เลอกอร์บูซีเย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก เลอ คอร์บูสิเอร์)
เลอกอร์บูซีเย
เลอกอร์บูซีเย ในปี ค.ศ. 1964
เกิดชาร์ล-เอดัวร์ ฌานแร-กรี
6 ตุลาคม ค.ศ. 1887(1887-10-06)
โช-เดอ-ฟง, สวิตเซอร์แลนด์
เสียชีวิตสิงหาคม 27, 1965(1965-08-27) (77 ปี)
รอกเกอบรุน-กัป-มาร์ตัง, ฝรั่งเศส
สัญชาติสวิส, ฝรั่งเศส
รางวัลAIA Gold Medal (1961)
ผลงานสำคัญวิลลาซาวอย, พอยซี
วิลลาลาโรเช, ปารีส
น็อทร์ดามดูว์โอ, รงช็อง
ลายมือชื่อ

เลอกอร์บูซีเย (ฝรั่งเศส: Le Corbusier) เป็นนามแฝงของ ชาร์ล-เอดัวร์ ฌานแร-กรี (Charles-Édouard Jeanneret-Gris) สถาปนิก นักผังเมือง มัณฑนากร จิตรกร และนักเขียน เกิดเป็นชาวสวิสในภูมิภาคที่ใช้ภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาทางการ แต่แปลงสัญชาติเป็นชาวฝรั่งเศสเมื่ออายุ 43 ปี เกิดที่เมืองโช-เดอ-ฟง (Chaux-de-Fonds) ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม ค.ศ. 1887 และเสียชีวิตที่เมืองร็อกบรูน-กัป-มาร์แต็ง (Roquebrune-Cap-Martin) เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม ค.ศ. 1965

เขาเป็นหนึ่งในผู้นำร่องของแนวคิดสถาปัตยกรรมสมัยใหม่อันประกอบด้วยสถาปนิกสำคัญ เช่น ลูทวิช มีส ฟัน แดร์ โรเออ, วัลเทอร์ โกรพีอุส, อัลวาร์ อาลโต, แฟรงก์ ลอยด์ ไรต์ และเตโอ ฟัน ดุสบืร์ค (Theo van Doesburg)

ทั้งนี้เลอกอร์บูซีเยยังได้สร้างสรรค์ผลงานด้านการผังเมือง และการออกแบบไว้อีกด้วย เขามีชื่อเสียงในการสร้างแนวคิดหน่วยที่อยู่อาศัย (unité d'habitation, housing unit ) โดยแนวคิดนี้เขาเริ่มคิดค้นในช่วงปี ค.ศ. 1920 เพื่อนำไปสู่การสร้างทฤษฎีของการอยู่อาศัยแบบร่วมกัน (logement collectif, collective lodging)

ประวัติ[แก้]

เลอกอร์บูซีเย (1887-1965) เกิดเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม ค.ศ. 1887 ที่เมืองโช-เดอ-ฟงซึ่งเป็นเมืองเล็ก ๆ ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งที่นั่นเป็นศูนย์กลางของการทำนาฬิกา พ่อเป็นคนสลักและลงยาหน้าปัดนาฬิกา ส่วนแม่เป็นครูสอนเปียโน

พออายุได้ 13 ปี เขาออกจากกิจการของครอบครัวออกเที่ยวไปในยุโรปและเมดิเตอร์เรเนียน ไปอยู่ปารีสและได้ทำงานกับออกุสต์ แปเร ต่อจากนั้น ไปอยู่เยอรมันไปเป็นผู้ช่วยเบเริน และกลับมาเป็นครูที่โรงเรียนโช-เดอ-ฟง เขาได้ไปทำงานเป็นจิตรกรที่ปารีส และได้ทำงานด้านผังเมือง ได้สร้างเมืองใหม่จัณฑีครห์ (Chandigarh) ซึ่งเป็นเมืองหลวงของรัฐปัญจาบ ประเทศอินเดีย

ในปี 1913 ไปอยู่ปารีส ซึ่งในขณะนั้นเป็นศูนย์กลางของศิลปะบาศกนิยม (cubism) และลัทธิเหนือจริง (surrealism) ต่อมาในปี 1930 ได้โอนสัญชาติมาเป็นสัญชาติฝรั่งเศส และเขาได้เสียชีวิตขณะว่ายน้ำเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม ค.ศ. 1965

แนวความคิดในการออกแบบ[แก้]

ตัวเขาไปสร้างศิลปะแบบพิสุทธินิยม (purism) โดยยึดถือความคิดเกี่ยวกับรูปทรงอย่างเดียว พร้อมกับคำพูดของเขาที่ว่า “a house is a machine for living in“ หมายความว่า บ้านพักอาศัยควรสนองประโยชน์ใช้สอยอย่างแท้จริง กอร์บูซีเยมองเห็นว่า บ้านนั้นเป็นผลิตผลของผู้บริโภคเหมือนกับรถยนต์ ซึ่งผลิตชิ้นส่วนออกมาจากโรงงานและด้วยการผลิตทางอุตสาหกรรมนี้ บ้านก็ควรมีชิ้นส่วนที่ผลิตออกมาจากโรงงาน (แล้วเลื่อนออกมาตามสายพานเหมือนชิ้นส่วนของรถยนต์) และด้วยหลักการนี้ก็เข้าครอบงำสถาปนิกตั้งแต่นั้นมา ความจริงแล้วกอร์บูซีเยได้แรงบันดาลใจจากภาพจำลองของเครื่องจักรและอาศัยสิ่งเหล่านี้ไปสร้างสรรค์กระบวนแบบใหม่ ๆ ซึ่งไม่มีการเกี่ยวข้องกับสถาปัตยกรรมแบบดั้งเดิม บ้านของเขาก็ดูคล้าย ๆ เครื่องจักร แต่ละส่วนแสดงออกอย่างชัดแจ้งเหมือนชิ้นส่วนของเครื่องจักร ปล่องระบายอากาศบนหลังคาก็ดูคล้ายปล่องเรือกลไฟ บ้านที่รู้จักกันดีก็คือ วีลาซาวัว (Villa Savoye) นอกกรุงปารีส ซึ่งถูกเปรียบเทียบกับเฮลิคอปเตอร์ที่ตั้งอยู่บนภูมิทัศน์ที่เกี่ยวเนื่องกับคติทางคลาสสิกและยุคเครื่องจักรกล กอร์บูซีเยเป็นผู้สนับสนุนความคิดแบบอนาคตนิยม โดยการแสดงออกให้เห็นสังคมใหม่แทนที่จะให้สถาปัตยกรรมเป็นผู้กำหนดโลกใหม่ เขากลับมีความต้องการที่จะออกแบบสังคมใหม่ด้วยจินตนาการของเขาเอง

กอร์บูซีเยได้เปลี่ยนกระบวนแบบของเขา หลังสงครามเขาก็ทิ้งความตั้งใจที่ชอบผลิตผลของเครื่องจักรที่มีผิวพื้นที่เรียบลื่นและหันไปชอบกระบวนแบบใหม่ซึ่งเขาเรียกว่า brutalism คือความหยาบของผิววัสดุ เมื่อเป็นเช่นนี้จะเห็นว่ากอร์บูซีเยมักทำโครงสร้างแบบ “คอนกรีตเปลือย“ และเขาเห็นว่าอาคารนั้นไม่เหมาะกับคนแต่ควรทำให้คนเหมาะกับอาคารจึงกำหนดสัดส่วนของอาคารให้เหมาะสมแทน

ด้วยแรงบันดาลใจและความคิดสร้างสรรค์ในยุค modern movement เขาได้ออกแบบโบสถ์ที่รงชอง ถือเป็นงานชั้นโบว์แดงของเขา มีลักษณะเล่น ลูกเล่นแบบ plastic quality ของดินเหนียว ใช้รูปทรงที่แรงแทนสัญลักษณ์ทางศาสนา งานนี้มีลักษณะเห็นถึงพลังและมีความเป็นตัวเองได้อย่างมีเอกลักษณ์

กอร์บูซีเยได้สร้างสรรค์ศิลปะหลายแขนง เป็นประติมากร โดยทุกเช้าจะเล่นน้ำทะเลให้คลื่นสัดสาดตัวแล้วจะขึ้นมาทำงานประติมากรรมเสร็จแล้วก็จะเรี่มงานสถาปัตยกรรม เป็นนักผังเมืองมีความคิดกว้างไกลจากยุคที่ตนมีชีวิตอยู่ ว่าควรจัดระบบ จัดโซนของการใช้เมืองอย่างไรจึงจะได้ผล เขาถือความงามเป็นสิ่งสัจจะ เป็นสิ่งที่ดีและหาได้ยาก จะได้มาก็ต้องผ่านการเลือกเฟ้นเท่านั้น

ลักษณะสถาปัตยกรรม 5 ประการ[แก้]

ในสิ่งตีพิมพ์ เลอกอร์บูซีเยได้เสนอความคิดที่สำคัญตั้งแต่สมัยแรก ๆ คือ ลักษณะสถาปัตยกรรม 5 ประการ

    1. ยกพื้นสูงด้วยเสาใต้ถุนอาคาร (piloti) เพื่อป้องกันความชื้น สร้างที่ว่าใต้ถุนสำหรับจอดรถและใช้งานอื่น ๆ
    2. จัดแผนผังพื้นที่ใช้สอยอิสระ (free plan) เพราะใช้เสา-คานของโครงสร้างคอนกรีต
    3. ผนังด้านนอกที่ออกแบบอย่างอิสระ (free facade) ใช้เสารับน้ำหนักแทนผนังอาคารและวางเสริมนอกสุดให้ลึกเข้ามา
    4. สวนหลังคา (roof garden) ทำหน้าที่เป็นระเบียง-สวน-ดาดฟ้าเนื่องจากเป็นหลังคาดาด
    5. ช่องเจาะหน้าต่างยาว (ribbon window) เพื่อรับแสงมากขึ้น

งานนิพนธ์สำคัญ[แก้]

  • Vers une Architecture (Towards a New Architecture)
  • Urbanisme (The City of Tomorrow)
  • L'Art decoratif daujourd'hui
  • La Peinture Moderne
  • le moduler

อ้างอิง[แก้]

ดูเพิ่ม[แก้]