แท็บเล็ตคอมพิวเตอร์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
แท็บเล็ตคอมพิวเตอร์

แท็บเล็ตคอมพิวเตอร์ (อังกฤษ: tablet computer) เรียกสั้น ๆ ว่า แท็บเล็ตพีซี[1] หรือ แท็บเล็ต [1] เป็นคอมพิวเตอร์ที่รวมการทำงานทุกอย่างไว้ในจอสัมผัสโดยใช้ปากกาสไตลัส ปากกาดิจิทัล หรือปลายนิ้ว เป็นอุปกรณ์อินพุตพื้นฐาน แทนการใช้คีย์บอร์ดและเมาส์ แต่มีอยู่หรือไม่มีก็ได้[2][3]มีอุปกรณ์ไร้สายสำหรับการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตและระบบเครือข่ายภายใน[4]

แท็บเล็ตในปัจจุบัน[แก้]

ตัวอย่างเช่น

การนำแท็บเล็ตพีซีไปใช้ในการศึกษา[แก้]

การนำแท็บเล็ตพีซีมาใช้ในการจัดการศึกษาเป็นความพยายามที่จะพัฒนาคุณภาพผู้เรียน โดยใช้ประโยชน์จากความเป็นคนในยุคดิจิทัลของผู้เรียนในการเรียนรู้ผ่านอุปกรณ์คอมพิวเตอร์พกพา หรือที่เราเรียกทับศัพท์ว่า “แท็บเล็ตพีซี” การศึกษาในยุคศตวรรษที่ 21 จะให้ความสำคัญกับการบวนการเรียนรู้มากกว่าผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ผู้สอนเปลี่ยนบทบาทจากผู้ถ่ายทอดความรู้โดยตรงเป็นผู้ให้คำปรึกษา อำนวยความสะดวก ออกแบบการเรียนการสอนให้ผู้เรียนฝึกการค้นคว้าหาความรู้ได้ด้วยตนเอง เพื่อให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต แท็บเล็ตพีซีเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ผู้เรียนสามารถเข้าถึงข้อมูลที่ต้องการได้ง่าย รวดเร็ว[5]และมีคุณลักษณะที่เหมาะสมที่ช่วยในการจัดการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แท็บเล็ตพีซีเป็นได้ทั้งสื่อและเครื่องมือมือหรับใช้ในการเรียนการสอน หากนำไปใช้เป็นเครื่องมือ จะอยู่ในรูปแบบ mWBI คือ การจัดกิจกรรมการเรียนรู้บน แท็บเล็ตพีซีผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต โดยมีผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง เนื้อหาวิชาจะถูกโหลดจากอินเทอร์เน็ตในรูปแบบ html5 ผู้เรียนจะทำกิจกรรมสื่อการเรียนรู้และสร้างปฏิสัมพันธ์บนเครือข่าย แต่ในบริบทประเทศไทยแล้ว แท็บเล็ตพีซีจะเป็นสื่อสำหรับใช้ในการเรียนการสอนแบบ mCAI[6] ซึ่งเนื้อหาวิชาถูกบรรจุไว้ในรูปแบบ mobile application และนำไปติดตั้งลงบนแท็บเล็ตพีซี ผู้เรียนสามารถศึกษาเนื้อหาได้เลยโดยไม่ต้องรอการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต การจัดการเรียนรู้จะเน้นการเรียนรู้แบบเอกัตภาพศึกษา (Individual Learning) โดยผู้เรียนจะเรียนรู้ตามความสนใจและความพร้อมของตนเอง จะเห็นได้ว่าสื่อการสอนแบบ mCAI นั้น เป็นบทเรียนสำเร็จรูปที่สะดวกต่อการใช้งานทั้งผู้สอนและผู้เรียนทั้งในสังคมเมืองและสังคมชนบทที่ห่างไกล อันเป็นการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาได้ อย่างดียิ่ง แต่ถ้าหากรัฐบาลสนับสนุนการจัดระบบโครงสร้างพื้นฐานให้กับสถานศึกษา ให้สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตความเร็วสูงได้ ปรับลักษณะของอุปกรณ์แท็บเล็ตให้เหมาะสมกับการสืบค้นข้อมูล ก็ยิ่งจะช่วยทำให้ผู้เรียนบรรลุวัตถุประสงค์การเรียนรู้ในยุคดิจิทัล

การเตรียมความพร้อม[แก้]

ในการเตรียมความพร้อมสำหรับการนำแท็บเล็ตไปปรับใช้ในการศึกษา ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในด้านต่างๆ ต้องมีการเตรียมตัวเพื่อให้การจัดกิจกรรมการเรียนสอนสอนด้วยแท็บเล็ตประสบความเร็จ โดยแบ่งการปรับความพร้อมเป็นด้านต่างๆ[7] ดังนี้

ด้านหน่วยงานที่รับผิดชอบ[แก้]

ควรจัดตั้งหน่วยงานในระดับเขตพื้นที่การศึกษาในการให้บริการ ประสานงาน ซ่อมบำรุง และเก็บข้อมูลที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะ ซึ่งควรประกอบด้วยผู้ที่มีความรู้ความสามารถด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ รวมถึงผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการเรียนการสอน ทำหน้าที่คณะกรรมการของหน่วยงาน ด้านสภาพแวดล้อม/โครงสร้างพื้นฐาน/ การใช้งานแท็บเล็ตพีซีในการเรียนการสอนนั้น สามารถใช้งานได้ 2 ลักษณะดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น คือ แบบ mCAI และแบบ mWBI หรือแบบออฟไลน์และแบบออนไลน์นั้นเอง ซึ่ง mCAI เป็นการใช้แท็บเล็ตพีซีในการเรียนการสอนโดยบรรจุบทเรียนสำเร็จรูปและสื่อมัลติมีเดียไว้ในแท็บเล็ต เพื่อให้ผู้เรียนใช้ในการเรียนรู้โดยไม่จำเป็นต้องเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต ส่วนการใช้งานแบบ mWBI เป็นการใช้แท็บเล็ตพีซีเป็นเครื่องมือในการสืบค้นหาข้อมูลจากเว็บไซต์ ซึ่งจำเป็นต้องเชื่อมต่อระบบอินเทอร์เน็ต ไร้สายความเร็วสูง ดังนั้นสถานศึกษาจึงต้องวางโครงสร้างระบบอินเทอร์เน็ตไร้สายให้ครอบคลุมพื้นที่ โดยมีความเร็วมากพอในการดาวน์โหลดและอัปโหลด และต้องมีจุดปลั๊กไฟสำหรับชาร์ทแบตเตอรี่ที่เพียงพอ ด้วยข้อจำกัดด้านโครงสร้างพื้นฐานของสถานศึกษา และตัวอุปกรณ์แท็บเล็ต จึงทำให้ประเทศไทยใช้แท็บเล็ตพีซีในการจัดการเรียนการสอนแบบ mCAI เท่านั้น นอกจากนี้ ต้องมีการเตรียมผู้สอนทั้งด้านความสามารถในการใช้แท็บเล็ต และการออกแบบการจัดการเรียนการสอนผ่านแท็บเล็ต โดยการอบรม ให้ความรู้แก่ผู้สอน รวมทั้งนิเทศติดตามการเรียนการสอน เพื่อให้ผู้สอนสามารถจัดการเรียนรู้ ประเมินผล ดูแลรักษา และออกแบบการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสูงสุดต่อผู้เรียน ปัจจุบันรัฐบาลมอบหมายให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ จัดการอบรมการใช้งานแท็บเล็ตพีซีให้แก่ผู้สอนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 เรียบร้อยแล้ว แต่ในปีการศึกษา 2556 ซึ่งผู้เรียนได้เลื่อนชั้นไปยังชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ยังไม่มีการจัดการอบรมการใช้แท็บเล็ตในการจัดการเรียนการสอนให้แก่ผู้สอนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 แต่อย่างใด

ด้านผู้เรียน[แก้]

การเตรียมความพร้อมของผู้เรียนถือว่ามีความสำคัญอย่างมากในการใช้งานแท็บเล็ตพีซี เนื่องจาก นโยายที่ให้ผู้เรียนสามารถนำแท็บเล็ตไปใช้นอกสถานศึกษาได้ โดยใช้วิธียืมและส่งคืนเมื่อจบการศึกษาหรือย้ายสถานศึกษา ดังนั้นต้องปลูกฝังผู้เรียนให้มีความรับผิดชอบในการใช้งาน รววมทั้งต้องรู้จักการบำรุงรักษาเครื่องอย่างถูกวิธี ในบริบทประเทศไทยการเตรียมความพร้อมของผู้เรียนเป็นหน้าที่ของผู้สอนในการฝึกทักษะการใช้งาน และการดูแลรักษา

ด้านผู้ปกครอง/ชุมชน[แก้]

ผู้ปกครองและชุมชนมีส่วนสำคัญอย่างมากในการกำกับดูแลการใช้งานของผู้เรียนในปกครอง ดังนั้นควรมีการประชุมชี้แจงทำความเข้าใจหลักการ เป้าหมาย การใช้งานที่ถูกวิธี การบำรุงรักษา รวมถึงความรับผิดชอบต่อเครื่องแท็บเล็ตพีซี เมื่อเกิดความเสียหายหรือสูญหาย ในประเทศไทยการให้ความรู้แก่ผู้ปกครองเป็นหน้าที่ของสถานศึกษาในการประชุมชี้แจงทำความเข้าใจในเรื่องดังกล่าว

ด้านนโยบายรัฐบาล[แก้]

แผนการจัดการเรียนรู้ถือว่าเป็นเครื่องมือสำคัญในการจัดการเรียนรู้ให้ประสบความสำเร็จ ซึ่งปัจจุบันกระทรวงศึกษาธิการได้จัดทำแผนจัดการเรียนรู้ด้วยแท็บเล็ตพีซี และจัดส่งให้ทุกสถานศึกษา เพื่อให้ผู้สอนผู้รับผิดชอบนำไปใช้จัดกิจกรรมการเรียนการสอนได้ทันที โดยกระทรวงศึกษาธิการได้วางรูปแบบการใช้แท็บเล็ตพีซีเพื่อยกระดับคุณภาพผู้เรียนสำหรับสถานศึกษาขนาดเล็ก เพื่อเป็นต้นแบบในการนำเอาไปปรับใช้[8] ดังนี้

  1. รูปแบบการฝึกทักษะการใช้แท็บเล็ตพีซีเบื้องต้นโดยการสอนเป็นทีม แนวทางการใช้รูปแบบการฝึกทักษะการใช้แท็บเล็ตพีซีโดยการสอนเป็นทีม มีแนวทางที่สำคัญ คือ สถานศึกษาขนาดเล็กที่อยู่ใกล้กันมาจัดการเรียนรู้ร่วมกัน ลดปัญหาการขาดแคลนผู้สอน และอุปกรณ์ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยคัดเลือกผู้สอนที่มีความสามารถในการจัดการเรียนรู้โดยใช้แท็บเล็ตพีซีที่ดีที่สุดให้เป็นผู้สอนหลัก ส่วนผู้สอนท่านอื่นมีบทบาทในการเป็นผู้สอนผู้ช่วยจัดการเรียนรู้ สถานศึกษาที่เป็นสถานที่ทำการเรียนการสอนต้องจัดเตรียมสื่ออุปกรณ์ให้พร้อมสมบูรณ์ อาจเป็นความร่วมมือของทุกสถานศึกษาที่ดำเนินการเรียนการสอนร่วมกัน เช่น เครื่องฉายโปรเจกต์เตอร์ เครื่องฉายทึบแสง เอกสารคู่มือ เป็นต้น โดยดำเนินเตรียมความพร้อมสำหรับผู้เรียนก่อนเป็นอันดับแรก ได้แก่การฝึกทักษะการใช้งานเบื้องต้น การใช้บำรุงรักษาเครื่อง และการสร้างเจตคติที่ดีต่อการเรียนด้วยแท็บเล็ตพีซี
  2. รูปแบบการใช้แท็บเล็ตพีซีเป็นสื่อการจัดการเรียนรู้ (ปกติ)แนวทางการใช้รูปแบบการใช้แท็บเล็ตพีซีเป็นสื่อการเรียนรู้ มีแนวทางที่สำคัญ คือ ใช้แท็บเล็ตเป็นสื่อในการเรียนรู้ ผู้สอนต้องปรับแผนจัดการเรียนรู้ใหม่โดยนำแท็บเล็ตพีซีมาใช้เป็นสื่อการเรียนการสอน ซึ่งสามารถใช้ได้ทั้งขั้นนำเข้าสู่บทเรียนเพื่อกระตุ้นความสนใจของผู้เรียน ขั้นจัดกิจกรรมการเรียนรู้ โดยใช้บทเรียนที่บรรจุอยู่ในแท็บเล็ตพีซีเป็นสื่อ ขั้นสรุปโดยใช้แอปพลิเคชันในการสรุปสาระสำคัญที่เรียนรู้ไปแล้ว ขั้นการฝึกทักษะสามารถใช้แอปพลิเคชันเป็นแบบฝึกหัด แบบทดสอบ ช่วยฝึกทักษะที่ได้เรียนรู้ไปแล้ว
  3. รูปแบบการฝึกทักษะการใช้แท็บเล็ตพีซีแทนสื่อและอุปกรณ์การสอน รูปแบบการฝึกทักษะการใช้แท็บเล็ตพีซีแทนสื่อและอุปกรณ์การสอนนี้เน้นการใช้แท็บเล็ตพีซีแทนสื่อและอุปกรณ์การเรียนรู้ เช่น การใช้แท็บเล็ตพีซีเป็นเครื่องดนตรีชนิดต่างๆ ในการจัดการเรียนการสอนวิชาดนตรี การใช้แท็บเล็ตพีซีเป็นอุปกรณ์เครื่องเขียนในการวาดภาพระบายสีในวิชาศิลปศึกษา การใช้แท็บเล็ตพีซีเป็นอุปกรณ์เขียนคำตอบจากโจทย์ปัญหาต่างๆ เป็นต้น
  4. รูปแบบการใช้แท็บเล็ตพีซีเป็นแหล่งการเรียนรู้ แนวทางเป็นรูปแบบการใช้แท็บเล็ตพีซีเป็นแหล่งการเรียนรู้ สำหรับการจัดการเรียนรู้ที่ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง เน้นให้ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติจริง ซึ่งเป็นการเรียนการสอนตามกระบวนวิจัย กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ และกระบวนการแก้ปัญหา ตามแนวคิดที่ผู้เรียนสามารถสร้างความรู้ได้ด้วยตนเอง (Constructivism) โดยผู้เรียนจะเรียนรู้ด้วยสืบเสาะหาความรู้ด้วยตนเอง (Inquiry Learning & Self Directed Learning) ซึ่งในขั้นตอนการค้นคว้านั้น ผู้เรียนสามารถใช้แท็บเล็ตพีซีในการเป็นเครื่องมือในการสืบค้นข้อมูล รวมถึงการบันทึกข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล และนำเสนอผลการศึกษาค้นคว้า
  5. รูปแบบการใช้แท็บเล็ตพีซีเป็นสื่อการสอนซ่อมเสริม ความแตกต่างระหว่างบุคคลเป็นสิ่งที่ผู้สอนต้องให้ความสำคัญ ดังนั้นผู้เรียนในห้องเรียนจะมีทั้งผู้เรียนที่เรียนเก่งและผู้เรียนที่เรียนอ่อน ผู้สอนต้องช่วยปรับปรุงผู้เรียนที่เรียนอ่อนและจัดกิจกรรมส่งเสริมผู้เรียนที่เรียนเก่ง การซ่อมเสริมแบบนี้อาจเป็นทางการหรือไม่เป็นทางการขึ้นอยู่กับนโยบายและบริบทของสถานศึกษา อาจใช้เวลาช่วงพักกลางวัน หลังเลิกเรียน หรือจัดชั่วโมงเรียนซ่อมเสริมโดยเฉพาะ ผู้สอนสามารถใช้แท็บเล็ตพีซีเป็นเครื่องมือในการจัดการเรียนการสอนซ่อมเสริม โดยอาศัยบทเรียนที่บรรจุอยู่ในแท็บเล็ตพีซีเป็นสื่อการเรียนการสอน

รูปแบบการสอนดังกล่าว เป็นเพียงแนวทางที่ผู้สอนจะนำไปใช้ออกแบบกิจกรรมการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาผู้เรียนด้วยการใช้แท็บเล็ตพีซี โดยที่ผู้สอนสามารถนำรูปแบบต่างๆ เหล่านี้ ไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับสภาพ และบริบทในชั้นเรียนของตน เพื่อยกระดับคุณภาพของผู้เรียน ให้สอดคล้องกับการพัฒนาผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 ต่อไป

ผลลัพธ์ที่ปรากฏ[แก้]

ผลการวิจัยการใช้ Tablet ในสถานศึกษา[แก้]

มีงานวิจัยจำนวนมากเกี่ยวกับการศึกษาการนำแท็บเล็ตไปใช้ในการเรียนการสอน ทั้งในรูปแบบของเครื่องมือสืบค้น และสื่อการเรียนรู้ กรณิการ์ ชูตระกูลธรรม[9] ได้พัฒนาโปรแกรมเล่นดนตรีไทยบนแท็บเล็ตระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ โดยโปรแกรมประกอบด้วยเครื่องดนตรี 3 ชนิด คือ ระนาดเอก ระนาดทุ้ม และฆ้องวงใหญ่ ซึ่งผู้ใช้สามารถเล่นพร้อมกับเสียงเครืองประกอบจังหวะ มีโน้ตเพลงดนตรีไทยที่ผู้ใช้งานสามารถฟังเพลงตัวอย่างได้และประวัติของเครืองดนตรีแต่ละชนิด จากการประเมินความพึงพอใจของโปรแกรมของผู้เชี่ยวชาญและผู้ใช้งาน พบว่าอยู่ในระดับมาก จิราพร กตารัตน์[10] ศึกษาการใช้แท็บเล็ตเพื่อการเรียนการสอนของข้าราชการผู้สอนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาหนองคาย เขต 1 พบว่า ในภาพรวมการใช้แท็บเล็ตเพื่อการเรียนการสอนของข้าราชการผู้สอนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาหนองคาย เขต 1 จัดอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า ด้านที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ ด้านการใช้แท็บเล็ตเพื่อ การบริหารจัดการเรียนรู้ ณัฐพร ทองศรี[11] ทำการศึกษาความตั้งใจใช้แท็บเล็ตของผู้สอนสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครศรีธรรมราชเขต 3 การประยุกต์ใช้ตัวแบบการยอมรับเทคโนโลยี ผลการศึกษาพบว่าผู้สอนมีความตั้งใจใช้แท็บเล็ตในการเรียนการสอนในปีการศึกษา 2555 อยู่ในระดับปานกลาง ปัจจัยภายนอกที่มีอิทธิพลต่อระดับความตั้งใจใช้แท็บเล็ตมากที่สุดคือ อิทธิพลทางสังคม นำชัย โบราณมูล[12] ได้พัฒนาหลักสูตรอบรมการใช้คอมพิวเตอร์แท็บเล็ตเพื่อการเรียนรู้ เรื่อง การสร้างสเปรดชีทด้วยแอปพลิเคชัน Numbers สำหรับผู้เรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 พบว่า หลักสูตรอบรมที่พัฒนาขึ้น มีคุณภาพในระดับเหมาะสมมาก ผู้เข้าอบรมมีความรู้ความเข้าใจหลักสูตรอบรมโดยมีคะแนนหลังอบรมสูงและก่อนอบรม อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.5 และผู้เรียนมีความพึงพอใจต่อหลักสูตรอบรมฯ อยู่ในระดับมากที่สุด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่ เขต 1[13] ศึกษาความสำเร็จของการใช้ Tablet เพื่อยกระดับการเรียนการสอน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ปี 2555 ผลการศึกษาพบว่า ผู้สอนร้อยละ 75.5 มีความคิดเห็นว่าผู้เรียนเรียนภาษาอังกฤษได้ดีขึ้นและเร็วขึ้น ผู้เรียนร้อยละ 62.7 มีความสามารถเขียนสื่อความและจับใจความในระดับใช้ได้ ผู้เรียนร้อยละ 61.7 เขียนภาษาอังกฤษในระดับใช้ได้ ผู้เรียนร้อยละ 52.1 พออ่านภาษาอังกฤษได้แต่ยังต้องพัฒนา ผู้เรียนร้อยละ 96.7 รู้สึกว่าแท็บเล็ตมีประโยชน์ ผู้เรียนร้อยละ 81.3 เห็นว่าแท็บเล็ตใช้ง่าย ผู้เรียนร้อยละ 97.6 ชอบแท็บเล็ต ผู้สอนร้อยละ 92.5 ชอบใช้แท็บเล็ตในการสอน ผู้สอนร้อยละ 94.9 รู้สึกว่าแท็บเล็ตมีประโยชน์หลายอย่าง ผู้สอนร้อยละ 94.8 เห็นว่าแท็บเล็ตสนับสนุนและกระตุ้นการเรียนรู้ของผู้เรียน จักรพล เร่บ้านเกาะ[14] พัฒนาหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (E-book) ที่ใช้บนคอมพิวเตอร์พกพาหน้าจอสัมผัสในวิชางานหลอมหล่อเครื่องประดับ เรื่องการหล่อโลหะ พบว่า ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของกลุ่มตัวอย่างผู้ใช้หนังสืออิเล็กทรอนิกส์หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 โดยผู้เรียนมีความพึงพอใจต่อหนังสืออิเล็กทรอนิกส์อยู่ในระดับดี จากผลการศึกษาวิจัยการนำแท็บเล็ตพีซีไปใจในการจัดการเรียนการสอนพบว่า ผู้เรียนส่วนใหญ่มีผลสัมฤทธิ์สูงขึ้น เนื่องด้วยอิทธิพลทางสังคมเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อระดับความตั้งใจในการใช้แท็บเล็ต ทั้งยังมีการพัฒนาหลักสูตรการอบรมผู้สอนที่มีคุณภาพให้สามารถใช้แท็บเล็ตในการจัดการเรียนการสอน อย่างไรก็ตามควรคำนึงถึงผลกระทบที่จะตามมาหลังจากการนำแท็บเล็ตพีซีมาใช้ในการเรียนการสอนด้วย

ผลกระทบจากการใช้แท็บเล็ตพีซีในการเรียนการสอน[แก้]

ในการใช้แท็บเล็ตพีซีในการเรียนการสอน มีผลกระทบในด้านต่างๆ[15] ดังนี้

ผลกระทบเชิงบวก[แก้]

ผลกระทบเชิงบวกจาการใช้แท็บเล็ตพีซีในการเรียนการสอนต่อตนเอง ครอบครัว สถานศึกษาและต่อสังคม อาทิเช่น แท็บเล็ตเป็นเทคโนโลยีที่จะช่วยสร้างความเท่าเทียมทางการศึกษาให้กับเด็ก เป็นการเปิดโลกทัศน์ให้เด็กๆ ได้ศึกษาวัฒนธรรมต่างแดนผ่านอินเทอร์เน็ตได้ทุกที่ทุกเวลา สามารถเรียนรู้ภาษาด้วยการใช้เป็นวิดีโอแชทกับชาวต่างชาติเพื่อฝึกภาษาอังกฤษโดยไม่ต้องเขินอายเหมือนกับการสื่อสารต่อหน้า ทำให้การเรียนเป็นเรื่องสนุกและเข้าใจง่ายขึ้น แตกต่างจากการเรียนจากหนังสือซึ่งไม่น่าสนใจและเข้าใจยากกว่า ทำให้ผู้สอนสามารถเข้าถึงรูปภาพ วีดิโอคลิป และข้อมูลข่าวสารจากทั่วโลก เพื่อใช้สร้างบทเรียนที่น่าสนใจให้แก่ผู้เรียน

ผลกระทบเชิงลบ[แก้]

การนำแท็บเล็ตพีซีมาใช้ในการจัดการเรียนการสอนอาจส่งผลกระทบเชิงลบต่อผู้เรียนได้ อาทิเช่น อาจมีผู้เรียนจำนวนมากติดอินเทอร์เน็ต เด็กจะอยู่คนเดียว เล่นคนเดียว หรือเล่นกับเพื่อนสองสามคน ขาดการมีปฏิสัมพันธ์เชิงสังคมกับผู้อื่น ขาดหรือออกกำลังกายน้อยลง มีปัญหาเรื่องสายตาสั้น มีปัญหาด้านสุขภาพ และทำให้เด็กคุ้นเคยกับการเล่นเกมส์คอมพิวเตอร์ จนอาจทำให้ติดและทำให้ส่งผลต่อผลการเรียน

ปัญหาและอุปสรรค[แก้]

นโยบายของรัฐบาลในการจัดสรรแท็บเล็ตพีซีนับว่ามีประโยชน์อย่างยิ่งต่อการปฏิวัติการเรียนรู้ของผู้เรียนไทย เพียงแต่อาจเกิดปัญหาตามมาหลังจากที่มีการแจก Tablet ซึ่งสามารถสรุปได้ดังนี้

  1. การเรียนการสอนโดยใช้แท็บเล็ตพีซีอาจไม่จำเป็นต้องพัฒนาหลักสูตรขึ้นมาใหม่ แต่จำเป็นต้องมีแผนการจัดการเรียนรู้ที่นำแท็บเล็ตพีซีมาใช้เป็นสื่อหรือเครื่องมือในการเรียนการสอน ซึ่งขณะนี้กระทรวงศึกษาธิการได้จัดทำแผนจัดการเรียนรู้จากส่วนกลางส่งให้ทุกสถานศึกษา เพื่อให้ผู้สอนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 นำไปใช้จัดการเรียนการสอน แต่มีข้อสังเกตคือแผนจัดการเรียนรู้นี้ยืดหยุ่นพอหรือไม่ในการใช้จัดการเรียนการสอนในบริบทที่แตกต่างกันของแต่ละสถานศึกษา
  2. ผู้สอนยังขาดทักษะการใช้อุปกรณ์ Tablet เพื่อการจัดการเรียนการสอน ในขณะที่ผู้เรียนมีความพร้อมที่จะเรียน[16]
  3. เมื่อผู้เรียนเลื่อนชั้น เนื้อหาบทเรียนในชั้นเดิมจะถูกลบเพื่อใส่เนื้อหาบทเรียนในชั้นใหม่เข้าไป เนื่องจากเนื้อที่การจัดเก็บข้อมูลของแท็บเล็ตมีจำกัด ทำให้ผู้เรียนไม่สามารถกลับมาทบทวนเนื้อบทเรียนเดิมได้
  4. ภาระด้านการบำรุงรักษา การแก้ปัญหาเรื่องอุปกรณ์ และการใช้งานเป็นภาระของสถานศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อหมดระยะประกัน[17]
  5. อุปกรณ์แท็บเล็ตเปลี่ยนรุ่นเร็วมาก ดังนั้นแท็บเล็ตที่จัดหามาแจก ควรมีมาตรฐานรองรับสื่อบทเรียนและแอปพลิเคชันที่เกิดขึ้นใหม่ ในขณะที่ด้านเทคนิคก็พบปัญหามากมาย เช่น แบตเตอรี่หมดเร็ว ใช้งานได้ติดต่อกันน้อยกว่า 1 ชั่วโมง เครื่องร้อน โดยสถานศึกษาหลายแห่งเสนอให้ส่วนกลางจัดสรรงบประมาณการจัดซ่อมบำรุงแท็บเล็ต และสำรองเครื่องเพื่อรองรับปัญหา แต่ก็ยังไม่ได้รับการจัดการมากนัก
  6. ด้วยข้อจำกัดของอุปกรณ์ที่มีขนาดหน้าจอ 7 นิ้ว ซึ่งเล็กเกินไปสำหรับการอ่านข้อความจากเว็บไซต์ การสัมผัสที่ไม่ลื่นไหล ระบบอินเตอร๋เน็ตของสถานศึกษาไม่เร็วและเสถียรพอ จึงเป็นการยากที่จะใช้แท็บเล็ตพีซีเป็นเครื่องมือในการสืบค้น

จากงานวิจัยส่วนใหญ่เป็นการศึกษาทัศนคติของผู้เรียนหรือผู้สอน การพัฒนาแอปพลิเคชัน บทเรียน แต่ยังขาดงานวิจัยที่ศึกษาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียนเมื่อนำแท็บเล็ตพีซีมาใช้ในการจัดการเรียนการสอน เพื่อยืนยันว่าแท็บเล็ตสามารถช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้เรียนได้จริง ซึงผลด้านลบจากการใช้แท็บเล็ตในการเรียนการสอนจึงเป็นสิ่งที่ผู้สอนต้องพึงตระหนักและให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก

แนวทางและความเป็นไปได้ในการแก้ไขปัญหา[แก้]

จากการที่กระทรวงศึกษาธิการได้ให้สถานศึกษาจัดการเรียนการสอนโดยใช้แท็บเล็ตพีซีเป็นสื่อประกอบการเรียนการสอน สำหรับผู้เรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 มาระยะหนึ่ง พบว่ามีหลายประเด็นปัญหาในการใช้งานที่เป็นอุปสรรคต่อการจัดการเรียนการสอน ไม่ว่าจะเป็นเครื่องแท็บเล็ตพีซีเอง บทเรียนหรือแอปพลิเคชัน โครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของสถานศึกษา ทักษะการใช้งานของผู้สอนและผู้เรียน หลักสูตรและแผนการจัดการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับการเรียนรู้โดยใช้เครื่องแท็บเล็ตพีซีเป็นฐาน สิ่งต่างๆ เหล่านี้ทำให้การจัดการเรียนการสอนไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร คณะผู้เขียนจึงได้เสนอข้อเสนอแนะให้รัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปพิจารณาปรับปรุงแก้ไขโครงการเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการ ดังนี้[18]

  1. รัฐบาลควรสนับสนุนงบประมาณในการจัดโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศให้กับสถานศึกษาโดยเฉพาะสถานศึกษาที่อยู่ในชนบทห่างไกล ให้สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  2. สถานศึกษาต้องจัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับการเรียนรู้โดยใช้แท็บเล็ตพีซีเป็นฐาน (Tablet Based Learning) เช่น ระบบกระจายสัญญาณอินเทอร์เน็ตไร้สาย อุปกรณ์ชาร์ตแบตเตอรี่ จุดติดตั้งปลั๊กไฟในห้องเรียน โปรเจกต์เตอร์ และระบบเสียง เป็นต้น
  3. หากเป็นไปได้สถานศึกษาควรจัดให้มีหน่วยงานรับผิดชอบด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของสถานศึกษาโดยเฉพาะ เพื่อช่วยในการจัดการระบบเทคโนโลยีสารสนเทศภายในให้มีประสิทธิภาพ
  4. ควรมีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับลักษณะทางกายภาพและประสิทธิภาพของเครื่องแท็บเล็ตพีซีที่เหมาะสมกับการเรียนรู้ของผู้เรียนในแต่ละระดับ เช่น ขนาดหน้าจอ ความสว่างของหน้าจอ ระยะเวลาการใช้งานของแบตเตอรี่ พอร์ตเชื่อมต่อที่จำเป็น สเปคของเครื่อง ความทนทาน ความปลอดภัยในการใช้งาน เป็นต้น
  5. ควรทดลองใช้กับกลุ่มทดลองก่อน เพื่อศึกษาผลกระทบ ผลลัพธ์ ปัญหาจากการใช้งาน รวมถึงประเมินความคุ้มค่า และนำผลการศึกษามาปรับปรุงแก้ไขการใช้งานแท็บเล็ตพีซีเพื่อการเรียนการสอนห้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
  6. ควรมีการพัฒนาผู้สอนให้สามารถใช้แท็บเล็ตพีซีเป็นสื่อประกอบการเรียนการสอนอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งให้ผู้สอนสามารถพัฒนาบทเรียนหรือแอปพลิเคชันบนแท็บเล็ตพีซี พัฒนาแผนจัดการเรียนรู้ให้ตรงกับบริบทของสถานศึกษาและตรงกับความต้องการของผู้เรียน รวมทั้งรู้วิธีการดูแลรักษาแท็บเล็ตพีซีอย่างถูกต้องและเหมาะสม
  7. สร้างแรงกระตุ้นให้ผู้สอนพัฒนาแผนจัดการเรียนรู้โดยใช้แท็บเล็ตพีซีเป็นฐาน ที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดทักษะที่สำคัญในการเรียนรู้ตลอดชีวิตและการใช้ชีวิตอยู่ในสังคมยุคศตวรรษที่ 21 ได้อย่างมีความสุข
  8. ควรมีการฝึกทักษะการใช้งานแท็บเล็ตพีซีให้กับผู้เรียน ทั้งการใช้งานเบื้องต้น การเข้าถึงและเรียนรู้บทเรียน การสืบค้นข้อมูลความรู้จากอินเทอร์เน็ต รวมถึงการใช้งานที่ถูกวิธี

การวางแผน การเตรียมความพร้อมของสถานศึกษา การศึกษาวิจัยในเรื่องของผลกระทบให้รอบด้าน ทั้งผู้สอน ผู้เรียน และการทำความเข้าใจกับผู้ปกครองเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้โครงการประสบความสำเร็จ สำหรับสถานศึกษาที่มีความพร้อมในทุกด้านแล้ว ควรคำนึงถึงการออกแบบ การจัดการเรียนรู้ การกำกับดูแลการใช้งานของผู้เรียนอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้โดยใช้แท็บเล็ตพีซีได้อย่างมีประสิทธิภาพ อันเป็นการส่งเสริมทักษะการเรียนรู้ตลอดจนทักษะที่บุคคลในศตวรรษที่ 21 พึงมี อีกทั้งยังเป็นการลดผลกระทบด้านลบที่จะเกิดขึ้นอีกด้วย

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 tablet ทับศัพท์หรือใช้คำไทยว่าอะไร
  2. นักเขียนของ PC Magazine. "Definition of: tablet computer". PC Magazine. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-07-16. สืบค้นเมื่อ April 17, 2010.
  3. ผู้เรียบเรียงของ Dictionary.com. "tablet computer - 1 dictionary result". Dictionary.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-09-10. สืบค้นเมื่อ April 17, 2010.
  4. แท็บเล็ต (Tablet) คือ อะไร. (2553). สืบค้นข้อมูลจาก http://www.tabletd.com/articles/289 เก็บถาวร 2013-11-25 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เข้าถึงเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2556
  5. “แท็บเล็ต” (Teblet) เพื่อการศึกษา. (ออนไลน์). (2556). สืบค้นข้อมูลจาก http://chompoonikkampan.blogspot.com/ เข้าถึงเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2556
  6. ภาสกร เรืองรอง. (2556). การพัฒนาบทเรียนบท Tablet PC. โรงพิมพ์พรทิชา กรุงเทพ.
  7. ศูนย์บริการ ICT สพป.ยโสธรเขต 2. (2556). สรุปผลการปฏิบัติงานการดำเนินการแท็บเล็ตเพื่อการศึกษาไทย ระยะที่ 1. สืบค้นข้อมูลจาก http://202.143.189.100/otpc/onweb/salub.pdf[ลิงก์เสีย]. เข้าถึงเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2556
  8. กระทรวงศึกษาธิการ. (2555). รูปแบบการใช้แท็บเล็ตพีซีเพื่อยกระดับคุณภาพนักเรียนสำหรับโรงเรียนขนาดเล็ก. สืบค้นข้อมูลจาก http://www.sepkpt1.net/onechildok/file_onechildOK/01_Tablet_PC_09_2555.pdf[ลิงก์เสีย] เข้าถึงเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2556
  9. กรณิการ์ ชูตระกูลธรรม. (2555). วิทยานิพนธ์ วิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต เทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ . สืบค้นข้อมูลจาก http://dcms.thailis.or.th/dcms/browse.php?option=show&browse_type=title&titleid=325161&query=Array&s_mode=Array&date_field=date_create&date_start=2552&date_end=2556&limit_lang=&limited_lang_code=tha&order=&order_by=title&order_type=ASC&result_id=12&maxid=13 เข้าถึงเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2556
  10. จิราพร กตารัตน์ (2555). วิทยานิพนธ์ ครุศาสตร์อุตสาหกรรมมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี. สืบค้นข้อมูลจาก http://dcms.thailis.or.th/dcms/browse.php?option=show&browse_type=title&titleid=313367&query=Array&s_mode=Array&date_field=date_create&date_start=2552&date_end=2556&limit_lang=&limited_lang_code=tha&order=&order_by=title&order_type=ASC&result_id=7&maxid=13 เข้าถึงเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2556
  11. ณัฐพร ทองศรี. (2555). ความตั้งใจใช้แท็บเล็ตของครูผู้สอนสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครศรีธรรมราช เขต 3 การประยุกต์ใช้ตัวแบบการยอมรับเทคโนโลยี. วิทยานิพนธ์ วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (วิทยาการคอมพิวเตอร์และระบบสารสนเทศ). สถาบันบัณฑิต พัฒนบริหารศาสตร์. สืบค้นข้อมูลจาก เข้าถึงเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2556
  12. นำชัย โบราณมูล (2555). วิทยานิพนธ์ ครุศาสตรมหาบัณฑิตคอมพิวเตอร์ศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม. สืบค้นข้อมูลจาก http://dcms.thailis.or.th/tdc/dccheck.php?Int_code=34&RecId=3655&obj_id=35206 เข้าถึงเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2556
  13. สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่ เขต 1. (ออนไลน์). (2556). ความสำเร็จของการใช้ Tablet เพื่อยกระดับการเรียนการสอน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ปี 2555. สืบค้นข้อมูลจาก http://otpc-cm1.blogspot.com/2013/07/tablet-1-2555.html[ลิงก์เสีย] เข้าถึงเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2556.
  14. จักรพล เร่บ้านเกาะ. (2555). การพัฒนาหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (E-book) ที่ใช้บนคอมพิวเตอร์พกพาหน้าจอสัมผัสในวิชางานหลอมหล่อเครื่องประดับ เรื่องการหล่อโลหะ. วิทยานิพนธ์ ครุศาสตร์อุตสาหกรรมมหาบัณฑิต เทคโนโลยีเทคนิคศึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ. สืบค้นข้อมูลจาก http://202.28.199.4/tdc/ เก็บถาวร 2013-10-25 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เข้าถึงเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2556.
  15. Tablet คืออะไร มีบทบาทอย่างไรในด้านการศึกษาของประเทศไทย. (ออนไลน์). (2556). สืบค้นข้อมูลจาก http://nipaporn27739.wordpress.com/2012/09/11/table เข้าถึงเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2556.
  16. สุรศักดิ์ ปาเฮ. (2555). แท็บเล็ตเพื่อการศึกษา : โอกาสและความท้าทาย (Tablet for Education : The Opportunity and Challenge). สืบค้นข้อมูลจาก www.kan1.go.th/tablet-for-education.pdf‎ เข้าถึงเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2556
  17. ไพฑูรย์ ศรีฟ้า. (2554). เปิดโลก Tablet สู่ทิศทางการวิจัยด้านเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา : จากแนวคิดสู่กระบวนการปฏิบัติ. เอกสารประกอบการบรรยาย วันที่ 4 กันยายน 2554 ณ ม.ทักษิณ วิทยาเขตสงขลา.
  18. สุรศักดิ์ ปาเฮ. (2555). แท็บเล็ตเพื่อการศึกษา : โอกาสและความท้าทาย (Tablet for Education : The Opportunity and Challenge). สืบค้นข้อมูลจาก www.kan1.go.th/tablet-for-education.pdf‎ เข้าถึงเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2556