แกรนด์ดัชเชสเอลิซาเบธ เฟโอโดรอฟนาแห่งรัสเซีย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เอลีซาเบธ เฟโอโดรอฟนา
ประสูติ1 พฤศจิกายน ค.ศ. 1864(1864-11-01)
เบสซุนเกิน แกรนด์ดัชชีเฮ็สเซิน สมาพันธรัฐเยอรมัน
สิ้นพระชนม์18 กรกฎาคม ค.ศ. 1918(1918-07-18) (53 ปี)
อาลาปาเยฟสก์ โซเวียตรัสเซีย
พระสวามีแกรนด์ดยุกเซอร์เกย์ อเล็กซานโดรวิชแห่งรัสเซีย
พระนามเต็ม
เอลีซาเบ็ท อเล็กซานดรา หลุยส์ อลิซ
ราชวงศ์
พระบิดาลูทวิชที่ 4 แกรนด์ดยุกแห่งเฮ็สเซิน
พระมารดาเจ้าหญิงอลิซแห่งสหราชอาณาจักร
ลายพระอภิไธย

แกรนด์ดัชเชสเอลีซาเบธ เฟโอโดรอฟนาแห่งรัสเซีย (รัสเซีย: Елизавета Фëдоровна; เยลิซาเวียตา เฟโยโดรอฟนา) พระนามเดิมคือ เจ้าหญิงเอลีซาเบธแห่งเฮ็สเซินและโดยไรน์ (เยอรมัน: Elisabeth Alexandra Luise Alice von Hessen-Darmstadt und bei Rhein) เป็นเจ้าหญิงเยอรมันจากแกรนด์ดัชชีเฮ็สเซิน และเป็นพระชายาในแกรนด์ดยุกเซอร์เกย์ อเล็กซานโดรวิชแห่งรัสเซีย พระราชโอรสพระองค์ที่ห้าในจักรพรรดิอะเลคซันดร์ที่ 2 และจักรพรรดินีมารีเยีย อะเลคซันโดรฟนาแห่งรัสเซีย เจ้าหญิงเอลีซาเบ็ท ซึ่งเป็นพระเชษฐภคินีในสมเด็จพระจักรพรรดินีอเล็กซานดรา เฟโอโดรอฟนาแห่งรัสเซีย จักรพรรดินีองค์สุดท้ายแห่งรัสเซีย ทรงเป็นที่เลื่องลือในวงสังคมรัสเซียถึงความงาม ความมีเสน่ห์ และการช่วยเหลือคนยากไร้ และเป็นนักบุญในศาสนาคริสต์นิกายอีสเทิร์นออร์ทอดอกซ์

เจ้าหญิงแห่งเฮ็สเซินและริมไรน์[แก้]

เจ้าหญิงเอลีซาเบธประสูติเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน ค.ศ. 1864 ณ เมืองเบสซุนเกิน ใกล้เมืองดาร์มชตัท โดยมีพระนามเต็ม เอลีซาเบ็ท อเล็คซันดรา ลูอีเซอ เอลีเซอ และดำรงพระอิสริยยศเป็นเจ้าหญิงแห่งเฮ็สเซินและโดยไรน์ พระองค์เป็นพระธิดาองค์ที่สองในลูทวิชที่ 4แกรนด์ดยุกแห่งเฮ็สเซินและเจ้าหญิงอลิซแห่งสหราชอาณาจักร พระองค์เป็นพระราชนัดดาในสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียผ่านทางพระชนนี เจ้าหญิงอลิซทรงเป็นผู้เลือกพระนาม "เอลีซาเบธ" ให้กับพระธิดา ด้วยทรงได้รับแรงบันดาลใจจากชีวิตของนักบุญเอลีซาเบธแห่งฮังการี ซึ่งเป็นบรรพสตรีของราชวงศ์เฮสส์ หลังจากการเสด็จเยือนที่อารามของนางในเมืองมาร์บูร์กและมีประสูติกาลพระธิดาพระองค์ที่สอง พระองค์จึงทรงตัดสินพระทัยที่จะตั้งพระนามพระธิดาตามนักบุญคนนั้น เจ้าหญิงเอลีซาเบธมีพระนามเรียกเล่นว่า "เอลลา" ในหมู่พระประยูรญาติ

แม้ว่าจะประสูติในราชวงศ์เก่าแก่และสูงศักดิ์ที่สุดราชวงศ์หนึ่งของเยอรมนี เจ้าหญิงและครอบครัวทรงมีความเป็นอยู่แบบสมถะเมื่อเที่ยบกับมาตรฐานในราชวงศ์ทั่วไป พระโอรสและธิดาจะกวาดพื้นและทำความสะอาดห้องเอง ส่วนพระชนนีจะทรงนั่งเย็บฉลองพระองค์ให้กับพระโอรสและธิดา ช่วงสงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซีย เจ้าหญิงอลิซจะทรงพาเจ้าหญิงเอลีซาเบธไปกับพระองค์อยู่เสมอเมื่อเสด็จไปเยี่ยมทหารที่ได้รับบาดแผลในโรงพยาบาลใกล้เคียง ในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและมีความสุขมากเช่นนี้ เจ้าหญิงทรงเจริญพระชนม์ในความเคยชินภายในบ้านแบบที่เป็นอังกฤษ และภาษาอังกฤษกลายเป็นภาษาที่หนึ่งของพระองค์ ในช่วงพระชนม์ชีพระยะต่อมา พระองค์ทรงเล่าให้พระสหายคนหนึ่งฟังว่าพระองค์และพระภคินี พระอนุชาและพระกนิษฐาตรัสภาษาอังกฤษกับพระชนนีและตรัสภาษาเยอรมันกับพระชนก

ในฤดูหนาวของปี ค.ศ. 1878 โรคคอตีบได้ระบาดทั่วทั้งครอบครัวเฮสส์ โดยได้คร่าชีวิตเจ้าหญิงมารี พระกนิษฐา และเจ้าหญิงอลิซ พระชนนีของเจ้าหญิงเอลีซาเบธไป เจ้าหญิงได้ทรงถูกส่งไปที่ตำหนักของพระอัยยิกาเมื่อพระอนุชาพระกนิษฐาเริ่มแสดงอาการของโรคและดังนั้นจึงทรงเป็นสมาชิกในครอบครัวเพียงพระองค์เดียวที่ไม่ได้ติดโรคในครั้งนี้ เมื่อพระองค์ทรงได้รับอนุญาตให้เสด็จกลับมายังครอบครัว ได้ทรงบรรยายถึงการพบปะกันในครั้งนี้ว่า "เศร้าโศกอย่างมาก" และทุกสิ่งทุกอย่างเป็น "เหมือนกับความฝันอันน่ากลัว"

ผู้แอบชื่นชอบและหวังจะอภิเษก[แก้]

เจ้าหญิงเอลีซาเบธแห่งเฮ็สเซินและโดยไรน์

ด้วยความมีเสน่ห์และบุคลิกภาพที่ชอบช่วยเหลือผู้อื่น ทำให้นักประวัติศาสตร์และบุคคลร่วมยุคสมัยเดียวกันหลายคนเห็นว่าเจ้าหญิงเอลีซาเบธทรงเป็นหนึ่งในสตรีที่สวยงามที่สุดในทวีปยุโรปในช่วงเวลานั้น เมื่อเข้าสู่วัยดรุณี เจ้าหญิงครั้งหนึ่งเคยทรงเป็นที่หมายปองของอนาคตจักรพรรดิวิลเฮ็ล์มที่ 2 แห่งเยอรมนี พระองค์ทรงเป็นนักเรียนในมหาวิทยาลัยบอนน์และช่วงสุดสัปดาห์จะเสด็จมาเยี่ยมพระมาตุจฉาอลิซและพระญาติราชวงศ์เฮสส์อยู่บ่อยครั้ง ในช่วงการเสด็จเยี่ยมอยู่เป็นประจำทำให้ทรงตกหลุมรักเจ้าหญิงเอลีซาเบธ ขณะที่ประทับอยู่ที่เมืองบอนน์ พระองค์ก็ทรงเขียนบทกลอนรักและส่งไปให้เจ้าหญิงเป็นประจำ ด้วยรู้สึกเหมือนถูกเยินยอว่าเจ้าหญิงอาจจะทรงสนพระทัยกับบทกลอนเหล่านั้น แต่เจ้าหญิงเอลีซาเบธกลับมิทรงมีใจให้เจ้าชายเลย เจ้าหญิงทรงปฏิเสธพระองค์อย่างสุภาพ และความผิดหวังทำให้ทรงล้มเลิกการศึกษาในเมืองบอนน์แล้วเสด็จกลับกรุงเบอร์ลิน

นอกจากจักรพรรดิวิลเฮ็ล์มที่ 2 พระองค์ทรงมีผู้นิยมชมชอบอื่นอีกหลายคนคือ ลอร์ด ชาร์ลส์ มอนเตกู (23 พฤศจิกายน ค.ศ. 1860 - 10 พฤศจิกายน ค.ศ. 1939) บุตรชายคนที่สองของดยุกที่ 7 แห่งแมนเชสเตอร์ และ เฮนรี วิลสัน ซึ่งต่อมาได้เป็นทหารดีเด่น

นอกจากนี้แล้วยังมีผู้ที่แอบชื่นชมเจ้าหญิงเอลีซาเบธยังมีอีกคนหนึ่งคือ แกรนด์ดยุกฟรีดริชที่ 2 แห่งบาเดิน ซึ่งเป็นพระญาติชั้นที่หนึ่งของพระจักรพรรดิวิลเฮล์มที่ 2 สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียทรงบรรยายพระองค์ว่า "แสนดีและคงเส้นคงวา" พร้อมกับ "ฐานะที่มีปลอดภัยและมีความสุข" เป็นอย่างมากจนเมื่อเจ้าหญิงเอลีซาเบธทรงปฏิเสธแกรนด์ดยุกทำให้สมเด็จพระราชินี "ทรงแสนเสียดายอย่างสุดซึ้ง" สมเด็จพระจักรพรรดินีออกัสตา ซึ่งเป็นพระอัยยิกาของแกรนด์ดยุกฟรีดริช ทรงกริ้วกับการปฏิเสธจากเจ้าหญิงเอลีซาเบธต่อพระราชนัดดามากเสียจนต้องใช้เวลาอยู่สักระยะหนึ่งเพื่อที่จะอภัยให้กับเจ้าหญิง

ผู้ที่แอบชื่นชมเจ้าหญิงเอลีซาเบธยังรวมไปถึง

  • แกรนด์ดยุกคอนสแตนติน คอนสแตนติโนวิชแห่งรัสเซีย พระญาติชั้นที่หนึ่งของพระสวามีในเจ้าหญิงเอลีซาเบ็ท (ทรงมีนามปากกากวีว่า KR โดยพระองค์ทรงเขียนบทกลอนเกี่ยวกับการเสด็จมาประเทศรัสเซียเป็นครั้งแรกของเจ้าหญิง ความประทับใจโดยทั่วไปที่ทรงมีต่อประชาชนที่มาเฝ้ารับเสด็จในเวลานั้น)
  • เจ้าชายเฟลิกซ์ ยูสซูปอฟ ทรงเห็นเจ้าหญิงเอลีซาเบธเป็นเหมือนกับพระมารดาคนที่สอง และทรงกล่าวไว้ในบันทึกความทรงจำของพระองค์ว่าเจ้าหญิงทรงให้ความช่วยเหลือพระองค์อย่างมากในช่วงที่ยากลำบากที่สุดในชีวิตของพระองค์
  • สมเด็จพระราชินีมารีแห่งโรมาเนีย เมื่อทรงอยู่ในวัยดรุณีแรกรุ่น ทรงหลงใหลในเจ้าอาและญาติเอลลาของพระองค์มาก ในเวลาต่อมาทรงบรรยายถึงความงามและความอ่อนหวานของเจ้าหญิงเอลีซาเบธในบันทึกความทรงจำส่วนพระองค์ว่าเป็น "สิ่งหนึ่งในความฝัน"
  • โมริส ปาเลโอล็อก เอกอัครราชทูตชาวฝรั่งเศสในราชสำนักรัสเซีย เขียนไว้ในบันทึกความทรงจำถึงความสามารถในการเร้าอารมณ์ของเจ้าหญิงเอลีซาเบธว่า "ความเร่าร้อนที่ไม่เคารพต่อศาสนา"

แต่แล้วเป็นแกรนด์ดยุกแห่งรัสเซียพระองค์หนึ่งซึ่งในที่สุดได้ชนะพระทัยของเจ้าหญิงเอลีซาเบธ สมเด็จพระจักรพรรดินีมาเรียแห่งรัสเซีย พระราชปิตุจฉาทรงเป็นแขกประจำของแคว้นเฮ็สเซินและโดยไรน์ พระองค์มีพระราชโอรสสองพระองค์คือ แกรนด์ดยุกเซอร์เกย์และแกรนด์ดยุกพอล โดยเสด็จมาด้วย เจ้าหญิงได้ทรงรู้จักแกรนด์ดยุกทั้งสองดีตั้งแต่เมื่อยังทรงพระเยาว์ พระองค์และพระกนิษฐาและอนุชาทรงเห็นว่าทั้งสองทรงถือพระองค์และสงวนท่าที แกรนด์ดยุกเซอร์เกย์ทรงเป็นชายหนุ่มที่ดูจริงจังและเคร่งศาสนาเป็นอย่างมาก แต่เมื่อได้ทรงพบกับเจ้าหญิงเอลีซาเบธที่เจริญพระชนม์เป็นดรุณีแรกรุ่นครั้งแรกหลังจากหลายปีก่อน

ในตอนแรกแกรนด์ดยุกเซอร์เกย์ทรงสร้างความประทับใจให้กับเจ้าหญิงได้เล็กน้อย แต่หลังการเสด็จสวรรคตของพระชนกและพระชนนีภายในปีเดียวกัน ความสะเทือนใจต่อการสูญเสียครั้งนี้ทำให้เจ้าหญิงเอลีซาเบ็ททรงมองแกรนด์ดยุก "ต่างออกไป" พระองค์ทรงรู้สึกถึงความเศร้าโศกแบบเดียวกันภายหลังจากการสิ้นพระชนม์ของพระชนนี และความคล้ายคลึงกัน (ทั้งด้านศิลปะและศาสนา) ดึงทั้งสองพระองค์ให้เข้ามาใกล้ชิดกันมากขึ้น กล่าวกันว่าแกรนด์ดยุกเซอร์เกย์ทรงผูกพันและถูกพระทัยเจ้าหญิงเอลีซาเบธเป็นพิเศษก็เนื่องจากทรงมีลักษณะแบบเดียวกับพระชนนีอันเป็นที่รักของพระองค์ ดังนั้นเมื่อแกรนด์ดยุกเซอร์เกย์ได้ทรงขออภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงเป็นครั้งที่สอง เจ้าหญิงเอลีซาเบธได้ทรงตอบตกลง ยังความโทมนัสแก่สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย พระอัยยิกาเป็นอย่างมาก

แกรนด์ดัชเชสแห่งรัสเซีย[แก้]

พระรูปของแกรนด์ดัชเชสเอลีซาเบธ ขณะฉลองพระองค์ราชสำนักรัสเซีย ซึ่งถ่ายในราวปี ค.ศ. 1885)

แกรนด์ดยุกเซอร์เกย์แห่งรัสเซียและเจ้าหญิงเอลีซาเบธทรงอภิเษกสมรสเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม ค.ศ. 1884 ณ โบสถ์หลวง พระราชวังฤดูหนาว กรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก เจ้าหญิงมีพระนามใหม่ แกรนด์ดัชเชสเอลีซาเบธ เฟโอโดรอฟนา หลังจากการเข้ารีตนิกายออร์โธด็อกซ์รัสเซีย แกรนด์ดัชเชสพระองค์ใหม่ทรงสร้างความประทับใจแรกให้กับพระราชวงศ์ของพระสวามีและชาวรัสเซียได้อย่างดีเยี่ยม พระญาติคนหนึ่งของแกรนด์ดยุกเซอร์เกย์ทรงเล่าว่า "ทุกคนหลงรักพระองค์ตั้งแต่ช่วงเวลาแรกที่เสด็จถึงรัสเซียจากเมืองดาร์มชตัทอันที่เป็นที่รักของพระองค์" ทั้งสองพระองค์ประทับที่พระราชวังเบโลเซลสกี-เบโลเซอสกี กรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก หลังจากแกรนด์ดยุกเซอร์เกย์ทรงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ว่าการแห่งมอสโกในปี ค.ศ. 1892 ทั้งสองพระองค์ได้ประทับอยู่ในพระราชวังเครมลิน ในช่วงฤดูร้อน ทั้งสองพระองค์จะประทับที่ตำหนักอิลยินสโค พระราชฐานนอกกรุงมอสโก ซึ่งแกรนด์ดยุกทรงได้รับสืบทอดจากพระชนนี

ทั้งสองพระองค์ไม่มีพระโอรสและธิดาด้วยกัน แต่ตำหนักอิลยินสโคของพระองค์ยังเต็มไปด้วยงานเลี้ยงที่แกรนด์ดัชเชสเอลีซาเบ็ททรงจัดขึ้นสำหรับเด็กเป็นพิเศษอยู่เสมอ ในที่สุดทั้งสองพระองค์เป็นพระชนกและชนนีบุญธรรมของพระนัดดาที่กำพร้าสองพระองค์คือ แกรนด์ดยุกดมิทรี ปาฟโลวิชแห่งรัสเซีย และ แกรนด์ดัชเชสมาเรีย ปาฟลอฟนาแห่งรัสเซีย

แม้ว่าแกรนด์ดัชเชสเอลีซาเบธจะมิทรงจำเป็นต้องมาเข้ารีตนิกายออร์โธด็อกซ์รัสเซียตามกฎหมายจากนิกายลูเธอรันของพระองค์ แต่ทรงสมัครใจที่จะกระทำเช่นนั้นในปี ค.ศ. 1891 แม้ว่าสมาชิกในพระราชวงศ์รัสเซียบางองค์จะสงสัยถึงเหตุจูงใจ แต่การมาเข้ารีตของพระองค์แสดงให้เห็นออกถึงความจริงใจ

ในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1905 แกรนด์ดยุกเซอร์เกย์ทรงถูกปลงพระชนม์ในพระราชวังเครมลินโดยกลุ่มปฏิวัติสังคมนิยม อันนำโดย อีวาน คาลยาเยฟ เหตุการณ์นี้สร้างความตกตะลึงแก่แกรนด์ดัชเชสเอลีซาเบธอย่างมาก แต่พระองค์มิทรงเคยแสดงอาการใดออกให้เห็นเลย ต่อมาพระราชินีมารีทรงเล่าถึงสีพระพักตร์ของแกรนด์ดัชเชสว่า "ซีดเซียวและแข็งทื่ออย่างเสียใจ" และมิทรงเคยลืมคำกล่าวแสดงความเสียใจยังหาที่สิ้นสุดไม่ได้ของพระองค์ พระราชินีมารียังกล่าวอีกว่า "ทรงทิ้งตัวลงนั่งบนเก้าอี้อย่างอ่อนแรง นัยน์ตาแห้งผากและพร้อมกับจ้องมองอยู่ที่เดียวอย่างแปลกประหลาด ทรงมองออกไปยังอากาศธาตุ และไม่พูดอะไรออกมาสักคำ" เมื่อทรงมีแขกมาเยือนและจากไป พระองค์ทอดพระเนตรเหมือนกับไม่ทรงเห็นพวกเขา และตลอดช่วงวันของการลอบประชนม์พระสวามี พระองค์ทรงปฏิเสธที่จะกันแสง แต่พระราชินีมารีทรงเล่าถึงการปลดปล่อยการควบคุมพระองค์อย่างแข็งทื่ออกมา โดยในท้ายที่สุดแล้วทรงกันแสงออกมาอย่างหนัก ครอบครัวและพระสหายของพระองค์เกรงว่าพระองค์จะทรงประสบปัญหากับความล้มเหลวของระบบประสาท แต่ก็ทรงฟื้นคืนสู่การทำใจให้ยอมรับได้อย่างรวดเร็ว

แกรนด์ดัชเชสเอลีซาเบธเสด็จไปเยียมคาลยาเยฟเป็นการส่วนพระองค์ในคุกคุมขังนักโทษ โดยทรงขอให้เขาพิจารณาถึงความรุนแรงในสิ่งที่กระทำลงไปและสำนึกผิดกับมัน ต่อมาพระองค์ทรงร้องขอกับจักรพรรดินิโคลาสที่ 2 ให้ทรงอภัยโทษแก่มือสังหารพระสวามี แต่นักปฏิวัติคนนี้ได้ปฏิเสธจะยอมรับการอภัยโทษและกล่าวหาแกรนด์ดัชเชสเอลีซาเบธถึงการบิดเบือนข้อเท็จจริงในการสนทนาระหว่างเขากับพระองค์ คาลยาเยฟถูกแขวนคอในวันที่ 23 พฤษภาคมปีเดียวกัน

ปลายพระชนม์ชีพ และ การปลงพระชนม์[แก้]

หลังจากการสิ้นพระชนม์ของแกรนด์ดยุกเซอร์เกย์ แกรนด์ดัชเชสเอลีซาเบธทรงฉลองพระองค์ไว้ทุกข์และเสวยพระกระยาหารมังสวิรัติ เมื่อปี ค.ศ. 1909 พระองค์ทรงบริจาคชุดเครื่องเพชรพลอยอันงดงามและขายทรัพย์สินอันหรูหราต่างๆ ออกไป แม้แต่พระธำมรงค์ในวันอภิเษกสมรสก็ไม่ได้ทรงเก็บไว้ ด้วยรายได้ที่ทรงรับมา พระองค์ทรงเปิดอารามนักพรตหญิงนักบุญมาร์ธาและแมรี และพระองค์ทรงเป็นแม่อธิการของอาราม หลังจากนั้นทรงเปิดโรงพยาบาล โบสถ์ โรงยาและสถานเลี้ยงเด็กกำพร้า ในบริเวณอารามนักพรตหญิงอีกด้วย แกรนด์ดัชเชสเอลีซาเบธและเหล่าแม่ชีทำงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยท่ามกลางคนยากจนและคนป่วยในกรุงมอสโก พระองค์เสด็จยังชุมชนแออัดที่แย่ที่สุดของกรุงมองโกอยู่บ่อยครั้ง และทรงทำทุกวิถีทางที่จะช่วยให้บรรเทาความทุกข์ยากให้แก่คนยากจน

แกรนด์ดัชเชสเอลีซาเบธ เมื่อเป็นแม่ชีในศาสนจักรรัสเซียออร์โธด็อกซ์ หลังการสิ้นพระชนม์ของพระสวามี

เป็นระยะเวลาหลายปีที่สถาบันศาสนาของแกรนด์ดัชเชสเอลีซาเบธได้ช่วยเหลือคนยากจนและเด็กกำพร้าในกรุงมอสโก โดยการส่งเสริมดูแลนักบวชและการกุศลของสตรีที่เคร่งศาสนา ในที่แห่งนี้ได้เกิดมุมมองใหม่ในงานด้านธุรการในโบสถ์ของสตรี ซึ่งเป็นการผสมผสานการไกล่เกลี่ยและการปฏิบัติภายในศูนย์กลางของโลกที่ไร้ระบบระเบียบ แม้ว่าศาสนจักรออร์โธด็อกซ์รัสเซียจะปฏิเสธธุรการโบสถ์ที่เป็นสตรี แต่ก็ยังอวยพรและสนับสนุนในงานการกุศลต่างๆ ของแกรนด์ดัชเชสเอลีซาเบธ

ในปี ค.ศ. 1918 รัฐบาลคอมมิวนิสต์ได้เนรเทศแกรนด์ดัชเชสเอลีซาเบธให้ไปประทับที่เมืองเอคาเทรินเบิร์กในตอนแรก ต่อมาก็ได้ประทับที่เมืองอาลาปาเยฟสก์ ที่ซึ่งพระองค์ทรงถูกปลงพระชนม์อย่างเหี้ยมโหดจากพวกบอลเชวิค เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม ค.ศ. 1918 ไปด้วยกันกับ แกรนด์ดยุกเซอร์เกย์ มิคาอิโลวิช เจ้าชายอิวาน คอนสแตนติโนวิช เจ้าชายคอนสแตนติน คอนสแตนติโนวิช เจ้าชายอิกอร์ คอนสแตนติโนวิชแห่งรัสเซีย เจ้าชายวลาดิมีร์ ปาฟโลวิช พาลี เฟโอดอร์ เรเมซ เลขานุการในแกรนด์ดยุกเซอร์เกย์ วาร์วารา ยาคอฟเลวา นักพรตหญิงในอารามของแกรนด์ดัชเชสเอลีซาเบธ ทั้งแปดคนถูกมัดรวมเป็นกลุ่มในป่าบริเวณใกล้เคียง ถูกตีบนศีรษะและถูกผลักลงไปในเหมืองแร่อันรกร้างที่มีความลึกประมาณ 20 เมตร[1]

ตามในรายงานส่วนตัวของรียาบอฟ ซึ่งเป็นหนึ่งในมือสังหาร แกรนด์ดัชเชสเอลีซาเบธและคนอื่น ๆ รอดชีวิตจากการตกลงไปในเหมืองครั้งแรก ทำให้รียาบอฟต้องปาระเบิดไล่ตามหลังลงไป หลังจากการระเบิดแล้ว เขาก็อ้างว่าได้ยินแกรนด์ดัชเชสและคนอื่นร้องเพลงสรรเสริญพระเจ้าเป็นภาษารัสเซียจากปล่องระบายอากาศ รียาบอฟซึ่งไม่รู้สึกเสียขวัญได้ขว้างระเบิดลูกที่สองลงไป แต่เสียงร้องเพลงก็ยังคงมีต่อไป ในที่สุดพุ่มไม้เตี้ยจำนวนมากมายถูกยัดเข้าในช่องแล้วถูกจุดจนลุกไหม้ โดยที่รียาบอฟสั่งให้คนคุมคนหนึ่งดูเอาไว้และจากไป จากนั้นไม่นานเมืองอาลาปาเยฟสก์ได้ตกอยู่ในการควบคุมของกองทัพรัสเซียขาวต่อต้านพวกบอลเชวิค

เดือนตุลาคมปีเดียวกัน พวกรัสเซียขาวค้นพบพระอัฐิของแกรนด์ดัชเชสเอลีซาเบธและผู้ติดตามของพระองค์ ที่ยังคงอยู่ในปล่องระบายอากาศก้นเหมืองอันเป็นที่ซึ่งถูกฆาตกรรม แกรนด์ดัชเชสเอลีซาเบ็ทสิ้นพระชนม์จากบาดแผลอันเกิดจากการตกลงไปในเหมือง และยังทรงมีกำลังที่จะพันแผลให้กับเจ้าชายอิวานที่กำลังจะสิ้นพระชนม์ พระอัฐิของพระองค์ถูกนำออกมาและในที่สุดได้นำไปเก็บไว้ที่กรุงเยรูซาเลม ซึ่งในปัจจุบันอยู่ในโบสถ์นักบุญมารีย์ชาวมักดาลา (Church of Mary Magdalene)

การประกาศเป็นนักบุญ[แก้]

แกรนด์ดัชเชสเอลีซาเบธ เฟโอโดรอฟนา ทรงได้รับการประกาศให้เป็นนักบุญจากศาสนาจักรออร์โธด็อกซ์รัสเซียนอกประเทศรัสเซียในปี ค.ศ. 1981 และจากศาสนาจักรออร์โธด็อกซ์รัสเซียในปี ค.ศ. 1992 ให้เป็น นวมรณสักขีเอลีซาเบ็ท (New-Martyr Elizabeth) สักการสถานหลักของพระองค์คือคอนแวนต์มาร์โฟ-มารีนสกี ซึ่งทรงตั้งขึ้นในกรุงมอสโก นอกจากนี้ยังทรงเป็นหนึ่งในสิบนักบุญมรณสักขีในคริสต์ศตวรรษที่ 20 จากทั่วโลก ซึ่งแสดงออกเป็นรูปปั้นเหนือประตูใหญ่ตะวันตกของเวสต์มินส์เตอร์แอบบีย์ กรุงลอนดอน

รูปปั้นของแกรนด์ดัชเชสเอลีซาเบธจัดสร้างขึ้นในสวนของอารามของพระองค์หลังจากการล่มสลายของระบบคอมมิวนิสต์ในประเทศรัสเซีย อักษรจารึกเขียนว่า "แด่แกรนด์ดัชเชสเอลีซาเบธ เฟโอโดรอฟนา ด้วยความสำนึกบาปต่อพระองค์"

พระอิสริยยศและเครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

พระอิสริยยศ[แก้]

  • 1 พฤศจิกายน ค.ศ. 1864 - 15 กรกฎาคม ค.ศ. 1884: เฮอร์แกรนด์ดิวคัลไฮเนส เจ้าหญิงเอลีซาเบธแห่งเฮ็สเซินและโดยไรน์ (Her Grand Ducal Highness Princess Elisabeth of Hesse and Rhine)
  • 15 มิถุนายน ค.ศ. 1884 - 18 กรกฎาคม ค.ศ. 1918: เฮอร์อิมพีเรียลไฮเนส แกรนด์ดัชเชสเอลีซาเบธ เฟโอโดรอฟนาแห่งรัสเซีย (Her Imperial Highness Grand Duchess Elizabeth Feodorovna of Russia)

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

  • เครื่องราชอิสริยาภรณ์วิกตอเรียและอัลเบิร์ต ชั้นที่ 1 (Lady of the Royal Order of Victoria and Albert)

อ้างอิง[แก้]

  • Almedingen, E.M. An Unbroken Unity, 1964
  • Duff, David. Hessian Tapestry, 1967
  • Grand Duchess Marie of Russia. Education of a Princess, 1931
  • Mager, Hugo. Elizabeth, Grand Duchess of Russia, 1998
  • Paleologue, Maurice. An Ambassador's Memoirs, 1922
  • Queen Marie of Romania. The Story of My Life, 1934
  • Zeepvat, Charlotte. Romanov Autumn, 2000

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]