เส้นแบ่งเขตวันสากล

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
รูปแสดงเส้นแบ่งเขตวันสากล (สีดำกลางภาพ)

เส้นแบ่งเขตวันสากล (อังกฤษ: International Date Line: IDL) เป็นเส้นสมมติที่ลากในแนวเหนือ-ใต้บนพื้นผิวของโลก ผ่านใจกลางมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งกำหนดสถานที่ซึ่งวันตามปฏิทินเริ่มต้น เส้นดังกล่าวอยู่ที่ประมาณลองจิจูด 180 องศา ตรงข้ามกับเส้นเมริเดียนแรก แต่ลากอ้อมบางดินแดนและกลุ่มเกาะบางกลุ่ม

เวลาทางตะวันออกของเส้นแบ่งเขตวันสากลช้ากว่าทางตะวันตกอยู่ 1 วัน เมื่อข้ามเส้นดังกล่าวไปทางตะวันออกจึงต้องหักวันออกหนึ่งวัน และเมื่อข้ามเส้นดังกล่าวไปทางตะวันตกต้องเพิ่มวันเข้าหนึ่งวัน

ภูมิศาสตร์[แก้]

บางส่วนของความยาว เส้นแบ่งเขตวันสากลตามลองจิจูดเมอริเดียน 180 องศา หยาบ ๆ ลงมากลางมหาสมุทรแปซิฟิก เพื่อเลี่ยงมิให้เส้นลากทับประเทศหนึ่ง จึงต้องลากอ้อมตะวันออกไกลของรัสเซียและกลุ่มเกาะหลายกลุ่มในแปซิฟิก

การเปลี่ยนแปลงในอดีต[แก้]

ฟิลิปปินส์[แก้]

ฟิลิปปินส์ซึ่งเดิมเป็นส่วนหนึ่งของเขตอุปราชแห่งนิวสเปน มีการติดต่อสื่อสารสำคัญที่สุดกับเมืองอากาปุลโกในเม็กซิโกมาเป็นเวลานาน และถูกกำหนดอยู่ฝั่งตะวันออกของเส้นแบ่งเขตวัน แม้จะอยู่ที่ริมตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก เวลา 00.01 น. วันอังคารในลอนดอน จึงเป็นเวลา 17.21 น. วันจันทร์ในอากาปุลโก และราว 08.05 น. วันจันทร์ในมะนิลา ระหว่างคริสต์ทศวรรษ 1840 ความสนใจการค้าเปลี่ยนไปยังจีน หมู่เกาะอินเดียตะวันออกของดัตช์ และพื้นที่ใกล้เคียง ฟิลิปปินส์จึงเปลี่ยนไปอยู่ทางฟากตะวันตกของเส้นแบ่งเขตวัน วันจันทร์ที่ 30 ธันวาคม ค.ศ. 1844 จึงตามด้วยวันพุธที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1845 ทำให้ปีนั้นฟิลิปปินส์มี 365 วัน ทั้ง ๆ ที่เป็นปีอธิกสุรทิน[1]

อะแลสกา[แก้]

จนถึง ค.ศ. 1867 อะแลสกาใช้วันของรัสเซีย โดยเส้นแบ่งเขตวันลากผ่านพรมแดนที่กำหนดไว้บางส่วนระหว่างดินแดนรัสเซียนอะแลสกากับดินแดนบริติชนอร์ทอเมริกา รวมทั้งอาณานิคมบริติชโคลัมเบีย วันก่อนหน้าการซื้ออะแลสกาของสหรัฐอเมริกาจะมีผล วันนั้นเป็นวันศุกร์ที่ 6 ตุลาคม ค.ศ. 1867 ในปฏิทินจูเลียนที่ใช้ในรัสเซียขณะนั้น หรือตรงกับวันที่ 18 ตุลาคมตามปฏิทินเกรโกเรียนที่ใช้ในสหรัฐอเมริกา ด้วยการเปลี่ยนการปกครอง ทำให้วันที่ในอะแลสกาเลื่อนให้เร็วขึ้น 12 วัน ดังนั้น วันศุกร์ที่ 6 ตุลาคม ค.ศ. 1867 ในอะแลสกา จึงตามด้วยวันศุกร์ที่ 18 ตุลาคม ค.ศ. 1867

หมู่เกาะซามัวและโตเกเลา[แก้]

หมู่เกาะซามัวตั้งอยู่ทางตะวันตกของเส้นแบ่งเขตวันจนกระทั่ง ค.ศ. 1892 เมื่อพ่อค้าอเมริกันได้เข้าไปโน้มน้าวกษัตริย์มาลีเอโตอา เลาเปปา (Malietoa Laupepa) ให้รับวันที่ของสหรัฐอเมริกามาใช้ ซึ่งเป็นสามชั่วโมงหลังแคลิฟอร์เนีย แทนวันที่แบบเอเชีย (หรือสี่ชั่วโมงก่อนญี่ปุ่น) การเปลี่ยนแปลงนี้ทำโดยซ้ำวันจันทร์ที่ 4 กรกฎาคม ค.ศ. 1892[2][3] ใน ค.ศ. 2011 119 ปีให้หลังการเปลี่ยนแปลงครั้งแรก ซามัวตัดสินใจเปลี่ยนกลับไปอยู่ทางตะวันตกของเส้นแบ่งเขตวันโดยข้ามวันศุกร์ที่ 30 ธันวาคม ค.ศ. 2011 จากเขตเวลา -11 เป็น +13[2] เหตุผลสำหรับการเปลี่ยนนี้คือ ข้อเท็จจริงที่ว่าออสเตรเลียกับนิวซีแลนด์ได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้ค้ารายใหญ่ที่สุดของซามัวและเป็นแหล่งชุมชนผู้ย้ายภูมิลำเนาขนาดใหญ่ การตามหลังอยู่ 21 ชั่วโมงจึงทำให้ธุรกิจยุ่งยาก เพราะมีวันหยุดแตกต่างกัน หมายความว่า มีวันทำงานร่วมกันเพียงสี่วันในหนึ่งสัปดาห์[4]

โตเกเลา ดินแดนของนิวซีแลนด์ ทางเหนือของซามัว ประกาศว่าจะเปลี่ยนวันที่ด้วยเหตุผลเดียวกัน[5] ส่วนอเมริกันซามัวซึ่งอยู่ห่างไปทางตะวันตกเล็กน้อยยังใช้วันที่ตามสหรัฐอเมริกาอยู่ ทำให้เส้นแบ่งเขตวันสากลขณะนี้ผ่านระหว่างซามัวกับอเมริกันซามัว แผนที่ชุดโลกส่วนใหญ่ยังไม่สนใจการเลื่อนเส้นแบ่งเขตวันและยังแสดงเส้นแบ่งเขตวันเป็นเส้นตรงผ่านอาณาเขตของหมู่เกาะซามัวและโตเกเลา

คิริบาสตะวันออก[แก้]

เมื่อครั้งเป็นอาณานิคมของอังกฤษ คิริบาสมีศูนย์กลางอยู่ที่หมู่เกาะกิลเบิร์ตซึ่งตั้งอยู่ทางฟากตะวันตกของเส้นแบ่งเขตวันเดิม เมื่อได้รับเอกราชใน ค.ศ. 1979 สาธารณรัฐใหม่นี้ได้รับหมู่เกาะฟีนิกซ์และหมู่เกาะไลน์จากสหรัฐอเมริกาซึ่งตั้งอยู่ทางฟากตะวันออกของเส้น จึงกลายเป็นว่าอาณาเขตของประเทศนี้อยู่คร่อมเส้นแบ่งเขตวันพอดี หน่วยงานรัฐบาลบนสองฝั่งของเส้นแบ่งเขตวันสามารถติดต่อสื่อสารธุรกิจประจำวันทางวิทยุหรือโทรศัพท์ได้เพียงสี่วันต่อสัปดาห์ (ซึ่งเป็นวันทำงานตรงกันทั้งสองฝั่ง) เท่านั้น ทางการจึงตัดสินใจเปลี่ยนวันที่ในส่วนตะวันออกของประเทศเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม ค.ศ. 1994 จากเขตเวลา -11 และ -10 เป็น +13 และ +14 หลังการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว เส้นแบ่งเขตเวลาบางส่วนจึงถูกเลื่อนโดยอ้อมไปทางตะวันออกเพื่อโอบรอบอาณาเขตของประเทศนี้ ผลคือ ดินแดนตะวันออกสุดของคิริบาส ได้แก่ หมู่เกาะไลน์รวมทั้งเกาะคิริสมาสที่มีคนอยู่อาศัยจึงเริ่มต้นปี ค.ศ. 2000 ก่อนประเทศใดในโลก ซึ่งเป็นลักษณะเด่นที่รัฐบาลคิริบาสพยายามเน้นเนื่องจากสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ แต่จนถึง ค.ศ. 2005 แผนที่ชุดโลกส่วนใหญ่ยังไม่สนใจการเลื่อนเส้นแบ่งเขตวันและยังแสดงเส้นแบ่งเขตวันเป็นเส้นตรงผ่านอาณาเขตของคิริบาส[6]

อ้างอิง[แก้]

  1. A History of the International Date Line
  2. 2.0 2.1 Tamara McLean, Samoa's dateline jump passes into law Herald Sun of New Zealand. Accessed 11 August 2011.
  3. Samoa confirms dateline switch Borneo Post online. Accessed 11 August 2011.
  4. "Samoa to jump forward in time by one day". BBC News. 9 May 2011. สืบค้นเมื่อ 27 November 2011.
  5. Tokelau to follow Samoa on dateline switch Radio New Zealand International. Accessed 15 October 2011.
  6. Ariel, Avraham (2005). Plotting the Globe: Stories of Meridians, Parallels, and the International Date Line. Greenwood Press. p. 149. ISBN 0275988953. {{cite book}}: ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |coauthors= ถูกละเว้น แนะนำ (|author=) (help)

พิกัดภูมิศาสตร์: 0°N 180°W / 0°N 180°W / 0; -180