานศิลปะและวรรณกรรม[1]

ต่อมาในปีค.ศ. 1860 นครบรัสเซลส์ได้ซื้อคืนกลับมาอีกครั้งหนึ่ง โดยให้สถาปนิกปิแยร์ วิกตอร์ ฌาแมร์ ทำการปรับปรุงอาคารให้สวยงาม แต่เนื่องจากสภาพอันทรุดโทรมจึงต้องรื้อลงทั้งหมดในปีค.ศ. 1873 โดยสถาปนิกได้ออกแบบใหม่ด้วยหลักการของเออแฌน วียอแล-เลอ-ดุก โดยออกแบบให้เป็นแบบกอทิกอย่างสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 16 นอกจากนั้นยังสร้างให้เหมือนกับความตั้งใจที่จะสร้างอาคารแห่งนี้ในอดีตซึ่งไม่เคยได้เกิดขึ้นอีกด้วย โดยอาคารประกอบด้วยซุ้มทางเดินสองชั้น และตกแต่งด้วยหอระฆังมียอดแหลมตรงกลางของด้านหน้าอาคาร และนอกจากนั้นยังมีการตกแต่งอย่างละเอียดด้วยรูปปั้น และงานแกะสลักอันวิจิตร[6] บริเวณด้านหลังอาคารนั้นค่อนข้างเรียบง่าย และเป็นส่วนที่ก่อสร้างภายหลังและเสร็จสิ้นในปีค.ศ. 1894

บรรณานุกรม[แก้]

  • (ฝรั่งเศส) Alexandre Henne et Alphonse Wauters, Histoire de la ville de Bruxelles, t. III, Éditions Libro-Sciences, 1968
  • (ฝรั่งเศส) Guillaume Des Marez, Guide illustré de Bruxelles : Tome 1 : Les Monuments Civils et Religieux, Première partie : Monuments civils, Touring Club de Belgique, 1918
  • (ฝรั่งเศส) Isabelle De Pange, La Grand-Place de Bruxelles, aparté, 2011
  • (ฝรั่งเศส) Vincent Heymans (dir.), Les maisons de la Grand-Place de Bruxelles, CFC Editions, coll. « Lieux de Mémoire », 2007

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 (ฝรั่งเศส) Isabelle De Pange, La Grand-Place de Bruxelles, aparté, 2011, page 203
  2. (ฝรั่งเศส) Guillaume Des Marez, Guide illustré de Bruxelles : Tome 1 : Les Monuments Civils et Religieux, Première partie : Monuments civils, Touring Club de Belgique, 1918, page 32
  3. (ฝรั่งเศส) Vincent Heymans (dir.), Les maisons de la Grand-Place de Bruxelles, CFC Editions, coll. « Lieux de Mémoire », 2007, page 200
  4. (ฝรั่งเศส) Guillaume Des Marez, Guide illustré de Bruxelles : Tome 1 : Les Monuments Civils et Religieux, Première partie : Monuments civils, Touring Club de Belgique, 1918, page 33
  5. (ฝรั่งเศส) Guillaume Des Marez, Guide illustré de Bruxelles : Tome 1 : Les Monuments Civils et Religieux, Première partie : Monuments civils, Touring Club de Belgique, 1918, page 33
  6. (ฝรั่งเศส) Vincent Heymans (dir.), Les maisons de la Grand-Place de Bruxelles, CFC Editions, coll. « Lieux de Mémoire », 2007, page 201