เมืองยอง

พิกัด: 21°11′N 100°22′E / 21.183°N 100.367°E / 21.183; 100.367
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เมืองยอง
เมือง
เมืองยองตั้งอยู่ในประเทศพม่า
เมืองยอง
เมืองยอง
ที่ตั้งเมืองยองในประเทศพม่า
พิกัด: 21°11′N 100°22′E / 21.183°N 100.367°E / 21.183; 100.367
ประเทศ พม่า
รัฐ รัฐฉาน
จังหวัดเมืองพยาก
อำเภอเมืองยอง
เขตเวลาUTC+6:30 (เวลามาตรฐานพม่า)

เมืองยอง (ไทใหญ่: မိူင်းယွင်း; พม่า: မိုင်းယောင်းไทลื้อ: ᩮᨾᩨ᩠ᨦᨿᩬᨦ) เป็นเมืองหนึ่งในรัฐฉาน ประเทศพม่า ขึ้นกับอำเภอเมืองยอง จังหวัดเมืองพยาก เป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน ทั้งเกี่ยวข้องกับพม่า ล้านนา สยาม ลาว และเขตสิบสองปันนาของจีน ผู้ที่อยู่อาศัยในเมืองเรียกว่าชาวลื้อ

คนเมืองยองสืบเชื้อสายมาจากผู้คนที่อพยพมาจากเมืองเชียงรุ่งและเมืองอื่น ๆ ในสิบสองพันนา ซึ่งเป็นคนลื้อหรือไทลื้อ และเมื่ออพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานครั้งใหญ่ในเมืองลำพูนในปี พ.ศ. 2348 คนทั่วไปจึงเรียกว่า คนเมืองยอง เพราะในสมัยนั้นรัฐประชาชาติหรือรัฐชาติ (nation state) แบบตะวันตกยังไม่เกิดขึ้น ในสมัยนั้นผู้คนต่างบ้านหลายเมืองที่มาอยู่ร่วมกัน จึงเรียนขานกันตามชื่อบ้านเมืองเดิม เช่น คนเมืองเชียงใหม่ คนเมืองลำปาง คนเมืองแพร่ คนเมืองน่าน คนเมืองเชียงตุง เป็นต้น ฉะนั้นคนไทยองจึงไม่ใช่คนไทที่เป็นชาติพันธุ์ยอง แต่เป็นคนไทลื้อที่อาศัยอยู่เมืองยอง

ภูมิลักษณะ[แก้]

  • ตัวเมืองตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของเชียงตุง ห่างกันประมาณ 80 กิโลเมตร ห่างจากชายแดนอำเภอแม่สายประมาณ 157 กิโลเมตร
  • ตัวเมืองยองเป็นแอ่งที่ราบกลางหุบเขา มีภูเขาล้อมรอบ มีความอุดมสมบูรณ์ เพราะมีแหล่งน้ำที่ดี นับเป็นเขตเกษตรกรรมที่สำคัญอีกแห่งหนึ่ง ตั้งแต่อดีตจึงมีผู้คนอพยพจากที่ต่าง ๆ เข้ามาตั้งถิ่นฐานตลอดเวลา ภูมิประเทศด้านตะวันตกสูงกว่าด้านตะวันออก แม่น้ำสายสำคัญคือแม่น้ำลาบ แม่น้ำวัง และแม่น้ำยอง ไหลไปทางทิศตะวันออก ไปสู่แม่น้ำโขง

กำแพง ประตู และใจกลางเมืองยอง[แก้]

เขตกำแพงเมืองลักษณะกลมรีตั้งอยู่บนเนินสูง มีคูน้ำคันดิน ที่ตั้งประกอบด้วยประตูเมืองทั้ง 4 ด้าน ดังนี้

นอกจากนั้น ยังมีอีก 3 ประตู ภายในเวียง คือ ประตูดินแดง ประตูหูหูด และประตูผาบ่อง บริเวณใจกลางเมืองมีต้นสรี หรือต้นโพธิ์มีไม้ค้ำโดยรอบซึ่งแสดงถึงความเชื่อเรื่องไม้ค้ำสรี เช่นเดียวกับคนเมืองในล้านนา

ประวัติ[แก้]

การอพยพมาของชาวไทลื้อ[แก้]

คำว่ายองหรือ ญอง อันเป็นชื่อเมืองนั้น ตำนานเมืองยองได้อธิบายว่าเป็นชื่อหญ้าชนิดหนึ่งที่เคยขึ้นในบริเวณเมืองยอง ครั้งหนึ่งมีนายพรานมาจากอาฬวีนคร ได้จุดไฟเผาป่าทำให้หญ้ายองปลิวไปทั่ว เมืองยองมีชื่อเป็นภาษาบาลีว่า มหิยังคนคร (ตำนานเมืองยอง)

เมืองยองเป็นเมืองที่มีตำนานกล่าวถึงพัฒนาการของบ้านเมืองที่เริ่มขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 18 โดยเริ่มจากการตั้งถิ่นฐานของกลุ่มคนพื้นเมือง ซึ่งได้แก่พวกลัวะ

ต่อมาในราวพุทธศตวรรษที่ 19 มีกลุ่มคนไทจากเมืองเชียงรุ่ง นำโดยเจ้าสุนันทะโอรสของเจ้าเมืองเชียงรุ่ง ได้พาบริวารเข้ามามีอำนาจปกครองเมืองยองเหนือคนพื้นเมือง โดยมีทั้งปัจจัยภายในเป็นสิ่งสนับสนุน ได้แก่การผสมผสานระบบความเชื่อและพิธีกรรมที่มีอยู่แต่เดิมกับพุทธศาสนาที่เข้ามาภายหลัง กับได้สร้างความสัมพันธ์กับคนพื้นเมือง

ส่วนปัจจัยภายนอกได้แก่

เมืองยองในยุคต้นของตำนานจึงมีความสัมพันธ์ทางสังคมและวัฒนธรรมกับเมืองเชียงรุ่งอย่างใกล้ชิด

ในกรณีของคนเมืองยองต่อมาคำว่าเมืองได้หายไป คงเหลืออยู่คำว่า "ฅนยอง" ดังนั้น ยองจึงมิใช่ชาติพันธุ์ เมื่อวิเคราะห์จากพัฒนาการและภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ของเมืองยองแล้ว คนยองก็คือคนเผ่าไทลื้อนั่นเอง ในปัจจุบันชาวเมืองยองในรัฐฉานและในจังหวัดน่าน ยังเรียกตัวเองว่า เป็น "คนลื้อเมืองยอง"

ยุคอาณาจักรล้านนา[แก้]

ในยุคที่อาณาจักรล้านนาสมัยราชวงศ์มังรายเจริญรุ่งเรืองและมีอำนาจ เมื่อกองทัพมองโกลหรือพวกฮ่อยกกองทัพเข้ายึดเมืองยองได้และเลยมาตีถึงเชียงแสน

สมัยพญาสามฝั่งแกน (พ.ศ. 1947–1948) กองทัพเชียงใหม่ สามารถขับไล่พวกฮ่อออกจากเชียงแสนและเมืองยองได้ เมืองยองจึงได้หันมาส่งบรรณาการให้กับเชียงใหม่

ในสมัยที่ที่ล้านนามีอำนาจสูงสุด พญาติโลกราช (พ.ศ. 1984–2030) ได้ขึ้นไปปกครองเมืองยองอยู่ระยะหนึ่งในราว พ.ศ. 1985 เพราะตำนานเมืองยอง และตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ได้กล่าวถึงถึงการขยายอำนาจของล้านนาไปจนถึงดินแดนสิบสองพันนา พญาติโลกราช ซึ่งในตำนานได้ระบุว่า พระเจ้าอโศก ได้บูรณะพระธาตุจอมยอง และทรงทะนุบำรุงพระพุทธศาสนาในเมืองยองให้เจริญมั่นคง สันนิษฐานว่าพุทธศาสนาแบบลังกาได้ขึ้นไปเผยแผ่ถึงหัวเมืองต่าง ๆ ทางตอนบนระยะเวลานี้ด้วย

เหตุการณ์ดังกล่าวได้บ่งบอกถึงความสัมพันธ์ระหว่างเมืองยองกับเชียงใหม่ที่มีมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์มังราย ในระหว่างพุทธศตวรรษที่ 19-22 ในยุคที่อาณาจักรขนาดใหญ่ได้ขยายตัวออกไปโดยการทำสงคราม เช่น พม่า จีนหรือสิบสองพันนา ดังนั้น ล้านนาและล้านช้างจึงให้ความสำคัญต่อการเพิ่มกำลังคนซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญในการขยายอำนาจและสร้างอาณาจักร และยังใช้เป็นสิ่งที่แสดงอิทธิพลเหนือดินแดนต่าง ๆ ในปริมณฑลแห่งอำนาจหรือเมืองชายขอบ

จากสภาพที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ เมืองยองจึงอยู่ท่ามกลางการขยายอำนาจและการแสดงอิทธิพลของศูนย์อำนาจต่าง ๆ ตลอดเวลา การอยู่ในฐานะรัฐกันกระทบหรือรัฐกันชน (buffer state) ระหว่างอาณาจักรใหญ่ ต้องปรับตัวโดยการสร้างความสัมพันธ์ในหลายรูปแบบ เพื่อให้เกิดความสมดุลของอำนาจจากฝ่ายต่าง ๆ ที่อยู่รายรอบ ทำให้เมืองยองมีลักษณะเป็นเมืองที่เรียกกันว่า เมืองสามฝ่ายฟ้า เพราะมีความสัมพันธ์ในเชิงบรรณาการ (tribute) และเชิงอำนาจกับจีน พม่าและเชียงใหม่ในเวลาเดียวกัน ในยามทำสงคราม เมืองยองจึงถูกดึงเข้าสู่การสู้รบ โดยถูกเกณฑ์ทั้งเสบียงอาหารและผู้คน ตลอดจนการกวาดต้อนผู้คนไปตั้งถิ่นฐานในที่ต่าง ๆ ครั้งที่มีความสำคัญมากที่สุดคือ

สมัยพระเจ้ากาวิละ[แก้]

ปี พ.ศ. 2348 กองทัพเชียงใหม่สมัยพระเจ้ากาวิละ นำโดยเจ้าอุปราชธัมมลังกา และเจ้าคำฝั้น ได้ยกกองทัพขึ้นไปกวาดต้อนผู้คน จากเมืองยองและเมืองใกล้เคียง โดยเฉพาะหัวเมืองต่าง ๆ ทางตอนบนที่เคยมีความสัมพันธ์กันในด้านสังคมและวัฒนธรรม มาตั้งถิ่นฐานในเมืองลำพูน และเชียงใหม่ ซึ่งถือว่าเป็นนโยบายสำคัญของพระเจ้ากาวิละโดยการสนับสนุนของกรุงเทพฯ เพื่อฟื้นฟูบ้านเมืองต่าง ๆ ในล้านนา ที่ได้รับความเสียหายจากสงครามและการยึดครองของพม่า

ย้อนกลับไประหว่างปี พ.ศ. 2325–2339 พระเจ้ากาวิละและญาติ ได้ตั้งมั่นและรวบรวมผู้คนอยู่ที่เวียงป่าซางเขตเมืองลำพูน จนมีกำลังคนเพียงพอแล้วจึงได้เข้ามาตั้งมั่นและฟื้นฟูเมืองเชียงใหม่ ใน ปี พ.ศ. 2339

พระเจ้ากาวิละยังได้ดำเนินการรวบรวม และกวาดต้อนผู้คนต่อมาอีกหลายครั้งและได้ขยายขอบเขตการกวาดต้อนผู้คนออกไปยังบริเวณอื่นโดยเฉพาะในแถบตะวันออกของแม่น้ำฅง ด้วยเหตุนี้ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาเจ้ากาวิละ ดำรงตำแหน่งเจ้าประเทศราชในปี พ.ศ. 2345 ทำให้พระเจ้ากาวิละเป็นที่ยอมรับของหัวเมืองต่าง ๆ ในล้านนาและหัวเมืองทางตอนบน อีกทั้งได้รับการสนับสนุนจากกรุงเทพฯ มากขึ้นกว่าเดิม

ดังจะเห็นได้จากในคราวที่พระเจ้ากาวิละยกกองทัพไปตีเชียงแสนในปี พ.ศ. 2345–2347 ก็ได้รับการสนับสนุนกำลังทหารจากกรุงเทพฯ เวียงจันทน์ เมืองลำปาง เมืองน่าน และครั้งที่ยกไปตีและกวาดต้อนผู้คนจากเมืองยองครั้งใหญ่ ในปี พ.ศ. 2348 นั้นก็ได้รับการสนับสนุนกองทัพจากเมืองลำปาง เมืองแพร่ เมืองน่าน และเชียงตุง ที่มีกำลังคนนับ 19,999 คน นับเป็นการยกทัพครั้งใหญ่ที่สุดในสมัยพระเจ้ากาวิละ

ในปี พ.ศ. 2347 เมืองเชียงแสนซึ่งเป็นที่มั่นแห่งสุดท้ายของพม่า ที่ใช้เป็นฐานกำลังสำคัญในการควบคุมหัวเมืองต่าง ๆ ในดินแดนทางตะวันออกบริเวณลุ่มแม่น้ำโขงตอนกลาง ได้ถูกกองทัพของพระเจ้ากาวิละตีแตก

ปีถัดมา พ.ศ. 2348 กองทัพจากหัวเมืองต่าง ๆ นำโดยกองทัพเมืองเชียงใหม่ ได้ยกขึ้นไปถึงเมืองยองและได้ "เทครัว" คือนำผู้คนในเมืองยองและหัวเมืองใกล้เคียงเป็นจำนวนมาก มาตั้งถิ่นฐานในเมืองลำพูนและเชียงใหม่ ซึ่งก่อนหน้านี้มีผู้คนเบาบาง การ "เทครัว" จากเมืองยองครั้งนี้ นับเป็นการอพยพผู้คนครั้งสำคัญครั้งหนึ่ง ที่มีการนำมาทั้งระบบของเมือง อันประกอบด้วยเจ้าเมืองยอง บุตร ภรรยา ญาติพี่น้อง ขุนนาง พระสงฆ์ และผู้นำท้องถิ่นระดับต่าง ๆ ตลอดจนไพร่พลจำนวนมากเข้ามาตั้งถิ่นฐานในเมืองลำพูน

เมืองยองเป็นศูนย์อำนาจย่อยของพม่ากับหัวเมืองบริเวณใกล้เคียง สืบเนื่องจากในสมัยพระเจ้าสุทโธธรรมราชา (พ.ศ. 2148-2191) พม่าได้มอบหมายให้เจ้าฟ้าเมืองยองดูแลหัวเมืองต่าง ๆ ถึง 12 หัวเมืองแถบสิบสองปันนาตอนล่างไปจนสุดแม่น้ำโขงที่เมืองเชียงลาบมาก่อน ภายหลังที่เมืองยองยอมสวามิภักดิ์ต่อเชียงใหม่ มีผลทำให้หัวเมืองอื่น ๆ ในบริเวณแถบนี้ยอมสวามิภักดิ์ต่อเชียงใหม่เช่นเดียวกัน ทำให้เชียงใหม่สามารถขยายอิทธิพลเข้าไปถึงสิบสองพันนาและหัวเมืองอื่น ๆ ที่เคยอยู่ภายใต้อำนาจและอิทธิพลของพม่าได้สะดวก

ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่เป็นเอกสารพื้นเมืองเพียงฉบับเดียว ที่ให้รายละเอียดถึงเหตุการณ์ที่กองทัพเชียงใหม่ยกทัพไปกวาดต้อนผู้คนจากเมืองยองในปี พ.ศ. 2348 การที่พระเจ้ากาวิละยกทัพไปตีเมืองยองครั้งนี้ ก็อ้างว่าเป็นการกระทำดังที่กษัตริย์ในราชวงศ์มังรายได้ปฏิบัติมาก่อน การที่เมืองยองได้ยอมสวามิภักดิ์ และถวายสิ่งของต่าง ๆ รวมถึงนางหน่อแก้วเกี๋ยงคำ น้องต่างมารดาของเจ้าฟ้าหลวงเมืองยอง ให้กับเจ้าอุปราชธรรมลังกา พร้อมด้วยผู้คนอีก 19,999 คน และอาวุธต่าง ๆ เช่น ปืนใหญ่ถึง 1,999 กระบอกกับช้างม้าเป็นอันมาก แสดงให้เห็นว่าทางเมืองยองมีกำลังไพร่พลและอาวุธจำนวนไม่น้อย

เป็นที่น่าสังเกตว่า ตำนานเมืองยองไม่ได้กล่าวถึงเรื่องการยอมสวามิภักดิ์แต่อย่างใด แต่ในทางตรงกันข้าม กลับกล่าวถึงการสู้รบอย่างหนักติดต่อกันนานถึง 3 วัน กองทัพของเชียงใหม่ที่ยกมา ยังประกอบด้วยกองทัพของเจ้าเชียงตุงและเจ้าจอมหง (เจ้าเชื้อสายเชียงตุง) การรบครั้งนี้ทำให้จอมหงแม่ทัพคนสำคัญคนหนึ่งของฝ่ายเชียงใหม่เสียชีวิต แต่เมืองยองก็แพ้ต่อกองทัพเมืองเชียงใหม่ ดังที่ตำนานเมืองยองกล่าวถึงเหตุการณ์ครั้งนี้ว่า ..แต่นั้นครั้นรบกัน ได้แพ้ (ชนะ) เมืองยองแล้ว ก็เอากันไปหาบ้านเมืองแห่งเขาหั้นและ.. ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเมืองยองไม่ได้ยอมสวามิภักดิ์โดยดีตามที่ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่กล่าวไว้ และในขณะที่เอกสารที่เขียนโดยชาวอังกฤษชื่อ เจ. จอร์จ สกอตต์ (J. George Scott) ได้กล่าวถึงสงครามครั้งนี้ว่า คนเมืองยองได้ตื่นตระหนกตกใจหนีเข้าป่าไปจำนวนหนึ่ง และอีกจำนวนหนึ่งถูกบังคับและกวาดต้อนไป บ้านเมืองถูกทำลายและได้รับความเสียหายจากกองทัพสยาม

ในขณะที่กองทัพเชียงใหม่พักไพร่พลอยู่ที่เมืองยองในปี พ.ศ. 2348 นั้น ก็ได้ถือโอกาสยกทัพออกไปปราบปรามและกวาดต้อนผู้คนจากหัวเมืองต่าง ๆ ที่อยู่ใกล้เคียงกับเมืองยอง และดินแดนสิบสองพันนา ได้แก่ บ้านยู้ เมืองหลวย เมืองกาย เมืองขัน เชียงขาง เมืองวะ เมืองลวง เมืองหน (หุน) เมืองแช่ เมืองราย (ฮาย) เมืองเจื่อง ท่าล้อ เมืองพาน เมืองม้า เมืองของ เมืองวัง เมืองมาง เมืองขาง เมืองงาด เมืองออ เมืองงิม เมืองเสี้ยว เชียงรุ่ง ทำให้อำนาจของเชียงใหม่ขยายกว้างใหญ่เหมือนในสมัยราชวงศ์มังราย

ครั้งนั้นไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีการแบ่งผู้คนที่กวาดต้อนมาไปตั้งถิ่นฐานในบริเวณใดของเมืองเชียงใหม่หรือลำพูน แต่น่าจะเป็นบริเวณรอบ ๆ ตัวเมืองเชียงใหม่เป็นส่วนใหญ่ เพราะในปัจจุบันมีชื่อหมู่บ้านและชุมชนที่สอดคล้องกับเมืองเดิมกระจายตัวอยู่รอบ ๆ ตัวเมืองเชียงใหม่ เช่น บ้านเมืองวะ บ้านเมืองก๋าย บ้านเมืองเลน บ้านเมืองลวง บ้านวัวลาย บ้านตองกาย บ้านท่าสะต๋อย บ้านเชียงขาง วัดเชียงรุ่ง เป็นต้น จะมีเพียงเจ้าเมืองยองและญาติพี่น้องพร้อมกับไพร่พลเท่านั้นที่ได้รับมอบหมายให้เข้ามาตั้งถิ่นฐานในเมืองลำพูนและมีบทบาทในการบริหารบ้านเมืองร่วมกับกลุ่มเจ้าเจ็ดตน

โดยที่ระหว่างปี พ.ศ. 2325–2347 ก่อนการก่อตั้งเมืองลำพูน พระเจ้ากาวิละยังไม่ได้แต่งตั้งให้ผู้ใดเป็นเจ้าเมืองลำพูน ด้านการปกครองยังคงมีสภาพเป็นส่วนหนึ่งของเมืองเชียงใหม่ จนถึงปี พ.ศ. 2348 พระเจ้ากาวิละเห็นความจำเป็นที่จะต้องจัดตั้งและฟื้นฟูเมืองลำพูนอันเป็นนโยบายการเตรียมกำลังคนเพื่อสนับสนุนเชียงใหม่เมื่อมีการสงคราม นอกจากนี้กำลังคนในเมืองลำพูนก็ลดลงไปในครั้งที่พระเจ้ากาวิละพาไปตั้งที่เมืองเชียงใหม่ในปี พ.ศ. 2339 ครั้งหนึ่งแล้ว ยังสูญเสียไปกับความไม่สงบและสงครามหลายครั้ง เมืองลำพูนจึงอยู่ในสภาพที่จะรองรับผู้คนที่มาจากเมืองยองและเมืองต่าง ๆ นอกจากนี้ เมืองลำพูนยังอยู่ติดกับเชียงใหม่ ทำให้สามารถควบคุมดูแลได้ง่าย กับทั้งยังเป็นการปูนบำเหน็จความชอบแก่ญาติพี่น้องที่ได้ช่วยกันทำศึกสงครามมาเป็นเวลานาน และเป็นการขยายตำแหน่งทางการเมืองเพื่อป้องกันการขัดแย้งในการขึ้นดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ในหมู่พี่น้องตระกูลเจ้าเจ็ดตนในอนาคตอีกด้วย

ดังนั้นเมื่อเดือน 7 (ราวเดือนเมษายนของไทย) ขึ้น 5 ค่ำ ตรงกับวันจันทร์ พ.ศ. 2348 พระเจ้ากาวิละได้มอบหมายให้เจ้าฅำฝั้นและบริวารจากเมืองเชียงใหม่และเจ้าบุญมา น้องคนสุดท้องและบริวารจากเมืองลำปาง ร่วมกับเจ้าเมืองยองพร้อมด้วยบุตรภรรยา น้องทั้ง 4 ญาติพี่น้อง ขุนนาง พระสงฆ์ และไพร่พลจากเมืองยองนับ 19,999 คน เข้ามาแผ้วถางเมืองลำพูนที่ร้างอยู่ จนถึงวันพุธขึ้น 8 ค่ำ จึงเข้ามาตั้งเมืองลำพูนได้ พระสงฆ์จำนวน 198 รูป สวดมงคลพระปริตในที่ไชยยะมงคล 9 แห่งในเมืองลำพูน เจ้าเมืองยอง บุตรภรรยา ญาติพี่น้อง ขุนนาง และพระสงฆ์ระดับสูงได้ตั้งเข้าอยู่บริเวณเวียงยองทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำกวง ส่วนไพร่พลอื่น ๆ ได้แยกย้ายกันออกไปตั้งในพื้นที่ต่าง ๆ ของลำพูน

การที่ชาวยองเข้ามาตั้งถิ่นฐานในเมืองลำพูนอย่างเป็นกลุ่มเป็นก้อนเป็นจำนวนมาก ในระยะแรก กลุ่มเจ้าเจ็ดตนที่ปกครองเมืองลำพูนได้ยินยอมให้เจ้าเมืองยองและญาติพี่น้องมีบทบาทและมีส่วนร่วมในการปกครองบ้านเมือง ซึ่งแตกต่างจากเจ้าเมืองอื่น ๆ ที่อพยพมาในคราวเดียวกัน ต่อมาในปี พ.ศ. 2444–2445 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้มีการสำมะโนประชากรในเมืองลำพูนเป็นครั้งแรก ตรงกับสมัยของเจ้าอินทยงยศโชติ เจ้าผู้ครองนครลำพูนลำดับที่ 9 พบว่ามีประชากรทั้งหมด 199,934 คน ส่วนใหญ่สืบเชื้อสายมาจากผู้คนที่อพยพมาจากเมืองยองและเมืองอื่นที่อยู่ใกล้เคียง

ซึ่งสอดคล้องกับที่ ร้อยโท ดับเบิ้ลยู ซี แมคเคลาน์ (W.C. McCloed) ข้าราชการชาวอังกฤษ ได้รายงานไว้ในช่วงระยะเวลาที่เดินทางเข้ามาในเมืองลำพูนในปี พ.ศ. 2389 ฅนยองหรือชาวยอง (คนลื้อเมืองยอง) จึงเป็นประชากรส่วนใหญ่ของเมืองลำพูน ประชากรมากกว่าร้อยละ 89 สืบเชื้อสายมาจากผู้คนที่อพยพมาจากเมืองยองและเมืองใกล้เคียง เช่น เมืองยู้ เมืองหลวย ในแถบหัวเมืองทางตอนบน ซึ่งปัจจุบันอยู่ในประเทศพม่าและสิบสองพันนาของจีน องค์ประกอบด้านประชากรจึงแตกต่างไปจากหัวเมืองอื่น ๆ ในล้านนา การผสมผสานและการปรับตัวของฅนยองในเมืองลำพูนจึงไม่ใช่เป็นลักษณะของคนส่วนน้อยในสังคม (Minority Group) ดังเช่นกลุ่มชาวไทเขิน ลัวะ กะเหรี่ยง ยางแดง ไทใหญ่หรือเงี้ยว จีน หรือฮ่อ ที่อพยพเข้ามาในช่วงระยะเวลาเดียวกัน ด้วยเหตุนี้ คนยองในเมืองลำพูนจึงยังคงรักษาลักษณะทางสังคมและวัฒนธรรมบางอย่าง เช่นภาษาไว้ได้ค่อนข้างยาวนานจนถึงปัจจุบัน