เวชศาสตร์ฟื้นฟู

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก เวชกรรมฟื้นฟู)

เวชศาสตร์ฟื้นฟู หรืองานเวชกรรมฟื้นฟู จัดว่าเป็น 1 ใน 4 พันธกิจทางการแพทย์ ตามคำจำกัดความขององค์การอนามัยโลก (ได้แก่ "ส่งเสริมสุขภาพ - ป้องกันโรค - รักษาโรค - ฟื้นฟูสมรรถภาพ) ภาษาอังกฤษเรียกว่า Rehabilitation medicine หรือ Physical medicine and rehabilitation (PM&R) หรือ Physiatry (อ่านว่า ฟิส-ซาย-เอ-ตรี้) ก็ได้

งานเวชศาสตร์ฟื้นฟูเอง ก็คือการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ (Medical rehabilitation) ซึ่งเป็นหนึ่งในหลายๆด้านของการฟื้นฟูสมรรถภาพทั้งหมด ขึ้นกับบุคคลนั้นต้องการให้ฟื้นฟูสมรรถภาพทางด้านใด ณ ที่นี้ ยกตัวอย่างการฟื้นฟูด้านอื่นๆ เช่น การฟื้นฟูสมรรถภาพด้านอาชีพ (Vocational rehabilitation) การฟื้นฟูสมรรถภาพด้านการศึกษา (Educational rehabilitation) เป็นต้น

งานเวชศาสตร์ฟื้นฟูในประเทศที่พัฒนาแล้ว เป็นงานที่ท้าทายและเป็นที่รู้จักสนใจในวงกว้าง เนื่องจากสามารถบ่งบอกถึงการเอาใจใส่จากภาครัฐได้เป็นอย่างดี เพราะผู้ป่วยที่มีรับการฟื้นฟูนั้น ย่อมเป็นผู้พิการ หรือ ผู้ที่มีสมรรถภาพทางร่างกายไม่ดีนัก แต่เป็นที่น่าเสียดาย ที่ในประเทศไทยไม่ค่อยให้ความสำคัญเท่าไรนัก ทั้งในระดับนโยบาย ระดับโรงพยาบาล และในประชาชนทั่วไป

คำจำกัดความ[แก้]

เป็นการบริการทางการแพทย์ชนิดหนึ่ง เพื่อตรวจวินิจฉัยโรค ประเมิน รักษา ฟื้นฟูสมรรถภาพ ด้วยวิธีการใช้ยา การทำหัตถการ การใช้เครื่องมือ การออกกำลังกายจำเพาะ การให้คำแนะนำทางการแพทย์ การใช้อุปกรณ์ช่วยเหลือหรือทดแทน หรือวิธีการอื่นๆ อีกทั้งยังมุ่งส่งเสริมสุขภาพ และป้องกันการเป็นซ้ำหรือภาวะแทรกซ้อนให้กับบุคคลทั่วไป และผู้ป่วยที่มีความพิการหรือสมรรถภาพเสื่อมถอย ทั้งทางร่างกาย ทางสติปัญญา ทางการเรียนรู้ ทางการสื่อความหมาย และทางจิตใจ โดยใช้บุคลากรที่เกี่ยวข้องจากหลายๆสาขา ร่วมกันให้การรักษาและฟื้นฟู เพื่อส่งเสริมศักยภาพที่เหลืออยู่ของผู้ป่วยนั้นๆ ให้สามารถดำรงชีวิตในสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมได้ เพื่อให้เป็นภาระต่อคนรอบข้างและสังคมให้น้อยที่สุด อีกทั้งยังช่วยสร้างชื่อเสียง (เช่น เป็นนักกีฬา) หรือพัฒนาประเทศต่อไปได้ตามความสามารถ

บุคลากรที่เกี่ยวข้องกับงานเวชศาสตร์ฟื้นฟู[แก้]

บุคลากรที่เกี่ยวข้องกับงานเวชศาสตร์ฟื้นฟู ประกอบไปด้วยบุคลากรหลาย ๆ ด้าน ได้แก่

การรักษาและฟื้นฟูด้วยเวชศาสตร์ฟื้นฟู[แก้]

ยกตัวอย่าง เช่น

  • การตรวจ รักษา และฟื้นฟูผู้ป่วยและผู้พิการทางกายและการเคลื่อนไหว ทั้งผู้ป่วยที่นอนในโรงพยาบาลและผู้ป่วยนอก (ไป-กลับ)
  • การตรวจสภาพเส้นประสาท ระบบประสาท และกล้ามเนื้อ ด้วยวิธีการทางไฟฟ้าวินิจฉัย (ใช้ไฟฟ้ากระตุ้นในตรวจ) หรือเรียกว่า ELECTRODIAGNOSTIC STUDY
  • การรับผู้ป่วยทางเวชศาสตร์ฟื้นฟูไว้นอนในโรงพยาบาล เพื่อทำการรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพ (ในกรณีที่มีหอผู้ป่วย หรือเตียงเฉพาะ)
  • การรักษาเฉพาะที่ต่างๆ เช่น การฉีดยาเฉพาะที่เพื่อลดการเกร็งของกล้ามเนื้อ (Local antispastic agent injection) , การฉีดยาเฉพาะจุดเพื่อลดอาการปวดกล้ามเนื้อ (Myofascial pain release injection) , การฉีดยาเข้าข้อต่อหรืออวัยวะต่างๆเพื่อลดการอักเสบ (Anti-inflammatory agent injection) เป็นต้น
  • การตรวจประเมิน รักษา ฟื้นฟูสมรรถภาพ และป้องกันการเป็นซ้ำ แก่ผู้ป่วยที่มีความผิดปรกติทางการเคลื่อนไหว ทั้งที่เป็นมาแต่กำเนิด หรือเป็นในภายหลัง เช่น อัมพาตครึ่งซีกจากโรงหลอดเลือดสมอง (Cerebral vascular disorder) , อัมพาตจากภาวะไขสันหลังได้รับบาดเจ็บ (Spinal cord injury) , ความผิดปรกติทางการเคลื่อนไหวและพฤติกรรมภายหลังสมองได้รับบาดเจ็บ (Traumatic brain injury) เป็นต้น
  • การตรวจประเมิน รักษา และฟื้นฟูผู้ป่วยที่มีโรคหรือความผิดปรกติของระบบกล้ามเนื้อ และข้อต่อ รวมถึงผู้ป่วยหลังการผ่าตัดทางออร์โธปิดิคส์ (กระดูกและข้อ) อีกด้วย
  • การตรวจประเมินการทำงานของระบบควบคุมการถ่ายปัสสาวะส่วนล่าง (ตั้งแต่กระเพาะปัสสาวะลงมา) ด้วยเครื่องยูโรพลศาสตรN (Urodynamic study) และให้การรักษาผู้ป่วยที่มีปัญหาการถ่ายปัสสาวะซึ่งมีความผิดปรกติจากการควบคุมด้วยระบบประสาท (Neurogenic bladder dysfunction)
  • ให้การรักษาผู้ป่วยที่มีปัญหาการถ่ายอุจจาระซึ่งมีความผิดปรกติจากการควบคุมด้วยระบบประสาท (Neurogenic bowel dysfunction)
  • การตรวจประเมิน และออกเอกสารรับรองความพิการ สำหรับผู้พิการทางการเคลื่อนไหวชนิดต่างๆ
  • การตรวจประเมิน และสั่งการรักษาด้วยกายอุปกรณ์เทียม (Prostheses หรือคืออวัยวะเทียมนั่นเอง) สำหรับผู้พิการแขน-ขาขาด (Limb amputation)
  • การตรวจประเมิน และสั่งการรักษาด้วยด้วยกายอุปกรณ์เสริม (Orthoses หรือคือเครื่องประคองร่างกายชนิดต่างๆ) สำหรับผู้ป่วยกลุ่มต่างๆ เช่น ปวดหลังที่บั้นเอว, เส้นเอ็นมือขาด, ข้อเท้าตก เป็นต้น
  • การตรวจประเมิน รักษา และกระตุ้นพัฒนาการ (Early intervention) สำหรับผู้ป่วยเด็กกลุ่มต่างๆที่มีความพิการ (Child disabled) เช่น มีปัญหาพัฒนาการช้า มีปัญหาทางการเคลื่อนไหว หรือพิการทางสมอง เป็นต้น
  • การตรวจประเมินหาสาเหตุ และรักษาฟื้นฟูสภาพ แก่ผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บปวด (Pain) ด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การฉีดยาคลายจุดเจ็บปวดจากการหดเกร็งของกล้ามเนื้อ (Trigger point injection) การทำกายภาพบำบัด การฝังเข็ม (Acupuncture) การออกกำลังแบบต่างๆ (อาทิ การยืดกล้ามเนื้อ, การออกกำลังเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ เป็นต้น) การฉีดยาเข้าข้อ เป็นต้น
  • การตรวจประเมิน รักษา และให้การฟื้นฟูผู้ป่วยโรคหัวใจ (Cardiac rehabilitation) ประเภทต่างๆ (เช่น โรคหัวใจขาดเลือด, ลิ้นหัวใจรั่ว ฯลฯ) ทั้งก่อนและหลังการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดหรือสวนหัวใจ
  • การตรวจประเมิน รักษา และให้การฟื้นฟูผู้ป่วยโรคทางปอด (Pulmonary rehabilitation) กลุ่มต่างๆ เช่น โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD ซึ่งมักเกิดจากการสูบบุหรี่) เป็นต้น
  • การตรวจประเมิน รักษา และฟื้นฟูผู้ที่บาดเจ็บจากการเล่นกีฬา หรือนักกีฬาที่บาดเจ็บ รวมถึงการประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์ทางการแพทย์เพื่อเพิ่มสมรรถภาพแก่นักกีฬาอีกด้วย (Sport clinic)
  • การตรวจประเมิน รักษา ฟื้นฟู และป้องกันภาวะแทรกซ้อนหรือการกลับเป็นซ้ำ สำหรับผู้ป่วยกลุ่มอื่นๆ เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคมะเร็ง เป็นต้น
  • การประชุมและให้ปรึกษาระหว่างทีมผู้รักษา กับผู้ป่วย/ผู้พิการและญาติ (Team meeting)
  • การฟื้นฟูนอกสถานพยาบาล เช่น การฟื้นฟูอย่างต่อเนื่องที่บ้าน (Home-based rehabilitation) หรือ ในชุมชน (Community-based rehabilitation) เป็นต้น
  • ฯลฯ

เวชศาสตร์ฟื้นฟูในประเทศไทย[แก้]

ในอดีต เคยมีการจัดตั้งสาขาเวชศาสตร์ฟื้นฟูในประเทศไทยมาตั้งแต่สมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ต่อมาถูกระงับโครงการไป และได้มีงานกายภาพบำบัดขึ้นมาทดแทน ต่อมาเมื่อเกิดสงครามเวียดนามขึ้น ทางราชการได้เล็งเห็นว่าสมควรจะมีแพทย์ทางเวชศาสตร์ฟื้นฟูขึ้นในประเทศไทยอีกครั้ง โดยการส่งแพทย์ไปเรียนต่อยังต่างประเทศและเปิดแผนกขึ้นมาในโรงพยาบาลของทหาร และของมหาวิทยาลัยต่างๆ

ภายหลังเมื่อจึงมีการจัดอัตราแผนกเวชกรรมฟื้นฟูในโรงพยาบาลส่วนภูมิภาคต่างๆขึ้น โดยจัดให้มีแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู งานกายภาพบำบัด งานกิจกรรมบำบัด และงานกายอุปกรณ์ แต่เนื่องจากแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูและนักกิจกรรมบำบัดในประเทศไทยมีจำนวนไม่มากนักและศักยภาพของแต่ละโรงพยาบาลไม่เท่ากัน จึงทำให้ในบางจังหวัดยังไม่มีแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูและนักกิจกรรมบำบัด อีกทั้งการจัดหอผู้ป่วยเฉพาะทางเวชกรรมฟื้นฟูมีได้เพียงแค่ในบางโรงพยาบาลเท่านั้น

อย่างไรก็ตามในปัจจุบัน ผู้ป่วยสามารถเข้ารับการรักษา ฟื้นฟู และให้คำแนะนำได้ ในโรงพยาบาลของรัฐระดับโรงพยาบาลจังหวัด โรงพยาบาลสังกัดมหาวิทยาลัยต่างๆ โรงพยาบาลของทหารและตำรวจบางแห่ง ที่มีการให้บริการ นอกจากนี้ในโรงพยาบาลเอกชนบางแห่ง และในโรงพยาบาลชุมชน (โรงพยาบาลอำเภอ) บางโรง อาจมีการเปิดบริการงานเวชศาสตร์ฟื้นฟูอีกด้วย

อนึ่ง แต่ละโรงพยาบาล อาจมีบุคลากร และ/หรือ ชนิดของการรักษาและฟื้นฟูต่างๆไม่เท่ากัน ขึ้นกับรูปแบบและศักยภาพของโรงพยาบาลนั้นๆ

เวชศาสตร์ฟื้นฟูในต่างประเทศ[แก้]

สหรัฐอเมริกา เป็นประเทศหนึ่งที่มีชื่อเสียงทางด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู มีแพทย์ที่ทำงานด้านนี้อยู่มาก สถานพยาบาลมีชื่อเสียงในอเมริกา เช่น โรงพยาบาลเด็กแห่งเมาเท็นไซด์ (Children's Specialized Hospital in Mountainside) ที่รัฐ New Jersey, สถาบันเวชศาสตร์ฟื้นฟูแห่งชิคาโก (Rehabilitation Institute of Chicago หรือ RIC) ของมหาวิทยาลัย Northwestern ที่เมือง Chicago, โรงพยาบาลเวชศาสตร์ฟื้นฟูแห่งชาติแห่งวอชิงตัน (National Rehabilitation Hospital in Washington) , ศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูแห่งชาติแลนโชลอสซามิกอส (Rancho Los Amigos National Rehabilitation Center) ที่รัฐ California เป็นต้น

นอกจากนี้ในสหรัฐอเมริกา ยังมีการอบรมแพทย์เฉพาะทางสาขาเวชศาสตร์ฟื้นฟูในหลายสถาบันที่มีชื่อเสียง เช่น เมโยคลินิก (Mayo Clinic) , สถาบันเวชศาสตร์ฟื้นฟูแห่งชิคาโก (RIC) , โรงพยาบาลเวชศาสตร์ฟื้นฟูสปาลดิ้ง (Spaulding Rehabilitation Hospital) ของโรงเรียนแพทย์ฮาวาร์ด (Harvard Medical School) , มหาวิทยาลัยแห่งรัฐวอชิงตัน (University of Washington) , มหาวิทยาลัยแห่งรัฐมิชิแกน (University of Michigan) เป็นต้น

ส่วนในประเทศอื่นๆ เช่น อังกฤษ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย ฯลฯ ก็มีแพทย์ปฏิบัติงานด้านนี้ และมีการเปิดการอบรมเช่นกัน ซึ่งในแต่ละประเทศได้กำหนดระยะเวลาการอบรมไม่เท่ากัน อาจเป็น 3 ปี 4 ปี หรือ 5 ปี ตามแต่นโยบายของแต่ละประเทศ (เช่น มาเลเซียกำหนดไว้ 4 ปี เป็นต้น)


ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  • ราชวิทยาลัยแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูแห่งประเทศไทย
  • สมาคมเวชศาสตร์ฟื้นฟูแห่งประเทศไทย
  • ตำราเวชศาสตร์ฟื้นฟู. นพ.เสก อักษรานุเคราะห์ บรรณาธิการ. พิมพ์โดยสมาคมเวชศาสตร์ฟื้นฟูแห่งประเทศไทย.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]