เหล็กไหล

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

เหล็กไหล เป็นธาตุศักดิ์สิทธิ์ชนิดหนื่งในความเชื่อในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ในมาเลเซียมีชื่อเรียกว่า บือซีรีเละ) มีมากมายหลายชนิดแต่ที่เชื่อกันแพร่หลายที่สุดนั้นจะฝังตัวอยู่ในถ้ำมีลักษณะสีดำคล้ายนิล ลนไฟให้ยืดได้ เชื่อกันว่าในการไปเอาเหล็กไหลนั้นจะต้องใช้น้ำผึ้งชโลมก้อนเหล็กไหลแล้วใช้ไฟลนเหล็กไหลถึงจะยืดออกมากินน้ำผึ้งไปพร้อมกับเล่นไฟด้วย แล้วก็ลนไฟไปกระทั่งทั้งเหล็กไหลยืดออกมาเรื่อยๆจนกระทั่งบางเท่าเส้นด้ายถึงจะตัดขาด (ทั้งนี้ในการไปตัดเหล็กไหลนั้นกล่าวกันว่าคนธรรมดานั้นไม่สามารถตัดเหล็กไหลเองได้เนื่องจากมีเทพเจ้า เจ้าป่า เจ้าเขา พญานาคหรือยักษ์รักษาอยู่และพร้อมจะเข้าทำร้ายผู้เข้าไปเอาได้ถ้าผู้นั้นไม่ใช่คนดีมีบุญหรือมีวิชาอาคมแกร่งกล้าพอ และตัวเหล็กไหลนั้นก็มีฤทธิ์ขัดขืนคนที่เข้าไปเอาได้ด้วยเช่นกล่าวว่าเคยมีคนเข้าไปตัดเหล็กไหลแล้วเอามือไปจับเหล็กไหลแล้วมีอาการคล้ายถูกฟ้าผ่าหรือถูกไฟฟ้าแรงสูงดูดเป็นต้น) เหล็กไหลที่ได้นี้กล่าวกันว่ามีความศักดิ์สิทธิ์มากมักฝังไว้ตามตัวผู้ที่ครอบครองกล่าวกันว่าจะไม่มีอะไรที่ทำร้ายผู้ที่ครอบครองตัวเหล็กไหลได้ทั้งมีด ปืน หรือแม้กระทั่งระเบิด ดินปืนทุกชนิดไม่สามารถจุดติดได้ในอาณาเขตที่มีเหล็กไหลอยู่

ในความเชื่อนี้กล่าวอีกว่าเหล็กไหลยังแบ่งเป็นสามระดับหรือสามชนิด คือ

  • ระดับแรก ตัวเหล็กไหลเอง แวววาว เป็นส่วนที่ลนไฟให้ยืดได้ เป็นส่วนที่มีอิทฤทธิ์มากที่สุด เช่น เหล็กไหลปีกแมลงทับหรือเหล็กไหลโกฐปี เหล็กไหลเงินยวงหรือเหล็กไหลชีปะขาว เหล็กไหลเพชรดำ เหล็กไหลท้องปลาไหล
  • ระดับสอง รังเหล็กไหล มีลักษณะแวววาวรองจากตัวเหล็กไหล ไม่สามารถลนไฟให้ยืดได้ เป็นส่วนที่ห่อหุ้มตัวเหล็กไหลไว้เป็นฐานรองเหล็กไหลแข็งแน่นติดกับผนังถ้ำ เช่น โคตรเหล็กไหล แร่เกาะล้าน แร่เม็ดมะขาม เหล็กไหลทรหด
  • ระดับสาม ขี้เหล็กไหล มีลักษณะคล้ายน้ำตาเทียน ดำด้าน แข็งแต่ทุบให้แตกได้ง่าย เกิดจากการที่เหล็กไหลเคลื่อนผ่านทางนั้นแล้วเกิดขี้เหล็กไหลขึ้นมากล่าวว่าแทบไม่มีฤทธิ์ใด ๆ

ในแง่วิทยาศาสตร์ เหล็กไหลก็คือโลหะหรือวัสดุอื่นที่มีจุดหลอมเหลวต่ำ ที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติเช่นอุกกาบาตจากนอกโลก ซิลิเกตจากใต้โลก และที่มนุษย์สังเคราะห์ขึ้นเช่นปรอท แกลเลียม ซึ่งสามารถหลอมเหลวได้ในอุณหภูมิห้อง หรือโลหะผสมอื่น ๆ สีสันที่ดูเหมือนสีรุ้งเกิดขึ้นจากการแทรกสอดในฟิล์มบาง (thin-film interference) คือการแทรกสอดของแสงที่สะท้อนออกมาจากเนื้อวัตถุ

อ้างอิง[แก้]

  • พจนานุกรมไทยฉบับราชบัณฑิตยสถาน พุทธศักราช ๒๕๒๕
  • สารคดีส่องโลก เหล็กไหล ปี พ.ศ. 2537
  • ประสบการณ์ตรงของนายแพทย์วิชิต ตริชอบ บันทึกโดยคุณฉัตรชัย วิเศษสุวรรณ (พนมเทียน)
  • เหล็กไหลธาตุกายสิทธิ์ (๑). ส เจริญการพิมพ์, เวชยันต์, พิมพ์ครั้งที่ 1, 2553.