เรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก เรือ ต.992)
ประวัติเรือ ราชนาวีไทย
ต่อที่: อู่ทหารเรือธนบุรี (ต.991)
• อู่ต่อเรือบริษัท มาร์ซัน จำกัด (ต.992 และ ต. 993)
วางกระดูกงูเรือ: 9 ก.ย. 2548
ปล่อยเรือลงน้ำ: 30 เม.ย. 2550 (ต.991)
6 ก.ย. 2550 (ต.992 และ ต. 993)
ขึ้นระวางประจำการ: • 27 พ.ย.50
สถานภาพ: • สังกัด กองเรือตรวจอ่าว กองเรือยุทธการ [1]
• รอการส่งมอบแก่กองทัพเรือไทย (ต.992 และ ต. 993)[2]
ข้อมูลจำเพาะ
ชื่อเรือ: • เรือ ต.991, เรือ ต.992, เรือ ต.993
ประเภท: เรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง
ระวางขับน้ำ: • ปกติ 170 ตัน เต็มที่ 186 ตัน
ความยาว: • 38.7 เมตร
ความกว้าง: • 6.49 เมตร
ความลึกกลางลำ: • 3.8 เมตร
กินน้ำลึก: • 1.813 เมตร
เครื่องจักร: • เครื่องจักรใหญ่ดีเซล (Marine Diesel Engine) จำนวน 2 เครื่อง
• ใบจักรแบบ Fixed Pitch จำนวน 2 พวง
• เครื่องกำเนิดไฟฟ้าดีเซลขนาด 140 กิโลวัตต์จำนวน 2 เครื่อง
ความเร็วสูงสุด: • 27 นอต
รัศมีทำการสูงสุด: • 1,500 ไมล์ทะเล
กำลังพลประจำเรือ: • 29 นาย (นายทหาร 5 พันจ่า 4 จ่า/พลฯ 20)
อาวุธ: • ปืนกลขนาด 30 มม. รุ่น DS-30M 2 กระบอก
• ปืนกลขนาด .50 นิ้ว 2 กระบอก
• เครื่องควบคุมการยิงแบบ Optronic 1 ระบบ

เรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา เป็นชุดเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งที่กองทัพเรือไทยจัดสร้างขึ้นจำนวนทั้งหมด 3 ลำ คือ เรือ ต.991 เรือ ต.992 และเรือ ต.993 โดยมอบหมายให้กรมอู่ทหารเรือเป็นผู้จัดสร้างเรือ ต.991 ณ อู่ทหารเรือธนบุรี ส่วนเรือ ต.992 และ ต.993 กองทัพเรือได้ว่าจ้างบริษัท มาร์ซัน จำกัด เป็นผู้ดำเนินการต่อเรือ

เรือ ต.991 ได้มีพิธีปล่อยเรือลงน้ำที่อู่ทหารเรือธนบุรีเมื่อวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2550[3][4] ส่วนเรือ ต.992 และ ต.993 ทำพิธีปล่อยเรือที่อู่ต่อเรือบริษัท มาร์ซัน จำกัด ในวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2550 [5] และมีกำหนดส่งมอบเรือให้แก่กองทัพเรือในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2550[2]

การจัดสร้างเรือ[แก้]

ความเป็นมาของโครงการ[แก้]

โครงการจัดสร้างเรือตรวจเรือใกล้ฝั่งเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา เป็นโครงการของกองทัพเรือไทย ที่ต่อยอดมาจากโครงการก่อสร้างเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุด เรือ ต.91 - ต.99 ซึ่งเป็นโครงการในพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยมีจุดเริ่มต้นจากพระราชกระแสรับสั่งแก่ผู้บังคับหมู่เรือรักษาการณ์วังไกลกังวล และผู้เข้าเฝ้า ฯ ณ วังไกลกังวล เกี่ยวกับการใช้เรือของกองทัพเรือ ในวันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2545 ความว่า “เรือรบขนาดใหญ่มีราคาแพงและมีค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติงานสูง กองทัพเรือจึงควรใช้เรือที่มีขนาดเหมาะสม และสร้างได้เอง ซึ่งเมื่อสร้างเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุดเรือ ต.91 ได้แล้ว ควรขยายแบบเรือให้ใหญ่ขึ้นและสร้างเพิ่มเติม” กับทั้งได้มีพระราชดำรัสในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม พ.ศ. 2546 เกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียงโดยได้ทรงยกตัวอย่างจากการพึ่งพาตนเองในโครงการต่อเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุดเรือ ต.91 ในอดีตของกองทัพเรือ

ในช่วงเวลานั้น กองทัพเรือได้มีแผนปลดประจำการเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุดเรือ ต.11 ที่ได้รับความช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกา เนื่องจากใช้งานมานานประมาณ 40 ปีแล้ว กองทัพเรือจึงได้นำพระราชดำริฯ มาดำเนินการพัฒนาแบบเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุดใหม่ ให้มีคุณสมบัติครบถ้วน และสอดคล้องกับแนวพระราชดำรัสดังกล่าว โดยขยายแบบเรือจากชุดเรือ ต.91 - ต.99 ให้ใหญ่ขึ้น

กองทัพเรือได้รับอนุมัติจากกระทรวงกลาโหม ให้ดำเนินโครงการจัดหาเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุดใหม่เมื่อวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2546 เพื่อทดแทนเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุดเรือ ต.11 และรัฐบาลโดยคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้กองทัพเรือดำเนินโครงการสร้างเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งพร้อมกัน 3 ลำ ในวงเงินรวมประมาณ 1,912 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการรวม 3 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 - 2550 เพื่อน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เนื่องในวโรกาสทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา ในปี พ.ศ. 2550[6]

การดำเนินการ[แก้]

กองทัพเรือได้กราบบังคมทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงประกอบพิธีวางกระดูกงูเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา เมื่อวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2548 ที่อู่ทหารเรือธนบุรี เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่เรือ

ระบบอาวุธ[แก้]

ปืนกลขนาด 30 มม. รุ่น DS-30M[แก้]

อาวุธปืนหลักของเรือคือปืนกลขนาด 30 ม.ม. รุ่น DS-30M ของบริษัท MSI-DSL จำนวน 2 กระบอก ติดตั้งบริเวณหัวเรือและท้ายเรือ สามารถควบคุมการยิงได้จากเครื่องควบคุมการยิงของเรือ ตัวปืนมีความสามารถในการต่อต้านเรือผิวน้ำขนาดเล็กและอากาศยานได้ มีอัตรายิงที่ 650 นัดต่อนาที ระยะยิงหวังผลต่อเป้าหมายผิวน้ำที่ 10,900 หลา ต่อเป้าหมายอากาศยานที่ 3,000 หลา และมีคุณสมบัติในการลดการปล่อยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าและรังสีอินฟราเรด

ระบบควบคุมการยิง Mirador[แก้]

ระบบควบคุมการยิงซึ่งเป็นระบบที่ใช้ควบคุมปืน 30 ม.ม. นั้น ทางกองทัพเรือได้จัดหาระบบควบคุมการยิง Optronic รุ่น Mirador จากบริษัท Thales ประเทศเนเธอแลนด์ โดยระบบนี้จะประกอบไปด้วยระบบเซนเซอร์ ระบบกล้อง TV สองกล้อง ระบบสร้างภาพจากความร้อน ระบบกล้องในช่วงแสงต่ำ ระบบเลเซอร์วัดระยะและระบบอินฟราเรด ระบบสามารถตรวจจับและติดตามเป้าหมายได้ทั้งสามมิติ โดยในเวลากลางวันสามารถใช้กล้อง TV ในการติดตามและตรวจจับเป้าหมาย และใช้ระบบอินฟราเรดในเวลากลางคืน โดยเลเซอร์วัดระยะที่ปลอดภัยต่อสายตาจะทำการวัดระยะจากเรือไปสู่เป้าหมาย รวมถึงคำนวณขีปนวิถี (ballistic calculations) ทำให้ผู้บังคับการเรือสามารถสั่งยิงอาวุธปืนได้จากห้องบังคับการ[7]

พิธีปล่อยเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา[แก้]

สำหรับเรือ ต. 991 ในวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2550 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินจากพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต มายังอู่ทหารเรือธนบุรี กรมอู่ทหารเรือ เพื่อทรงประกอบพิธีปล่อยเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา เมื่อวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2550[3][4] ส่วนเรือ ต. 992 และเรือ ต. 993 ซึ่งเป็นเรือชุดเดียวกันนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปทรงประกอบพิธีปล่อยเรือทั้งสองลำ เมื่อวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2550 ที่อู่ต่อเรือบริษัท มาร์ซัน จำกัด ตำบลท้ายบ้าน อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ[5][8][9]

อ้างอิง[แก้]

  1. ทร.ทดสอบเรือ ต.991เฉลิมพระเกียรติในหลวง เก็บถาวร 2007-10-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (โพสท์ทูเดย์ 1 กันยายน พ.ศ. 2550)
  2. 2.0 2.1 สำรวจความพร้อม เรือ"ต.992-993" (ข่าวสด 2 กันยายน พ.ศ. 2550)
  3. 3.0 3.1 ข่าวในพระราชสำนัก วันจันทร์ที่ 30 เมษายน พุทธศักราช 2550 เก็บถาวร 2007-09-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์)
  4. 4.0 4.1 พิธีปล่อยเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา (สำนักงานเลขานุการกองทัพเรือ)
  5. 5.0 5.1 กำหนดการพิธีปล่อยเรือ ต.992- ต.993 ในวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2550 (ข้อมูลจากสำนักงานเลขานุการกองทัพเรือ)
  6. ความเป็นมาโครงการโครงการจัดสร้างเรือตรวจเรือใกล้ฝั่งเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ข้อมูลจากสำนักงานเลขานุการกองทัพเรือ
  7. ต.๙๙๑ เรือรบตามพระราชดำริ...ของกองทัพเรือไทย
  8. เรือตรวจการณ์ ต.992-993 “เรือพอเพียง” ตามพระราชดำริ[ลิงก์เสีย] (ผู้จัดการออนไลน์ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2550)
  9. ต.992-ต.993 เพื่อป้องน่านน้ำไทย เก็บถาวร 2007-09-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (กรุงเทพธุรกิจ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2550)

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

ข้อมูลเรือ[แก้]

ธรรมเนียมชาวเรือ (พิธีปล่อยเรือ)[แก้]

ภาพและข่าวพิธีปล่อยเรือ[แก้]