แก้ว อัจฉริยะกุล

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก แก้ว อัจฉริยกุล)
แก้ว อัจฉริยะกุล
สารนิเทศภูมิหลัง
เกิด15 พฤษภาคม พ.ศ. 2458
แก้ว อัจฉริยะกุล
เสียชีวิต8 ตุลาคม พ.ศ. 2524 (66 ปี)
คู่สมรสประภาศรี อัจฉริยะกุล
อาชีพนักแต่งเพลง นักแต่งบทละคร

แก้ว อัจฉริยะกุล หรือ ครูแก้ว หรือ แก้วฟ้า (15 พฤษภาคม พ.ศ. 24588 ตุลาคม พ.ศ. 2524) เป็นผู้จัดละครเวที เขียนบทละครวิทยุ บทละครโทรทัศน์ เจ้าของคณะละครวิทยุ และเป็นผู้ประพันธ์คำร้องเพลงอมตะจำนวนมากที่ยังถูกนำมาร้องจนถึงปัจจุบัน อาทิ รำวงวันลอยกระทง, รำวงวันสงกรานต์

ประวัติ[แก้]

แก้ว อัจฉริยะกุล เกิดเมื่อ พ.ศ. 2458 เขาเป็นบุตรชายคนโตของนายใหญ่ อัจฉริยะกุล (นาย ซี ปาปา ยาโนปูโลส) ชาวกรีก กับนางล้วน อัจฉริยะกุล (นามสกุลเดิม เหรียญสุวรรณ) มีพี่น้อง 4 คน เมื่อแรกเกิดพระภิกษุตั้งชื่อให้ว่า "แก้วฟ้า" (ซึ่งเป็นที่มาของนามปากกาและชื่อคณะละครวิทยุของครูแก้ว) แต่นายอำเภอเขียนคำว่า "ฟ้า" ตกไป จึงกลายเป็นชื่อ "แก้ว"

ครูแก้วสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย และคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รับราชการที่กรมไปรษณีย์โทรเลข จนกระทั่งเขาลาออกจากราชการเมื่อ พ.ศ. 2497 ครูแก้วสมรสกับ ประภาศรี อัจฉริยะกุล มีธิดา 1 คน คือ รองศาสตราจารย์ นภาพร อัจฉริยะกุล

ครูแก้วมีผลงานประพันธ์เนื้อร้องร่วมกับครูเวส สุนทรจามร สำหรับละครวิทยุคณะจามร ของครูเวส และคณะจิตต์ร่วมใจ ของจิตตเสน ไชยาคำ และคณะปัญญาพล ของเพ็ญ ปัญญาพล

จากนั้นครูเวสได้ชักนำให้ครูแก้วมาร่วมประพันธ์เนื้อร้อง ประกอบทำนองให้กับวงดนตรีของกรมโฆษณาการ และมีผลงานร่วมกับวงสุนทราภรณ์ตั้งแต่นั้นมา เป็นเวลาเกือบ 15 ปี จากนั้นออกจากวงไปตั้งคณะละครวิทยุแก้วฟ้า เมื่อ พ.ศ. 2497

ครูแก้วเป็นศิษย์ของพระนางเธอลักษมีลาวัณ ก่อนหน้านั้นละครเวทีที่แสดงอยู่ทั่วไป จะเป็นละครนอก หรือละครใน ซึ่งใช้ผู้แสดงชายหรือหญิงเพียงเพศเดียว ในช่วงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ครูแก้วเป็นผู้ริเริ่มให้มีละครเวทีที่ใช้ผู้แสดงชายจริง-หญิงแท้ เรื่องแรกคือเรื่อง "นางบุญใจบาป" โดยนำเค้าโครงเรื่อง จาก "บู๊สง" แสดงโดย ม.ล. รุจิรา, มารศรี, ล้อต๊อก และจอก ดอกจันทร์ แสดงที่ศาลาเฉลิมกรุง ผลงานละครเวทีที่ครูแก้วสร้างไว้มีประมาณ 50 เรื่อง นอกจากนี้ยังเขียนบทแปลบรรยายไทยจากภาพยนตร์ต่างประเทศ โดยใช้นามปากกาว่า "แก้วฟ้า" และแต่งบทละครโทรทัศน์ประมาณ 100 เรื่อง

เมื่อครั้งที่คณะ Walt Disney มาจัดการแสดงโชว์ในประเทศไทย ครูแก้วได้เป็นผู้ถอดบท แปลเพลงเป็นภาษาไทย โดยคณะแก้วฟ้าของครูแก้วเป็นผู้ลงเสียงของโชว์ต่าง ๆ อาทิ พินอคคิโอ สโนว์ไว้ท์ ปีเตอร์แพน เป็นต้น

หลังจากลาออกจากราชการ ครูแก้วทำงานเป็นผู้จัดการแผนกโฆษณาที่โรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมไทย และศาลาเฉลิมเขตร์ เจ้าของและนักเขียนบทละครวิทยุคณะแก้วฟ้า ซึ่งได้รับความนิยมสูงสุดจากผู้ฟังทั่วเมืองไทย (โดยเฉพาะในยุคทองของภาพยนตร์ไทย 16 มม.เจ้าของภาพยนตร์ที่กำลังจะเข้าฉาย มักมอบให้คณะแก้วฟ้าจัดทำเป็นละครวิทยุ) ตลอดจนเป็นวิทยากรพิเศษให้แก่มหาวิทยาลัยหลายแห่ง

ครูแก้วสูบบุหรี่และซิการ์จัด ป่วยด้วยโรคหัวใจ, เบาหวาน, โรคตับ, โรคปอด, โรคความดันโลหิตสูง ท่านเสียชีวิตด้วยอาการเส้นโลหิตในสมองแตก เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2524 สิริอายุได้ 66 ปี

ผลงานเพลง[แก้]

แก้ว อัจฉริยะกุล (ขวา) ถ่ายภาพคู่กับพรานบูรพ์

ครูแก้ว อัจฉริยะกุล ประพันธ์คำร้องตั้งแต่อายุ 19 ปี มีผลงานอัดแผ่นเสียงทั้งสิ้นประมาณ 3,000 เพลง ร่วมกับผู้แต่งทำนองหลายท่าน โดยเริ่มทำงานแต่งคำร้องกับครูเวส สุนทรจามร ก่อน แล้วจึงมารู้จักกับครูเอื้อ สุนทรสนานหัวหน้าวงดนตรีสุนทราภรณ์ และมีผลงานร่วมกันมากที่สุดโดยมีผู้ประมาณไว้ว่าครูทั้งสองประพันธ์เพลงร่วมกันประมาณ 1,000 เพลง จนเป็นที่มาของคำคล้องจองที่ว่า '"ทำนองเอื้อ-เนื้อแก้ว" และ "แก้วเนื้อ-เอื้อทำนอง"

ผลงานประพันธ์ของครูแก้วได้รับคำยกย่องว่า มีสำนวนไพเราะ มีสัมผัสเหมือนบทกวี เลือกใช้เสียงสูงต่ำของวรรณยุกต์สัมพันธ์กับทำนองเพลง จนมีผู้ยกย่องว่า "คำร้องของครูแก้วเป็นบทกวี"

ผลงานการแต่งคำร้องชิ้นหนึ่งที่ได้รับคำยกย่อง คือ เพลงประกอบบทละครชุดจุฬาตรีคูณ ประกอบด้วยเพลง จุฬาตรีคูณ, จ้าวไม่มีศาล, อ้อมกอดพี่, ใต้ร่มมลุลี และ ปองใจรัก

เพลงที่ถูกนำมาขับร้องซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนถึงปัจจุบันในเทศกาลสำคัญของประเทศไทยก็เป็นผลงานคำร้องของครูแก้ว นั่นคือเพลง รำวงวันลอยกระทง(วันเพ็ญเดือนสิบสองน้ำก็นองเต็มตลิ่ง..) ,สวัสดีปีใหม่(สวัสดีปีใหม่แล้ว...) และรื่นเริงเถลิงศก(วันนี้วันดีปีใหม่..)

นอกจากนี้ครูแก้วยังมีผลงานเพลงอมตะอีกเป็นจำนวนมาก เช่นเพลง นางฟ้าจำแลง, พรหมลิขิต, ฝนจ๋าฝน, คู่รักคู่ขอ, รักไม่เป็น, กำพร้าคู่, กระต่ายโง่, ชื่นชีวิต, ดำเนินทราย, ขอพบในฝัน, ชรอยบุญ, กลิ่นดอกไม้, ริมฝั่งน้ำ, ธารน้ำรัก, บ้านเกิดเมืองนอน, จังหวะชีวิต, ละครชีวิต, พรานล่อเนื้อ, ทะเลบ้า, คลื่นกระทบฝั่ง, ดื่มน้ำรัก, ศรกามเทพ, รักฉันตรงไหน, ดวงเดือน, ปรึกษารัก, ปากกับใจ, คิดถึงฉันบ้างไหม, ผู้หญิงนะหรือ, ฉันไม่ลอง, วังน้ำวน, โอ้ยอดรัก, ดาวเย้ยเดือน, หากภาพลงเธอมีวิญญาณ, ถ้ารักกันลั่นเปรี้ยง, ฉันอยากจะลอง, เธอกับฉัน, เสียแรงรักใคร่, รักคะนองคองก้า, จับปลาสองมือ, กระแต, ผู้ชายนี่น้า, พิษสวาท, เพลินนาวา, ม่วงทองผ่องอำไพ ยาใจยาจก, ภูกระดึง, เธออยู่ไหน, ฝนตั้งเค้า, ผิดนัด, ผู้ชายนี่ร้ายนัก, เกาะสวาท, หงส์เหิร, หนูเอย, เกาะสีชัง, ชีวิตกสิกร, ฉันไม่ชอบเดือนหงาย, สวนสวรรค์, ฉะอ้อนรัก, กำสรวลรัก, หยาดน้ำค้าง, โธ่ผู้ชาย, เดือนหงายใจเศร้า, รักอะไร, หมั่นไส้ผู้ชายแสนงอน, ลอยลำสำราญ, หนูเล็ก, กลางวันจันทร์จาก, สุดเสียงสั่ง, ลูกน้ำเค็ม, รำวงดาวพระศุกร์, เส่เหลเมา เป็นต้น

อ้างอิง[แก้]