หม่อมราชวงศ์แน่งน้อย ศักดิ์ศรี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก แน่งน้อย ศักดิ์ศรี)

แน่งน้อย ศักดิ์ศรี

เกิด19 ธันวาคม พ.ศ. 2476
เสียชีวิต8 สิงหาคม พ.ศ. 2562 (85 ปี)
สัญชาติไทย
อาชีพอาจารย์ สถาปนิก
มีชื่อเสียงจากนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สถาปนิก
คู่สมรสนายสันทัด ศักดิ์ศรี
บุพการีหม่อมเจ้าสมภพ เกษมศรี
หม่อมเยื้อน เกษมศรี ณ อยุธยา

ศาสตราจารย์กิตติคุณ หม่อมราชวงศ์แน่งน้อย ศักดิ์ศรี (เกษมศรี) (19 ธันวาคม พ.ศ. 2476 - 8 สิงหาคม พ.ศ. 2562) นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สถาปนิกดีเด่น ผู้บุกเบิกงานวิจัยสถาปัตยกรรมสมัยรัตนโกสินทร์ ผู้ร่วมก่อตั้งสาขาสถาปัตยกรรมไทย คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

หม่อมราชวงศ์แน่งน้อย ศักดิ์ศรีได้รับพระราชทานปริญญาสถาปัตยกรรมศาสตร์บัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับ 2) จาก คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี พ.ศ. 2499 และได้รับปริญญาสถาปัตยกรรมศาสตร์มหาบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ในปี พ.ศ. 2504 ศาสตราจารย์กิตติคุณ หม่อมราชวงศ์แน่งน้อย ศักดิ์ศรี เข้ารับราชการตำแหน่งอาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2500 จนเกษียณอายุราชการเมื่อปี พ.ศ. 2537 แต่ยังคงเป็นอาจารย์สอนแม้จะอายุล่วง 80 ปี หม่อมราชวงศ์แน่งน้อย ศักดิ์ศรีถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2562 สิริอายุได้ 85 ปี[1]

วันอาทิตย์ที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2563 เวลา 17.15 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปยังเมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส ในการพระราชทานเพลิงศพ ศาสตราจารย์กิตติคุณ หม่อมราชวงศ์แน่งน้อย ศักดิ์ศรี ซึ่งถึงแก่อนิจกรรมเนื่องจากภาวะหัวใจล้มเหลว[2]

ประวัติ[แก้]

หม่อมราชวงศ์แน่งน้อย ศักดิ์ศรี เกิดเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2476 เป็นธิดาของพันโทหม่อมเจ้าสมภพ เกษมศรี และหม่อมเยื้อน เกษมศรี ณ อยุธยา มีพี่ชายคือหม่อมราชวงศ์มิตรารุณ เกษมศรี ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ (สถาปัตยกรรม)

การศึกษาและผลงาน[แก้]

ขณะศึกษาอยู่ที่คณะสถาปัตย์ จุฬาฯ เคยได้รับเลือกเป็นนายกชุมนุมนิสิตหญิงคณะ ทำงานร่วมกับนายกชุมนุมนิสิตหญิงของมหาวิทยาลัย ศาสตราจารย์ หม่อมราชวงศ์แน่งน้อย ศักดิ์ศรี เป็นบุคคลสำคัญผู้หนึ่งที่ทำให้การศึกษาสถาปัตยกรรมศาสตร์ ก่อรูปร่างมั่นคงตราบจนกระทั่งทุกวันนี้ และได้ปลูกฝังให้ลูกศิษย์ตระหนักถึงความสำคัญและการอนุรักษ์มรดกสถาปัตยกรรมแห่งชาติ นอกจากนี้ยังมีผลงานการค้นคว้าวิจัยเป็นที่ปรากฏยกย่องในวงวิชาการมากมาย เช่น การศึกษาวิจัยเรื่องการศึกษาด้วยข้อมูลเอกสารเบื้องต้น เกี่ยวกับสถาปัตยกรรมไทยในกรุงรัตนโกสินทร์ (ร.3ร.5) แกนนำในการขยายตัวของกรุงเทพมหานครในอดีต วิวัฒนาการทางสถาปัตยกรรมในพระบรมมหาราชวัง ตั้งแต่ต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ถึงปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ. 2325 – 2453 เป็นต้น

ศาสตราจารย์กิตติคุณ หม่อมราชวงศ์แน่งน้อย ศักดิ์ศรี ได้รับการยกย่องให้เป็นสถาปนิกดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2537 โดย สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติประจำปี พ.ศ. 2538 เป็นปูชนียบุคคลด้านสถาปัตยกรรมไทยประจำพุทธศักราช 2538 โดยคณะกรรมการอำนวยการวันมรดกไทย และได้รับพระราชทานปริญญาสถาปัตยกรรมศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี พ.ศ. 2541

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. "สิ้นแล้ว! ปูชนียบุคคลแห่งวงการสถาปัตยกรรมและสถาปัตกรรมไทย". 8 สิงหาคม 2562. สืบค้นเมื่อ 23 สิงหาคม 2562. {{cite news}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |access-date= (help)
  2. ข่าวในพระราชสำนัก กรมสมเด็จพระเทพฯ พระราชทานเพลิงศพ ศาสตราจารย์กิตติคุณ หม่อมราชวงศ์แน่งน้อย ศักดิ์ศรี
  3. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2015-09-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๐๗ ตอนที่ ๒๔๐ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๑๒, ๔ ธันวาคม ๒๕๓๓
  4. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2015-09-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๐๔ ตอนที่ ๒๔๗ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๒๐, ๑ ธันวาคม ๒๕๓๐
  5. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ เก็บถาวร 2021-12-25 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๑๙ ตอนที่ ๒๒ ข หน้า ๑๓๘, ๔ ธันวาคม ๒๕๔๕
  6. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญจักรมาลาและเหรียญจักรพรรดิมาลา, เล่ม ๙๙ ตอนที่ ๑๘๔ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๓๒๔๐, ๑๗ ธันวาคม ๒๕๒๕