อุทกภัยและโคลนถล่ม 5 จังหวัดในเขตภาคเหนือตอนล่าง พ.ศ. 2549

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อุทกภัยและโคลนถล่ม 5 จังหวัดในเขตภาคเหนือตอนล่าง พ.ศ. 2549
แผนที่แสดงพื้นที่เกิดอุทกภัย ในบริเวณภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัดอุตรดิตถ์ จังหวัดสุโขทัย จังหวัดแพร่ จังหวัดลำปาง และจังหวัดน่าน ณ วันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2549
วันที่22-23 พฤษภาคม พ.ศ. 2549
ที่ตั้งจังหวัดอุตรดิตถ์ จังหวัดสุโขทัย จังหวัดแพร่ จังหวัดลำปาง และจังหวัดน่าน
เสียชีวิต87
ทรัพย์สินเสียหาย- บ้านเรือนเสียหายทั้งหลัง 697 หลัง
- เสียหายบางส่วน 2,970 หลัง
- ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 352,016 คน 108,762 ครัวเรือน อพยพ 10,601 คน

เหตุการณ์อุทกภัยและโคลนถล่มในจังหวัดบริเวณภาคเหนือตอนล่าง พ.ศ. 2549 เป็นเหตุการณ์ที่ฝนตกผิดปกติคงที่ในพื้นที่เดิมเป็นเวลาหลายวัน (ประมาณ 1 สัปดาห์) ในบริเวณภาคเหนือตอนล่าง ในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2549 ทำให้ดินบนภูเขาไม่สามารถอุ้มน้ำฝนที่ตกลงมาได้ จึงส่งผลให้เกิดภาวะน้ำท่วม และภาวะดินถล่มในช่วงกลางคืนของวันที่ 22 พฤษภาคม ต่อเนื่องถึงเช้ามืดของวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2549 ก่อให้เกิดความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดอุตรดิตถ์ ที่มีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้มากที่สุด ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตเฉพาะในจังหวัดอุตรดิตถ์จังหวัดเดียวมากกว่า 75 คน จากจำนวนผู้เสียชีวิตและสูญหายทั้งหมด 116 ราย จาก 5 จังหวัดที่ประสบเหตุการณ์อุทกภัยและโคลนถล่มครั้งนี้

การพยากรณ์และการเกิดเหตุการณ์[แก้]

ดินถล่มทับหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ในหุบเขา ที่อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์

กรมอุตุนิยมวิทยาได้ออกประกาศเตือนหลายฉบับเตือนประชาชนในภาคเหนือตอนล่างล่วงหน้า โดยได้พยากรณ์ว่าหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงกำลังปกคลุมภาคเหนือ ลักษณะเช่นนี้อาจทำให้เกิดภาวะน้ำท่วมดินถล่มและน้ำป่าไหลหลากได้หลายฉบับในช่วงก่อนเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว แต่ไม่ได้รับความสนใจมากนัก เนื่องจากกรมอุตุนิยมวิทยาออกประกาศเตือนในลักษณะเดียวกันนี้เป็นประจำ ทำให้ประชาชนไม่ค่อยตื่นตัวที่จะรับมือแต่อย่างใด รวมทั้งสภาพพื้นที่ส่วนใหญ่ที่ประสบเหตุตั้งอยู่ในหุบเขาหรืออยู่ในที่ดอนน้ำจากแม่น้ำหลากท่วมไม่ถึงโดยธรรมชาติอยู่แล้ว แต่ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวกลายเป็นน้ำป่าโคลนถล่มจากภูเขา ทำให้ไม่มีใครเตรียมรับมือและก่อให้เกิดความสูญเสียจำนวนมาก

ก่อนวันเกิดเหตุประมาณ 1 สัปดาห์ ได้มีหย่อมความกดอากาศต่ำ มีฝนตกปรอยๆ สลับกับตกหนักต่อเนื่องมาหลายวัน ทำให้พื้นดินรวมทั้งเชิงเขาในอำเภอลับแลและท่าปลาที่ส่วนใหญ่เป็นดินทรายและมีความลาดชันสูง หมดขีดความสามารถในการอุ้มน้ำ น้ำที่อุ้มไว้อย่างเอียง ๆ เต็มที่แล้วนั้น นอกจากจะทำให้ดินมีน้ำหนักมากขึ้น ยังลดความฝืดของอณูดินเองกับหล่อลื่นรากพืชที่ช่วยกันต้านแรงดึงดูดของโลกไว้ เมื่อมีฝนระลอกใหญ่ตกเพิ่มเติมลงมาทั้งวันทั้งคืนในวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2549 จึงทำให้พื้นที่ที่หมดขีดความสามารถในการอุ้มน้ำ จนบางส่วนพังทลายลงมาในรูปของโคลนถล่มพร้อมกับต้นไม้ไหลทลายทับถมลงมาบ้านเรือนประชาชน ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินประชาชนจำนวนมาก โดยเหตุการณ์หายนะภัยได้เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงสี่ทุ่มของวันที่ 22 พฤษภาคม โดยมีน้ำป่าและโคลนไหลถล่มบ้านเรือนประชาชนและตัดเส้นทางคมนาคมโดยสิ้นเชิงในหลายพื้นที่ จนฝนได้หยุดตกในช่วงเช้ามืดของวันที่ 23 พฤษภาคม แต่น้ำป่าก็ยังไหลออกจากภูเขาและท่วมขังกินพื้นที่บริเวณกว้างในพื้นที่แม่น้ำน่านฝั่งซ้ายของจังหวัดอุตรดิตถ์ ทำให้อำเภอลับแลและตัวจังหวัดอุตรดิตถ์ต้องจมน้ำกว่าสองเมตรเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ซึ่งต้องใช้เวลาในการฟื้นฟูนานนับเดือน และกว่า 3 ปีนับจากนั้น ได้ปรากฏร่องรอยดินถล่มสีแดงตัดกับสีเขียวของต้นไม้บนภูเขาที่ตั้งอยู่ล้อมรอบจังหวัดอุตรดิตถ์ เตือนให้เห็นถึงหายนะภัยครั้งประวัติศาสตร์ของจังหวัดอุตรดิตถ์

อัตราความเสียหาย[แก้]

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้สรุปสถานการณ์อุทกภัยดังกล่าวไว้ดังนี้[1]

เหตุการณ์อุทกภัยและโคลนถล่มในจังหวัดบริเวณภาคเหนือตอนล่าง มีพื้นที่ประสบภัย รวม 5 จังหวัด 26 อำเภอ 1 กิ่งอำเภอ 171 ตำบล 1,200 หมู่บ้าน ได้แก่ จังหวัดอุตรดิตถ์ สุโขทัย แพร่ ลำปาง และน่าน มีผู้เสียชีวิต 87 คน (จ.อุตรดิตถ์ 75 คน จ.สุโขทัย 7 คน และ จ.แพร่ 5 คน) สูญหาย 29 คน (จ.อุตรดิตถ์ 28 คน จ.สุโขทัย 1 คน) บ้านเรือนเสียหายทั้งหลัง 697 หลัง เสียหายบางส่วน 2,970 หลัง ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 352,016 คน 108,762 ครัวเรือนอพยพ 10,601 คน[2]

การบรรเทาทุกข์[แก้]

พันตำรวจโท ดร.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ลงสำรวจพื้นที่ประสบอุทกภัยในอำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์

หลังจากเกิดเหตุการณ์หายนะภัยดังกล่าว ได้มีการออกข่าวทางสื่อสารมวลชนทุกแขนงและมีหลายหน่วยงานทั้งจากภาครัฐและเอกชนร่วมให้การบรรเทาทุกข์ ค้นหาผู้สูญหายและฟื้นฟู จากทั่วประเทศ โดย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น ได้เดินทางมาตรวจการบรรเทาทุกข์และเยี่ยมให้กำลังใจผู้ประสบภัยที่บ้านน้ำต๊ะ-น้ำลี อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ ในช่วงแรกหลังเกิดเหตุการณ์[3] และหลังการฟื้นฟูในเบื้องต้นได้มีหลายองค์กรและหน่วยงานได้เข้ามาให้ความฟื้นฟูในหลาย ๆ ด้าน เช่น การย้ายบ้านขึ้นสู่ที่สูง เพื่อป้องกันเหตุการณ์ซ้ำรอยในอนาคต ซึ่งการฟื้นฟูในส่วนนี้พระบรมวงศานุวงศ์ได้ทรงมีส่วนร่วมเป็นอย่างมาก เช่น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารและ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ ได้ทรงเป็นประธานในการสร้างบ้านถาวรเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยในจังหวัดอุตรดิตถ์ และเสด็จมาจังหวัดอุตรดิตถ์หลายครั้งเพื่อติดตามความก้าวหน้าและให้กำลังใจผู้ประสบภัย รวมทั้ง พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ ได้ดำเนินโครงการฯ และเสด็จมาทรงสร้างบ้านให้แก่ผู้ประสบภัยด้วยพระองค์เองที่อำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่ เป็นต้น

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. สถานการณ์อุทกภัยและโคลนถล่ม (ข้อมูล ณ วันที่ 12 มิถุนายน 2549)[ลิงก์เสีย]. เว็บไซต์กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย . เรียกข้อมูลวันที่ 30-5-52
  2. สรุปความเสียหายจากสถานการณ์อุทกภัยภาคเหนือ รวม 5 จังหวัด (ระหว่างวันที่ 21 พฤษภาคม - 6 มิถุนายน 2549)[ลิงก์เสีย]. เว็บไซต์กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย . เรียกข้อมูลวันที่ 30-5-52
  3. อุตรดิตถ์ดินถล่ม คนสูญหายเป็นร้อย. ข่าวหนังสือพิมพ์ออนไลน์ประชาไทประจำวันที่ 24/5/2549. เรียกข้อมูลวันที่ 30-5-52


แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]