แบดมินตัน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
แบดมินตัน
นักกีฬาคู่ผสมในการแข่งขันรอบชิงเหรียญทองในโอลิมปิก 2012
สมาพันธ์สูงสุดสหพันธ์แบดมินตันโลก
เล่นครั้งแรกศตวรรษที่ 19
ลักษณะเฉพาะ
การปะทะไม่มี
ผู้เล่นในทีมเดี่ยวหรือคู่
แข่งรวมชายหญิงใช่
หมวดหมู่กีฬาแร็กเกต
อุปกรณ์ลูกขนไก่, แร็กเกต
จัดแข่งขัน
โอลิมปิก1992–ปัจจุบัน
เวิลด์เกมส์1981

แบดมินตัน (อังกฤษ: badminton) เป็นกีฬาชนิดหนึ่ง ที่ใช้ไม้ตีลูก ลูกสำหรับใช้ตีนั้น เรียกกันมาช้านานว่า "ลูกขนไก่หรือลูกแบด" เพราะสมัยก่อนกีฬานี้ใช้ขนของไก่มาติดกับลูกบอลทรงกลมขนาดเล็ก ปัจจุบันลูกขนไก่ผลิตจากขนเป็ดที่คัดแล้ว ลูกบอลทรงกลมขนาดเล็กที่ทำเป็นหัวลูกขนไก่ทำด้วยไม้คอร์ก

กีฬาแบดมินตันจะแบ่งผู้เล่นออกเป็น 2 ฝ่าย และแบ่งการเล่นออกเป็น 2 ประเภท คือ "ประเภทเดี่ยว" แบ่งผู้เล่นออกเป็นฝ่ายละ 1 คน และ "ประเภทคู่" แบ่งผู้เล่นออกเป็นฝ่ายละ 2 คน การเล่นรอบหนึ่งเรียกว่า 1 นัด นัดละ 3 เกม (บางคนเรียกเซต) ตัดสินแพ้ชนะ 2 ใน 3 เกม มีกำหนดคะแนนสูงสุด 21 คะแนน ฝ่ายใดทำคะแนนได้ถึง 21 คะแนนก่อนจะเป็นผู้ชนะในเกมนั้น

ประวัติ[แก้]

ภาพ "battledore and shuttlecock" ในปี 1804

กีฬาแบดมินตันมีความเป็นมาที่ไม่ชัดเจนมากนัก ซึ่งจากหลักฐานต่าง ๆ จะสามารถบ่งบอกที่มาของกีฬาประเภทนี้ไว้ที่หลายยุค เช่น ในจีนช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 7 มีภาพวาดเก่า ๆ ซึ่งบ่งบอกว่ามีการใช้ขนไก่มาทำเป็นลูกขนไก่ใช้ในการเล่น ซึ่งตอนนั้นจะใช้เท้าเตะกัน 2 คนหรือจะตั้งวงกัน 3-4 คน

คริสต์ศตวรรษที่ 13 ชาวอินเดียแดงในอเมริกาตอนใต้ ใช้ขนนกหรือขนไก่ผูกติดกับลูกกลมโดยลูกบอลกลมนั้นใช้หญ้าฟางพันขมวดเข้าด้วยกัน และให้ขนไก่ชี้ไปทางเดียวกันและเวลาเล่นใช้มือจับลูกขนไก่นั้นปาใส่ผู้เล่นคนอื่น ๆ ให้ช่วยกันจับ ตลอดช่วงเวลาที่กล่าวมานี้ ยังไม่มีการใช้แร็กเกต หรืออุปกรณ์อื่น ๆ ตีปะทะลูกขนไก่ แต่ใช้มือ หรืออวัยวะอื่น ๆ แทน

คริสต์ศตวรรษที่ 14 ชาวญี่ปุ่นได้มีการใช้ขนไก่ หรือขนนกเสียบผูกติดกับหัวไม้ และใช้ไม้ตีลูกขนไก่นั้น โดยไม้ที่ใช้ตีทำมาจากไม้กระดาน ตีลูกขนไก่ไปมานับว่าเป็นวิวัฒนาการในรูปลักษณ์ของการเล่นแบดมินตันที่ใกล้เคียงกับยุคปัจจุบันมากที่สุด โดยมีการใช้แร็กเกตตีลูกขนไก่แทนการใช้อวัยวะของร่างกาย

ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 17 ในแถบยุโรปมีการเขียนภาพสีน้ำมันถึงการเล่นกีฬาแบดมินตันในราชสำนักต่าง ๆ

พระราชินีคริสตินาแห่งสวีเดนทรงจำลองไม้แบดมินตันมาจากแร็กเกตในกีฬาเทนนิส และใช้ขนไก่หรือขนนกเสียบติดกับหัวไม้ก๊อก

เจ้าฟ้าชายเฟรดเดอริค มกุฎราชกุมารแห่งเดนมาร์ก ทรงแบดมินตันในลักษณะเดียวกัน แต่ในตอนนั้นเรียกแบดมินตันว่า "แบตเทิลดอร์กับลูกขนไก่"

คริสต์ศตวรรษที่ 18 ในเยอรมนีกษัตริย์ของปรัสเซียเฟรดเดอริคมหาราช และพระเจ้าหลานเธอเฟรดเดอริค วิลเลียมที่สอง ทรงแบดมินตันในลักษณะเดียวกัน และในประเทศอังกฤษมีเรื่องเล่าว่าในปี ค.ศ. 1870 นายทหารคนหนึ่งที่ไปประจำการอยู่ในเมืองปูนา ประเทศอินเดียได้เห็นกีฬาตีลูกขนไก่จึงนำกลับไปเล่นในอังกฤษ และในอังกฤษ ณ คฤหาสน์ “แบดมินตัน” ของยุคแห่งบิวฟอร์ด ที่ตำบลกล๊อสเตอร์เชอร์ ในปี ค.ศ. 1873 เกมกีฬาตีลูกขนไก่จึงถูกเรียกว่า “แบดมินตัน” ตามชื่อของสถานที่นับตั้งแต่นั้นมา

วิธีการเล่น[แก้]

ไม้แบดมินตันหรือแร็กเกต
การเสิร์ฟลูกในสนามแบดมินตันในช่วงต่าง ๆ ของการแข่งขันประเภทเดี่ยวและคู่

กีฬาแบดมินตันจะแบ่งผู้เล่นออกเป็น 2 ฝ่าย และแบ่งการเล่นออกเป็น 2 ประเภท คือ "ประเภทเดี่ยว" แบ่งผู้เล่นออกเป็นฝ่ายละ 1 คน "ประเภททีม" แบ่งผู้เล่นออกเป็นฝ่ายละ 2 คน

วิธีการนับคะแนน[แก้]

  1. ต้องชนะให้ได้มากที่สุดใน 3 เกม
  2. ทุกประเภทของการแข่งขัน  ฝ่ายที่ได้ 21 คะแนนก่อนเป็นฝ่ายชนะในเกมนั้น ยกเว้นเมื่อได้ 20 คะแนนเท่ากันต้องนับต่อให้มีคะแนนห่างกัน 2 คะแนน ฝ่ายใดได้คะแนนนำ 2 คะแนนก่อนเป็นผู้ชนะ  แต่ไม่เกิน 30 คะแนน หมายความว่าหากการเล่นดำเนินมาจนถึง 29 คะแนนเท่ากัน  ฝ่ายใดได้ 30 คะแนนก่อน เป็นผู้ชนะ
  3. ฝ่ายชนะเป็นฝ่ายเสิร์ฟในเกม นัดต่อไป
  4. ฝ่ายชนะเป็นฝ่ายส่งลูกได้ก่อน  หากฝ่ายตรงข้ามทำลูก "เสีย" หรือลูกไม่ได้อยู่ในการเล่น  ผู้เลือกส่งลูกก่อนจะได้คะแนนนำ 1-0 และได้ส่งลูกต่อ  แต่หากผู้ส่งลูกทำลูก "เสีย" หรือลูกไม่อยู่ในการเล่น  ฝ่ายตรงข้ามจะได้คะแนนตามมาทันทีเป็น 1-1 และฝ่ายตรงข้ามจะได้สิทธิ์ส่งลูกแทน  ดำเนินเช่นนี้ต่อไปจนจบเกม
  5. ประเภทคู่ให้ส่งลูกฝ่ายละ 1 ครั้ง ตามคะแนนที่ได้  ขณะที่เปลี่ยนฝ่ายส่งลูก หากคะแนนเป็นจำนวนคี่ ผู้อยู่คอร์ดด้านซ้ายเป็นผู้ส่งลูก  หากคะแนนเป็นจำนวนคู่ผู้อยู่คอร์ดด้านขวาเป็นฝ่ายส่งลูก

การเสิร์ฟลูก[แก้]

  1. เมื่อเริ่มเกมให้ฝ่ายที่เสิร์ฟและฝ่ายตรงข้าม ให้ยืนสนามส่งลูกด้านขวา และเมื่อคะแนนของฝ่ายเสิร์ฟเป็นเลขคี่ให้เสิร์ฟด้านซ้าย ถ้าคะแนนของฝ่ายเสิร์ฟเป็นเลขคู่ให้เสิร์ฟขวา
  2. ทุกเส้นออกแตกต่างกันในส่วนของลูก จะต้องอยู่ต่ำกว่าเอวของผู้ส่งขณะที่แร็กเกตสัมผัสลูก ส่วนเอวนั้นจะพิจารณาโดยการจินตนาการจากเส้นรอบลำตัวที่ระดับซี่โครงซี่สุดท้ายของผู้ส่งลูก
  3. สำหรับการทดลองความสูงคงที่ ทุกส่วนของลูกขนไก่ขณะที่แร็กเกตสัมผัสลูกจะต้องสูงไม่เกิน 1.15 เมตร โดยนับจากพื้นสนามขึ้นมา
  4. ผู้เล่นต้องไม่ถ่วงเวลา หรือเสิร์ฟช้า หรือเสิร์ฟ 2 จังหวะ การเสริฟ ต้องเสิร์ฟไปด้วยจังหวะเดียว
  5. ขณะเสิร์ฟ ส่วนใดส่วนหนึ่งของเท้าทั้ง 2 ข้างต้องสัมผัสพื้นตลอดเวลา
  6. การเสิร์ฟลูกที่ถูกต้อง ต้องให้แร็กเก็ตสัมผัสกับหัวลูกก่อน หากโดนขนก่อนถือว่าผิดกติกา

- ขณะตีลูกโต้กัน ห้ามนำส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายหรือไม้แบดไปสัมผัสกับเน็ท

- ห้ามตีลูกที่ฝั่งตรงข้ามโต้กลับมาในขณะที่ลูกยังไม่ข้ามเน็ทมายังแดนเรา (Over net)

การดิวส์[แก้]

หากผู้เล่นทั้งสองฝ่ายทำคะแนนได้เท่ากันในคะแนนที่ 20 จะมีการเล่นต่อ จนกว่าว่าจะมีคะแนนมากกว่าฝ่ายตรงข้าม 2 คะแนน แต่ถ้ายังไม่สามารถทำคะแนนห่างกัน 2 แต้มได้ จะเล่นต่อไปเรื่อย ๆ แต่เมื่อแต้มได้ 29 เท่ากัน ใครที่ทำได้แต้ม 30 ก่อนก็จะเป็นฝ่ายชนะทันที.

การแข่งขัน[แก้]

หนังสืออ่านเพิ่มเติม[แก้]

  • Bernd-Volker Brahms, Badminton Handbook, Meyer & Meyer, Aachen 2010, ISBN 978-1-84126-298-7
  • กติกาแบดมินตัน สมาคมแบดมินตันแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]