แผนที่โลก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เส้นโครงแผนที่แบบวิเกล ทริปเปิลมีข้อผิดพลาดค่อนข้างต่ำ[1] มักใช้ในการอ้างอิงเอกสารและสื่อต่าง ๆ ของสมาคมเนชั่นแนล จีโอกราฟิก
แผนที่โลกของอับราฮัม ออร์ทีเลียส (Typus Orbis Terrarum) ตีพิมพ์ครั้งแรกใน ค.ศ. 1564

แผนที่โลก คือแผนที่แสดงพื้นที่ส่วนใหญ่หรือพื้นที่ทั้งหมดของโลก การครอบคลุมพื้นที่ขนาดใหญ่ทำให้มีปัญหาเรื่องเส้นโครงแผนที่ แผนที่โลกเป็นการแปลงผิวโลกที่มีลักษณะเป็น 3 มิติมาทำเป็นภาพในระนาบราบ (ภาพ 2 มิติ) การทำแผนที่โลกมีเทคนิคมากมายที่พัฒนาขึ้นเพื่อตอบสนองและนำเสนอแผนที่ให้มีความสมจริง สวยงาม และตอบสนองความต้องการ[2]

การสร้างแผนที่โลกจำเป็นต้องมีความรู้เกี่ยวกับโลก ทวีปและมหาสมุทร การสร้างแผนที่โลกให้ถูกต้องในยุคก่อนประวัติศาสตร์ถึงสมัยกลางจึงเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เนื่องจากมีชายฝั่งไม่ถึงครึ่งและส่วนของทวีปเพียงเล็กน้อยเท่านั้นที่รู้จักในวัฒนธรรมต่าง ๆ การที่ชาวยุโรปเริ่มทำการสำรวจมากขึ้นในสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยา ทำให้ความรู้เกี่ยวกับโลกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อย่างน้อยก็ช่วงกลางทศวรรษ 1700 ที่ชายฝั่งทั่วโลกได้รับการบันทึกลงในแผนที่ ส่วนดินแดนภายในทวีปก็ค่อย ๆ ได้รับการบันทึกภายในศตวรรษที่ 20

โดยทั่วไปแล้วแผนที่โลกจะเน้นเรื่องลักษณะทางกายภาพซึ่งแสดงลักษณะทางภูมิศาสตร์อย่าง เทือกเขา แม่น้ำ ชนิดดินและการใช้ที่ดิน กับ ด้านการเมือง ซึ่งเน้นเรื่องเขตแดนและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ แผนที่ธรณีวิทยาไม่ได้แสดงแค่พื้นผิวแต่ยังแสดงลักษณะการวางตัวของหินแข็ง รอยเลื่อนและโครงสร้างใต้ผิวดิน แผนที่โคโรเพลทจะใช้เฉดสีและความเข้มที่ตัดกันเพื่อความแตกต่างระหว่างภูมิภาคและเขตแดน เช่นการแสดงสถิติทางประชากรหรือทางเศรษฐกิจ

เส้นโครงแผนที่[แก้]

การแสดงแผนที่ทั้งหมดขึ้นอยู่กับการใช้เส้นโครงแผนที่หรือกระบวนการฉายโลกลงในระนาบราบ เส้นโครงแผนที่ทุกชนิดมีการบิดเบือนของลักษณะทางภูมิศาสตร์ ระยะทางและทิศทางไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง มีการพัฒนาเส้นโครงแผนที่หลาย ๆ แบบเพื่อปรับสมดุล ความถูกต้องและความแม่นยำแต่ว่าความผิดเพี้ยนนั้นก็เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

เส้นโครงแผนที่ ๆ รู้จักกันดีคือเส้นโครงแผนที่แบบเมอร์เคเตอร์ซึ่งเดิมออกแบบมาเพื่อเป็นแผนที่เดินเรือ

แผนที่เฉพาะเรื่อง[แก้]

แผนที่โลกส่วนมากมีหลายลักษณะโดยแบ่งเป็นด้านต่าง ยกตัวอย่างเช่น[3]

  1. แผนที่โลกที่แสดงภูมิประเทศ (World Map Physical) จะแสดงข้อมูลของ ภูเขา ทะเลทราย ทะเลสาบ มหาสมุทร ชนิดของดิน หรือการใช้ประโยชน์ที่ดิน เป็นต้น
  2. แผนที่โลกที่แสดงภูมิอากาศ (World Map weather) จะแสดงข้อมูลของอุณหภูมิ มรสุม อุณหภูมิ ค่าเฉลี่ยของฝน เป็นต้น
  3. แผนที่การเมืองคือ (World Map Political) แผนที่ที่แสดงเขตแดน อาณาเขตของประเทศและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์
  4. แผนที่เขตเวลา (World Time Zone Map) เป็นแผนที่แสดงการแบ่งเขตพื้นที่ซึ่งใช้เวลาอ้างอิงเดียวกัน
  5. แผนที่แสดงสถิติ (World Choropleth maps) คือแผนที่ที่ใช้สีและความเข้มของสีเพื่อเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างภูมิภาคต่าง ๆ เช่นสถิติประชากรศาสตร์ หรือสถิติทางเศรษฐกิจ เป็นต้น
  6. แผนที่โลกคานทิโน (Cantino World Map) หรือ แผนที่การเดินเรือคานทิโน พลานิสเฟียร์เป็นแผนที่เก่าที่สุดที่ค้นพบในปัจจุบัน
  7. ลูกโลก (Globe) เป็นแผนที่แบบ 3 มิติ ที่ทำออกมาในรูปแบบทรงกลม ซึ่งลูกโลกมีข้อได้เปรียบที่สามารถให้ข้อมูลที่ถูกต้องทั้งในแง่ รูปทรง (Shape) ขนาด (Size) ระยะทาง (Distance) ทิศทาง (Direction) แต่เมื่อนำมาทำเป็นแผนที่ ในระบบ 2 มิติ ทำให้ข้อมูลหลายอย่างคลาดเคลื่อนไปเช่น ขนาดของพื้นที่ ๆ มีการบิดเบือน

แผนที่โลกยุคแรก[แก้]

แผนที่โลกในยุคแรกจะนับรวมตั้งแต่รูปวาดของโลกตั้งแต่ยุคเหล็ก ยุคแห่งการสำรวจ จนถึงช่วงสมัยใหม่ตอนต้น ที่มีการเกิดขึ้นของวิชาภูมิศาสตร์สมัยใหม่ แผนที่ในอดีตจะให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ซึ่งเป็นที่รู้จักในอดีต รวมถึงพื้นฐานทางปรัชญาและวัฒนธรรมของแผนที่ ซึ่งแตกต่างจากการทำแผนที่สมัยใหม่มาก แผนที่มักเป็นสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ใช้ในการเผยแพร่แนวคิดของตนและส่งต่อไปยังคนรุ่นหลัง[4]

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. Large-Scale Distortions in Map Projections, 2007, David M. Goldberg & J. Richard Gott III, 2007, V42 N4.
  2. American Cartographic Association's Committee on Map Projections (1988). Choosing a World Map. Falls Church: American Congress on Surveying and Mapping. pp. 1–2.
  3. "Thematic Maps". Map Collection & Cartographic Information Services Unit. University Library, University of Washington. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 7 กันยายน 2012. สืบค้นเมื่อ 27 ธันวาคม 2009.
  4. "History of maps and cartography". emporia.edu. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 9 กรกฎาคม 2011. สืบค้นเมื่อ 16 มิถุนายน 2017.

บรรณานุกรม[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]