อำเภอธาตุพนม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก เมืองพนม)
อำเภอธาตุพนม
การถอดเสียงอักษรโรมัน
 • อักษรโรมันAmphoe That Phanom
วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร
คำขวัญ: 
ไหว้พระธาตุพนม ชมวัตถุโบราณ
มันแกวรสหวาน สำราญชายโขง จรรโลงวัฒนธรรม
แผนที่จังหวัดนครพนม เน้นอำเภอธาตุพนม
แผนที่จังหวัดนครพนม เน้นอำเภอธาตุพนม
พิกัด: 16°56′11″N 104°42′34″E / 16.93639°N 104.70944°E / 16.93639; 104.70944
ประเทศ ไทย
จังหวัดนครพนม
พื้นที่
 • ทั้งหมด357.695 ตร.กม. (138.107 ตร.ไมล์)
ประชากร
 (2564)
 • ทั้งหมด81,985 คน
 • ความหนาแน่น229.02 คน/ตร.กม. (593.2 คน/ตร.ไมล์)
รหัสไปรษณีย์ 48110
รหัสภูมิศาสตร์4805
ที่ตั้งที่ว่าการที่ว่าการอำเภอธาตุพนม หมู่ที่ 6
ตำบลธาตุพนม อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม 48110
สารานุกรมประเทศไทย ส่วนหนึ่งของสารานุกรมประเทศไทย

ธาตุพนม เป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดนครพนมที่มีชื่อเสียงและเป็นสถานที่ประดิษฐานพระธาตุพนม มีประวัติศาสตร์เก่าแก่และเกี่ยวข้องกับพัฒนาการสำคัญของพระพุทธศาสนาในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ประกอบด้วย 12 ตำบล 136 หมู่บ้าน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 12 แห่ง

ชื่อ[แก้]

อำเภอธาตุพนมเดิมมีฐานะเป็นเมืองกัลปนาขนาดใหญ่ชื่อ เมืองพนม (พระนม)[1][2] หรือ เมืองธาตุพนม[3][4][5] (ภาษาอังกฤษ: M. Penom,[6] Muong Peunom,[7] Moeuong Dhatou Penom,[8][9] Phapanom[10]) หรือ เมืองภูกำพ้า[11][12] คัมภีร์อุรังคธาตุหลายฉบับรวมทั้งพงศาวดารย่อเวียงจันทน์[13] พงศาวดารเมืองมุกดาหาร[14] พื้นธาตุพระนม พื้นธาตุหัวอก มหาสังกาสธาตุพนมโคดมเจ้า และพงศาวดารล้านช้างออกนามเมืองว่า พระนม (พนม)[15] จารึกฐาปนาอูบสำริดเมืองจันทะปุระของพระขนานโคษออกนามว่า ธาตุประนม[16] ส่วนหลักศิลาเลกบูรณะพระธาตุพนม พ.ศ. 2444 จารึกว่า ธาตุภนม คัมภีร์อุรังคธาตุฉบับวัดอับเปวันนัง บ้านบกท่ง เมืองจำพอน แขวงสะหวันนะเขด แสดงฐานะธาตุพนมว่าเป็นนครใหญ่แห่งหนึ่งโดยเรียกว่า นครต่อนดินพระมหาธาตุเจ้า[17] คัมภีร์เดียวกันบางฉบับบ้างเรียกว่า น้ำท่อนต่อนดินพระมหาธาตุเจ้า หลักฐานบางแห่งออกนามเมืองเป็นสร้อยท้ายนามเมืองมรุกขนครว่า มรุกขนคร บวรพนม ประถมเจดีย์[18] ส่วนคัมภีร์ใบลานเรื่องนิมิตหลักกงแก้วหัวเอิกธาตุเจ้าก้ำเหนือระบุนามต่างกันไปทั้ง เมืองนครโอกาสแก้วเวียงสีพนมธาตุ เวียงธาตุพนมแก้ว เมืองแก้วโอกาสพนมธาตุ เมืองแก้วราชธาตุพนมหลวง เมืองธาตุพนมภูกำพร้า เป็นต้น[19]

คำว่า พนม ตรงกับภาษาเขมร (วนํ, บนาม)[20] แปลว่า ภูเขา[21] แต่คัมภีร์อุรังคธาตุหลายฉบับเขียนว่า พระนม (พฺรนม) ซึ่งมาจากภาษาเขมร (พระ) และภาษาลาว (นม) หมายถึงหน้าอกของพระพุทธเจ้า ชาวลาวออกสำเนียงว่า ปะนม (ประนม) คำนี้ปราฏในหนังสือพงศาวดารของแขวงสุวรรณเขตด้วย[22] สำเนียงคนท้องถิ่นนิยมเรียกนามเมืองว่า เมืองปะนม คู่กับ เมืองละคร (เมืองนครพนม) และเรียกชาวธาตุพนมว่า ไทพนม หรือ ไทปะนม สมัยโบราณเรียกที่ตั้งศูนย์กลางเมืองนี้ว่า กปณคีรี (ภูเพียงกำพร้าเข็ญใจ) บางแห่งเขียนเป็น ภูกามพ้า หรือ ภูก่ำฟ้า คนทั่วไปเรียกว่า ภูกำพร้า[23] ซึ่งเป็นที่ตั้งพระมหาธาตุโบราณอันศักดิ์สิทธิ์ชื่อว่า พระมหาธาตุเจ้าพระนมบุรมมะเตชะเจดีย์ หรือ พระมหาธาตุเจ้าพระนมบุรมมสถาน หรือ พระมหาธาตุเจ้าพระนมบุรมมหัวอกพระพุทธเจ้า หลักฐานบางแห่งเรียกว่า ธาตุภูกำพร้า หรือ อูบมุงภูกำพร้า[24] คนทั่วไปเรียกว่า ธาตุปะนม หรือ ธาตุหัวอก ปัจจุบันคือพระธาตุพนม วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร ซึ่งเดิมเรียกวัดพนม (วัดธาตุหรือวัดพระธาตุ) นับถือแต่โบราณว่าพระมหาธาตุนี้ประดิษฐานพระอุรังคธาตุ (อรกธาตุหรือธาตุหัวอก) ของพระพุทธเจ้า 4 พระองค์ ชาติพันธุ์สองฝั่งโขงนับถือว่าเป็นพระปฐมเจดีย์ของลาว พื้นเวียงจันทน์ยกย่องว่าพระธาตุพนมคือหลักโลกของชาวลาว[25] ส่วนเอกสารประวัติบ้านชะโนดยกย่องว่าธาตุพนมคือเสใหญ่ (หลักเมือง) ของลาว[26]

เอกสารพื้นเมืองพนมระบุว่าก่อนการเข้ามาของพระพุทธศาสนาธรรมยุติกนิกายจากสยาม ท้องถิ่นนี้เชื่อว่าธาตุพนมคือสถานที่ประสูติและบำเพ็ญบารมีของพระโพธิสัตว์เมื่อครั้งเสวยชาติเป็นพระยานกคุ่มไฟ[27] ธาตุพนมจึงถูกเรียกว่า ธาตุนกคุ่ม (พระวฏฺฏกธาตุนกคุ่ม) หรือฮังนกคุ่ม[28] สอดคล้องกับพื้นเมืองจันทะบูลีซึ่งระบุว่าก่อนสร้างพระธาตุพนมได้ปรากฏเฮือนหินหรือปราสาทบนภูกำพร้าก่อนแล้ว ส่วนตำนานขุนบูลมระบุว่าธาตุพนมเป็นเมืองสำคัญ 1 ใน 7 หัวเมืองทางศาสนายุคแรกที่ประดิษฐานพระสารีริกธาตุก่อนหัวเมืองทั้งหลายในสุวรรณภูมิประเทศของลาว[29] แม้แต่อาณาจักรล้านนาก็ยอมรับให้เป็นพระบรมธาตุสำคัญประจำปีสันหรือนักษัตรวอกตามคติชุธาตุด้วย[30] คัมภีร์อุรังคธาตุระบุถึงสถานะของธาตุพนมว่าเป็น พุทธศาสนานคร หรือ ศาสนานคร ตำนานของเมืองจึงถูกเรียกว่า ศาสนานครนิทาน จารึกเจ้าพระยาหลวงนครพิชิตราชธานีศรีโคตรบูรหลวงเรียกนามเมืองว่า สาสสนาพระนม สถานะความเป็นเมืองพุทธศาสนานครของธาตุพนมหมายถึงนครศักดิ์สิทธิ์ซึ่งเป็นศูนย์กลางทางศาสนา จิตวิญญาณ ศรัทธาและความเชื่อของชาวลาวและกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ในพื้นที่ดังกล่าว[31] ถึงขนาดชาวต่างชาติขนานนามว่า เมืองเมกกะของลาว[32] และ มหานครแห่งพระพุทธศาสนาของลาว[33] (Métropole religieuse des Laociens)[34][35]

ประวัติศาสตร์[แก้]

อาณาจักรล้านช้าง[แก้]

ธาตุพนมเป็นเมืองโบราณบริเวณลุ่มน้ำโขงที่มีอาณาเขตไปถึงปากเซบั้งไฟและสายภูซ้างแฮ่ในฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ทั้งครอบคลุมพื้นที่ตาลเจ็ดยอดในตัวเมืองมุกดาหาร[36] เป็นเมืองที่มีพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ โบราณคดี และศาสนาร่วมกับเมืองศรีโคตรบูรและเมืองมรุกขนคร[37] โดยสถาปนาขึ้นก่อนสมัยพระเจ้าฟ้างุ้มมหาราชจะรวบรวมอาณาจักรล้านช้างให้เป็นปึกแผ่นในก่อน พ.ศ. 1896 หรือก่อนพุทธศตวรรษที่ 18-19 และสถาปนาก่อนเมืองนครพนมกับเมืองมุกดาหาร นับเป็นเมืองเก่าแก่ที่สุดในบรรดาหัวเมืองลาวแถบจังหวัดนครพนมและภาคอีสาน มีการค้นพบหลักฐานทางโบราณคดีตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์บริเวณตำบลกุดฉิม โบราณวัตถุในอารยธรรมหินตั้ง และพบหลักฐานทางประวัติศาสตร์สมัยศรีโคตรบูรหรือก่อนทวารวดีอีสานมากกว่า 10 แห่ง จนถึงหลักฐานสมัยจามปา ขอม และล้านช้างทั้งในตัวเมืองและปริมณฑล นักโบราณคดีและนักการศาสนาสันนิษฐานว่าธาตุพนมเป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาเถรวาทที่สำคัญแห่งหนึ่งของสุวรรณภูมิและภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง เนื่องจากค้นพบจารึกใบเสมาศรีโคตรบูรที่วัดศิลามงคล ตำบลพระกลางทุ่ง ปรากฏคาถา เย ธมฺมา เช่นเดียวกับนครปฐม อู่ทอง และซับจำปา[38] คัมภีร์อุรังคธาตุนิทานระบุถึงตำนานเมืองว่าถูกสร้างขึ้นโดยพระยา 5 นคร บางฉบับระบุว่า 6 นครหลังการสร้างอูบมุงภูกำพร้าสำเร็จ พระยาทั้ง 5 ให้คนนำหลักหิน หินรูปอัสสมุขี หินรูปม้าวลาหก และหินรูปม้าอาชาไนมาปักไว้ตามทิศต่าง ๆ ของอูบมุงเพื่อเป็นหลักหมายเมืองมงคลในชมพูทวีป[39] ยุคแรกเมืองธาตุพนมประด้วยหมู่บ้านข้าโอกาส 7 แห่งและมีประชากรไม่น้อยกว่า 3,000 คน พัฒนาการความเป็นเมืองเริ่มชัดเจนมากขึ้นในสมัยพระยาสุมิตตธัมมวงศา ในสมัยล้านช้างปรากฏหมู่บ้านข้าโอกาสมากกว่า 30 แห่ง หลายแห่งตั้งอยู่ฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงแต่มีศูนย์กลางปกครองที่บ้านธาตุพนมในฝั่งขวาแม่น้ำโขง ภายในตัวเมืองมีกำแพง 3 ชั้นล้อมรอบเวียงพระธาตุโดยมีวัดหัวเวียงรังษีตั้งอยู่ทิศหัวเมือง[40] สันนิษฐานว่าเดิมคือวัดสวนสวัร (วัดสวรสั่งหรือวัดสมสนุก) ที่ถูกสร้างในสมัยล้านช้างตอนต้นตามคัมภีร์อุรังคธาตุ[41]

สมัยโบราณธาตุพนมถูกรายล้อมด้วยเวียงข้าพระธาตุ 4 แห่งคือเวียงปากเซหรือเมืองกะบอง (ปัจจุบันคือเมืองเซบั้งไฟของลาว) เวียงปากก่ำกรรมเวรหรือเมืองปากก่ำ (ปัจจุบันคือตำบลน้ำก่ำ อำเภอธาตุพนม)[42] เวียงขอมกระบินหรือเมืองกบิล (ปัจจุบันคืออำเภอนาแก)[43][44] และเวียงหล่มหนองหรือเมืองมรุกขนคร (ปัจจุบันคือตำบลพระกลางทุ่ง นักวิชาการบางกลุ่มเชื่อว่าคือบ้านดอนนางหงส์ท่า)[45] เนื่องจากเป็นเมืองที่กษัตริย์อาณาจักรศรีโคตรบูรและกษัตริย์อาณาจักรล้านช้างถวายเป็นเขตแดนกัลปนาแด่พระธาตุพนมสืบต่อมาไม่ขาดสาย[46][47] นัยหนึ่งธาตุพนมมีสถานะเป็นเมืองข้าโอกาสหยาดทานหรือเมืองข้อยโอกาส เจ้านายปกครองเมืองจึงมีสถานะพิเศษต่างจากเจ้าเมืองทั่วไป จารึกผูกพัทธสีมาวัดพระธาตุพนมของเจ้าพระยาจันทสุริยวงสาเจ้าเมืองมุกดาหารเรียกตำแหน่งผู้ปกครองธาตุพนมว่า ขุนโอกาส (ขุนเอากฺลาษฺ)[48] ส่วนคัมภีร์อุรังคธาตุฉบับบ้านเชียงยืน กำแพงนครเวียงจันทน์ เมืองจันทะบูลีอย่างน้อย 2 ฉบับเรียกว่า เจ้าโอกาส (เจ้าโอกาด)[49][50] หมายถึงผู้เป็นใหญ่แห่งข้าโอกาสพระธาตุพนม สถานะดังกล่าวคล้ายตำแหน่งขุนสัจจพันธคีรีรัตนไพรวัน เจติยาสันคามวาสี นพคูหาพนมโขลน[51] หรือ ขุนโขลน เจ้าเมืองพระพุทธบาท[52] (เมืองสุนาปรันตประเทศ) หัวเมืองกัลปนาชั้นจัตวาของสยาม[53] สถานะเมืองคล้ายระบบการปกครองกรุงจัมปา[54] เมืองอุกกัฏฐะ[55] เมืองเสตัพยะ[56] หมู่บ้านโอปาสาทะ[57] หมู่บ้านขาณุมัต[58] และหมู่บ้านสาลวติกา[59] ที่พระเจ้าพิมพิสารและพระเจ้าปเสนทิโกศลพระราชทานแก่เจ้าหรือพราหมณ์ให้เป็นส่วนแห่งพรหมไทย (พรหฺมเทยฺย) ในสมัยพุทธกาล สมัยขอมปรากฏตำแหน่งผู้ปกครองในฐานะเจ้าเมืองกัลปนาคล้ายกันคือ โขลญพล (โขฺลญฺ วล กํมฺรเตงฺ อญฺ) เช่น เมืองลวปุระ (ลพบุรี) เมืองสุกโขทัย เป็นต้น[60] สมัยอาณาจักรล้านช้างปรากฏตำแหน่งผู้ปกครองในสถานะเดียวกัน เช่น กวานนาเรือเมืองนาขาม เมืองหินซน และเมืองซนูแถบถ้ำสุวรรณคูหาในจังหวัดหนองบัวลำภูช่วงรัชกาลพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชมหาราช เป็นต้น[61][62] บันทึกการเดินทางในลาวของเอเจียน เอมอนิเย ระบุว่าผู้ปกครองธาตุพนมมีอำนาจสิทธิ์ไม่ขึ้นกับเมืองใดและเป็นอนุชาเจ้าเมืองมุกดาหาร ใบลานพื้นเมืองเวียงจันทน์อย่างน้อย 3 ฉบับระบุว่าผู้ถูกกษัตริย์เวียงจันทน์สถาปนาให้รักษาธาตุพนมเป็นกุมารเชื้อสายเดียวกับกษัตริย์เวียงจันทน์ทั้ง 3 พระองค์คือพ่ออีหลิบ สมเด็จพระเจ้านันทเสน และสมเด็จพระเจ้าอินทวงศ์[63][64][65]

ธาตุพนมมีภูมิศาสตร์การวางผังเมืองขนานแม่น้ำโขงหันหน้าไปทิศตะวันออกตามคติจักรวาลวิทยาในพระพุทธศาสนา ประกอบด้วยกำแพงล้อมรอบ 3 ชั้น แบ่งพื้นที่สำคัญเป็น 3 ส่วน ส่วนแรกคือหัวเมืองทางทิศเหนือเป็นที่ตั้ง วัดหัวเวียง (วัดหัวเวียงรังษี) และชุมชนข้าโอกาสเดิมคือบ้านหัวบึง บ้านหนองหอย เป็นต้น ส่วนตัวเมืองคือที่ตั้งพระธาตุพนมซึ่งเป็นตัวแทนอำนาจพุทธจักร จารึกวัดพระธาตุพนมระบุว่าวัดนี้เป็นที่ประทับของพระสังฆราชและสงฆ์ชั้นปกครองเรียกว่าเจ้าด้านทั้ง 4 นอกจากนี้ยังเป็นที่ตั้งหอเจ้าเฮือน 3 พระองค์ตัวแทนอำนาจผีบรรพบุรุษซึ่งแต่เดิมตั้งอยู่ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ[66] เป็นที่ตั้งบึงธาตุซึ่งเป็นแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์และเป็นที่ตั้งกำแพงเมืองโบราณทิศตะวันออกริมฝั่งโขงตัวแทนอำนาจการปกครองของอาณาจักร ส่วนทิศตะวันตกเป็นที่ตั้งชุมชนข้าโอกาสเดิมคือบ้านดอนกลางหรือบ้านดอนจัน ส่วนท้ายเมืองทางทิศใต้เป็นที่ตั้งแม่น้ำก่ำซึ่งคัมภีร์อุรังคธาตุระบุว่าตอนใต้ลำน้ำเคยเป็นราชสำนักกษัตริย์ที่มาร่วมสร้างพระธาตุพนม ทั้งเป็นที่ตั้งชุมชนข้าโอกาสเดิมคือบ้านน้ำก่ำยาวไปถึงบังทรายและตาลเจ็ดยอดในเขตตัวเมืองพาลุกากรภูมิและมุกดาหาร ด้านการปกครองคัมภีร์อุรังคธาตุและพื้นธาตุพนมระบุว่าเค้าอุปถากพระธาตุพนมองค์แรกคือ พระยานันทเสน (ใบลานบางแห่งระบุนามว่าพระยาอนันทเสนหรือพระยาอินทเสนหรือพระยานันทเสนา) กษัตริย์เมืองศรีโคตรบูร ในราวพุทธศตวรรษที่ 1-3 หรือ 3-6[67] จากนั้นพระองค์แต่งตั้งเจ้า 3 พี่น้องซึ่งเป็นราชนัดดาให้ปกครองข้าโอกาสพระธาตุพนมโดยแบ่งเป็น 3 กองคือ พระยาสหัสสรัฏฐา (เจ้าแสนเมือง) ปกครองนอกกำแพงพระมหาธาตุ พระยาทักขิณรัฏฐาˈ (เจ้าเมืองขวา) ปกครองในกำแพงพระมหาธาตุ และ พระยานาคกุฏฐวิตถาร (เจ้าโต่งกว้าง)[68] ปกครองฝั่งซ้ายน้ำโขงตั้งแต่ปากน้ำเซไหลตกปากน้ำก่ำ[69] เจ้านายทั้ง 3 ถูกยกย่องเป็นมเหสักหลักเมืองธาตุพนมสืบถึงปัจจุบันและนับถือว่าเป็นวิญญาณบรรพบุรุษรุ่นแรกของข้าโอกาสพระธาตุพนมเรียกว่า เจ้าเฮือนทั้ง 3 หรือ เจ้าเฮือน 3 พระองค์ ต่อมาคัมภีร์อุรังคธาตุผูกเดียวระบุว่าธาตุพนมถูกอุปถากโดย พระยาปะเสน หรือพระยาปัสเสน สมัยพระยาสุมิตธรรมวงศาเจ้าเมืองมรุกขนครพระองค์แต่งตั้ง หมื่นลามหลวง (หมื่นหลวงหรือหมื่นฮาม) เป็นเค้าอุปถากโดยมีนายด่านนายกองช่วยปกครอง ทรงพระราชทานทรัพย์สินจำนวนมากเป็นเครื่องตอบแทนพร้อมสละข้าโอกาส 3,000 คนเพื่อสร้างเมือง สมัยพระยาสุบินราชพระองค์โปรดให้ หมื่นมาหารามหลวง และ พวกเฮือนหิน เป็นเค้าอุปถาก รัชกาลสุดท้ายของเมืองมรุกขนครคือพระยานิรุฏฐราชธาตุพนมถูกปกครองโดย พระยามหาทาดตุเจ้าพระนมบุรมมเจดีเจ้า[70]

หลังอาณาจักรขอมเสื่อมอำนาจในสมัยล้านช้างตอนต้นคือรัชกาลพระเจ้าโพธิสาลราช (พ.ศ. 2063-2090) ธาตุพนมถูกปกครองโดยเจ้านายข้าหัตบาสใกล้ชิดพระองค์ซึ่งเป็นชาวเมืองส่วยหรือเมืองเสวยและถูกส่งมาจากราชสำนักหลวงพระบางในตำแหน่ง พันเฮือนหิน (พันเฮือหีน) พระองค์พระราชทานบริวารติดตามให้ 30 คนเรียกว่ากะซารึม 30 ด้ามขวาน ส่วนขุนพันกินเมืองทั้งหลายส่งบริวารเพิ่มอีก 300 คน แสดงให้เห็นว่าผู้ปกครองธาตุพนมสมัยนั้นมีอำนาจมาก ขณะเดียวกันยังแต่งตั้ง พันซะเอ็ง (ข้าชะเอ็งหรือข้าราชเอ็ง) พี่ชายพันเฮือนหินให้ร่วมปกครองด้วย[71] ต่อมาพันเฮือนหินกลับคืนไปหลวงพระบางแล้วทำหน้าที่อัญเชิญเครื่องสักการะบูชาของพระองค์มานมัสการพระธาตุพนมในวันสังขานปีใหม่ สมัยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชมหาราช (พ.ศ. 2091-2114) พระองค์เสด็จมาบูรณะพระธาตุพนมและโปรดแต่งตั้ง พระยาธาตุพระนม หรือ พระยาพระมหาธาตุเจ้า[72] (พญาธาตุ)[73] ขึ้นรักษานครต่อนดินพระมหาธาตุพนมโดยมี พระยาทั้ง 4 เป็นผู้ช่วย[74] ถัดนั้นรัชกาลพระเจ้าวรวงศาธรรมิกราช (พ.ศ. 2140-2065) เจ้าพระยาหลวงนครพิชิตราชธานีสีโคตรบูรหลวงกษัตริย์เมืองนครได้เสด็จบูรณะพระธาตุพนม[75] พระองค์พระราชทานโอวาทแก่ พระยาทาด (พระยาธาด) พร้อมแต่งตั้งพระยาทั้ง 2 คือ พระยาทด และ พระยาสีวิไซ ให้ร่วมปกครองข้าโอกาส ระบบการปกครองพิเศษของล้านช้างในรูปแบบเจ้าเฮือนอาจพัฒนาขึ้นในยุคนี้ จากนั้นพื้นธาตุพระนมฉบับวัดใหม่สุวันนะพูมารามเมืองหลวงพระบางระบุว่ารัชกาลพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราชแห่งนครเวียงจันทน์ (พ.ศ. 2181-2238) พระองค์โปรดพระราชทานเขตดินชั้นนอกถวายพระธาตุพนมพร้อมแต่งตั้ง พระเจ้าเฮือนทั้ง 3 หรือ พระยาเจ้าทั้ง 3 ปกครองข้าโอกาสคือ เจ้าตนปู่เลี้ยง (เจ้าตันปู่เริง) เป็นใหญ่แก่ข้าโอกาสภายในพระมหาธาตุ[76] ส่วนทิศใต้และทิศเหนือโปรดให้ พระยาเคาะยดทะราดธาดพระนม (หมื่นเคาะ) และ พระยาเคายดทะราดธาดพระนม (หมื่นเคา) ปกครอง[77] ปลายรัชกาลของพระองค์เจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็กสังฆราชเวียงจันทน์อพยพผู้คนจากนครหลวงเวียงจันทน์บางส่วนมาถวายเป็นข้าพระธาตุจำนวนมาก พร้อมทั้งต่อเติมเสริมยอดพระธาตุพนมให้สูงขึ้น ตำนานบ้านดงนาคำหมู่บ้านข้าโอกาสฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงระบุว่าเจ้าราชครูแต่งตั้งให้สงฆ์ฝ่ายปกครอง 4 รูปดูแลวัดวาอาราม 4 ทิศในเขตกัลปนาของเมือง และขออนุญาตผู้ปกครองกองข้าโอกาสทั้ง 3 กองให้นำพาชาวเวียงจันทน์แยกย้ายไปตั้งหมู่บ้านใหม่เพื่อให้ข้าโอกาสมีจำนวนเพิ่มขึ้นคือ แสนกลางน้อยศรีมุงคุล หัวหน้าข้าโอกาสนำพาไพร่พลตั้งบ้านหมากนาว[78] แสนพนม นำพาไพร่พลตั้งบ้านดงใน แสนนามฮาช (แสนนาม) นำพาไพร่พลตั้งบ้านดงนอก นับถือกันว่าทั้ง 3 ท่านเป็นบรรพบุรุษข้าโอกาสพระธาตุพนมทั้ง 2 ฝั่งโขงสืบถึงปัจจุบัน[79]

พ.ศ. 2256 หลังสมเด็จพระเจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูรสถาปนาอาณาจักรจำปาสัก ธาตุพนมกลายเป็นหัวเมืองขอบด่านต่อแดนระหว่างอาณาจักรเวียงจันทน์และอาณาจักรจำปาสัก โดยมีเมืองละคร (นครพนม) ซึ่งขึ้นกับเวียงจันทน์และเมืองบังมุก (มุกดาหาร) ซึ่งขึ้นกับจำปาสักทั้งสองเมืองร่วมกันปกครองธาตุพนมโดยแบ่งเขตเมืองที่หน้าลานพระธาตุพนม ลักษณะการแบ่งเขตแดนดังกล่าวคล้ายพื้นที่พระธาตุศรีสองรักเมืองด่านซ้ายซึ่งเป็นเมืองขอบด่านระหว่างอาณาจักรล้านช้างกับอยุธยา[80][81] อย่างไรก็ตามนครพนมมักมีอำนาจแต่งตั้งเจ้านายชั้นสูงมาปกครองธาตุพนมเนื่องจากมุกดาหารเป็นเมืองใหม่และมีอำนาจน้อยกว่า จารึกลานเงินบรรจุในพระธาตุพนมช่วงปลายรัชกาลพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราชหรือพระยาจันทสีหราช (พระยาเมืองแสน) ระบุว่าเจ้านครวรกษัตริย์ขัติยราชวงศา (พ.ศ. 2238) ได้สิทธิพระพรนามกรให้ แสนจันทรานิทธสิทธิมงคลสุนทรอมร สันนิษฐานว่าแสนจันทรานิทธคือผู้ปกครองธาตุพนมในสมัยนั้น ราวปลายอยุธยาเมืองธาตุพนมที่มีประชากรเบาบางถูกฟื้นฟูอีกครั้งโดยกลุ่มตระกูลเจ้านายราชวงศ์เวียงจันทน์คือ เจ้าพระยาหลวงบุตรโคตรวงศากวานเวียงพระนม (คำอยู่ รามางกูร)[82] หรือเจ้าพระยาเมืองฮามนามฮุ่งศรี[83] โอรสสมเด็จพระเจ้าสิริบุญสารแห่งเวียงจันทน์ (พ.ศ. 2294-2322) ได้อพยพไพร่พลมาตั้งรกรากที่ธาตุพนม[84] หลังสงครามเวียงจันทน์-ธนบุรีสมเด็จพระเจ้าอินทวงศ์และสมเด็จพระเจ้านันทเสนเสด็จมาตั้งเมืองธาตุพนมแล้วแต่งตั้ง เจ้าพระรามราชรามางกูรขุนโอกาส (ราม รามางกูร)[85][86] บุตรคนโตของเจ้าพระยาหลวงบุตรโคตรเป็นผู้ปกครองธาตุพนมซึ่งพื้นเมืองพนมระบุพระนามเต็มว่า พระอาชญาหลวงเจ้าพระรามราชปราฑีสีโสธัมมราชาสหัสสคามเสลา มหาพุทธปริสัทธปัวรปัตติโพธิสัตขัตติยวรราชวงสาพระหน่อรามาพุทธังกูร เจ้าโอกาสศาสนานครพระมหาธาตุเจ้าพระนมพีพักบุรมมหาเจติยวิสุทธิรัตตนบุรมมสถาน คนทั่วไปเรียกว่า เจ้าพ่อขุนราม[87][88][89] หรือ เจ้าพ่อขุนโอกาส (พ.ศ. 2291-2371) โดยคัมภีร์ใบลานเรื่องพื้นตำนานธาตุเจ้ามหาพนมหัวอกฉบับวัดหัวเวียงรังษีระบุพระนามว่ายาหลวงลามลาสหรือพระลามลาสหรือพระรามลาชโพธิสัตว์เจ้าตนเสวยเมืองพระนมธาตุองค์หลวงล้ำ[90]

รัชกาลสมเด็จพระเจ้าอนุวงศ์ (พ.ศ. 2348-2371) พระองค์เสด็จมาบูรณะพระธาตุพนม[91] ร่วมกับเจ้าเมืองนครพนมและเจ้าเมืองมุกดาหารแล้วแต่งตั้งบุตรเจ้าพระรามราชคือ เจ้าพระรามราชปราณีศรีมหาพุทธปริษัท (ศรี รามางกูร) หรืออาดยาหลวงกลางน้อยศรีวรมุงคุลขึ้นปกครองธาตุพนมต่อจากพระบิดา คัมภีร์อุรังคธาตุนิยมออกนามว่าแสนกางน้อยศรีมุงคุรร์หรือแสนคานน้อยสีมุงคุร[92][93][94][95] คัมภีร์อุรังคธาตุบางฉบับระบุว่าถูกแต่งตั้งโดยเจ้าอุปราชนองแห่งเวียงจันทน์ (พ.ศ. 2273-2322)[96] ซึ่งเกิดจากความคลาดเคลื่อนของจุลศักราช เจ้านายกลุ่มนี้และทายาทมีอำนาจสืบมาจนสมัยหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบบมณฑลเทศาภิบาลและกลายเป็นตระกูลเก่าแก่หลายตระกูลของอำเภอธาตุพนมในปัจจุบัน เช่น บุคคละ ประคำมินทร์ จันทศ (จันทร์ทศ) จันทนะ ธีระภา ชุณหปราณ มันทะ (มันตะ) สารสิทธิ์ ลือชา (ฤๅชา) ทามนตรี พุทธศิริ รัตโนธร ครธน สุมนารถ มนารถ อุทา สายบุญ วงษ์ขันธ์ (วงศ์ขันธ์) ทศศะ เป็นต้น กลุ่มตระกูลเหล่านี้มีบทบาทสูงในการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาในเมืองธาตุพนมและวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร นายกองและกรมการธาตุพนมยุคต่อมาล้วนมีความสัมพันธ์ทางเครือญาติกับตระกูลขุนโอกาสเดิมทั้งสิ้น อย่างไรก็ตามพื้นเมืองพนมระบุลำดับพงศาวดารผู้ปกครองธาตุพนมก่อนการมีอำนาจของราชวงศ์เวียงจันทน์โดยละเอียดว่ามีจำนวนไม่น้อยกว่า 40 องค์จากเชื้อสายเมืองศรีโคตรบูรซึ่งบางกลุ่มสืบทางเจ้าเฮือน 3 พระองค์[97] ในรัชกาลเจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์ (พ.ศ. 2348-2371) เกิดปัญหาการรุกรานแย่งชิงข้าเลกพระธาตุพนมตลอดมา เนื่องจากสยามมอบอำนาจเจ้าเมืองนครราชสีมาและกาฬสินธุ์มาสักเลกข้าพระธาตุจนเบาบาง ความเดือดร้อนวุ่นวายกลายเป็นชนวนเหตุหนึ่งในการก่อสงครามกอบกู้เอกราชของเจ้าอนุวงศ์และอานามสยามยุทธ์[98][99]

รัชกาลที่ 5 ถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง[แก้]

ปัญหาการแย่งชิงข้าเลกพระธาตุยืดเยื้อถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ. 2432 หลังสงครามเวียงจันทน์เจ้าเมืองนครพนม มุกดาหาร และสกลนครต่างแย่งชิงข้าเลกพระธาตุไปเป็นของตนหนักขึ้น[100] ขณะนั้นธาตุพนมขึ้นกับหัวเมืองลาวฝ่ายเหนือมีพระยาสุริยเดชวิเศษฤทธิ์ (กาจ สิงหเสนี) เป็นข้าหลวงใหญ่ตั้งที่หนองคาย ต่อมา พ.ศ. 2434 จึงขึ้นกับหัวเมืองชั้นนอกแขวงลาวพวนมีพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม เป็นข้าหลวงต่างพระองค์สำเร็จราชการตั้งอยู่หนองคาย เอกสารบันทึกการเดินทางในลาวสมัยอาณานิคมฝรั่งเศสระบุว่าก่อน พ.ศ. 2424 ธาตุพนมเป็นเมืองอิสระจากอำนาจรัฐ ความขัดแย้งของเจ้านายท้องถิ่นเป็นเหตุให้ธาตุพนมขอความคุ้มครองจากนครพนมและมุกดาหาร ข้าเลกพระธาตุจำนวนมากถูกแย่งไปขึ้นกับ 2 เมืองนี้ ธาตุพนมไม่สามารถตั้งเจ้าเมืองและยกขึ้นเป็นเมืองได้ชั่วระยะหนึ่ง ชาวธาตุพนมต่างไม่พอใจต่อสถานการณ์ดังกล่าว ข้าเลกพระธาตุที่มีจำนวนมหาศาลเหลือราว 2,000 คน ภายหลังสยามพยายามแทรกแซงและจัดการปัญหาดังกล่าว เอกสารพื้นเมืองพนมระบุว่าชนวนวิวาทเจ้านายธาตุพนมเกิดจากการแย่งชิงกันขึ้นปกครองข้าโอกาสของพระอัคร์บุตร (บุญมี บุคคละ) พระอุปราชา (เฮือง รามางกูร) และพระปราณีศรีมหาพุทธบริษัท (เมฆ รามางกูร) ทั้ง 3 เป็นบุตรหลานขุนโอกาสเดิม[101] คัมภีร์อุรังคธาตุฉบับม้วนอานิสงส์และพื้นธาตุหัวอกระบุถึงปัญหาดังกล่าวว่ามีมาตั้งแต่สมัยพระยานิรุฏฐราชก่อนเมืองมรุกขนครล่มสลาย[102] การชิงข้าเลกพระธาตุพนมไปใช้สอยในราชการของพระองค์เป็นสาเหตุสำคัญในการล่มสลายของมรุกขนคร[103] หลังสงครามเวียงจันทน์ธาตุพนมในฐานะหมู่บ้านขนาดใหญ่ที่รายรอบด้วยหมู่บ้านขนาดเล็กมีผู้คนอาศัยเบาบางจนพระธาตุไม่ได้รับการดูแล ศูนย์กลางการปกครองคงตั้งอยู่บ้านธาตุพนม (B. Panom)[104] ขณะนั้นคนท้องถิ่นเห็นว่าธาตุพนมมีฐานะเป็นเมืองดังหลักฐานในเอกสารแผนที่อินโดจีนของฝรั่งเศสมากกว่า 3 ฉบับยังคงเรียกว่าเมืองพนมหรือเมืองธาตุพนม รัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสยามจัดการปกครองธาตุพนมไม่เต็มที่เนื่องจากเหตุการณ์ ร.ศ. 112 (พ.ศ. 2436) ซึ่งไม่สามารถตั้งค่ายหรือกองทหารในเขต 25 กิโลเมตรจากน้ำโขงมาทางฝั่งขวา เจ้านายท้องถิ่นปกครองกันเองตามธรรมเนียมเดิมและบางส่วนฝักใฝ่อำนาจฝรั่งเศสเช่นเดียวกับเจ้าเมืองนครพนม[105] พาลุกากรภูมิ และเรณูนคร[106] เจ้าเมืองธาตุพนมในเอกสารต่างชาติถูกระบุครั้งสุดท้ายในบันทึก ดร.เปแนซ์ หมอชาวฝรั่งเศสเมื่อ พ.ศ. 2425 จารึกบูรณะพระธาตุพนมระบุถึงผู้ปกครองธาตุพนมก่อนถูกยุบเป็นกองบ้านธาตุพนม นัยว่าถูกลดอำนาจตั้งแต่หลังสงครามเจ้าอนุวงศ์และมีอายุยืนมาถึงรัชกาลที่ 5 คือ พระปราณีศรีมหาพุทธบริษัท (เมฆ รามางกูร) หรืออาดยาหลวงปาฑี (ก่อน พ.ศ. 2444)

หลังยุคเสื่อมอำนาจของกลุ่มขุนโอกาสเดิมตำนานบ้านชะโนดซึ่งเป็นหมู่บ้านข้าโอกาสพระธาตุพนมเก่าและพื้นเมืองพนมระบุว่า ธาตุพนมถูกปกครองจากนายกองข้าพระธาตุที่สำเร็จวิชาการปกครองจากกรุงเทพฯ อย่างน้อย 3 ท่านซึ่งเป็นเจ้านายท้องถิ่นและเป็นญาติกลุ่มขุนโอกาสเดิมคือ พระอามาตย์ราชวงสา (อำนาจ รามางกูร) หรือกวานอามาถย์ ท้าวสุริยะราชวัตร (อ้วน รามางกูร) หรือท้าวสุริยะ และท้าวสุริยะราชวัตร (คูณ รามางกูร) หรือท้าวราชวัตริ์ ซึ่งตั้งรกรากอยู่บ้านชะโนดเมืองมุกดาหาร[107][108] จากนั้นกลุ่มนายกองถูกเปลี่ยนสายมายังบ้านธาตุพนมอีกครั้งคือ ท้าวอุปละ (มุง รามางกูร) ใน พ.ศ. 2417 ปัญหาแย่งชิงข้าเลกพระธาตุพนมดำเนินตลอดมาจนถึงก่อนปฏิรูปการปกครองเป็นระบบมณฑลเทศาภิบาล (พ.ศ. 2444) หลังสยามเข้ามาจัดการหัวเมืองลาว[109] เอกสารฝ่ายสยามเรียกธาตุพนมว่า บ้านทาษพนม หมายถึงหมู่บ้านแห่งข้าพระธาตุพนม พ.ศ. 2422 สยามยกฐานะบ้านธาตุพนมขึ้นเป็น กองข้าพระธาตุพนม หรือ กองบ้านทาษพนม โดยแต่งตั้งนายกองเชื้อสายท้าวอุปละ (มุง) ทายาทขุนโอกาสเดิมเป็นผู้ปกครอง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ ผู้สำเร็จราชการกรมมหาดไทย สมุหนายกอัครมหาเสนาบดีว่าราชการหัวเมืองลาวซึ่งมีเชื้อสายกษัตริย์เวียงจันทน์ทางพระมารดาให้มีอำนาจแต่งตั้งนายกองธาตุพนมโดยพระราชทานบรรดาศักดิ์ว่า พระพิทักษ์เจดีย์นายกอง ขึ้นเมืองนครพนม และ หลวงโพธิ์สาราชปลัดกอง ขึ้นเมืองมุกดาหาร[110][111] ตำแหน่งพระพิทักษ์เจดีย์พระธาตุพนมถูกแต่งตั้งคู่กับพระพิทักษ์เจดีย์พระธาตุเชิงชุมของเมืองสกลนคร[112] และสืบทอดมาถึง 4 ท่าน (พ.ศ. 2422)[113] สยามพระราชทานตราประจำตำแหน่งรูปเทวดานั่งแท่นหัตถ์ทรงพระขรรค์และพวงมาลัย ได้แก่ พระพิทักษ์เจดีย์ (ถง รามางกูร) บรรดาศักดิ์เดิมที่ท้าวอุปละ พระพิทักษ์เจดีย์ (แก่น รามางกูร) บรรดาศักดิ์เดิมที่ท้าวพระละคร พระพิทักษ์เจดีย์ (ศรี รามางกูร) บรรดาศักดิ์เดิมที่พระศรีชองฟ้า และพระพิทักษ์เจดีย์ (เทพจิตต์ บุคคละ) 3 ท่านแรกถึงแก่กรรมที่กรุงเทพฯ ด้วยสาเหตุเดินทางไปฟ้องร้องเจ้าเมืองรายรอบที่เข้ามาชิงข้าเลกพระธาตุพนม พระพิทักษ์เจดีย์ท่านสุดท้ายพยายามยกกองบ้านธาตุพนมเป็น เมืองทาษพนม ขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ แต่ไม่สำเร็จเนื่องจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเห็นว่าเป็นปัญหาขัดแย้งผลประโยชน์กันเองของเจ้านายท้องถิ่น[114] ส่วนปลัดกองคนสุดท้ายคือ อาชญาโพธิสาร (พ.ศ. 2439) จากนั้นหัวเมืองลาวเกิดปัญหากบฏผีบุญประชาชนท้องถิ่นพยายามตั้งเมืองธาตุพนมเป็นศูนย์กลางการปกครองอีกครั้งโดยแผนการขององค์พระบาทและองค์ขุดซึ่งมีองค์มั่นเป็นหัวหน้า สยามปราบปรามด้วยอาวุธอย่างรุนแรงแผนการตั้งเมืองธาตุพนมจึงไม่สำเร็จ[115] เอกสารพื้นพระบาทใช้ชาติระบุว่าปัญหาดังกล่าวเกิดจากพระอัคร์บุตร (บุญมี) ไม่พอใจสยามที่ตั้งพระพิทักษ์เจดีย์เป็นนายกองจึงขอความช่วยเหลือจากขบวนการผีบุญเข้ายึดธาตุพนมเพื่อให้ตนได้ปกครองธาตุพนมเหมือนบิดาและปู่[116] เมื่อไม่สำเร็จพระอัคร์บุตร (บุญมี) จึงข้ามไปอยู่ในอารักขาฝรั่งเศสที่เซบั้งไฟและถูกแต่งตั้งเป็น พระมหาสมเด็จราชาธาตุพระนมบุรมราชาเจดีย์มหาคุณ[117][118] ปกครองกองข้าพระธาตุพนมฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงเพียง 12 หมู่บ้านโดยกอมมิแชร์ข้าหลวงฝรั่งเศสตั้งขึ้นเป็นเมืองธาตุพนมทำให้ข้าพระธาตุพนมแยกเป็น 2 ฝ่าย ต่อมาได้สละตำแหน่งให้บุตรชายคือหลวงโพธิ์สาราชปกครองตามคำชักชวนของเจ้าเมืองสุวรรณเขตในตำแหน่ง สมเด็จเจ้าพระยาโพสาราชกัตติยะวงสาโอกาสะราชาพนมเจ้าเมืองพระธาตุพนมฝ่ายบ้านด่านปากเซ[119] ภายหลังฝรั่งเศสย้ายเมืองธาตุพนมที่ฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงบ้านด่านปากเซไปเป็นเมืองปากเซจึงให้พระยาโพสาราชเป็นเจ้าเมืองต่อและตั้งท้าวกัตติยะ (ท้าวขัติยะ) หลานพระอัครบุตร์ (บุญมี) เป็นอุปฮาด ซึ่งก่อนนั้นไม่กี่ปีพระครูวิโรจน์รัตโนบล (บุญรอด นนฺตโร) เดินทางจากอุบลราชธานีเพื่อบูรณะพระธาตุพนมครั้งใหญ่ตามคำเชิญของพระครูวิเวกพุทธกิจ (เสาร์ กนฺตสีโล) และพระครูวินัยธร (มั่น ภูริทตฺโต) ธาตุพนมจึงถูกฟื้นฟูจากความเสื่อมอีกครั้ง[120]

หลังปฏิรูปการปกครองโดยยกเลิกระบบอาญาเมืองเป็นระบบมณฑลเทศาภิบาล พ.ศ. 2443 กองบ้านธาตุพนมถูกยกขึ้นเป็นบริเวณธาตุพนม[121] สังกัดมณฑลอุดร (มณฑลลาวพวน) ตั้งศูนย์กลางราชการที่เมืองนครพนมโดยปกครองเมืองนครพนม ไชยบุรี ท่าอุเทน มุกดาหาร เรณูนคร อาษามารถ กุสุมาลย์มณฑล อากาศอำนวย โพธิไพศาล รามราช หนองสูง และพาลุกากรภูมิ มีพระยาสุนทรเทพกิจจารักษ์ (เลื่อง ภูมิรัตน์) หรือพระยาสุนทรนุรักษ์เป็นข้าหลวงประจำบริเวณ ขณะเดียวกันธาตุพนมก็ถูกยกขึ้นเป็นเมืองมีพระยาพนมนัครานุรักษ์ (กา พิมพานนท์ ณ นครพนม) เป็นผู้ว่าราชการเมืองธาตุพนมและเมืองนครพนม[122] พระพิทักษ์พนมนคร (โก๊ะ มังคลคีรี) เป็นปลัดเมืองธาตุพนม[123] คู่กับพระพิทักษ์นครพนม (โต๊ะ มังคลคีรี) ปลัดเมืองนครพนม[124] ต่อมาบริเวณธาตุพนมถูกลดฐานะเป็นตำบลธาตุพนมขึ้นกับอำเภอเรณูนคร โดยพระบำรุงพนมเจดีย์ศรีมหาบริษัท (เทพจิตต์ บุคคละ) อดีตพระพิทักษ์เจดีย์นายกอง บุตร์คนโตของพระอัครบุตร์ (บุญมี) เป็นผู้รักษาราชการคนสุดท้ายเมื่อ พ.ศ. 2446[125] และมีหมื่นศีลาสมาทานวัตร (ศีลา บุคคละ) หรือหมื่นสำมาทานกำนัน น้องชายพระบำรุงพนมเจดีย์ (เทพจิตต์) เป็นกำนันตำบลธาตุพนมคนแรก (พ.ศ. 2446-2457) กำนันยุคต่อมาต่างมีบรรดาศักดิ์คือพระอนุรักษ์ธาตุเจดีย์ (สา บุปผาชาติ) ญาติพระครูศิลาภิรัต (หมี บุปผาชาติ) เจ้าอาวาสวัดพระธาตุพนม หลังธาตุพนมแยกเป็น 2 ตำบลหมื่นศีลาสมาทานวัตร (ศีลา) จึงดำรงตำแหน่งกำนันตำบลธาตุพนมใต้ ส่วนพระอนุรักษ์ธาตุเจดีย์ (สา) เป็นกำนันตำบลธาตุพนมเหนือ กำนันลำดับถัดมาคือขุนเปรมปูชนีย์ (บุญ สุภารัตน์) หรือขุนเปรมประชากร[126] สมัยรัชกาลที่ 8 เมื่อประกาศยกเลิกระบบบรรดาศักดิ์ขุนนาง พระรักษพรหมา (พัน พรหมอารักษ์) บุตรหมื่นพรหมอารักษ์ (ทอก) อดีตกรมการบ้านหนองหอยจึงดำรงตำแหน่งกำนันบรรดาศักดิ์คนสุดท้ายของตำบล (พ.ศ. 2480-2488) จากนั้นนายสุนีย์ รามางกูร (บุคคละ) บุตรพระอัครบุตร์ (บุญมี) ดำรงตำแหน่งกำนันตำบลหลังยกเลิกบรรดาศักดิ์คนแรก (พ.ศ. 2488-2505) ภายหลังธาตุพนมได้รับการยกฐานะเป็นอำเภอธาตุพนมทางราชการแต่งตั้งรองอำมาตย์เอก หลวงพิทักษ์พนมเขต (ศรีกระทุม จันทรสาขา)[127] บุตรอำมาตย์เอก พระยาศศิวงศ์ประวัติ (เมฆ จันทรสาขา) อดีตเจ้าเมืองมุกดาหาร[128] มาดำรงตำแหน่งนายอำเภอธาตุพนมคนแรกเมื่อ พ.ศ. 2461-2481[129] และได้รับพระราชทานนามสกุลจากราชทินนามเดิมว่า พิทักษ์พนม เมื่อ 4 กันยายน พ.ศ. 2485[130]

การเปลี่ยนแปลงเขตการปกครอง[แก้]

  • วันที่ 10 มิถุนายน 2490 ตั้งตำบลพระกลางทุ่ง แยกออกจากตำบลธาตุพนม ตั้งตำบลแสนพัน แยกออกจากตำบลดอนนางหงส์[131]
  • วันที่ 18 กรกฎาคม 2490 ตั้งตำบลท่าลาด แยกออกจากตำบลเรณู[132]
  • วันที่ 30 พฤษภาคม 2499 จัดตั้งสุขาภิบาลธาตุพนม ในท้องที่บางส่วนของตำบลธาตุพนม[133]
  • วันที่ 21 เมษายน 2507 จัดตั้งสุขาภิบาลเรณูนคร ในท้องที่บางส่วนของตำบลเรณู และตำบลโพนทอง[134]
  • วันที่ 5 พฤษภาคม 2513 แยกพื้นที่ตำบลเรณู ตำบลโพนทอง และตำบลท่าลาด อำเภอธาตุพนม มาตั้งเป็น กิ่งอำเภอเรณูนคร ขึ้นกับอำเภอธาตุพนม[135]
  • วันที่ 29 กันยายน 2513 ตั้งตำบลโพนแพง แยกออกจากตำบลนาถ่อน ตั้งตำบลนางาม แยกออกจากตำบลโพนทอง และตั้งตำบลโคกหินแฮ่ แยกออกจากตำบลเรณู[136]
  • วันที่ 21 สิงหาคม 2518 ยกฐานะจากกิ่งอำเภอเรณูนคร อำเภอธาตุพนม เป็น อำเภอเรณูนคร[137]
  • วันที่ 31 ตุลาคม 2521 ตั้งตำบลอุ่มเหม้า แยกออกจากตำบลน้ำก่ำ[138]
  • วันที่ 29 กรกฎาคม 2534 ตั้งตำบลนาหนาด แยกออกจากตำบลฝั่งแดง[139]
  • วันที่ 8 พฤศจิกายน 2536 ตั้งตำบลกุดฉิม แยกออกจากตำบลแสนพัน[140]
  • วันที่ 9 พฤศจิกายน 2538 ตั้งตำบลธาตุพนมเหนือ แยกออกจากตำบลธาตุพนม[141]
  • วันที่ 25 พฤษภาคม 2542 ยกฐานะจากสุขาภิบาลธาตุพนม เป็นเทศบาลตำบลธาตุพนม

ที่ตั้งและอาณาเขต[แก้]

อำเภอธาตุพนมมีอาณาเขตติดต่อกับเขตการปกครองข้างเคียง ดังนี้

การแบ่งเขตการปกครอง[แก้]

การปกครองส่วนภูมิภาค[แก้]

อำเภอธาตุพนมแบ่งเขตการปกครองย่อยออกเป็น 12 ตำบล 136 หมู่บ้าน ได้แก่[142]

ลำดับ อักษรไทย อักษรโรมัน จำนวนหมู่บ้าน จำนวนประชากร
(ธันวาคม 2565)[143]
1. ธาตุพนม That Phanom
14
10,292
2. ฝั่งแดง Fang Daeng
11
6,754
3. โพนแพง Phon Phaeng
8
4,825
4. พระกลางทุ่ง Phra Klang Thung
16
7,378
5. นาถ่อน Na Thon
14
8,450
6. แสนพัน Saen Phan
8
3,787
7. ดอนนางหงส์ Don Nang Hong
11
6,556
8. น้ำก่ำ Nam Kam
20
12,239
9. อุ่มเหม้า Um Mao
9
5,890
10. นาหนาด Na Nat
10
5,664
11. กุดฉิม Kut Chim
7
4,352
12. ธาตุพนมเหนือ That Phanom Nuea
8
5,528

การปกครองส่วนท้องถิ่น[แก้]

ท้องที่อำเภอธาตุพนมประกอบด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 12 แห่ง ได้แก่[144]

  • เทศบาลตำบลธาตุพนม ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของตำบลธาตุพนมและบางส่วนของตำบลธาตุพนมเหนือ
  • เทศบาลตำบลน้ำก่ำ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลน้ำก่ำทั้งตำบล
  • เทศบาลตำบลนาหนาด ครอบคลุมพื้นที่ตำบลนาหนาดทั้งตำบล
  • เทศบาลตำบลธาตุพนมใต้ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลธาตุพนมและตำบลธาตุพนมเหนือ (เฉพาะนอกเขตเทศบาลตำบลธาตุพนม)
  • เทศบาลตำบลฝั่งแดง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลฝั่งแดงทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลโพนแพง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลโพนแพงทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลพระกลางทุ่ง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลพระกลางทุ่งทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลนาถ่อน ครอบคลุมพื้นที่ตำบลนาถ่อนทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลแสนพัน ครอบคลุมพื้นที่ตำบลแสนพันทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลดอนนางหงส์ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลดอนนางหงส์ทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลอุ่มเหม้า ครอบคลุมพื้นที่ตำบลอุ่มเหม้าทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลกุดฉิม ครอบคลุมพื้นที่ตำบลกุดฉิมทั้งตำบล

สถานที่สำคัญ[แก้]

ประเพณีท้องถิ่นและงานประจำปี[แก้]

สถานศึกษา[แก้]

  • วิทยาลัยสงฆ์นครพนม มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
  • วิทยาลัยธาตุพนม มหาวิทยาลัยนครพนม
  • โรงเรียนเทคโนโลยีธาตุพนม
  • โรงเรียนธาตุพนม
  • โรงเรียนบ้านธาตุพนม (พิทักษ์วิทยา)
  • โรงเรียนวัดพระธาตุพนม (พนมพิทยาคาร)
  • โรงเรียนบ้านหัวดอน
  • โรงเรียนบ้านหัวบึงทุ่ง
  • โรงเรียนบ้านน้ำก่ำ (สิทธิผลนุกูล)
  • โรงเรียนบ้านก่ำ (ล้ำประชาอุปถัมภ์)
  • ศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียนอำเภอธาตุพนม[146]
  • โรงเรียนอุ่มเหม้าประชาสรรค์
  • โรงเรียนอนุบาลเชษฐานงนุช
  • โรงเรียนธาตุพนมดรุณพัฒน์
  • โรงเรียนโพนแพงพิทยาคม
  • โรงเรียนนาถ่อนพัฒนา
  • โรงเรียนวัดบึงเหล็ก
  • โรงเรียนกุดฉิมวิทยาคม

ชาติพันธุ์[แก้]

  • ลาวเวียงจันทน์ อาศัยในตำบลธาตุพนมตั้งแต่หลังรัชกาลสมเด็จพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราชเนื่องจากสงครามแย่งชิงราชบัลลังก์ของราชวงศ์เวียงจันทน์ เจ้าราชครูหลวงยอดแก้วโพนสะเม็กอพยพไพร่พลนครเวียงจันทน์มาลี้ภัยการเมืองอยู่ธาตุพนม ถือเป็นชาติพันธุ์หลัก เป็นชนชั้นปกครองเดิม และเป็นกลุ่มวัฒนธรรมประเพณีหลักของธาตุพนม บางส่วนอพยพไปตั้งรกรากที่จำปาสักแล้วกลับมาอาศัยอยู่ธาตุพนมอีกครั้ง
  • ลาวจำปาศักดิ์ อาศัยในตำบลธาตุพนมตั้งแต่นครจำปาสักแตกศึกท้าวสีทาดเจ้าเมืองโขงและหลังการวิวาทของสมเด็จพระเจ้าองค์หลวงไชยกุมารกับสมเด็จเจ้ามหาอุปราชธรรมเทโว บางส่วนตกค้างอยู่บ้านชะโนดเมืองมุกดาหารและบ้านท่าสะโนเมืองสุวรรณเขต ถือเป็นชาติพันธุ์หลักของธาตุพนม
  • ลาวหลวงพระบาง อาศัยในตำบลธาตุพนมและตำบลใกล้เคียงตั้งแต่สมัยพระเจ้าโพธิสาลราชพระราชทานข้าโอกาสถวายพระธาตุพนมจำนวนมากถึง 3,000 คน ซึ่งประชากรบางส่วนอาจมีชาวลาวหลวงพระบางปะปนอยู่ ปัจจุบันถูกกลืนวัฒนธรรมทางภาษาปะปนกับชาวลาวอื่น ๆ ที่ธาตุพนมจนหมดแล้ว
  • กะเลิง (ข่าเลิงหรือกุรุง) อาศัยในตำบลนาถ่อนและตำบลดอนนางหงส์ อพยพจากแขวงคำม่วนของลาว ปัจจุบันปะปนวัฒนธรรมกับไทกวนและลาว
  • ไทกวน อาศัยในตำบลนาถ่อนและตำบลดอนนางหงส์ อพยพจากพื้นที่หุบเขาหินปูนซึ่งภาษาลาวเรียกว่ากวนในแขวงคำม่วน
  • ภูไท (ผู้ไท) อาศัยในตำบลแสนพันซึ่งเดิมเรียกตำบลเรณูตะวันออก บ้านนาหนาดในตำบลนาหนาด บ้านอุ่มเหม้าในตำบลอุ่มเหม้า และบ้านน้ำก่ำในตำบลน้ำก่ำ อพยพมาจากเมืองวังและเมืองใกล้เคียงในแขวงสุวรรณเขตของลาว
  • ย้อ (ญ้อ) อาศัยในตำบลกุดฉิม อพยพมาจากแขวงคำม่วน ปัจจุบันถูกปะปนวัฒนธรรมกับชาวลาวและชาวภูไทในตำบลใกล้เคียง
  • ข่า อพยพจากประเทศลาวและตั้งถิ่นฐานที่บ้านโสกแมว ตำบลอุ่มเหม้า มีวัฒนธรรมประเพณีเอกลักษณ์คือการเหยาคล้ายชาวภูไท พิธีกรรมนี้เชื่อว่าสามารถนำขวัญผู้ป่วยที่ออกจากร่างกลับสู่ร่างได้ แต่งกายด้วยผ้าทอมือย้อมฮ่อมตัดเย็บเป็นเสื้อ สตรีนุ่งสิ้น (ซิ่น) ทอมือมัดมวยผมด้วยผ้าแดง บุรุษนุ่งสะโหล่งทอมือสอดเตี่ยวใช้ชายผ้าม้วนเหน็บลอดหว่างขาและใช้ผ้าแดงโพกศีรษะ นับถือพระพุทธศาสนาและปฏิบัติหลักฮีตสิบสองคองสิบสี่เหมือนลาว พูดภาษาตระกูลลาวมาแต่อดีตแต่การศึกษาที่คลาดเคลื่อนทำให้เข้าใจว่าพูดภาษาบรูหรือภาษาโซ่ซึ่งเป็นภาษาหมู่บ้านใกล้เคียง
  • โย้ย อพยพจากนครเวียงจันทน์แต่โบราณ ปัจจุบันถูกกลืนวัฒนธรรมปะปนกับชาวลาวที่ธาตุพนมจนหมดแล้ว เอกสารวชิรญาณวิเศษระบุว่าเป็นชาติพันธุ์กลุ่มใหญ่ที่ร่วมสร้างเมืองธาตุพนมและพระธาตุพนม
  • กุลา (ไทไหญ่หรือเงี้ยว) อาศัยในตำบลกุดฉิมและกระจายอยู่ตามตำบลต่าง ๆ อย่างไม่เป็นกลุ่ม อพยพจากจังหวัดอุบลราชธานีและมุกดาหารเป็นหลัก ปัจจุบันถูกกลืนวัฒนธรรมกับชาวลาว ชาวย้อ ชาวภูไท และชาติพันธุ์อื่น ๆ ที่ธาตุพนมจนหมดแล้ว
  • จีน (เจ๊กหรือเจ๊กโคก ปัจจุบันเป็นคำไม่สุภาพ) อาศัยในตำบลธาตุพนมและตำบลใกล้เคียง อพยพจากจังหวัดอุบลราชธานีและกรุงเทพมหานครเพื่อค้าขาย บางส่วนอพยพไปอาศัยในประเทศลาวเพื่อขอความคุ้มครองทางการค้าจากฝรั่งเศสในสมัยอินโดจีน
  • ญวน(แกว ปัจจุบันเป็นคำไม่สุภาพ) อาศัยในตำบลธาตุพนม อพยพหนีภัยสงครามจากเวียดนามและอพยพมาหลายระลอก บางส่วนถูกส่งกลับไปเวียดนามและบางส่วนตั้งรกรากค้าขายที่ธาตุพนม

บุคคลสำคัญและบุคคลผู้มีชื่อเสียง[แก้]

พระสงฆ์[แก้]

  • เจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็ก (ยาคูขี้หอม) หรือสมเด็จพระเจ้าสังฆราชาสัทธรรมโชตนาญาณวิเศษ อดีตสังฆราชเวียงจันทน์ เป็นผู้นำพาไพร่พลบูรณะปฏิสังขรณ์พระธาตุพนม เช่น เสริมยอดพระธาตุพนมองค์เดิมให้สูงขึ้น เทครัวข้าโอกาสพระธาตุพนมจากเวียงจันทน์และจำปาสักให้อยู่รักษาพระธาตุพนมจำนวนมาก
  • พระครูศีลาภิรัต (หมี) อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธาตุพนม
  • หลวงปู่กินรี จนฺทิโย วัดกันตะศีลาวาส พระกรรมฐานสายมหานิกายผู้มีชื่อเสียง
  • หลวงปู่บัว เตมิโย วัดหลักศิลามงคล พระกรรมฐานสายธรรมยุติกนิกายผู้มีชื่อเสียง
  • พระเทพรัตนโมลี (แก้ว กนฺโตภาโส) สกุลเดิมอุทุมมาลา หรือท่านพ่อแก้ว อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธาตุพนม เป็นผู้แต่งหนังสืออุรังคธาตุ ตำนานพระธาตุพนมฉบับพิสดาร

ฆราวาส[แก้]

  • เจ้าอนุวงศ์ หรือสมเด็จพระเจ้าไชยเสฏฐาธิราชที่ 5 พระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรเวียงจันทน์ ผู้บูรณะปฏิสังขรณ์วัดพระธาตุพนม เช่น สร้างหอพระแก้ว ยกช่อฟ้าและยอดฉัตรพระธาตุพนม สร้างเทวรูปคู่ท้าวเทวานางเทวา สร้างสะพานและปูลานหน้าวัดพระธาตุสู่น้ำโขง ถวายเชิงเทียน ถวายเครื่องดนตรีและคณะมโหรีหลวง ขุดสระมงคล 3 แห่ง ทางทิศเหนือธาตุพนม
  • เจ้าพระยาหลวงนครพิชิตราชธานีศรีโคตรบูรหลวง เจ้าเมืองนครบุรีราชธานีศรีโคตรบูรหลวง ผู้บูรณะวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร เช่น สร้างหอข้าวพระ บูรณะลานพระธาตุพนม
  • รองอำมาตย์เอก หลวงพิทักษ์พนมเขต (ศรีกระทุม จันทรสาขา) นายอำเภอธาตุพนมคนแรก เป็นผู้มอบที่ดินสร้างสถานีตำรวจภูธรธาตุพนม ก่อตั้งโรงเรียนบ้านดงก้อมและโรงเรียนบ้านนาบัว
  • รองอำมาตย์เอก ขุนพนมพนารักษ์ (เฮ้า พิมพานนท์) อดีตนายอำเภอธาตุพนม เป็นผู้สร้างถนนพนมพนารักษ์ ก่อตั้งโรงเรียนวัดพระธาตุพนม (พนมวิทยาคาร) และโรงเรียนนาถ่อนวิทยานุกูล (โรงเรียนประชาบาลตำบลนาถ่อน 1)
  • ดร. วีรพงษ์ รามางกูร อดีตรองนายกรัฐมนตรี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อดีตที่ปรึกษาเศรษฐกิจรัฐบาลหลายสมัย นายกสมาคมไทย-ลาวเพื่อมิตรภาพ ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) อดีตประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย ผู้อาวุโสสูงสุดและผู้นำทายาทตระกูลรามางกูรทำนุบำรุงวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหารและวัดหัวเวียงรังสี

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. Phasuk, Santanee and others, Royal Siamese maps: war and trade in nineteenth century Thailand, (Tatien, Bangkok: River Books, 2004), p. 76-77.
  2. ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา, "ว่าด้วยการปกครองคณะสงฆ์ครั้งกรุงศรีอยุธยา" และ "ว่าด้วยตำแหน่งพระราชาคณะในกรุงนอกกรุง ครั้งกรุงเก่า" ใน ตำนานคณะสงฆ์ พระนิพนธ์ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ: พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพ นางเล็ก พิณสายแก้ว ณ ฌาปนสถานกองทัพบก วัดโสมนัสวิหาร วันที่ 19 เมษายน พุทธศักราช 2514, ตรวจแก้และจัดพิมพ์โดย กรมศิลปากร, พิมพ์ครั้งที่ 5, (ม.ป.ท.: โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, 2514), หน้า 21-23, 25, 29-30.
  3. ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), "เมืองลาวแถบโขง", ใน วชิรญาณวิเศษ: เล่ม 8 แผ่นที่ 46 วันพฤหัศบดี ที่ 24 เดือนสิงหาคม รัตนโกสินทร์ศก 112 ราคาแผ่นละ 32 อัฐ, (ม.ป.ท.: สำนักหอสมุดแห่งชาติ ศูนย์บริการความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ, ม.ป.ป.), หน้า 542-543.
  4. สุพร สิริพัฒน์, "Laotiane", ใน อำเภอธาตุพนมดินแดนพระธาตุพนมอันศักดิ์สิทธิ์, (นครพนม: ม.ป.พ., ม.ป.ป.), หน้า 5-6. (อัดสำเนา)
  5. โยซิยูกิ มาซูฮารา, ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจของราชอาณาจักรลาวล้านช้างสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 14-17 จาก "รัฐการค้าภายในภาคพื้นทวีป" ไปสู่ "รัฐกึ่งเมืองท่า", (กรุงเทพฯ: มติชน, 2546), หน้า 90.
  6. ง้าวแถน ถนิมแก้ว, สงครามพันปีระหว่างลาวกับแกว: เอกสารประวัติศาสตร์การเมืองลาวจากปี ค.ศ. 700 ถึงปี ค.ศ. 1960, เรียบเรียงเป็นภาษาไทยโดยบุญส่ง สิริขรรค์, พิมพ์ครั้งที่ 2, (ม.ป.ท.: ม.ป.พ., 2542).
  7. Lefevre, E., Travels in Laos: The Fate of the Sip Song Pana and Muong Sing (1894-1896), (Bangkok: White Lotus, 1995).
  8. Aymonier, Mission Etienne (เอเจียน แอมอนิเย), บันทึกการเดินทางในลาวภาค 2 พ.ศ. 2440: แปลจากหนังสือเรื่อง Voyage dans le Laos, Tome Deusieme, แปลโดยทองสมุทร โดเร, เจ้า และสมหมาย เปรมจิตต์, รศ.ดร., (เชียงใหม่: สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทบวงมหาวิทยาลัย, 2541).
  9. Aymonie, Etienne, Isan travels: Northeast Thailand's economy in 1883-1884, Translated by E. J. Tips, Walter, (Bangkok: White Lotus, 2000), p. 79.
  10. Brill, E. J., Tijdschrift van het Koninklijk Nederlandsch Aardrijkskundig Genootschap, (n.p.: Koninklijk Nederlands Aardrijkskundig Genootschap, 1919), p. 606, 616.
  11. คัมภีร์ใบลานเรื่อง ตำนานลานคำ. หอสมุดแห่งชาติ เมืองจันทะบูลี นครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว. เอกสารใบลาน 1 ผูก. อักษรธรรมลาว. ภาษาบาลี-ลาว. เส้นจาร. จ.ศ. 1259. โครงการปกปักรักสาหนังสือใบลานลาว (โครงการร่วมมือลาว-เยอรมัน) กระทรวงแถลงข่าวและวัฒนธรรม เลขรหัส PLMP 01 01 29 12 022_01. หมวดนิทานชาวบ้าน. 8 ใบ 16 หน้า. ผูก 1 ใบ 1 หน้า 1 บรรทัด 3.
  12. คัมภีร์ใบลานเรื่อง ลำพื้นเมืองเวียงจัน. วัดอารันยาราม เมืองหินบูน แขวงคำม่วน สปป.ลาว. เอกสารใบลาน 1 ผูก. อักษรธรรมลาว. ภาษาบาลี-ลาว. เส้นจาร. พ.ศ. 2478. โครงการปกปักรักสาหนังสือใบลานลาว (โครงการร่วมมือลาว-เยอรมัน) กระทรวงแถลงข่าวและวัฒนธรรม เลขรหัส PLMP 12 04 01 14 001_00. หมวดตำนานเมือง. หน้า 5 บรรทัด 4.
  13. กรมศิลปากร, "พงศาวดารย่อเมืองเวียงจันทน์: ตำนานเมือง แผนเมือง โศกเมือง และอัครนามขององค์เป็นเจ้ากัติยะ", ใน ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 70 เรื่อง เมืองนครจำปาศักดิ์: พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมเจ้าหญิงคอยท่า ปราโมช ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2484, (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์พระจันทร์, 2484), หน้า 182-183.
  14. คัมภีร์ใบลานเรื่อง พงศาวดารเมืองมุกดาหาร (ใบลานจารึกพงศาวดารเมืองมุกดาหารและหัวเมืองในลุ่มแม่น้ำโขง). ไม่ปรากฏสถานที่เก็บรักษา (จังหวัดมุกดาหาร). เอกสารใบลาน 1 ผูก . อักษรธรรมลาว-ลาวเดิม. ภาษาบาลี-ลาว. เส้นจาร. ม.ป.ป.. ไม่ปรากฏเลขรหัส. ไม่ปรากฏหมวด. 8 ใบ 15 หน้า. ใบ 2 หน้า 4 บรรทัด 1.
  15. องค์การค้าของคุรุสภา (คุรุสภาลาดพร้าว), ประชุมพงศาวดาร เล่ม 44 (ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 70 (ต่อ)-71) เรื่องเมืองนครจำปาศักดิ์ (ต่อ) พงศาวดารละแวก, (กรุงเทพฯ: องค์การค้าของคุรุสภา, 2512).
  16. ศิริวรรณ์ กาญจนโหติ, "การสร้างคำในศิลาจารึกอีสาน ช่วง พ.ศ. 2073-พ.ศ. 2466", วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาจารึกภาษาไทย, (กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2532).
  17. คัมภีร์ใบลานเรื่อง อุลังกทาดผูกเดียว. วัดอับเปวันนัง บ้านบกท่ง เมืองจำพอน แขวงสุวรรณเขต สปป.ลาว. เอกสารใบลาน 6 ผูก. อักษรธรรมลาว. ภาษาบาลี-ลาว. เส้นจาร. ปีมะแม พ.ศ. 2485. โครงการปกปักรักสาหนังสือใบลานลาว (โครงการร่วมมือลาว-เยอรมัน) กระทรวงแถลงข่าวและวัฒนธรรม เลขรหัส PLMP 13 09 09 07 009_00. หมวดตำนานพุทธศาสนา. 22 ใบ 41 หน้า. หน้า 13-16. (รวมอยู่กับลำตั๊กแตนคำ เฉพาะอุลังกทาดตุผูกเดียวมี 1 ผูก)
  18. ดำรง พ. ทัมมิกะมุนี, พระพุทธศาสนาในประเทศลาว: ศึกษาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน, (กรุงเทพฯ: สุขภาพใจ, 2553), หน้า 40.
  19. คัมภีร์ใบลานเรื่อง นิมิตหลักกงแก้วหัวเอิกธาตุเจ้าก้ำเหนือ. วัดหัวเวียงรังษี (ธ) บ้านธาตุพนม ตำบลธาตุพนม อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม. เอกสารใบลาน 1 ผูก. อักษรธรรมลาว. ภาษาบาลี-ลาว. เส้นจาร. ม.ป.ป.. ไม่ปรากฏรหัส. หมวดตำนานพุทธศาสนาและประวัติศาสตร์. 22 ใบ 43 หน้า. ใบ 3-5 หน้า 6, 8-10. (เอกสารส่วนบุคคล)
  20. เศรษฐศิริ ปภสฺสโร, พระมหา และศิริศักดิ์ อภิศักดิ์มนตรี, ดร., "ประวัติศาสตร์พระธาตุพนมในตำนาน ควรเริ่มที่ พ.ศ. 1 หรือ พ.ศ. 8", วิจิตรศิลป์ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. ปีที่ 11 ฉบับที่ 2 (กรกฎาคม-ธันวาคม 2563): 159.
  21. หน่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมศิลปกรรมท้องถิ่น จังหวัดบุรีรัมย์, เส้นทางโบราณพนมรุ้ง-เมืองต่ำ, (บุรีรัมย์: เรวัตการพิมพ์, 2540), หน้า 12., มังกร สระศรี, นางรองในความทรงจำ, (ม.ป.ท.: ชินอักษรการพิมพ์, 2540), หน้า 41. และ รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง, ผศ.ดร. และศานติ ภักดีคำ, ผศ.ดร., ศิลปะเขมร, (กรุงเทพฯ: มติชน, 2557), หน้า 177.
  22. คัมภีร์ใบลานเรื่อง หนังสือพงสาวะดาน (พงสาวดานบ้านโพนค้อของพ่อออกจานซุยบ้านโภนค้อ). วัดโพทิลุกขา บ้านม่วงไข่ เมืองไซพูทอง แขวงสุวรรณเขต สปป.ลาว. เอกสารใบลาน 1 ผูก. อักษรธรรมลาว-ลาวเดิม (มีวรรณยุกต์และการันต์). ภาษาบาลี-ลาว. เส้นจาร. ม.ป.ป.. โครงการปกปักรักสาหนังสือใบลานลาว (โครงการร่วมมือลาว-เยอรมัน) กระทรวงแถลงข่าวและวัฒนธรรม เลขรหัส PLMP 13 14 07 14 001_01. หมวดตำนานเมือง. 25 (24) ใบ 48 หน้า. หน้า 26/13.
  23. อนุชา ประชานอก และอธิราชย์ นันขันตี (โครงการจัดตั้งสถาบันศรีโคตรบูรณ์ศึกษา มหาวิทยาลัยนครพนม), อุรังคธาตุ ฉบับเมืองนครพนม, (นครพนม: หจก.สมศักดิ์การพิมพ์ กรุ๊ป, 2561), หน้า 52.
  24. ดูรายละเอีดใน รัตนโมลี, พระเทพ, ประวัติย่อพระธาตุพนม วัดพระธาตุพนม อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม, (นครพนม: วัดพระธาตุพนม, 2548), 76, 80, (8) หน้า.
  25. พื้นเวียงจันทน์ระบุว่าก่อนราชวงศ์เวียงจันทน์ล่มสลายได้เกิดนิมิตอาเภทขึ้นคือยอดพระธาตุพนมหักลง ต่อมาสมเด็จพระเจ้าอนุวงศ์เสด็จมายกยอดฉัตรขึ้นใหม่มีจำนวน 7 ชั้นเท่าของเดิม ภายหลังสยามปกครองธาตุพนมจึงเปลี่ยนยอดฉัตรลงเหลือ 5 ชั้นในปัจจุบัน, ดูรายละเอียดใน ทรงพล ครีจักร (พ. ครีจักร), เพ็ชร์พื้นเมืองเวียงจันทน์: พงศาวดารลาวตอนเวียงจันทน์แตก คำกลอนเริ่มกล่าวแต่สมเด็จพระเจ้าอนุรุทธาธิราชทรงสถาปนานครเวียงจันทน์ แล้วยกทัพไปตีสยาม ๆ ยกพลขึ้นมาตีได้ครั้งที่ 1 และที่ 2 จนเป็นเหตุเกิดสงครามญวน, (พระนคร: โรงพิมพ์บางขุนพรหม, 2479), หน้า 4-5.
  26. เส หมายถึง เสาหลักหรือหลักเมือง บ้างเขียนเป็นเสาเสม์, ปรีชา พิณทอง, สารานุกรมภาษาอีสาน-ไทย-อังกฤษ: Isan-Thai-English dictionary, (อุบลราชธานี: โรงพิมพ์ศิริธรรม, 2532), หน้า 816.
  27. ดูรายละเอียดใน ขุ.ชา.เอกก. (ไทย) 27/35/15. (พระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยเล่มที่ 27 พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ 19 ขุททกนิกาย ชาดก ภาค 1 เอกกนิบาต กุลาวกวรรค วัฏฏกชาดก ว่าด้วยนกคุ่มโพธิสัตว์) และ ขุ.จริยา. (ไทย) 74/29/473-474. (พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัยเล่มที่ 74 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก เล่ม 9 ภาค 3 วัฏฏกโปตกจริยา ว่าด้วยจริยาวัตรของลูกนกคุ้ม)
  28. Sirtoey (นามแฝง), (ม.ป.ป.). "เสียงหลวงปู่ตื้อ (อาจลธมฺโม) เทศนาธรรมยอดธรรม", ศูนย์เผยแผ่ธรรมะออนไลน์ กัณฑกะ [ออนไลน์]. แหล่งที่มา: https://www.youtube.com/watch?v=kKOwhbsz91s [24 พฤศจิกายน 2563]. และ ดูรายละเอียดใน ก. กิ่งแก้ว ป. (นามแฝง), นิทานท้าวนกคุ่ม: คำกลอนภาคอีสาน เล่มเดียวจบ, (ขอนแก่น: บริษัท ขอนแก่น คลังนานาธรรม จำกัด, ม.ป.ป.).
  29. ศิลา วีระวงศ์, มหา, พงศาวดานลาว ภาษาลาว, (ม.ป.ท.: สำนักงาน ส. ธรรมภักดี, ม.ป.ป.), หน้า 2.
  30. อุดม รุ่งเรืองศรี, พจนานุกรมล้านนา-ไทย ฉบับแม่ฟ้าหลวง, (เชียงใหม่: ภาควิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง และธนาคารไทยพาณิชย์, 2534), หน้า 220., ดูรายละเอียดใน ทวีสังฆภัณฑ์, พระธรรมเทศนาพื้นเมืองเหนือ เรื่องมโหสถ 9 จาตาผู้เกิดปีสัน (วอก), (ลำปาง: ทวีสังฆภัณฑ์, ม.ป.ป.)., ร้านภิญโญ, พระธรรมเทศนาพื้นเมืองเหนือ เรื่องมโหสถ 9 ชาตาผู้เกิดปีสัน (วอก-ลิง), (ลำพูน: ร้านภิญโญ, ม.ป.ป.). และ บุญคิด วัชรศาสตร์ (เปรียญ), พระธรรมเทศนาพื้นเมืองเหนือ เรื่องมโหสถ 9 จาตาผู้เกิดปีสัน (วอก), (เชียงใหม่: ธาราทองการพิมพ์, ม.ป.ป.).
  31. ประวิทย์ คำพรหม และคณะ, ประวัติอำเภอธาตุพนม: จัดพิมพ์โดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครพนม, (กาฬสินธุ์: ประสารการพิมพ์, 2546), หน้า 90.
  32. Raquez, A., Around Laos in 1900: A Photographers Adventure, Walter E. J. Tips (Translator and Introduction), (ฺBangkok: White Lotus, 2012), p. 75. และ ดูรายละเอียดใน สุพร สิริพัฒน์, นครพนม: ศรีโคตตะบูรณ์นคร, (นครพนม: ม.ป.พ., ม.ป.ป.).
  33. Delfín Donadíu y Puignau, Novísimo diccionario enciclopédico de la lengua castellana III, (ฺBarcelona: Espasa y Compañía, 1899 (2442)).
  34. Cochinchine française, Cochinchine française: Excursions et reconnaissances, IX: Notes sur le Laos par Etienne Aymonier, (N.d: Saigon Imprimerie du Gouvernement, 1885), p. 59.
  35. Musée Guimet (Paris, France), Annales du Musée Guimet: Bibliothéque d'études, Vol. 5: Musée Guimet (Paris, France), (Paris, France: E. Leroux, 1895), p. 234.
  36. สำราญ, อาจารย์มหา, กลอนลำนิทานประวัติตำนานธาตุพนม คำกลอนภาคอีสานเล่มเดียวจบ, (ขอนแก่น: บริษัท ขอนแก่น คลังนานาธรรม จำกัด, ม.ป.ป.), หน้า 18-20.
  37. สิลา วีระวงส์ (เรียบเรียง), ประวัติศาสตร์ลาว (ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ), แปลเป็นภาษาไทยโดยสมหมาย เปรมจิตต์, พิมพ์ครั้งที่ 2, (กรุงเทพฯ: มติชน, 2539), หน้า 7.
  38. กรมศิลปากร, ศิลปและโบราณคดีในประเทศไทย เล่ม 2 (Art And Archacology in Thailand II), (กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2518), หน้า 64-69., กองพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร, จารึกโบราณรุ่นแรกพบที่ลพบุรีและใกล้เคียง, (กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2524), หน้า 74-81. และ กรมศิลปากร หอสมุดแห่งชาติ, จารึกในประเทศไทย เล่ม 1: อักษรปัลลวะ หลังปัลลวะ-พุทธศตวรรษที่ 12-14, (กรุงเทพฯ: หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร, 2529), หน้า 116-122.
  39. พุทธวงศ์, พระครู และคณะ (คณะกรรมการจัดพิมพ์หนังสือในงานฌาปนกิจศพ), หนังสือนิทานอุรังคะทาต: พิมพ์เผยแผ่เป็นธรรมทานเนื่องในพิธีฌาปนกิจศพอดีตสังฆนายกแห่งพระราชอาณาจักรลาว (พระลูกแก้ว คูน มะนีวงส์) วันที่ 9 กุมภา ค.ศ. 1969 กงกับเดือน 3 แรม 7 ค่ำ ปีระกา พุทธศักราช 2512, (หนองคาย: อักษรสัมพันธ์การพิมพ์, 2512)., อุดร จันทวัน, นิทานอุรังคธาตุ (ฉบับลาว): อุดร จันทวัน ปริวรรตจากอักษรลาว, จัดพิมพ์เผยแพร่โดยวิทยาลัยสงฆ์เลย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, (ขอนแก่น: หจก. โรงพิมพ์คลังนานาวิทยา, 2547). และ พจนีย์ เพ็งเปลี่ยน, นิทานอุรังคธาตุฉบับหลวงพระบาง, (กรุงเทพฯ: กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม, 2543).
  40. หนูกัน ธมฺมทินฺโน, พระอธิการ, วัดหัวเวียง, (นครพนม: วัดหัวเวียงรังสี (ธ.) อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม, 2516), ไม่ปรากฏหน้า. (อัดสำเนา)
  41. พนมเจติยานุรักษ์, พระ, "กัณฑ์ที่ 7 ไทยลานช้างอุปถัมภ์ ราชวงศ์ล้านช้างคุ้มครอง", ใน อุรังคะนิทาน: เปนตำนานพระธาตุพนมพิศดารละเอียดแสดงประวัติศาสตร์พุทธศาสนาและมนุษย์ชนตั้งแต่ดึกดำบรรพ์จนปัจจุบัน พระพนมเจติยานุรักษ์เจ้าอาวาสรวบรวม พิมพ์จำหน่ายเก็บทุนบำรุงพระธาตุพนม, พิมพ์ครั้งที่ 4, (พระนคร: โรงพิมพ์ พ.พิทยาคาร (ในความอุปถัมภ์ของรัฐบาล), 2496), หน้า 76.
  42. คูณ เมตุลา และคำ ควรครู, ประวัติตำบลน้ำก่ำ, (ธาตุพนม, นครพนม: ม.ป.ท., ม.ป.ป.), หน้า 1. (อัดสำเนา)
  43. วิสา คัญทัพ, ด่านสาวคอย, (กรุงเทพฯ: ชมรมหนังสือแสงจันทร์และปุถุชน, 2518), หน้า 46-48.
  44. วัดฟ้าขื่นสุวรรณตูมภา บ้านนาคู่ อำเภอนาแก จังหวัดนครพนม, (19 เมษายน 2018 (2561)). "ประวัติอำเภอนาแก จังหวัดนครพนม", วัดฟ้าขื่นสุวรรณตูมภา บ้านนาคู่ อำเภอนาแก จังหวัดนครพนม [ออนไลน์]. แหล่งที่มา: https://www.m-culture.go.th/mukdahan/ewt_news.php เก็บถาวร 2021-09-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน? [24 พฤศจิกายน 2563].
  45. อนุวิทย์ เจริญศุภกุล, พระธาตุพนม, (กรุงเทพฯ: องค์การค้าของคุรุสภา, 2532), หน้า 4.
  46. ดูรายละเอียดใน ศิริสาร เหมือนโพธิ์ทอง, "การกัลปนาในจารึกสมัยสุโขทัย อยุธยา และธนบุรี-รัตนโกสินทร์", การประชุมทางวิชาการระดับบัณฑิตศึกษา ครั้งที่ 1 การนำเสนอผลงานวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ. (ม.ป.ป.): 156.
  47. Askew, Marc , Long, Colin and Logan, William, Vientiane: Transformations of a Lao Landscape, (New York: Routledge Studies in Asia's Transformations, 2006), p. 30.
  48. กองจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร, จดหมายเหตุการณ์บูรณปฏิสังขรณ์องค์พระธาตุพนม ณ วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม พ.ศ. 2518-2522, (กรุงเทพฯ: สำนักหอสมุดแห่งชาติ, 2522).
  49. คัมภีร์ใบลานเรื่อง หนังสืออุลังคนีทาน (พื้นอุลํกาธา). หอสมุดแห่งชาติ บ้านเซียงยืน กำแพงนครเวียงจันทน์ เมืองจันทะบูลี สปป.ลาว. เอกสารใบลาน 1 ผูก. อักษรธรรมลาว. ภาษาบาลี-ลาว. เส้นจาร. ม.ป.ป.. โครงการปกปักรักสาหนังสือใบลานลาว (โครงการร่วมมือลาว-เยอรมัน) กระทรวงแถลงข่าวและวัฒนธรรม เลขรหัส PLMP 01 01 29 13 020_01. หมวดตำนานพุทธศาสนา. 23 ใบ 46 หน้า. หน้า 24 บรรทัด 3.
  50. คัมภีร์ใบลานเรื่อง หนังสืออุลังคนีทาน (อุลังคะนิทาน). หอสมุดแห่งชาติ บ้านเซียงยืน กำแพงนครเวียงจันทน์ เมืองจันทะบูลี สปป.ลาว. เอกสารใบลาน 1 ผูก. อักษรธรรมลาว. ภาษาบาลี-ลาว. เส้นจาร. ม.ป.ป.. โครงการปกปักรักสาหนังสือใบลานลาว (โครงการร่วมมือลาว-เยอรมัน) กระทรวงแถลงข่าวและวัฒนธรรม เลขรหัส PLMP 01 01 29 13 020_01. หมวดตำนานพุทธศาสนา. 28 ใบ 56 หน้า (จาร 49 หน้า). หน้า 25 บรรทัด 2.
  51. ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา, ประวัติศาสตร์จังหวัดสระบุรี, (ม.ป.ท.: ม.ป.พ., ม.ป.ป.), หน้า 4. (อัดสำเนา) อ้างใน กระทรวงมหาดไทย, ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาคจังหวัดสระบุรี, (สระบุรี: โรงพิมพ์ปากเพรียวการช่าง 2, 2528).
  52. จิตร ภูมิศักดิ์, ตำนานแห่งนครวัด, พิมพ์ครั้งที่ 2, (กรุงเทพฯ: อมรินทร์, 2542), หน้า 49.
  53. สภานายก หอพระสมุดวชิรญาณ และกรมศิลปากร, "คำให้การขุนโขลน เรื่องพระพุทธบาท", ใน ประชุมพงศาวดารภาคที่ 7: พิมพ์แจกในการศพนายอี่ ปีมเสง พ.ศ. 2460, (พระนคร: โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ, 2460), หน้า 53-69.
  54. ที.สี. (ไทย) 9/300/111. (พระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยเล่มที่ 9 พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ 1 ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค โสณทัณฑสูตร ว่าด้วยพราหมณ์ชื่อโสณทัณฑะ เรื่องพราหมณ์และคหบดีชาวกรุงจัมปา)
  55. ที.สี. (ไทย) 9/255/87. (พระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยเล่มที่ 9 พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ 1 ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค อัมพัฏฐสูตร ว่าด้วยชายหนุ่มชื่ออัมพัฏฐะ เรื่องพราหมณ์โปกขรสาติ)
  56. ที.ม. (ไทย) 10/406/341. (พระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยเล่มที่ 10 พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ 2 ทีฆนิกาย มหาวรรค ปายาสิสูตร ปายาสิสูตร ว่าด้วยเจ้าปายาสิ)
  57. ม.ม. (ไทย) 13/422/530. (พระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยเล่มที่ 13 พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ 5 มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ พราหมณวรรค จังกีสูตร ว่าด้วยพราหมณ์ชื่อจังกี)
  58. ที.สี. (ไทย) 9/323/125. (พระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยเล่มที่ 9 พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ 1 ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค กูฏทันตสูตร ว่าด้วยพราหมณ์ชื่อกูฏทันตะ เรื่องพราหมณ์และคหบดีชาวบ้านขาณุมัต)
  59. ที.สี. (ไทย) 9/501/221. (พระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยเล่มที่ 9 พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ 1 ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค โลหิจจสูตร ว่าด้วยพราหมณ์ชื่อโลหิจจะ)
  60. จิตร ภูมิศักดิ์, ศัพท์สันนิษฐานและอักษรวินิจฉัย: โครงการสรรพนิพนธ์ จิตร ภูมิศักดิ์ ชุดนิรุกติศาสตร์, (กรุงเทพฯ: ฟ้าเดียวกัน, 2548), หน้า 68. และ วิมล เขตตะ และคณะ, "กัมรเตง อัญ: ศึกษาในประเด็นที่มาและรูปแบบการใช้คำ", ช่อพะยอม. ปีที่ 28 ฉบับที่ 1 (มกราคม-พฤษภาคม 2560): 11-20.
  61. ธวัช ปุณโณทก, ศิลาจารึกอีสานสมัยไทย-ลาว: ศึกษาทางด้านอักขรวิทยาและประวัติศาสตร์อีสาน, (กรุงเทพฯ: คุณพินอักษรกิจ, 2530), หน้า 257-260, 270-273.
  62. กรมศิลปากร, จารึกในประเทศไทย เล่ม 5, (กรุงเทพฯ: หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร, 2529), หน้า 301-307. และ อดุลย์ ตะพัง, ภาษาและอักษรอีสาน, (กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 2543), หน้า 237.
  63. คัมภีร์ใบลานเรื่อง พื้นเวียงจัน (เวียงจัน (พื้น)). วัดอารันยะราม บ้านนาโน เมืองหินบูน แขวงคำม่วน สปป.ลาว. หนังสือใบลาน 1 ผูก. อักษรธรรมลาว. ภาษาบาลี-ลาว. เส้นจาร. ปีจอ ม.ป.ป.. โครงการปกปักรักสาหนังสือใบลานลาว (โครงการร่วมมือลาว-เยอรมัน) กระทรวงแถลงข่าวและวัฒนธรรม PLMP 12 04 01 14 001_00. 10 ใบ 20 หน้า. หมวดตำนานเมือง. ผูก 1 หน้า 15 บรรทัด 3-4, หน้า 16 บรรทัด 1-3.
  64. คัมภีร์ใบลานเรื่อง พื้นเวียงจันทะบูลี. วัดสวนตาน บ้านหนองเดิ่น เมืองอาดสะพอน แขวงสุวรรณเขต สปป.ลาว. หนังสือใบลาน 4 ผูก. อักษรธรรมลาว. ภาษาบาลี-ลาว. เส้นจาร. ปีจอ พ.ศ. 2465. โครงการปกปักรักสาหนังสือใบลานลาว (โครงการร่วมมือลาว-เยอรมัน) กระทรวงแถลงข่าวและวัฒนธรรม PLMP 13 13 03 02 001_00. 14 ใบ 28 หน้า. หมวดตำนานเมือง. ผูก 3 ใบ 13 หน้า 25 บรรทัด 1-4, หน้า 26 บรรทัด 1.
  65. คัมภีร์ใบลานเรื่อง หนังสือพื้นเวียงจัน (พื้นเวียงจัน). วัดโพไซ บ้านนาห้าง เมืองหินบูน แขวงคำม่วน สปป.ลาว. หนังสือใบลาน 1 ผูก. อักษรธรรมลาว. ภาษาบาลี-ลาว. เส้นจาร. ปีขาล พ.ศ. 2505. โครงการปกปักรักสาหนังสือใบลานลาว (โครงการร่วมมือลาว-เยอรมัน) กระทรวงแถลงข่าวและวัฒนธรรม PLMP 12 04 02 14 001_00. 9 ใบ 18 หน้า. หมวดตำนานเมือง. ผูก 1 ใบ 8 หน้า 15 บรรทัด 1-4, ใบ 9 หน้า 16 บรรทัด 1.
  66. ดูรายละเอียดใน ประหัส มันตะ และสมพงษ์ ควรครู, "นางเทวา เทพารักษ์ ปักตูขง, เจ้าเฮือนสามพระองค์แสดงฤทธิ์", ใน มุขปาฐะ 2 เรียนรู้จากเรื่องเล่า, (เรณูนคร, นครพนม: สำนักงานเลาขาธิการสภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ และร้านพรประสิทธิ์การพิมพ์ (หน้าโรงเรียนเรณูวิทยาคาร), 2558) หน้า 8-13. และ พิเชฐ สายพันธ์, "ผีเจ้าเฮือน 3 พระองค์: พิธีกรรมสืบทอดกลุ่มข้าโอกาสธาตุพนม", จุลสารไทยคดีศึกษา. ปีที่ 15 ฉบับที่ 2 (พฤศจิกายน 2541-มกราคม 2542): 42-49.
  67. คัมภีร์ใบลานเรื่อง พื้นทาดตุพระนม (ตำนานทาตุพะนม). วัดสีบุนเฮือง บ้านโพนหมีใต้ เมืองโพนโฮง แขวงเวียงจัน สปป.ลาว. หนังสือใบลาน 2 ผูก. อักษรธรรมลาว. ภาษาบาลี-ลาว. เส้นจาร. ม.ป.ป.. โครงการปกปักรักสาหนังสือใบลานลาว (โครงการร่วมมือลาว-เยอรมัน) กระทรวงแถลงข่าวและวัฒนธรรม PLMP 10010213038_02. 5 ใบ 10 หน้า. หมวดตำนานพุทธศาสนา. ผูก 1 ใบ 2 หน้า 3 บรรทัด 4.
  68. ชาดกนอกนิบาตเรื่องท้าวคัทธนาม ฉบับวัดบ้านมะเกลือเก่า ตำบลมะเกลือเก่า อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมาระบุว่า ...เป็นนาคตัว 1 ใหญ่คือกลอง มีปากกว้าง แล้วก็ได้ชื่อว่าอ้ายโต่งกว้างหั้นแล แต่นั้น อันว่าพญานาคตัวนั้นก็ลีเลี่ยลงหาน้ำห้วยอัน 1 แล น้ำห้วยอันนั้นก็ชื่อว่าน้ำคาน ส่วนอันว่านาคตัวชื่อว่าอ้ายโต่งกว้างนั้นก็ไปอยู่ที่ปากห้วยคานนั้น แล้วก็ได้เป็นแก่กว่านาคทังหลายในเขตแดนเมืองหลวงบุรีแลดอยภูสีมหานครบวรวิเศษ..., อัมพร นามเหลา, ท้าวคัทธนาม, (นครราชสีมา: ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดนครราชสีมา วิทยาลัยครูนครราชสีมา, 2529), หน้า 141-143.
  69. บ้างว่าเจ้าฟ้ามุงเมือง เจ้าแสนเมือง และเจ้าโต่งเมือง, อุทัย ภัทรสุข, "การศึกษาอิทธิพลของพระธาตุพนมที่มีต่อความเชื่อและพิธีกรรมของชุมชนลุ่มแม่น้ำโขง", วิทยานิพนธ์พุทธศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาพระพุทธศาสนา, (บัณฑิตวิทยาลัย: มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2554), หน้า 168.
  70. คัมภีร์ใบลานเรื่อง พื้นทาดตุหัวอก. วัดโพธิ์ศรี บ้านโพนแพง ตำบลโพนแพง อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม. หนังสือใบลาน 1 ผูก. อักษรธรรมลาว. ภาษาบาลี-ลาว. เส้นจาร. ม.ป.ป.. ไม่ปรากฏเลขรหัส. ไม่ปรากฏหมวด. ผูก 1 ใบ 2 หน้า 4 บรรทัด 2. (ศรัทธาสร้างโดยพ่อสา ริจนาโดยซาลี สำรวจรายชื่อและห่อคัมภีร์โดยโครงการจัดตั้งสถาบันศรีโคตรบูรณ์ศึกษา มหาวิทยาลัยนครพนม)
  71. ธรรมราชานุวัตร (แก้ว อุทุมมาลา), พระ (รวบรวมและเรียบเรียง), อุรังคนิทาน: ตำนานพระธาตุพนม (พิศดาร), บันทึกท้ายเล่มต่อโดยธรรมชีวะ (สม สุมโน, ดร.พระมหา), พิมพ์ครั้งที่ 10, (กรุงเทพฯ: นีลนาราการพิมพ์, 2537).
  72. คัมภีร์ใบลานเรื่อง หนังสืออุลังคนีทาน (พื้นอุลํกาธา). หอสมุดแห่งชาติ บ้านเซียงยืน กำแพงนครเวียงจันทน์ เมืองจันทะบูลี สปป.ลาว. ใบ 13 หน้า 24.
  73. หอสมุดแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ นครพนม สำนักศิลปากรที่ 9 อุบลราชธานี กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม, อุรังคนิทานธาตุ (ตำนานการสร้างและบูรณะองค์พระธาตุพนมยุคโบราณ ผูกเดียวจบฯ) ฉบับหอสมุดแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ นครพนม, ปริวรรตและเรียบเรียงโดยอธิราชย์ นันขันตี, ผศ.ดร. และจุง ดิบประโคน, (เชียงใหม่: ห้างหุ้นส่วนจำกัด วนิดาการพิมพ์ (สำนักงานใหญ่), 2563), หน้า 19-20.
  74. คัมภีร์ใบลานเรื่อง อุลังกทาดผูกเดียว. วัดอับเปวันนัง บ้านบกท่ง เมืองจำพอน แขวงสุวรรณเขต สปป.ลาว. ใบ 7 หน้า 13. (รวมอยู่กับลำตั๊กแตนคำ เฉพาะอุลังกทาดตุผูกเดียวมี 1 ผูก)
  75. ดูรายละเอียดใน ภาพลวดลายส่วนยอดซุ้มขงประตูทางเข้ากำแพงแก้วชั้นใน และลวดลายฐานชั้นล่างพระธาตุพนม ศิลปะลาวแบบล้านช้างเวียงจันทน์ ขณะกำลังบูรณะ สร้างขึ้นในสมัยเจ้าพระยาหลวงนครพิชิตราราชธานีสีโคตรบูรหลวง เมื่อจุลศักราช 1976 (พ.ศ. 2157) ปีกาบยี่ เดือน 5 ขึ้น 4 ค่ำ วัน 5 (วันพฤหัสบดี) ตรงกับรัชกาลสมเด็จพระเจ้าวรวงศาธรรมิกราช (ครองราชย์ราว พ.ศ. 2141-2165) อุดร ลวดลายพระธาตุ. รหัสเอกสาร ภ.สบ.47/48 ชื่อไฟล์ดิจิทัล Ba3-048.jpg หมายเลขฟิล์ม ฟ.สบ.47/48 หมายเลขซีดี ซ.สบ.47/48. ชื่อชุด พลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิ. ขนาดภาพ 10x1. สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ.
  76. สันนิษฐานว่าหมายถึง ราเดีย ตาเล็มปอย (Radia Talempoy) ในภาษาโฮนลัง, ฝรั่งซิส การเย, ท่านเกริต วันวูสตฟ เดินทางมาเวียงจันทน์ 1641-1642: จากบทแปลภาษาฝรั่งของท่าน ฝรั่งซิส การเย, แปลและเรียบเรียงโดย หุมพัน รัดตะนะวง, (เวียงจันทน์: กระทรวงแถลงข่าวและวัฒนธรรม สถาบันค้นคว้าวัฒนธรรม และ The Royal Netherlands Ambassy, 1997 (2540)), หน้า 6. และ Garnier, Francis, "Voyage inconnu des Néerlandais du royaume du Cambodge au pays de Louwen", Revue de la Société de géographie. (September-Octobersept, 1871): 10.
  77. คัมภีร์ใบลานเรื่อง พื้นทาดตุพระนม. วัดใหม่สุวันนะพูมาราม บ้านป่าขาม เมืองหลวงพระบาง แขวงหลวงพระบาง สปป.ลาว. เอกสารใบลาน 1 ผูก. อักษรธรรมลาว. ภาษาบาลี-ลาว. เส้นจาร. ปีจอ พ.ศ. 2453. โครงการปกปักรักสาหนังสือใบลานลาว (โครงการร่วมมือลาว-เยอรมัน) กระทรวงแถลงข่าวและวัฒนธรรม เลขรหัส PLMP 06 01 14 13 022_07. หมวดตำนานพุทธศาสนา. 18 ใบ 36 หน้า. ใบ 15-16 หน้า 29-31.
  78. สันนิษฐานว่าเป็นองค์เดียวกันกับแสนกลางน้อยศรีมุงคุล (ศรี รามางกูร) เมื่อเทียบศักราชช่วงปกครองแล้วห่างกันมาก, ดูรายละเอียดใน คัมภีร์ใบลานเรื่อง หนังสืออุลังกาทาตุ. วัดซาตะกะทานะวันมิโก บ้านนาต้าย เมืองจำพอน แขวงสุวรรณเขต สปป.ลาว. เอกสารใบลาน 2 ผูก. อักษรธรรมลาว. ภาษาบาลี-ลาว. เส้นจาร. ม.ป.ป.. โครงการปกปักรักสาหนังสือใบลานลาว (โครงการร่วมมือลาว-เยอรมัน) กระทรวงแถลงข่าวและวัฒนธรรม เลขรหัส PLMP 13 09 02 13 001_02. หมวดตำนานพุทธศาสนา. ผูก 1 21 ใบ 42 หน้า. หน้า 23 บรรทัด 1-4, หน้า 24 บรรทัด 1-4.
  79. รัตนโมลี, พระเทพ (เรียบเรียง), "ประวัติเจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็ก (ท่านเจ้าราชครูขี้หอม)", ใน ติสฺสวํโส ภิกฺขุ และคณะ, สมเด็จพระสังฆราชลาว พระชนม์ 89 พรรษา เสด็จหนีภัย ลอยแพข้ามสู่ฝั่งไทย: มูลมรดกชนชาติอ้ายลาว อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระยอดแก้ว พุทธชิโนรสสกลมหาสังฆปาโมกข์ สมเด็จพระสังฆราชแห่งพระราชอาณาจักรลาว ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิริทราวาส กรุงเทพมหานคร วันที่ 12 มีนาคม พุทธศักราช 2528, (กรุงเทพฯ: ม.ป.พ., 2528), หน้า 234-235., ดูรายละเอียดใน สุทธิดา ตันเลิศ, "ข้าโอกาสพระธาตุพนมสองฝั่งโขงกับการปรับมโนทัศน์ทางประวัติศาสตร์", ภาษาและวัฒนธรรม. ปีที่ 34 ฉบับที่ 1 (มกราคม-มิถุนายน 2558): 34-36. และ ดูรายละเอียดใน ຜູ້ໄທ ບູຮານລາວ (นามแฝง), (22 กันยายน 2020 (2563)). "อาณาจักรศรีโคตรบูรณ์ 1: ย้อนรอยการเดินทางไปสร้างพระธาตุพนมของคนฝั่งซ้าย & ฟังประวัติของพระธาตุท่าพนม", ວິຖີຊົນນະບົດ (วิถีชนบท) [ออนไลน์]. แหล่งที่มา: https://www.youtube.com/watch?v=eB7gmPw9h1E [23 พฤศจิกายน 2563].
  80. ผู้ปกครองพื้นที่ลักษณะนี้ของธาตุพนมอาจคล้ายตำแหน่งข้าเฝ้าพระธาตุศรีสองรัก เช่น ตำแหน่งแสนด่าน (หัวหน้า) แสนแก้วอุ่นเมือง แสนกางโฮง แสนสีสองฮัก เป็นต้น, สำนักพิมพ์สารคดี, เลย, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์สารคดี, 2539), หน้า 64. และ สำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, "ชาวอำเภอด่านซ้ายสืบสานประเพณีท้องถิ่นจัดงานพิธีกรรมบุญเลี้ยงหอหลวง-หอน้อย", ศูนย์สารนิเทศอีสานสิรินธร. CPS 15255, เดลินิวส์ (10 เมษายน 2562): 15.
  81. ธีระวัฒน์ แสนคำ, "พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของชุมชนโบราณเมืองด่านซ้าย", พื้นถิ่นโขง ชี มูล. ปีที่ 3 ฉบับที่ 2 (กรกฎาคม-ธันวาคม 2560): 72-73. อ้างใน วินัย พงศ์ศรีเพียร, "จารึกพระธาตุศรีสองรัก: มรดกความทรงจำแห่งจังหวัดเลย ว่าด้วยสัญญาทางไมตรีศรีอโยธยา-ศรีสัตนาคนหุต พ.ศ. 2103", ใน วินัย พงศ์ศรีเพียร (บรรณาธิการ), 100 เอกสารสำคัญ: สรรพสาระประวัติศาสตร์ไทย ลำดับที่ 6, หน้า 5-37, (กรุงเทพฯ: โครงการวิจัย 100 เอกสารสำคัญเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทย ในความสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.), 2554), หน้า 5-37.
  82. หลวงซาน (หลวงชาญ), (ก่าย). คัมภีร์ใบลานเรื่อง จุ้มเจ้าเมืองธาตุพระนม. วัดหัวเวียงรังษี (ธ.) บ้านธาตุพนม ตำบลธาตุพนม อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม. หนังสือใบลาน 1 ผูก. อักษรธรรมลาว. ภาษาบาลี-ลาว. เส้นจาร. ม.ป.ป.. ไม่ปรากฏรหัส (เอกสารส่วนบุคคล). 5 ใบ 10 หน้า. หมวดตำนานเมือง. ผ.1/บ.1/น.1/ด.1/บท.1-4.
  83. เฮือง รามางกูร, ท้าว. สำเนาจดหมายบันทึกอนุญาตให้ใช้สกุลรามางกูรของท้าวเฮือง รามางกูร. ออกโดยนายเปลี่ยน สุนีย์ ปลัดอำเภอตรี อำเภอธาตุพนม, ลาวัณย์ คัด/ทาน. ม.ป.ป. และดูรายละเอียดในเอกสารใบลานเรื่องหนังสือยั่งยืนเปลี่ยนสกุลเป็นรามางกูร (เอกสารส่วนบุคคล) ต้นฉบับเดิมของพระอุปราชา (เฮือง รามางกูร) ปู่ของ ดร.วีรพงษ์ รามางกูร อดีตรองนายกรัฐมนตรี ฯลฯ ออกให้นายคำมี รามางกูร หรือท้าวสุวัณณคำมี บุคคละ บุตรบุญธรรมและหลานอาของพระอุปราชา (เฮือง รามางกูร) รวบรวมโดยนายดวง รามางกูร อดีตประธานสภาจังหวัดนครพนม โดยเอกสารระบุว่า ...พี่ซายข้าพระเจ้าตั้งนามสกุลบุคคละวิเศษขึ้นมาแต่นครเวียงจันทน์ประเทศลาวตามสร้อยนามยศศักดิ์ของทวดพวกข้าพระเจ้า ซื่อว่าเจ้าพระยาหลวงราซบุดโคตตวงสาผู้เป็นบรรพบุรุษมาแต่เค้าแต่เดิม...ข้าพระเจ้าเป็นบุตรอาชญาหลวงกางน้อยสีวรมุงคุลนามเดิมว่ายาเจ้าพ่อสีเจ้าเมืองพระธาตุพระนมแต่ก่อน อาชญาหลวงกางน้อยสีวรมุงคุรหรือยาเจ้าพ่อสีเป็นบุตรยาหลวงเจ้าพระยาลามมะลาดรามางกูรที่กินขุนโอกาสมีนามเดิมว่าเจ้ารามราชก็เป็นเจ้าเมืองพระธาตุพระนมมาแต่ก่อน เจ้าพระยารามราชเป็นบุตรของเจ้าพระยาหลวงราซบุดโคตตวงสานามเดิมว่ายาหลวงคำอยู่เจ้าเมืองพระธาตุพระนมแต่ก่อนพู้น แต่ก่อนยาหลวงคำอยู่ก็ใซ้นามยศศักดิ์เดิมกินเจ้าพระยาเมืองฮามนามฮุ่งสีอยู่เมืองนครจำปาสัก เจ้าพระยาหลวงราซบุดโคตตวงสาคือเจ้าพระยาเมืองฮามนามฮุ่งสีเป็นโอรสเจ้าแผ่นดินเวียงจันทน์องค์บุญแต่ก่อนพู้น แต่ว่าพระเจ้าแผ่นดินเวียงจันทน์ไปตีเศิกเสียบ้านเมืองบ่ทันสงบจิงยกไว้ให้เป็นบุตรบุญธรรมของสมเด็จเจ้าพระยานาเหนือเมืองนครจำปาสัก ที่เป็นลูกหลานพระเจ้าแผ่นดินเมืองนครจำปาสักแต่ก่อนพู้น วงศ์กระกูลของพวกข้าพระเจ้านี้เป็นพระราชวงศ์เมืองล้านซ้างเวียงจันทน์มาแต่เก่า ได้มาอยู่กินเมืองพระมหาธาตุพระนมและกินกองข้าพระมหาธาตุพระนมเดี๋ยวนี้สืบมาจนหลวงตั้งข้าหลวงนายอำเภอมาสืบแทนวงศ์ตระกูลของพวกข้า...
  84. พื้นเมืองพนมระบุถึงจุ้มพระราชโองการแต่งตั้งเจ้าพระยาหลวงบุตรโคตรฯ ว่า ...สุพมมะสัตตุพระราซะอาสยา จุ้มสมเด็จจบอรมมะบุพพิตตะ พระมะหาทัมมิกกะราซาทิราซะเจ้า สมเด็ดพระเป็นเจ้าองเป็นพระอยู่หัวประสิทธิจุ้มดวงนี้ ใส่หัวเจ้าพระยาหลวงบุดโคตตะวงสาเสถฐะบัวละพา สูวัณณะไซยะปุคคะละวีเสด สาสสะนาประเทดทาดตุพระนมบูรมมะสะฐาน ไปได้เอาจุ้มบาดนี้ใส่จุ้มหลวงกวมเอาเป็นข้อยโอกาสพระมะหาทาดตุเจ้าพระนมบูรมมะเจดีทาดตุหัวอกดังแต่เก่า ให้เจ้าพระยาหลวงบุดโคดพ้อมกันตุ้มปกพกหอมพวกโอกาสหมู่ซุม สัพพะน้ำหนองกองข้อยพระมะหาทาตุเจ้าในเขตตะขงกงดินทังมวรไว้ให้ดี อย่าให้สว่านเซ็นสะเด็นหนีไปก้ำใต้เมือเหนือที่ใดที่หนึ่งได้เลย ผิเขาข้อยโอกาสซาวเมืองหากสว่านเซ็นสะเด็นหนีไปลี้ซ่อร ซำแมะแพะเพิงอยู่ดอมเขตตะขงกงดินท้าวพระยาบ้านเมือง หมู่ค้าตาแสง หนใต้ฝ่ายเหนือที่ใดที่หนึ่งดังนั้น ให้พระยาหลวงเจ้าเวียงพระนมสะวัดจัดท้าวถอดถอรพี่น้องหมู่ซุมข้อยโอกาสหยาดทานเอาคืนมาไว้ดังเก่าดี อย่าให้เป็นโทสา อย่าว่าสังเขา เฮ็ดไฮ่อย่าเสียจ้าง สักป่าเป็นนาอย่าเสียค่า ไปค้าอย่าเสียเกิน ด่านทางอย่าป้องอย่ากัน พูเกินอย่าเอาเสด อย่าเอาพีดซะอากอรดอมเขา ท้าวพระยาแสนหมื่รเจ้าบ้านเจ้าเมือง เจ้าซายคาตาแสงขุรเบี้ยทังหลายดังนั้น อย่าบอกเวียกบ้านกานเมือง อย่าเอาฮีบไฮ่ไพเคียน อย่าซื่อขบฮบเฮียงกินดอมเขา ท่อเว้นไว้แต่ผู้มีจุ้มตาผราสาด พระราดซะอาสยากดออกสิ่งใดจิงให้เขาปัวละปัดโดยอาสยา มาตตา 1 ให้เขาพ้อมกันทำมาค้าแปงเข้ากล้านาไฮ่สมบูรออกไปตามอย่างบูฮานสืบมา คันเถิงละดูส้างให้เขาคุบ 2 ท่อเงินคาน เป็นเงินพัน 3 คน 3 ฮ้อย จิงให้ลามเมืองถวยซุปี ท้าวพระยาแสนหมื่รขุรค้าทังหลายอย่าได้หย่ำไฮ่นา เหล้าสาง เข้าติบ พิดซะพากอันเป็นพระมะหาธาดตุเจ้า ผิเจ้าบ้านพระยาเมืองหมู่ค้าตาแสงที่ใดยังขัดขวางไว้บ่ส่งให้เขาปัวระปัดพัดวีพระมหาทาดตุเจ้าดังเก่า ให้พระยาหลวงเจ้าพระนมมีหนังสือแลพันใซ้ลงมาเถิงอาคคะมะหาเสนาได้ส่องแจ้ง มาตตา 1 ให้พระยาหลวงเจ้าข้อยพ้อมกันพีพักลักสาขอบน้ำแดนดิน วันออกวันตก ขอกใต้หนเหนือ บวกน้ำวังปรา พีชซะผะละ เผิ้งผางานอ ซ้างตายคะนายหล่อร ไม้คกกกเฮือ ซีซันมันหยาง แลวัตถุสิ่งของอันจักเป็นเนื้อเป็นหนังเป็นอุปปะกอรแก่พระมะหาธาดตุเจ้า อันเกิดมีในเขตตะขงกงดินหัวบ้านหัวเมืองพระนมดังนั้น ให้เจ้าพระยาหลวงจักเก็บกำเอามาแก่พระมะหาทาดเจ้า เถิงกาละดูปลีให้พ้อมกันเอาลงมาเถิงล่ามเมือง เถิงอาคคะมะหาเสนานำขึ้นขาบถวยเป็นปักกัตติตามบูฮานจาฮีดอย่าให้ฮามฮ้าง มาตตา 1 คองพระยาเจ้าบ้านเจ้าเมืองแต่บูฮานสืบมาเคยเก็บกำพีดซะอากอรอันเกิดในขงขอกน้ำท่อรต่อรดินพระมะหาทาดตุเจ้ามากน้อยท่อใด ให้พระยาหลวงบุดโคดแลท้าวพระยาพ้อมกันเก็บกำตามนั้นอย่าหลาคาให้เก็บอย่าเหลือ มาตตา 1 ให้พระยาหลวงพ้อมกันพาหมู่ซุมลูกหลานข้อยโอกาสพระมะหาทาดตุเจ้า กะทำม้างส้างแปงสะฐานบ้านเมืองให้อ้วนเต็มงามตามอย่างบูฮานลาดสะปะเพนีสืบมา พระลาสะอาสสะยาประสุทธิอับไพดังนี้ ต่อแต่กดออกในจุ้มนี้ นอกกว่านี้อย่าเอาพระลาสสะอาดสะยาไปกั้งเพเพื่อนผูงอื่นไว้ว่าเป็นข้อยมะหาทาดตุเจ้าซุมอับไพดอมโทด ผู้ฮักสาพระราดซะอาสยา อันใดนอกพระลาดสะอาดยาอย่ากะทำ กุงนุประสิทธิพระลาดสะอาสยา..., ดวง รามางกูร, พระมหา, พื้นเมืองพนม (ประวัติวงส์เจ้าเมืองธาตุพนม), (กรุงเทพฯ: วัดบวรนิเวศวิหาร คณะแดงรังสี, ม.ป.ป.), ไม่ปรากฏหน้า (อัดสำเนา).
  85. ดูรายละเอียดใน วีรพงษ์ รามางกูร, อนุสรณ์ ร้อยตำรวจตรี ประดิษฐ์ รามางกูร 22 กันยายน 2528: อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ ร้อยตำรวจตรี ประดิษฐ์ รามางกูร ณ เมรุวัดตรีทศเทพ วันอาทิตย์ที่ 22 กันยายน 2528 เวลา 17.00 น., (กรุงเทพฯ: ห้างหุ้นส่วนจำกัด ศ.ส., 2528), หน้า 1-2.
  86. จารึกผูกพัทธสีมาวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร (จารึกวัดพระธาตุพนม 3, นพ.6 ). จ.ศ. 1168 (พ.ศ. 2349). อักษรลาวเดิม.
  87. วีรพงษ์ รามางกูร, "สืบวงศ์วานเจ้าเมืองธาตุพนม", นิตยสารไฮคลาส. ปีที่ 14 ฉบับ 162 (ตุลาคม 2540): 127-128.
  88. ดูรายละเอียดใน เพลิงสุริยเทพฯ รามางกูร ณ โคตะปุระ, รามางกูร ณ โคตะปุระ: ตระกูลอันสืบมาแต่วงศ์วานเจ้าเมืองธาตุพนม พร้อมด้วยบทความ และข้อเท็จจริงบางประการเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเมืองธาตุพนม ที่ระลึกเนื่องในวาระการจดทะเบียนนามสกุล "รามางกูร ณ โคตะปุระ" 5 ตุลาคม 2552 และวาระครบรอบ 63 ปีวันจดทะเบียนนามสกุล "รามางกูร" 22 กรกฎาคม 2490-22 กรกฎาคม 2552, (เชียงใหม่: ม.ป.พ, 2553), หน้า 21-24.
  89. กลุ่มตระกูลข้าโอกาสเดิมไม่ต่ำกว่า 18 ตระกูลนับถือขุนรามเป็นบรรพบุรุษในประวัติศาสตร์เมืองธาตุพนม เดิมเชื่อว่าขุนรามคือขุนโอกาสท่านแรกในสมัยปลายราชวงศ์เวียงจันทน์ เมื่อตรวจสอบหลักฐานในคัมภีร์ใบลานเรื่องอาณาจักรธรรมจักรอย่างน้อย 2 ฉบับพบนามยศคล้ายขุนราม (ขุรราม) หรือ ขุนลาม (ขุรลาม) เช่นกัน คำว่า ราม, ลาม, ฮาม เป็นภาษาลาวเดิมแปลว่า กลาง เอกสารดังกล่าวระบุว่าขุนรามเป็นนามยศชั้นขุนของล้านช้างโบราณ ขุนมี 3 ระดับคือขุนหลวง (ระดับสูง) ขุนราม (ระดับกลาง) และขุนน้อย (ระดับล่าง) เฉพาะขุนรามมี 7 ตำแหน่งชั้นคือหมื่นช้าง แสนช้าง พันช้าง ขุนเมือง ขุนหอ ขุนแคว้น และขุนถ่า ถือศักดินา 3 ขั้นคือหัวพัน หัวหมื่น และหัวแสน ปกครองตั้งแต่ระดับเมือง แคว้นหรือแคว่น (ตาแสงหรือตำบล) และเป็นตำแหน่งกรมการตั้งแต่ระดับหอสนามหลวงไปถึงกรมช้างดูแลช้างหลวง ดังข้อความ ...ขุรหลวงหลิ้รซู้ดอมเมียขุรราม คือว่าหมื่รซ้าง แสนซ้าง พันซ้าง ขุรเมือง ขุรหอ ขุรแคว้ร ขุรถ่า ให้ไหมพันเอ็ดแล ผิแต่พอถือนมก้ำ 1 ไหม 207 บาสเทิน ผิถือนม 2 ก้ำไหมฮ้อย 5 บาส...ขุรลามหลิ้รซู้ดอมเมียนายสิบ 5 ขันแลขันแล 5 ฮ้อย 5 บาส ถือนมก้ำ 1 ไหมฮ้อย 3 บาสเทิน ถือนม 2 ก้ำไหม 2 ฮ้อย 7 บาส น้ำ 3 ขุรลามหลิ้รซู้ดอมเมียกวานบ้านไหม 303 บาด ถือนมก้ำ 1 ไหมฮ้อย 1 ถือนม 2 ก้ำไหม 2 ฮ้อย 2 บาด ขุรลามหลิ้นซู้ดอมเมียไพ่ก็ดีข้อยก็ดีไหม 305 บาด ถือนมก้ำ 1 ให้ว่าดั่งหลังนั้นแล...ไพ่หลิ้รซู้ดอมเมียขุรลามไหม 7 ฮ้อย 7 บาสแล...กวานบ้านหลิ้รซู้ดอมเมียขุรลามไหม 8 ฮ้อย 8 บาดแล...นายสิบหลิ้รซู้ดอมเมียขุรลามไหมพัน 3 ตามที่หนักที่เบาดั่งสัพพัญญูเจ้าตั้งสิกขบดไว้แก่เจ้าภิกขุทั้งหลายแล..., ขนันรัตนะ, เขียน. คัมภีร์ใบลานเรื่อง อาณาจักรธรรมจักร. วัดโพนตาน บ้านนาปอด เมืองอาดสะพอน แขวงสะหวันนะเขด. หนังสือใบลาน 1 ผูก. อักษรธรรมลาว. ภาษาบาลี-ลาว. เส้นจาร. ปีก่าเป้า จ.ศ. 1215. โครงการปกปักรักสาหนังสือใบลานลาว (โครงการร่วมมือลาว-เยอรมัน) กระทรวงแถลงข่าวและวัฒนธรรม PLMP 13 13 05 15 001_02. 36 ใบ 72 หน้า. หมวดกฎหมาย. ผ.1/บ.23/น.46/บท.3-4, บ.24/น.47/บท.1-3., น.48/บท.1-3. และ ขนันเณรจุ้ม, ลิจนา. คัมภีร์ใบลานเรื่อง อาณาจักรธรรมจักร. วัดสีบุนเฮือง บ้านค้อ เมืองจำพอน แขวงสะหวันนะเขด. หนังสือใบลาน 1 ผูก. อักษรธรรมลาว. ภาษาบาลี-ลาว. เส้นจาร. ปีวอก จ.ศ. 1225. โครงการปกปักรักสาหนังสือใบลานลาว (โครงการร่วมมือลาว-เยอรมัน) กระทรวงแถลงข่าวและวัฒนธรรม PLMP 13 09 07 15 001_00. 35 ใบ 70 หน้า. หมวดกฎหมาย. ผ.1/บ.24/น.48/บท.1-2, บ.25/น.49/บท.1-2.
  90. คัมภีร์ใบลานเรื่อง พื้นตำนานธาตุเจ้ามหาพนมหัวอก. วัดหัวเวียงรังษี (ธ.) บ้านธาตุพนม ตำบลธาตุพนม อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม. เอกสารใบลาน 1 ผูก. อักษรธรรมลาว. ภาษาบาลี-ลาว. เส้นจาร. ม.ป.ป.. ไม่ปรากฏรหัส (เอกสารส่วนบุคคล). หมวดตำนานเมือง. หน้า ใบ 48 หน้า 95 บรรทัด 2-4, หน้า 96 บรรทัด 1-3 ใบ 138, หน้า 276 บรรทัด 1-4. เนื้อหาระบุว่า ...พระลามมลาสเสวยกองข้อยโอกาสมหาธาตุเจ้าหัวเอิกที่ภูกำพร้าเป็นเค้าเป็นปฐมมะก่อนแล อุปปละสีสุวัณณสานกินกองข้อยพระมหาธาตุพระนมเจดีย์หลวงมีใน 3 ปีหั้นแล ปลงไว้แก่ลูกหลานในสังกาศได้ 2 ฮ้อย 30 3 ตัว สุวัณณสาละเจ้าคำหมั้นปลงกองข้อยโอกาสมหาธาตุเจ้าไว้ผ้าขาวคำมุงเจ้าแทนปิตตาตนพ่อ แลใส่ยศท้าวอุปปละดั่งเดียวพ่อเขาดั่งนั้น คำมุงมาได้เมียคนธาตุประนมซื่อนางลัตนหน่อแก้วลูกท้าวบุตตลาชแลนางกงมาหั้นแล อุปปละคำหมั้นมีลูก 7 ตนแล้วดั่งนี้ พระอุปปละมุง 1 นางคำทุง 1 นางคำเผาะ 1 นางหนู 1 นางแสนคำติ้ว 1 ท้าวคำปุ้ง (คำบุ่ง) 1 คำผูย 1 ลุนมายาพ่อออกอุปปละคำมุงกินกองข้อยพระธาตุเจ้าแล ตนน้องคำผูยกินยศพระหานลือไซในที่ภูกำพร้าหั้นแล้ว ลุนมาใส่ยศพระยาหานหั้นแล ขาฝูงนี้เซื้อลูกเซื้อหลานพระรามลาชโพธิสัตว์เจ้าตนเสวยเมืองพระนมธาตุองค์หลวงล้ำเฮาทั้งมวลก็มีแท้ดีหลีแล ฝูงนี้เสวยกองข้อยมหาธาตุเจ้าก้ำผ่ายบ้านธาตุพระนม... หลักฐานจากคัมภีร์เดียวกันในใบที่ 33 หน้า 65 บรรทัด 1-4 และหน้า 66 บรรทัด 1-4 ระบุถึงการประสูติของพระรามราชและน้องสาวทั้ง 2 ว่า ...วงสากินเมืองฮามนามฮุ่งสี ส่วนนางเทพกินลีเมียเจ้าราซาบุตโคตได้ลูกดอมกัน แลในยามเจ้าราซกุมมารจักประสูตินางเทวีนิมิตหาพระรามราชโพธิสัตว์เจ้าว่าได้ยิงศรธนูคำต้องใส่คัพภาแห่งนางเทวีแล้ว จิงเป็นรัศมีรังสีฮุ่งเฮืองงามประดุจดั่งแสงพระสุริยาอาทิตย์อันสว่างไสวมากนักแล จิงหลิงเห็นเป็นหน่วยแก้วมณีโซติสถิตในคัพภาแห่งนางเทวีหั้นแล้วก็ให้เห็นเป็นอัศจรรย์ยิ่งนักแล้ว คันว่าประสูติราซกุมมารแก้วตนนั้นแล้วลุนมาหมอหนทำนวายทวายว่า เจ้าราซกุมมารมีบุญด้วยขวัญพระรามราชโพธิสัตว์เจ้าเวียงจันทน์สีสัตตนาค(น)หุตราชธานีมาเอากำเนิดเกิดในคัพภาแห่งนางเทพกินลีเทวีแล เขาลวดอุ้มราซกุมมารขึ้นเมือหาพระเป็นเจ้าองค์บุญซ้องหน้าในที่เวียงจันทน์แล้ว พระองค์ลวดใส่ซื่อซามนามกรว่าเจ้ามะลามมะลาชหั้นแล คนว่าท้าวพระลามโพธิสัตว์ก็มีแท้ดีหลีแล ลุนมานางเทวีจิงประสูตินางทั้ง 2 ก็มีด้วยนิมิตดั่งเดียวกันหั้นแล้ว ลวดใส่ซื่อซามนามกรแห่งนางแก้วพี่น้องประดุจดั่งน้องสาวพระยารามราชโพธิสัตว์เจ้าหั้นแล ตน 1 ใส่ว่านางทิบ (ทิพย์) แล ตน 1 ว่านางจันทาก็มีแท้ดีหลีแล พี่น้องท้องแม่เดียวขา 3 ตนนี้แลเกิดแต่นางเทพกินลีเมียกกเจ้าราซบุตโคตแล คันอยู่ได้ปี 1 แล้วนางมาดาสุรคุตราซบุตโคตลวดมาเอานางโมคคัลลีเทวีแล้ว ลวดใส่เป็นพระแม่มาดาเจ้าทั้ง 3 อ้ายน้องก็มีแล ส่วนเมียเจ้าราซาบุตโคตได้ 18 นางแล นางเทพกินลีเทวี 1 นางโมคคัลลีเทวี 1...
  91. คัมภีร์ใบลานเรื่อง บั้งจุ้ม (ตำนานเมือง). วัดโพนกอก บ้านปากกะยุง เมืองทุละคม แขวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว. เอกสารใบลาน 1 ผูก. อักษรธรรมลาว. ภาษาบาลี-ลาว. เส้นจาร. ปีวอก จ.ศ. 1282. โครงการปกปักรักสาหนังสือใบลานลาว (โครงการร่วมมือลาว-เยอรมัน) กระทรวงแถลงข่าวและวัฒนธรรม เลขรหัส PLMP 10 02 01 14 004_02. หมวดตำนานเมือง. 21 ใบ 42 หน้า. หน้า 10-11.
  92. คัมภีร์ใบลานเรื่อง หนังสืออุลังคนีทาน (อุลังคะนิทาน). หอสมุดแห่งชาติ บ้านเซียงยืน กำแพงนครเวียงจันทน์ เมืองจันทะบูลี สปป.ลาว. หน้า 25-27.
  93. ราชบัณฑิตยสภา, ตำนานพระธาตุพนม จังหวัดนครพนม: พระพนมนครานุรักษ์มีความเลื่อมใสพิมพ์ไว้เพื่ออุททิศส่วนประโยชน์ที่ควรจะได้จากหนังสือนี้ สำหรับบำรุงการพระศาสนาในจังหวัดนครพนม จำนวน 3000 เล่ม พ.ศ. 2474, พิมพ์ครั้งที่ 2, (พระนคร: โรงพิมพ์พระจันทร์ ท่าพระจันทร์, 2474), หน้า 24-26.
  94. กรมศิลปากร, "ประชุมตำนานพระธาตุ ภาคที่ 2: ตำนานพระธาตุพนม", ใน ประชุมตำนานพระธาตุ ภาคที่ 1 และภาคที่ 2: พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพนางเอิบ อุมาภิรมย์ ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม วันที่ 13 สิงหาคม พุทธศักราช 2513, พิมพ์ครั้งที่ 2, (ธนบุรี: สินเจริญ, 2513), หน้า 117-118. (เฉพาะตำนานพระธาตุพนมพิมพ์เผยแพร่แล้ว 3 ครั้ง ครั้งแรกพิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ อำมาตย์โท พระยาประจันตประเทศธานี โง้นคำ พรหมสาขา (โหง่นคำ พรหมสาขา ณ สกลนคร) เมื่อ พ.ศ. 2466 ฉบับนี้พิมพ์เป็นครั้งที่ 4)
  95. ยุทธพงศ์ มาตย์วิเศษ,ดร., ตำนานอุรังคธาตุ: หนังสือที่ระลึกงานกฐินพระราชทานมหาวิทยาลัยขอนแก่น ประจำปีพุทธศักราช 2562 ทอดถวาย ณ วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร จังหวัดนครพนม วันเสาร์ที่ 26-วันอาทิตย์ที่ 27 ตุลาคม พุทธศักราช 2562, (ขอนแก่น: ฝ่ายศิลปวัฒนธรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และศูนย์วัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น, 2562), หน้า 161-162.
  96. คัมภีร์ใบลานเรื่อง หนังสืออุลังคนีทาน (พื้นอุลํกาธา). หอสมุดแห่งชาติ บ้านเซียงยืน กำแพงนครเวียงจันทน์ เมืองจันทะบูลี สปป.ลาว. หน้า 24-26.
  97. ดวง รามางกูร, พระมหา, พื้นเมืองพนม (ประวัติวงส์เจ้าเมืองธาตุพนม), ไม่ปรากฏหน้า (อัดสำเนา).
  98. จาม พันนุเดช, พื้นเมืองเวียงจันทน์ กอน 7: พงสาวะดานเจ้าอะนุวงส์ เวียงจันทน์ (หนังสือพื้นเวียง), (ม.ป.ท: ม.ป.พ., 1992), หน้า 23. (อัดสำเนา) และ Komany, Saphaothong, หนังสือพื้นเมืองเวียงจันทน์ กอน 7: พงสาวะดานเจ้าอะนุวง เวียงจัน, ตรวจแก้และถ่ายออกจากภาษาไทมาเป็นภาษาลาวโดยสะเพาทอง กอมะนี, (New York: ม.ป.พ., 1998), หน้า 27-28.
  99. พบหลักฐานสมุดไทยดำ อักษรไทย ในจังหวัดสกลนคร ชี้ว่าหลังสงครามเจ้าอนุวงศ์ราวก่อน พ.ศ. 2386 เพี้ยเมืองทศ (นายเชียงสุวรรณ) ปลัดกองข้าพระธาตุพนมเมืองธาตุ บุตรเพี้ยเมืองธาตุอดีตนายกองควบคุมท้าวเพี้ยตัวเลกข้าพระเมืองธาตุ ได้มาปฏิสังขรณ์ซ่อมแซมก่อพระธาตุเชิงชุมครอบปรางค์ขอมเดิมเมื่อวัน 3 แรม 3 ค่ำ เดือน 3 จ.ศ. 1205 (พ.ศ. 2386) ต่อมาท้าวเพี้ยตัวเลกกองข้าพระธาตุพนมกลุ่มเพี้ยเมืองทศที่ขึ้นกับกองพระพิทักษ์เจดีย์บ้านธาตุพนมไม่ยอมกลับบ้านเมือง แล้วพากันออกมาตั้งบ้านงิ้วด่อน คูสนาม และฉพังเม็ก (พังเม็ก) โดยขอทำราชการขึ้นเมืองสกลนคร พระพิทักษ์เจดีย์นายกองข้าพระธาตุพนมจึงกล่าวโทษลงไปกรุงเทพฯ แต่โปรดฯ ให้กลุ่มเพี้ยเมืองทศขึ้นสังกัดได้ตามสมัครใจพร้อมแต่งตั้งขึ้นเป็นพระพิทักษ์เจดีย์นายกองควบคุมข้าพระวัดวาอารามในเมืองสกลนคร
  100. เอกสาร ร.5 ม.2 (12 ก.) เล่ม 20 ร.ศ. 107 หอจดหมายเหตุแห่งชาติ.
  101. ดวง รามางกูร, พระมหา, พื้นเมืองพนม (ประวัติวงส์เจ้าเมืองธาตุพนม), ไม่ปรากฏหน้า (อัดสำเนา)
  102. คัมภีร์ใบลานเรื่อง วัตถุธาตุพนม. หอสมุดแห่งชาติ บ้านเชียงยืน เมืองจันทะบูลี กำแพงนครเวียงจันทน์ สปป.ลาว. เอกสารใบลาน 1 ผูก. อักษรธรรมลาว. ภาษาบาลี-ลาว. เส้นจาร. ปีชวด จ.ศ. 1262. โครงการปกปักรักสาหนังสือใบลานลาว (โครงการร่วมมือลาว-เยอรมัน) กระทรวงแถลงข่าวและวัฒนธรรม เลขรหัส PLMP 01 01 29 13 020_01. หมวดตำนานพุทธศาสนา. 7 ใบ 13 หน้า. ใบ 4 หน้า 7 บรรทัด 1-4.
  103. อุดร จันทวัน, "ศึกษาวิเคราะห์วรรณกรรมทางพระพุทธศาสนาเรื่องอุรังคธาตุนิทาน: ภาษาทางศาสนาและอิทธิพลต่อสังคม", วิทยานิพนธ์พุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาพระพุทธศาสนา, (บัณฑิตวิทยาลัย: มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2547), หน้า 64.
  104. ดูรายละเอียดใน แผนที่ La France Annam. อาณานิคมอินโดจีนของฝรั่งเศส (French Indochina).
  105. เอกสาร ร.5 กต. 40 29/22 หอจดหมายเหตุแห่งชาติ.
  106. "สำเนารายงานของข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลอุดร". เอกสาร ร.5 ม.49/51 เล่ม 4 หอสมุดแห่งชาติ.
  107. ดวง รามางกูร, พระมหา, พื้นเมืองพนม (ประวัติวงส์เจ้าเมืองธาตุพนม), ไม่ปรากฏหน้า (อัดสำเนา)
  108. ฎิสสโร (หนูกร) ใจสุข, พระ และพันธุโร ตา (ใจสุข), พระ, ประวัติบ้าน ของ พระฎิสสโร (หนูกร) ใจสุข วัดมะโนภิรมย์ บ้านหมู่ที่ 7: พิมพ์แจกทายก ทายิกา โดยคำร้องขอเหล่าสานุศิษย์ เพื่อไว้เปนที่สักการปูชาในการที่ท่านได้ปฏิสังขรณ์อารามต่าง ๆ, (กรุงเทพฯ: วัดมะโนภิรมย์ ตำบลหว้านใหญ่ อำเภอมุกดาหาร จังหวัดนครพนมฯ, ม.ป.ป.), หน้า 6. และ ธวัชชัย พรหมณะ, "ความสำคัญของการอพยพเคลื่อนย้ายกลุ่มชาติพันธุ์ในลุ่มแม่น้ำโขงต่อความเป็นเมืองสุวรรณเขต ระหว่าง ค.ศ. 1893-1954", สารนิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (ประวัติศาสตร์เอเชีย), (บัณฑิตวิทยาลัย: มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, 2545), หน้า 190 (ภาคผนวก ข ประวัติบ้าน).
  109. เติม วิภาคย์พจนกิจ, ประวัติศาสตร์อีสาน, พิมพ์ครั้งที่ 4, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ร่วมกับมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2546), หน้า 362-385.
  110. Aymonier, E. (Etienne), Voyage dans le Laos v.1, (Paris: E. Leroux, 1895), p. 233-234.
  111. ดูรายละเอียดเหตุการณ์ที่ธาตุพนมช่วงเวลาใกล้เคียงกันเพิ่มเติมใน Perthes, J., "Geographischer Litteratur-Bericht Fur 1899 Unter Mitwirkung Mehrerer Fachmanner Herausgegeben Von Alexander Supan: Litteraturbericht, Asien Nr. 184-187., Litteraturbericht, Asien Nr. 188-191.", in Petermanns Mitteilungen. Ergänzungsheft, (Gotha: Justus Perthis, 1899), p. 47-48.
  112. บริบาลศุภกิจ (คำสาย ศิริขันธ์), รองอำมาตย์โท พระ, พงศาวดารเมืองสกลนคร ฉบับ รองอำมาตย์โท พระบริบาลศุภกิจ (คำสาย ศิริขันธ์), ถอดข้อความจากต้นฉบับเดิมและอธิบายเพิ่มเติมโดยเกรียงไกร ปริญญาพล, ดร., (สกลนคร: สกลนครการพิมพ์, 2558), หน้า 7.
  113. เอกสาร ร.5 ม.2 (12 ก.) เล่ม 20 ร.ศ. 107 หอจดหมายเหตุแห่งชาติ.
  114. เอกสาร ร.5 บ.12 เล่ม 11/30 หอจดหมายเหตุแห่งชาติ.
  115. หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. เอกสาร ร.5 ม.2 18/7. โทรเลขที่ 35, "กรมขุนสรรพสิทธิประสงค์ทูลกรมหลวงดำรงราชานุภาพ. วันที่ 19 เมษายน ร.ศ. 121.
  116. สิริปัญญาวุฒิ (ขุนละคร ขันตะ), พระครู, คัดลอก. คัมภีร์เรื่อง พื้นพระบาทใช้ชาติหรือพื้นครุธฮาช (พื้นพระยาธัมมิกราช). วัดศรีสุมังค์ บ้านนาถ่อนท่า ตำบลนาถ่อน อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม. เอกสารเขียนบนกระดาษ 1 ฉบับ. อักษรธรรมลาว, อักษรลาวเดิม. ภาษาบาลี-ลาว. เส้นเขียน. ม.ป.ป. (ต้นฉบับ พ.ศ. 2449). ไม่ปรากฏเลขรหัส. 23 ใบ 6 หน้า. ไม่ปรากฏหมวด. หน้า 1-5.
  117. คัมภีร์ใบลานเรื่อง สังกาดมหาธาตุพระนมโคดมเจ้า. วัดโพสีตาก บ้านปากเงยใต้ เมืองปากแบ่ง แขวงอุดมไซ (ฉบับที่ 2) สปป.ลาว. เอกสารใบลาน 2 ผูก. อักษรธรรมลาว. ภาษาบาลี-ลาว. เส้นจาร. จ.ศ. 1238 (พ.ศ. 2419). โครงการปกปักรักสาหนังสือใบลานลาว (โครงการร่วมมือลาว-เยอรมัน) กระทรวงแถลงข่าวและวัฒนธรรม เลขรหัส PLMP 04 17 03 13 044_07. หมวดตำนานพุทธศาสนา. 12 ใบ 24 หน้า. หน้า 2.
  118. คัมภีร์ใบลานเรื่อง มหาสังกาดธาดตุผานม. วัดโพสีตาก บ้านปากเงยใต้ เมืองปากแบ่ง แขวงอุดมไซ (ฉบับที่ 1) สปป.ลาว. เอกสารใบลาน 2 ผูก. อักษรธรรมลาว. ภาษาบาลี-ลาว. เส้นจาร. จ.ศ. 1265. โครงการปกปักรักสาหนังสือใบลานลาว (โครงการร่วมมือลาว-เยอรมัน) กระทรวงแถลงข่าวและวัฒนธรรม เลขรหัส PLMP 04 17 03 13 044_07. หมวดตำนานพุทธศาสนา. 13 ใบ 26 หน้า. ใบ 1 หน้า 2 บรรทัด 2.
  119. เอกสารใบลานเรื่อง ก้านสาบานถือน้ำต่อเจ้าแผ่นดินปารี. บ้านหัวบึง ตำบลธาตุพนม อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม. เอกสารใบลาน 1 ผูก. อักษรลาวเดิมสมัยพระราชอาณาจักร. ภาษาลาว. เส้นจาร. ม.ป.ป.. ไม่ปรากฏรหัส. หมวดประวัติศาสตร์. 5 ใบ 10 หน้า. ใบ 1 หน้า 1 บรรทัด 1. เอกสารระบุว่า ...ก้านสาบานถือน้ำของเจ้าหย่ำกระหม่อมสมเด็จเจ้าพระยาโพสาราชกัตติยะวงสาโอกาสะราชาพนมเจ้าเมืองพระธาตุพนมฝ่ายบ้านด่านปากเซและเจ้าเมืองปากเซบั้งไฟแล...
  120. ปฐม นิคมานนท์, รศ.ดร. และภัทรา นิคมานนท์, รศ., พระครูวิเวกพุทธกิจ หลวงปู่ใหญ่เสาร์ กนฺตสีโล พระปรมาจารย์ใหญ่ฝ่ายพระกรรมฐาน: โครงการหนังสือบูรพาจารย์ เล่ม 5 จัดพิมพ์เป็นธรรมบรรณาการสำหรับผู้ร่วมบริจาคพระมหาธาตุมณฑปอนุสรณ์บูรพาจารย์และโครงการหนังสือบูรพาจารย์ วัดป่าอาจารย์มั่น (ภูริทตฺโต) บ้านแม่กอย ต.เวียง อ.พร้าว จ.เชียงใหม่, พิมพ์ครั้งที่ 2, (กรุงเทพฯ: บริษัท พี.เอ.ลีฟวิ่ง จำกัด, 2549), หน้า 147-169.
  121. กระทรวงมหาดไทย, ประมวลพระราชหัตถเลขารัชกาลที่ 5, (ม.ป.ท.: กระทรวงมหาดไทย, ม.ป.ป.), หน้า 22-23.
  122. พจน, พระ, ธรรมเนียบข้าราชการหัวเมือง รัตนโกสินทร ศก 125, (พระนคร: โสภณพิพรรฒธนากร ถนนราชบพิตร, ม.ป.ป.), หน้า 21.
  123. ดูรายละเอียดใน กรมเลขาธิการทหารบก, สมุดคู่มือสำหรับข้าราชการปี ร.ศ. 126, (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ, 2450), 357 หน้า.
  124. "แจ้งความกระทรวงมหาดไทยเรื่องพระพิทักษ์นครพนมถวายบังคมลาออกจากราชการ". ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 24 หน้า 1179. วันที่ 2 กุมภาพันธ์ ร.ศ. 126.
  125. สุรจิตต์ จันทรสาขา, เมืองนครพนม (จังหวัดนครพนมในอดีต), (นครพนม: ม.ป.ท., 2520), หน้า 123. (อัดสำเนา)
  126. สุรชัย ชินบุตร, ดร., "ข้าโอกาสวัดพระธาตุพนม อำเภอธาตุพนม การสืบทอดและการดำรงอยู่ในสังคมปัจจุบัน", จุลสาส์นไทย. (ม.ป.ป.): 18-19.
  127. หลวงพิทักษ์พนมเขต (ศรีกระทุม จันทรสาขา) เป็นเชื้อสายเจ้าเมืองมุกดาหารและขุนโอกาสธาตุพนม เคยมีที่ดินบริเวณธาตุพนมและบริจาคเป็นสถานีตำรวจภูธร เนื่องจากต้นตระกูลฝ่ายมุกดาหารมีความสัมพันธ์ทางเครือญาติกับต้นตระกูลที่เมืองธาตุพนมมาแต่โบราณคือ เจ้าพระยาจันทศรีโสราชอุปราชามันธาตุราช (จันทกินรี) มีบุตรคือเจ้าพระยาจันทรสุริยวงศา (กิ่ง) สมรสกับนางยอดแก้วก่องมณีธิดาแสนกลางน้อยศรีมุงคุรร์ (ศรี) ขุนโอกาสเมืองธาตุพนม นางเป็นผู้สร้างวัดยอดแก้วศรีวิชัยในตัวเมืองมุกดาหาร เจ้าพระยาจันทรสุริยวงศา (กิ่ง) กับนางยอดแก้วก่องมณีมีบุตรคือเจ้าพระยาจันทสุริยวงศ์ (พรหม) เจ้าพระยาจันทสุริยวงศ์ (พรหม) มีบุตรคือเจ้าอุปฮาตแถง (แท่ง) เจ้าอุปฮาตแถง (แท่ง) มีบุตรคือพระยาศศิวงศ์ประวัติ (เมฆ) เป็นบิดาหลวงพิทักษ์พนมเขต (ศรีกระทุม จันทรสาขา หรือ สีห์ พิทักษ์พนม) ดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน คณะผู้จัดทำ, พิทักษ์พนมเขตร์อนุสรณ์: พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ รองอำมาตย์เอก หลวงพิทักษ์พนมเขตร์ ณ เมรุวัดศิลาวิเวก อำเภอมุกดาหาร จังหวัดนครพนม วันอาทิตย์ที่ 18 พฤษภาคม พุทธศักราช 2512, (พระนคร: ร.พ. ประเสริฐศิริ, 2512), หน้า 61.
  128. ดูรายละเอียดใน ดำรงราชานุภาพ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา, เรื่องเที่ยวที่ต่าง ๆ ภาคที่ 4: พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ รองอำมาตย์เอก หลวงพิทักษ์พนมเขตร์ (สีห์ จันทรสาขา พ.ศ. 2426-2512 นามเดิม ศรีกระทุม) อดีตนายอำเภอธาตุพนมนานถึง 21 ปี บุตรพระยาศศิวงษ์ประวัติ (เมฆ จันทรสาขา) เจ้าเมืองมุกดาหาร และคุณหญิงจันทร์เพ็ง ณ เมรุวัดศิลาวิเวก อำเภอมุกดาหาร จังหวัดนครพนม วันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2512 , พิมพ์ครั้งที่ 3, (นครพนม: วัดศิลาวิเวก อำเภอมุกดาหาร จังหวัดนครพนม, 2512).
  129. สุรจิตต์ จันทรสาขา,ดร., มุกดาหารศึกษา, (มุกดาหาร: สภาวัฒนธรรมจังหวัดมุกดาหาร, 2562), หน้า 50. และ ดูรายละเอียดใน สุรจิตต์ จันทรสาขา, เมืองมุกดาหาร, (มุกดาหาร: สำนักงานจังหวัดมุกดาหาร, 2543).
  130. กรมศิลปากร สำนักหอสมุดแห่งชาติ, นามสกุลพระราชทานในรัชกาลที่ 7 ถึงรัชกาลปัจจุบัน: อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นางสุนันทา วามสิงห์ ณ เมรุวัดประยุรวงศาวาส วันเสาร์ที่ 27 ธันวาคม พุทธศักราช 2557, (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์เดือนตุลา, 2554), หน้า 88.
  131. [1] เก็บถาวร 2011-11-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีนประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ตั้งตำบลในจังหวัดต่าง ๆ
  132. [2]ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ตั้งและเปลี่ยนแปลงเขตตำบลในท้องที่อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม
  133. [3]ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง จัดตั้งสุขาภิบาลธาตุพนม อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม
  134. [4]ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง จัดตั้งสุขาภิบาลเรณูนคร อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม
  135. [5] เก็บถาวร 2012-03-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีนประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง แบ่งท้องที่ตั้งเป็นกิ่งอำเภอ
  136. [6]ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ตั้งและเปลี่ยนแปลงเขตตำบลในท้องที่อำเภอธาตุพนมอำเภอคำชะอี อำเภอบ้านแพง และกิ่งอำเภอเรณูนคร จังหวัดนครพนม
  137. [7] เก็บถาวร 2007-09-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีนพระราชกฤษฎีกาตั้งอำเภอแวงน้อย อำเภอป่าแดด อำเภอเรณูนคร อำเภอคูเมือง อำเภอคุระบุรี อำเภอแม่ลาน้อย อำเภอเสริมงาม อำเภอไพรบึง และอำเภหนองโดน พ.ศ. 2518
  138. [8]ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ตั้งและเปลี่ยนแปลงเขตตำบลในท้องที่อำเภอศรีสงคราม อำเภอปลาปาก อำเภอมุกดาหาร กิ่งอำเภอนิคมคำสร้อย และอำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม
  139. [9]ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ตั้งและกำหนดเขตตำบลในท้องที่อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม
  140. [10]ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ตั้งและกำหนดเขตตำบลในท้องที่อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม
  141. [11]ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ตั้งและกำหนดเขตตำบลในท้องที่อำเภอเมืองนครพนมและอำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม
  142. http://www.thatphanom.com
  143. "ระบบสารสนเทศเพื่อการบริหาร". stat.bora.dopa.go.th.
  144. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-04-29. สืบค้นเมื่อ 2015-04-13.
  145. http://www.sawasdeenakhonphanom.com
  146. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-11-14. สืบค้นเมื่อ 2015-04-13.