เศรษฐกิจเชิงสังคม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
แผนภาพของเศรษฐกิจเชิงสังคม

เศรษฐกิจเชิงสังคม (Social Economy) เป็นคำศัพท์ที่ใช้กล่าวถึงความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจในภาคส่วนที่สาม กล่าวคือเป็นระบบเศรษฐกิจของส่วนที่ไม่ใช่ภาครัฐและไม่ใช่ตลาด แต่เป็นภาคสังคม โดยเศรษฐกิจในภาคสังคมจะมีลักษณะขององค์กรที่ไม่เป็นทางการ องค์กรที่ตั้งขึ้นโดยไม่แสวงหาผลกำไร องค์กรในการสร้างความร่วมมือ องค์กรเพื่อสาธารณประโยชน์ และองค์กรการกุศล ลักษณะของเศรษฐกิจเชิงสังคมจึงไม่ได้มีการแข่งขันในกลไกตลาด (competitive market) เพื่อมุ่งหวังผลกำไรสูงสุด และไม่ใช่องค์กรในระบบราชการ (bureaucracy) ที่มีการใช้อำนาจการบังคับบัญชาจากบนลงล่าง แต่องค์กรในเศรษฐกิจเชิงสังคมจะเน้นความร่วมมือในแนวระนาบเดียวกันมากกว่า[1]

อรรถาธิบาย[แก้]

แนนซี่ นีมตัน (Neamtan, 2004)[2] ได้จำแนกที่มาของเศรษฐกิจเชิงสังคมออกเป็น 5 ลักษณะเด่นสำคัญดังนี้

  1. เป็นองค์กรที่มีจุดมุ่งหมายในการบริการสมาชิกและชุมชนในลักษณะองค์รวม (the whole) มากกว่าที่จะมุ่งหวังเพียงผลประโยชน์หรือกำไร
  2. ไม่ใช่หน่วยงานของภาครัฐและภาคเอกชน
  3. ส่งเสริมกระบวนการตัดสินใจที่เป็นประชาธิปไตย โดยใช้การมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง
  4. ให้ความสำคัญกับ “คน” และ “งาน” มากกว่าการกระจายหรือสนใจแต่รายรับและส่วนเกินจากการทำงาน
  5. มีฐานคิดสำคัญจากหลักการมีส่วนร่วม (participation) การมอบอำนาจให้ประชาชน (empowerment) และความรับผิดชอบต่อปัจเจกบุคคลและส่วนรวม (individual and collective responsibility)

ในระดับสากล คำว่าเศรษฐกิจเชิงสังคมถูกนำไปใช้กับการเรียกองค์กร 3 รูปแบบ โดยแบบที่หนึ่งเป็นองค์กรในส่วนของชุมชน (community sector) ที่อยู่ในระดับท้องถิ่น มีขนาดเล็ก และส่วนใหญ่การทำงานเป็นลักษณะของอาสาสมัคร เช่น สมาคมในชุมชน กลุ่มสหกรณ์ เป็นต้น องค์กรรูปแบบที่สองคือภาคส่วนอาสาสมัคร (voluntary sector) เป็นหน่วยงานที่เป็นทางการ มีกฎหมายรองรับ สามารถดำเนินกิจการต่างๆได้เองโดยเป็นอิสระจากภาครัฐ การทำงานมีลักษณะไม่แสวงหาผลกำไร เช่น องค์กรการกุศลขนาดใหญ่ องค์กรรณรงค์ต่างๆ ในระดับชาติ เป็นต้น และองค์กรรูปแบบที่สามคือผู้ประกอบการทางสังคม (social enterprise) เป็นหน่วยงานของภาคเอกชนที่มีเป้าหมายหลักในการทำงานเพื่อสังคมและการประกอบธุรกิจเมื่อได้ส่วนเกินหรือกำไรก็จะนำมามอบคืนให้เป็นประโยชน์กับส่วนรวม ไม่ใช่นำกำไรเข้าองค์กรเพียงอย่างเดียว เช่น กลุ่มนักธุรกิจเพื่อประชาชน องค์กรความร่วมมือระหว่างหน่วยงานเอกชน เป็นต้น

ตัวอย่างการนำไปใช้ในประเทศไทย[แก้]

สำหรับในประเทศไทยพบว่าเศรษฐกิจเชิงสังคม ยังไม่ได้ถูกนำมาใช้มากนักและไม่ถูกนิยามเป็นศัพท์อย่างเป็นทางการ เพราะสังคมไทยยังนิยมเรียกการทำงานในแนวเศรษฐกิจเชิงสังคมว่าเป็นภาคประชาสังคมหรือการทำงานแบบอาสาสมัครมากกว่า ในประเทศไทย หากมีการพูดถึงคำว่าเศรษฐกิจเชิงสังคมให้กว้างขวางขึ้น จะช่วยส่งเสริมกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ไม่ได้มุ่งหวังแต่ผลกำไรสูงสุด และเป็นขยายบทบาทของภาคส่วนที่เป็นอิสระจากรัฐและจากกลุ่มธุรกิจ โดยเศรษฐกิจเชิงสังคมจะช่วยส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนและการพัฒนาประชาธิปไตยได้อย่างเป็นธรรมชาติ ประเทศที่มีความสามารถในการพัฒนาประชาธิปไตยอย่างแคนาดาและญี่ปุ่นก็มีเศรษฐกิจเชิงสังคมที่เติบโตสอดคล้องกันไปเช่นกัน[3][4]

อ้างอิง[แก้]

  1. Defourny, Jacques and Patrick Develtere (1999). The Social Economy: The Worldwide Making of a Third Sector. Accessed July 15, 2012 from http://www.emes.net/fileadmin/emes/PDF_files/Articles/Defourny/Defourny.Develtere_SE_NorthSouth_Chap1_EN.pdf[ลิงก์เสีย].
  2. Neamtan, Nancy (2004). “The Political Imperative: Civil Society and the Politics of Empowerment”. In Making Waves, Vol. 15, No.1.
  3. “การกลับมาของสังคมนิยมในศตวรรษที่ 21”. Sameskybooks. Accessed July 16, 2012 from http://www.sameskybooks.net/2008/02/16/socialism-for-21century/ เก็บถาวร 2011-10-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน.
  4. Ishizuka, Hideo (2002). “The Social Economy Sector in Japan”. In Annals of Public and Cooperative Economics, Vol. 73, No.2.