เหตุระเบิดในย่างกุ้ง พ.ศ. 2526

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

เหตุระเบิดในย่างกุ้ง พ.ศ. 2526 เป็นความพยายามลอบสังหารนายพลช็อน ดู-ฮวัน ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2526 โดยเกาหลีเหนือถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้เบื้องหลังแผนการระเบิดครั้งนี้[1]

นายพลช็อน ดู-ฮวัน ขณะนั้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ได้เดินทางไปเยือนย่างกุ้ง ประเทศพม่าอย่างเป็นทางการ และมีกำหนดการไปคารวะต่ออนุสรณ์สถานของนายออง ซาน อดีตผู้นำพม่า ใกล้กับเจดีย์ชเวดากอง ระเบิดจำนวนสามลูกที่ซุกซ่อนอยู่บริเวณหลังคาได้เกิดระเบิดขึ้น ทำให้มีผู้เสียชีวิต 21 คน และบาดเจ็บ 46 คน[2] ในจำนวนผู้เสียชีวิตมีผู้บริหารระดับสูงของรัฐบาลเกาหลีใต้หลายคน ทั้งรองนายกรัฐมนตรี, รัฐมนตรีต่างประเทศ, รัฐมนตรีกระทรวงการค้า, รัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน, รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง, กระทรวงเกษตร, กระทรวงวิทยาศาสตร์ รวมไปถึงเอกอัครราชทูตเกาหลีใต้ประจำพม่า, สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร, ที่ปรึกษาเศรษฐกิจ และผู้สื่อข่าว ส่วนประธานาธิบดีช็อนไม่ได้รับบาดเจ็บใด ๆ เพราะอยู่ระหว่างการเดินทางทางรถยนต์ และระเบิดถูกจุดระเบิดขึ้นก่อนเวลา[2] โดยผู้ก่อการที่สังเกตการณ์อยู่ เข้าใจผิดว่าเอกอัครราชทูตเกาหลีใต้ที่เดินทางมาถึงก่อน และกำลังซักซ้อมพิธีคารวะเป็นตัวประธานาธิบดีช็อน จึงได้กดปุ่มวิทยุจุดระเบิดขึ้น

ตำรวจพม่าระบุตัวผู้ต้องสงสัยจำนวนสามคน เป็นนายทหารเกาหลีเหนือ โดยคนหนึ่งถูกยิงเสียชีวิตหลังเหตุระเบิดเป็นเวลาสองวัน อีกสองคนพยายามฆ่าตัวตายแต่พลาด ผู้รอดชีวิตทั้งสองถูกส่งตัวขึ้นศาลพม่า และถูกตัดสินว่ามีความผิดจริง คนหนึ่งถูกตัดสินประหารชีวิตโดยการแขวนคอ[2] อีกคนหนึ่งระบุชื่อว่า คัง มิน-ชุล ให้การรับสารภาพว่าเป็นการสังการจากรัฐบาลเกาหลีเหนือ และถูกตัดสินลงโทษจำคุกตลอดชีวิตที่เรือนจำอินเส่ง[1]

หลังเหตุระเบิด ทางการพม่าได้ระงับความสัมพันธ์ทางการทูตกับเกาหลีเหนือ ในขณะที่เกาหลีเหนือได้ปฏิเสธความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ และไม่ยอมรับว่าคัง มิน-ชุลเป็นพลเมืองเกาหลีเหนือ

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 Aung, Htet (2007-04-23), "Status of North Korean Terror Prisoner May Change", The Irrawaddy, สืบค้นเมื่อ 2007-04-27[ลิงก์เสีย]
  2. 2.0 2.1 2.2 Kim, Hyung-jin (2006-02-23), "Calls rise for review of 1983 Rangoon bombing by North Korea", Yonhap News, สืบค้นเมื่อ 2007-04-27

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]