โคมระย้า

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก แชนเดอเลียร์)
โคมระย้า

โคมระย้า หรือ แชนเดอเลียร์ (อังกฤษ: chandelier) เป็นชื่อเรียกลักษณะของโคมไฟตกแต่งที่แขวนบนเพดาน ซึ่งปัจจุบันโดยทั่วไปจะพบโคมไฟลักษณะนี้ ตามห้องโถงของสถานที่หรูหรา เช่น โรงแรม หรือ บ้านคนรวย

คำว่า "chandelier" เป็นภาษาฝรั่งเศส แปลเป็นอังกฤษว่า "candleholder" ซึ่งก็คือเชิงเทียนที่แขวนลงมาจากเพดาน แชนเดอเลียร์ในยุคแรกทำจากไม้รูปกากบาทอย่างง่าย ๆ มีเหล็กแหลมไว้ปักเทียนข้างบน ใช้ในโบสถ์ทั่วยุโรป และในคฤหาสน์ของเศรษฐี ต่อมามีการพัฒนาโดยนำโลหะมาดัดจนมีลวดลายสวยงามประณีตอ่อนช้อย นอกจากจะแสดงถึงฐานะทางการเงินของเจ้าของบ้านที่มีแสงสว่างยามค่ำคืนในยุคนั้นแล้ว เสน่ห์ของแชนเดอเลียร์แบบดั้งเดิมอยู่ที่แสงเทียนและเงาที่เกิดจากลวดลายของแชนเดอเลียร์

การนำกระจก แผ่นทองแดง และหินคริสตัลมาห้อยบนแชนเดอเลียร์ในยุคหลังๆทำให้มีแสงระยิบระยับมากขึ้น แต่หินคริสตัลหายากและราคาแพง ในปี ค.ศ. 1676 ช่างทำแก้วชาวอังกฤษจึงได้คิดค้นนำแก้วมาผสมกับสารตะกั่ว (lead oxide) แล้วเจียรจนมีประกายงดงามมากกว่าหินคริสตัล ในช่วงปี ค.ศ. 1700 แชนเดอเลียร์เริ่มมีรูปทรงอ่อนช้อยมากขึ้น เมื่อมีการนำแก้วเป่ามาใช้ประดับแชนเดอเลียร์จากประเทศอิตาลีที่เรียกว่าสไตล์เวเนเชียน (Venetian Style)

กระแสความนิยมของแชนเดอเลียร์กลับมาพร้อมกับการใส่สีลงไปบนแก้ว เป็นสีสันของการตกแต่งยุคปัจจุบันบวกกับรูปทรงและลวดลายหรูหราของแชนเดอเลียร์ในอดีต แม้กระทั่งสีดำที่อาจจะดูไม่เข้าท่าในสมัยก่อน แต่ตอนนี้กลับดูสวยแปลกตาดี เหมาะกับการตกแต่งแนววินเทจ แนวโบฮีเมีย และ Classic-Chic ซึ่งเน้นการดึงลวดลายเก่าและใหม่มาผสมผสานกัน

ประเภท[แก้]

ปัจจุบันโคมไฟระย้าถูกทำขึ้นจากหลายวัตถุดิบ และหลายรูปแบบ จนทำให้ยากที่จะแบ่งว่ามีกี่แบบกี่ประเภท  ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความชอบของแต่ละคน โดยทั่วไปการเลือกใช้โคมไฟระย้า จะเลือกตามสไตน์การแต่งห้อง จึงนิยมเลือกใช้และเรียกกันตามแบบของการออกแบบ เช่น โคมไฟระย้าคลาสสิค โคมไฟระย้าโมเดิร์น โคมไฟระย้า LED เป็นต้น

สมัยก่อน หากไปตามโรงแรมต่างๆ ที่มีห้องโถงกว้าง ๆ เรามักจะ เห็นแชนเดอร์เลียร์คริสตัลขนาดใหญ่ รูปทรง Classic เป็นเหมือนพระเอกประจำห้องประชุมเหล่านั้น แต่เดี๋ยวนี้ แชนเดอร์เลียร์มีการพัฒนาทั้งรูปแบบ วัสดุ และขนาดมากขึ้น เพื่อให้เหมาะสมกับยุคสมัยด้วย โดยเราพอจะสรุปรูปแบบของแชนเดอร์เลียร์ที่นิยมนำมาตกแต่งได้ ดังนี้

แชนเดอร์เลียร์แบบ Classic   เป็นแชนเดอร์เลียร์รูปแบบดั่งเดิม เน้นสร้างความหรูหรา ภูมิฐาน ตัวแชนเดอร์เลียร์ประดับตกแต่งด้วยเม็ดคริสตัล และ นิยมลวดลายซับซ้อน ละเอียดอ่อน โครงหรือกิ่งก้านมักทำจากแก้ว เม็ดคริสตัลเมื่อกระทบกับแสงไฟจะส่งประกายระยิบระยับ นิยมเม็ดคริสตัลใส ส่วนมากจะใช้งานอยู่ตามตามโบสถ์สำคัญ ๆ ในต่างประเทศหรือสถานที่สำคัญ ๆ ในประวัติศาสตร์ เช่น พระราชวัง หรือ อาคารของรัฐบาล เป็นต้น

นอกจากกลุ่มแชนเดอร์เลียร์ คริสตัลแล้ว โคมไฟแชนเดอร์เลียร์ในกลุ่ม Classic ยังรวมไปถึงโคมไฟหิ่นอ่อน จำพวก Alabaster อีกด้วย ซึ่งโคมไฟกลุ่มนี้ จะให้อารมณ์ที่ออกเรียบ และ เย็นกว่า

แชนเดอร์เลียร์แบบ Comtemporary แชนเดอร์เลียร์ที่มีความร่วมสมัยมากขึ้น เป็นการผสมผสานกันระหว่างรูปแบบคลาสสิคกับรูปแบบในปัจจุบัน เราจึงได้เห็นวัสดุใหม่ ๆ ถูกนำมาใช้กับแชนเดอร์เลียร์ เช่น ผ้า กระดาษสา เหล็กโครเมียม ทองเหลืองรมดำ แก้ว เขาหรือกระดูกสัตว์ แต่ก็อาจจะมีคริสตัลให้เห็นอยู่บ้าง ส่วนรูปทรงก็ค่อนมาทางเรียบ ๆ ไม่มีลวดลายซับซ้อนเท่ากับงาน classic โครงหรือกิ่งก้านจะเป็นโลหะ หรือวัสดุธรรมชาติ เช่น ไม้ เขาหรือกระดูกสัตว์ ส่วนใหญ่แล้วเห็นได้ตามโถงโรงแรมหรู ๆ หรือสถานที่ที่ตกแต่งในบรรยากาศร่วมสมัย

แชนเดอร์เลียร์ Modern Classic เป็นแชนเดอร์เลียร์ที่มีพื้นฐานมาจากแชนเดอร์เลียร์กลุ่ม classic เพิ่มเติมความทันสมัยด้วย วัสดุใหม่ ๆ เช่น โครงหรือกิ่งก้านเป็นเหล็ก ตัวโคมที่ทำจากผ้า หรือแก้วเป่า เน้นความรู้สึกเรียบง่าย อบอุ่น แต่เริ่มมีสีสันมากขึ้น รูปทรงยังคงความอ่อนช้อยงดงามแบบ classic ถ้าเคยเข้าไปใช้บริการร้านค้าต่าง ๆ ที่ตกแต่งในสไตล์ boutique shop อย่างร้านเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายแถว ๆ สยาม ก็จะเห็นแชนเดอร์เลียร์ประเภทนี้ตกแต่งอยู่ภายในร้าน

แชนเดอร์เลียร์ Modern แชนเดอร์เลียร์สมัยใหม่ที่เน้นความสวยงามแบบเรียบง่าย ไม่เหลือเค้าโครงแบบดั่งเดิมเลย ตกแต่งด้วยดวงโคมน้อยชิ้นเน้นรูปทรงเรขาคณิต ไม่โค้งมนมากนัก และจะไม่มีคริสตัลในแชนเดอร์เลียร์ประเภทนี้เลย แต่จะใช้วัสดุต่าง ๆ กันไปแล้วแต่ดีไซน์ เช่น เรซิ่น เหล็ก สเตนแลส และด้วยความที่รูปทรงเรียบง่ายก็เลยทำให้บางคนรู้สึกว่าดูแข็งเกินไป ไม่สวยงามนัก จึงเหมาะกับบ้านสไตล์โมเดิร์นเสียเป็นส่วนใหญ่

อ้างอิง[แก้]

  • McCaffety, Kerri. The Chandelier Through the Centuries. Vissi d'Arte Books: 2007. ISBN 978-0970933652.