เวียนนาซีเซสชัน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

กลุ่ม ‘เวียนนาซีเซสชัน’ (อังกฤษ: Vienna Secession) เป็นกลุ่มศิลปินที่ทรงพลังกลุ่มหนึ่งของออสเตรีย เนื่องจากเต็มไปด้วยบุคลากรรุ่นใหม่มากมายที่มีพลังผลักดันในการทำงานอย่างท่วมท้น ปรัชญาและแนวการทำงานของกลุ่มนั้นก็เป็นดังคำที่จารึกไว้เหนือประตูทางเข้าอาคารซีเซสชันที่ว่า “ในยุคสมัยมันคือศิลปะ ในศิลปะมันคืออิสรภาพ” (Der Zeit ihre Kunst, der Kunst Ihre Freiheit)

ประวัติ[แก้]

“โปสเตอร์ของนิทรรศการครั้งแรกในปี 1898”

กลุ่มเวียนนาซีเซสชันก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 3 เมษายน ค.ศ. 1897 โดย กุสตาฟ คลิมต์, โคโลมาน โมเซอร์, โยเซฟ ฮอฟฟ์มันน์, โยเซฟ มาเรีย ออลบริช, แมค คลิงเกอร์ และศิลปินอีกหลายคน อย่างไรก็ตาม ออทโท วากเนอร์ ก็เป็นศิลปินอีกคนของกลุ่มที่เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง แม้จะไม่ใช่หนึ่งในผู้ก่อตั้งก็ตาม ก่อนจะมาเป็นกลุ่มซีเซสชัน เดิมศิลปินในกลุ่มเคยร่วมประท้วงสถาบันศิลปะเวียนนา (The Vienna Künstlerhaus) เนื่องด้วยเหตุที่สถาบันไม่อนุญาตให้นักออกแบบต่างชาติที่ไม่ใช่ชาวออสเตรียนหรือเยอรมันเข้าร่วมแสดงงาน ซึ่งปรากฏการณ์นี้มีอยู่ทั่วไป ทั้งในฝรั่งเศส อังกฤษ และเยอรมัน แสดงให้เห็นถึงการขัดแย้ง ระหว่างกลุ่มประเพณีนิยมและกลุ่มความคิดใหม่ ทำให้ศิลปินแยกตัวออกมาจากสถาบันและก่อตั้งกลุ่มเวียนนาซีเซสชันขึ้นมา

งานแสดงศิลปกรรมครั้งแรกที่จัดขึ้นโดยกลุ่มซีเซสชันนี้จัดขึ้นในเดือนมีนาคม ปี ค.ศ. 1898 มีผู้เข้าชมมากกว่า 57,000 คน และหนึ่งในผู้ที่มาเข้าชมก็คือ จักรพรรดิฟรันซ์ โยเซฟที่ 1 ซึ่งเป็นแขกในงานแสดงด้วยนั่นเอง แสดงให้เห็นถึงความสามารถและความสำเร็จในชื่อเสียงของศิลปินในกลุ่มที่สามารถดึงดูดผู้เข้าชมงานได้มากถึงเพียงนี้ การจัดงานแสดงศิลปกรรมครั้งแรกของกลุ่มซีเซสชันนี้ไม่ได้จัดขึ้น ณ สถานที่ทำการของกลุ่มอย่างที่เข้าใจกัน เนื่องจากอาคารยังอยู่ในระหว่างการดำเนินงานก่อสร้าง ทางกลุ่มจึงได้เช่าที่ทำการใหญ่ของสมาคมชาวสวนแห่งกรุงเวียนนา (Vienna Horticultural Association) เป็นสถานที่จัดงานบรรยากาศของห้องจัดงานนั้นสร้างความแปลกและความรู้สึกใหม่ๆด้วยพรรณไม้ต่าง ๆ อีกทั้งการจัดแขวนผลงานนั้นก็ยังสร้างปรากฏการณ์ใหม่ ภาพทุกภาพถูกแขวนอยู่ในระดับสายตาเท่า ๆ กันทุกภาพไม่มีการแขวนเหลื่อมหรือซ้อนกันอย่างเช่นการจัดแสดงในที่อื่น ๆ นั่นคือการนำแนวคิดใหม่ ๆ มาสู่การทำงานในรูปแบบใหม่ของกลุ่ม

“The Beethoven friezes ของ กุสตาฟ คลิมต์”

การเกิดขึ้นของกลุ่มซีเซสชันนั้น ทำให้กลุ่มสมาคมศิลปินแห่งกรุงเวียนนาต้องเสื่อมความนิยมลงไปมาก จนกระทั่งกลุ่มของพวกเขาสามารถเข้ามามีบทบาทขึ้นแทนที่กลุ่มสมาคมศิลปินแห่งเวียนนาในที่สุดในปี ค.ศ. 1900 ศิลปินที่เคยอยู่กับกลุ่มของสมาคมศิลปินเวียนนาจึงต่างมุ่งหันเข้ามาเป็นสมาชิกกลุ่มซีเซสชันนี้กันอย่างมากมาย บนความสำเร็จนี้ของกลุ่มซีเซสชัน ได้ทำให้ศิลปะสมัยใหม่เกิดตื่นตัวไปทั่วทั้งวงการศิลปะของออสเตรียและยุโรปและในการจัดแสดงงานศิลปกรรมครั้งที่ 14 ที่จัดขึ้นในเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม ปี ค.ศ. 1902 นั้นถือว่าเป็นชุดที่สมบูรณ์ที่สุดในจำนวนการจัดการแสดงภาพทั้งหมดของกลุ่มซีเซสชัน ออกแบบโดย โยเซฟ ฮอฟฟ์มันน์ เพื่ออุทิศให้แก่ ลุดวิจ ฟาน เบโทเฟน กลายเป็นงานที่เป็นที่รู้จักและชื่นชมกันเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะผลงานประติมากรรม Beethoven ของ แมค คลิงเกอร์ และ The Beethoven friezes ของ กุสตาฟ คลิมต์

ในปี ค.ศ. 1903 ดังที่ได้กล่าวแล้วว่ากลุ่มซีเซสชันนั้นประกอบด้วยศิลปินที่ทำงานในหลายแนวทางทั้งงานจิตรกรรม สถาปัตยกรรม และช่างออกแบบในสายงานต่าง ๆทางศิลปกรรมอีกมากมาย โยเซฟ ฮอฟฟ์มันน์ และ โคโลมาน โมเซอร์ สองศิลปินในกลุ่มซีเซสชันซึ่งเป็นนักออกแบบผลิตภัณฑ์ ทั้งสองร่วมกันก่อตั้งโรงงานผลิตเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งในชื่อ โรงงานเวียนนา (Wiener Wekstatte) และสถานที่แห่งนี้ก็กลายเป็นโรงงานระบายงานจากการทำงานของศิลปินต่าง ๆ ในกลุ่มซีเซสชันอีกทางหนึ่งด้วย

แต่ความสำเร็จของกลุ่มซีเซสซันนี้ไม่ได้สร้างผลที่ดีติดตามมาแต่เพียงอย่างเดียว การที่กลุ่มซีเซสซันเริ่มมีชื่อเสียงโด่งดังขึ้นมากในยุโรปและอเมริกาหลังจากออกไปจัดการแสดงในต่างประเทศหลายครั้งนั้น ทำให้สมาชิกมีมากขึ้นและหลากหลายสายทางกันมากขึ้น ซึ่งทำให้เกิดการควบคุมสมาชิกต่าง ๆ นั้นได้ยากมากขึ้นอีกด้วย เนื่องจากเริ่มมีกระแสการเมืองที่คุกรุ่นขึ้นภายใน จนกระทั่งแตกออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ กลุ่มของ กุสตาฟ คลิมต์และกลุ่ม โยเซฟ ฮอฟฟ์มันน์ ซึ่งในกลุ่มหลังนั้นมีกระแสจากกลุ่มในเยอรมันที่คอยหนุนหลังอยู่อีกที อีกทั้งในตอนนั้นกระแสต่อต้านคลิมต์เกี่ยวกับความแข็งกระด้างในอุปนิสัยของเขาเองจากเหล่าสื่อมวลชน อีกทั้งกรณีที่เขามีข้อพิพาทต่อเหล่าคณาจารย์และคณะกรรมการของมหาวิทยาลัยแห่งกรุงเวียนนา เรื่องภาพเขียนทั้ง 3 ภาพของเขาที่มหาวิทยาลัยแห่งกรุงเวียนนา ซึ่งทำให้สมาชิกซึ่งเป็นอาจารย์อยู่ในสถาบันศิลปะบางคนนั้นเริ่มต่อต้านแนวความคิดของคลิมต์ถึงขนาดที่แทงข้างหลังเขาในการเสนอชื่อตนเพื่อเข้ารับตำแหน่งศาสตราจารย์ต่อทางสถาบันแทน คลิมต์จึงเริ่มมีแรงกดดันต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมายจากรอบด้าน ในที่สุดในการให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนครั้งหนึ่งเขาก็ประกาศว่าขอถอนตัวออกจากกลุ่มซีเซสซันและในที่สุดเขาก็ถอนตัวออกไปจากกลุ่มจริง ๆ ในช่วงปี ค.ศ. 1905 ศิลปินอีกหลายคนที่อยู่ในกลุ่มของ คลิมต์ก็แยกตัวตามออกมาเช่นกัน สุดท้ายกลุ่มซีเซสชันจึงจบลง

รูปแบบงาน[แก้]

“หน้าปกนิตยสาร Ver Sacrum”

งานของกลุ่มเวียนนาซีเซสชันไม่เหมือนกับงานของกลุ่มความเคลื่อนไหวอื่น ๆ รูปแบบงานของกลุ่มนี้มีความหลากหลายมาก อาทิ เช่น งานสถาปัตยกรรมอย่าง อาคารซีเซสชันที่เปรียบเสมือนกับสัญลักษณ์ของกลุ่ม งานประติมากรรม งานตกแต่งอาคาร หรือ แม้กระทั่งงานจิตรกรรม แนวความคิดแต่เริ่มของพวกเขาคือความต้องการที่จะฉีกแนวงานของออกจากกรอบหรือขนบแบบเดิม ๆ เพื่อที่จะได้สร้างงานรูปแบบใหม่ที่ไม่เคยถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์มาก่อน แนวงานของพวกเขาเกิดจากส่วนผสมที่หลากหลายดูคล้ายกับศิลปะแบบอาร์ตนูโว (Art Nouveau) แต่งานที่มีออกมาก็แอบแฝงความเป็นงานแบบสัญลักษณ์ (Symbolist) เอาไว้ ดังจะเห็นได้จากงานของคลิมต์ เป็นต้น

นอกจากนี้เมื่ออิทธิพลของอาร์ตนูโวแบบฝรั่งเศสหมดลงไปการเปลี่ยนแปลงและเน้นถึงแบบแผนของการใช้รูปทรงเรขาคณิตและการออกแบบโมดูลาร์ (Modular Design) ทำให้รูปแบบของงานออกแบบเปลี่ยนรูปไปจากเดิมมาเป็นการใช้รูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ใช้วงกลมในการจัดวางแบบซ้ำ ๆ กันและใช้แบบผสม ในส่วนที่ตกแต่งและเป็นองค์ประกอบประเภทลวดลาย ขึ้นอยู่กับการใช้องค์ประกอบที่ซ้ำ ๆ กัน แบบรูปทรงเรขาคณิตเหล่านี้เป็นรูปทรงที่ไม่ใช่รูปทรงที่เห็นมาก่อนหรือถูกใช้แบบงานเครื่องจักร ซึ่งมีลักษณะเหมือนการปะติดปะต่อ แต่เป็นการใช้ให้งานดูมีชีวิตชีวากว่าเดิม และในช่วงนี้เองกลุ่มเวียนนาซีเซสชันก็ได้มีการออกนิตยสาร ชื่อว่า “Ver Sacrum” ที่แสดงให้เห็นถึงแนวงานของกลุ่มซีเซสชันให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

สถาปัตยกรรม[แก้]

“อาคารทำการของกลุ่มซีเซสชัน”

อาคารที่ทำการของกลุ่มนั้น ทางกลุ่มซีเซสชันได้ลงทุนด้วยเงินจำนวนมากจากการกู้ยืมธนาคาร การออกแบบและการตกแต่งภายในนั้นเป็นไปแบบช่วยกันคนละไม้คนละมือ แต่ความคิดส่วนใหญ่ทั้งหมดมาจากแนวความคิดของ กุสตาฟ คลิมต์ ซึ่งเป็นผู้นำกลุ่มนั้นเอง ลักษณะอาคารจะเป็นโครงสร้างและรูปแบบเหมือนกับสถาปัตยกรรมในยุคกรีกและอียิปต์ ซึ่งเป็นไปตามแนวอิทธิพลทางศิลปะของสมาชิกส่วนมากในกลุ่ม แต่สำหรับแนวทางของคลิมต์นั้น เขาไม่ได้ลอกแบบศิลปะแบบกรีกหรืออียิปต์มาใช้อย่างเต็มตัว แต่เขาได้นำมันมาประยุกต์กับแนวคิดใหม่ของ ‘โมเดิร์น อาร์ต’ (Modern art) หรือ ศิลปะสมัยนิยม ซึ่งในออสเตรียในขณะนั้นนอกจากจะมุ่งสร้างประเทศด้วยศิลปกรรมตามแบบอย่างปารีสแล้ว โมเดิร์น อาร์ต ยังเป็นสิ่งที่แทรกซึมเข้าไปในผังเมืองที่ถูกกำหนดขึ้นใหม่ด้วยในส่วนที่เรียกว่า ‘ริงสตราสส์’ (Ringstasse) อีกด้วย

ผลงานอาคารในแบบโมเดิร์นอาร์ตที่เป็นตัวอย่างขึ้นชื่อคือผลงานของ ออทโท วากเนอร์ ซึ่งปรากฏอยู่ในหลายแห่งของริงสตราสส์ในกรุงเวียนนา อาคารที่เห็นได้ชัดก็คืออาคารที่ทำการไปรษณีย์ (Postal Saving Bank) ในเวียนนา แนวการออกแบบนี้ได้สร้างแรงบันดาลใจให้กับ โยเซฟ มาเรีย ออลบริช หนึ่งในศิลปินกลุ่มซีเซสชัน โดยเขาได้นำมาประยุกต์กับแนวความคิดรูปแบบเก่าไปสู่รูปแบบใหม่เพื่อใช้ในการออกแบบอาคารซีเซสชันอย่างลงตัว เหนืออาคารนั้นเป็นรูปทรงกลมคล้ายโดมในศิลปะแบบไบแซนไทน์ (Byzantine) การใช้รูปทรงนี้เข้ามาเป็นรูปแบบของอาคาร ทำให้ตัวอาคารมองดูคล้ายกับวิหาร

ปัจจุบันอาคารหลังนี้ได้ตกมาเป็นสมบัติของแกลเลอรี เบลเฟเดเรอร์ (Austrain Gallery Belvedere) ซึ่งจัดแสดงผลงานศิลปะร่วมสมัยของศิลปินมากมาย ๆหมุนเวียนกันมาจัดอยู่เรื่อย ๆ แต่ก็ยังคงเปิดแสดงผลงาน The Beethoven friezes ของคลิมต์อยู่เสมอ

ศิลปินสำคัญในกลุ่มซีเซสชัน[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  • หนึ่งธิดา [นามแฝง]. “กุสตาฟ คลิมต์ (Gustav Klimt)”. กรุงเทพฯ, ประเทศไทย. สำนักพิมพ์พิราบ, 2546. ISBN 974-7430-47-9
  • อภิชาตเกรียงไกร, วิจิตร. “พิพิธภัณฑ์หอศิลปส่องชีวิตกรุงเวียนนา: The Vienna Secession”. กรุงเทพฯ, ประเทศไทย. อาร์ต เร็คคอร์ด อิน ไทยแลนด์, ปีที่ 1, ฉบับที่ 9, 2537, หน้า 14-17.
  • Vergo, Peter. “Art in Vienna, 1898-1918 : Klimt, Kokoschka, Schiele and their contemporaies”. London, United Kingdom. Phaidon, 1975. ISBN 071-4-81690-0

แหล่งข้อมูล[แก้]