มะโย่ง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก เมาะโย่ง)
การละครมะโย่ง *
  มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมโดยยูเนสโก
ละครและระบำมะโย่งที่ปีนัง ประมาณ ค.ศ. 1903
ประเทศ มาเลเซีย
ภูมิภาค **เอเชียและแปซิฟิก
อ้างอิง00167
ประวัติการขึ้นทะเบียน
ขึ้นทะเบียน2008 (คณะกรรมการสมัยที่ 3)
รายการตัวแทนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ
* ชื่อตามที่ได้ขึ้นทะเบียนในบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมและการสงวนรักษาที่ดี
** ภูมิภาคที่จัดแบ่งโดยยูเนสโก

มะโย่ง หรือ เมาะโย่ง (มลายู: Mak Yong, مق يوڠ) เป็นการแสดงพื้นบ้านของชาวไทยเชื้อสายมลายูในแถบชายแดนภาคใต้ ซึ่งได้แก่ จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา จังหวัดนราธิวาส และบางส่วนของจังหวัดสงขลา[1] นอกจากนี้ยังมีการแสดงมะโย่งในรัฐกลันตัน รัฐตรังกานู รัฐเกอดะฮ์ และรัฐปะลิสในประเทศมาเลเซีย และหมู่เกาะรีเยาในประเทศอินโดนีเซีย โดยการแสดงมะโย่งเป็นศิลปะการร่ายรำที่ผสมผสานทางพิธีกรรม ความเชื่อ การละคร นาฏศิลป์ และดนตรีเข้าด้วยกัน ปัจจุบันการแสดงมะโย่งกำลังขาดผู้สืบทอด ในมาเลเซียมะโย่งเป็นการแสดงที่ถูกพรรคอิสลามแห่งมาเลเซียห้ามด้วยความที่แฝงความเชื่อของลัทธิวิญญาณนิยมและรากเหง้าความเชื่อฮินดู-พุทธดั้งเดิมของชาวมลายู ก่อนที่จะเปลี่ยนไปนับถืออิสลาม[2] นอกจากนี้การเข้ามาของสื่อวิทยุโทรทัศน์ก็ทำให้การแสดงมะโย่งหมดความสำคัญลงไป อย่างไรก็ตามประเทศไทยได้เล็งเห็นความสำคัญของการแสดงมะโย่งในฐานะศิลปะพื้นบ้านของชาวไทยมลายู ทางมหาวิทยาลัยราชภัฎยะลาจึงได้มีการฟื้นฟูและให้นักศึกษาได้ศึกษาและค้นหาความรู้และค้นหาความรู้เพื่อนำมาปฏิบัติจริง[3] โดย มะโย่งมีลีลาคล้ายคลึงกับมโนราห์มาก[4] แสดงเพื่อความบันเทิงและเพื่อใช้แก้บนหรือสะเดาะเคราะห์

ใน ค.ศ. 2005 ยูเนสโกประกาศรับรองให้มะโย่งเป็น "หนึ่งในงานชิ้นเอกของมรดกมุขปาฐะและมรดกที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ"[5]

ประวัติ[แก้]

ความเป็นมาของมะโย่งนั้นคงได้รับการถ่ายทอดวิธีการเล่นจาก แหล่งเดียวกันกับละครรำของไทย ซึ่งสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ กล่าวว่า “ละครรำไทยมี 3 อย่าง ละครชาตรีหรือมโนห์รา 1 ละครใน 1 ละครนอก 1 ไทยได้รับมาจากอินเดียเช่นเดียวกับพม่า ละครพม่าที่เล่นกันในพื้นเมือง (ปี พ.ศ. 2434) กระบวน การเล่นเป็นอย่างเดียวกับละคร (มโนรา) ชาตรีของไทยเรา คือ ตัวละครมีแต่นายโรง 1 นางตัว 1 จำอวดตัว 1 ตัวละครขับร้องเอง มีลูกคู่และปี่พาทย์รับ” ที่รัฐเกรละทางตอนใต้ของประเทศอินเดียยังมีการแสดงละครเร่อยู่แบบหนึ่งมีชื่อเรียกว่า ยาตรี หรือ ชาตรี ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นต้นกำเนิดของโนราและมะโย่ง โดยสำหรับในประเทศไทย เรื่องราวเกี่ยวกับมะโย่ง โดยเชื่อว่าต้นกำเนิดของมะโย่งอยู่ที่ปัตตานี โดยมีข้อสันนิษฐานแตกต่างกันไป ดังนี้

  • เชื่อกันว่ามะโย่งเป็นการแสดงที่เกิดจากในเมืองปัตตานี ตั้งแต่สมัยที่ยังเป็นวัฒนธรรมพุทธ-พราหมณ์ เนื่องจากเป็นการแสดงออกของวัฒธรรมความเชื่อดั้งเดิมของชาวปัตตานี โดยไม่มีอิทธิพลภายนอกของอิสลามเข้ามาปะปน ด้วยเหตุนี้จึงมีผู้เชื่อว่ามะโย่งน่าจะมีอายุไม่ต่ำกว่า 800 ปี [6] โดยเกิดขึ้นในปัตตานีก่อน จากนั้นจึงแพร่หลายไปทางกลันตัน ตามตำนานเชื่อกันว่าเป็นระบำในพิธีบูชาข้าว
  • พิจารณาจากรูปศัพท์ ซึ่งกล่าวว่า คำว่า มะโย่ง หรือ เมาะโย่ง มาจากคำว่า มัคฮียัง (MAKHIANG) แปลว่า พระแม่โพสพ เนื่องจากพิธิทำขวัญข้าวในนาของชาวมลายูในสมัยโบราณนั้น จะมีหมอผู้ทำพิธีทรงวิญญาณพระแม่โพสพเป็นการแสดงความกตัญญูที่พระแม่โพสพมีเมตตาประทานน้ำนมมาให้เป็นเมล็ดข้าว เพื่อเป็นโภชนาหารของมนุษย์ ตลอดทั้งเพื่อขอความสมบูรณ์พูนสุข ความสวัสดิมงคลให้บังเกิดแก่ชาวบ้านทั้งหลาย ในพิธีจะมีการร้องรำบวงสรวงด้วย ซึ่งในภายหลังได้วิฒนาการมาเป็นละครที่เรียกว่า มะโย่ง หรือ เมาะโย่ง มีการร้องรำและมีดนตรีประกอบ[7]
  • เมาะโย่งเป็นการแสดงที่ได้รับอิทธิพลมาจากชวาตั้งแต่ครั้งโบราณแล้วเป็นที่นิยม จนแพร่หลายในหมู่ชาวมลายูในบริเวณสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และได้อธิบายเพิ่มเติมโดยกล่าวถึงที่มาของคำว่ามะโย่ง คำว่า มะ หรือ เมาะ แปลว่า แม่ ส่วน โย่ง หรือโยง เป็นพระนามของเจ้าหญิงพระองค์หนึ่งแห่งชวา จึงชวนให้สันนิษฐานต่อไปได้ว่า เหตุที่เรียกละครประเภทนี้ว่า มะโย่ง อาจเป็นตัวพระ จึงเรียกกันโดยใช้คำว่า มะ หรือ เมาะนำหน้าเครื่องดนตรี นิยมใช้กันอยู่ 3 ชนิด คือ รือบับ จำนวน 1-2 คน กลองแขก 3 หน้า จำนวน 2 ใบ และฆ้องใหญ่เสียงทุ้มแหลมอย่างละใบ มะโย่งบางคณะยังมีเครื่องดนตรีอีก 2 ชิ้น คือ กอเลาะ (กรับ) จำนวน 1 คู่ และจือแระ จำนวน 3-4 อัน (จือแระ ทำด้วยไม้ไผ่ยาวประมาณ 16–18 นิ้วใช้ตี)

อย่างไรก็ตาม การแสดงมะโย่งได้ปรากฏเป็นหลักฐานครั้งแรกในปี พ.ศ. 2155 ความว่า “เมื่อปี 2155 ชาวยุโรปคนหนึ่งชื่อ ปีเตอร์ ฟลอเรส ได้รับเชิญจากนางพญาตานี หรือเจ้าเมืองปัตตานีสมัยนั้นให้ไปร่วมเป็น เกียรติในงานเลี้ยงต้อนรับสุลต่านรัฐปาหัง งานดังกล่าวปีเตอร์เล่าว่า มีการละเล่นอย่างหนึ่ง ลักษณะการแสดงคล้ายนาฏศิลป์ชวา ผู้แสดงแต่งกายแปลกน่าดูมาก ศิลปะดังกล่าวคงหมายถึงมะโย่ง ซึ่งส่วนใหญ่จัดแสดงในงานเพื่อให้อาคันตุกะ ได้ชม”[8]

มะโย่งเข้าไปเล่นในกรุงเทพฯ ตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีอยู่โรงหนึ่งแสดงดีเป็นที่นิยมของผู้ดู เรียกกันว่า ละครตาเสือ ตัวตาเสือเป็นนายโรง เล่นตามแบบละครมายง แต่งตัวเป็นมลายู ร้องเป็นภาษามลายู แต่เจรจาเป็นภาษาไทย ชอบเล่นเรื่องอิเหนาใหญ่ ละครตาเสือเล่นมาจนถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว[9]

ตัวละคร[แก้]

ผู้แสดงมะโย่งคณะหนึ่งมีประมาณ 20-30 คน เป็นลูกคู่เล่นดนตรี 5-7 คน นอกนั้นเป็นผู้แสดงและเป็นผู้ช่วยผู้แสดงบ้าง ผู้แสดงหรือตัวละครสำคัญมีอยู่ 4 ตัวคือ

  1. ปะโย่ง หรือ เปาะโย่ง แสดงเป็นพระเอกในฐานะเป็นกษัตริย์หรือเจ้าชาย ใช้ผู้หญิงรูปร่างนางแบบ หน้าตาสะสวย ขับกลอนเก่ง น้ำเสียงดีเป็นผู้แสดงแต่งกายด้วยกางเกงขายาว นุ่งโสร่งพับครึ่งท่อนความยาวเหนือเข่า สวมเสื้อคอกลมแขนสั้น สวมมงกุฏ (กอฏอ) กรองคอ (ลา) เหน็บกริช และถือมีดทวายหรือไม้เรียวอันหนึ่งเพื่อไว้ตีหัวเสนา
  2. มะโย่ง หรือ เมาะโย่ง แสดงเป็นนางเอกมีฐานะเป็นเจ้าหญิงหรือสาวชาวบ้าน การแต่งกายจะเปลี่ยนไปตามฐานะ ถ้าเป็นสาวชาวบ้านจะนุ่งผ้าโสร่งยาวกรอมเท้า สวมเสื้อเข้ารูป ถ้ามีฐานะเป็นเจ้าหญิงจะสวมมงกุฏ มีสร้อยข้อมือ กำไลเท้าและสวมแหวนหลายวง
  3. ปืนรันมูดอ แสดงเป็นตัวตลกตัวที่ 1 มีฐานะเป็นเสนาหนุ่มคนสนิทของเปาะโย่ง
  4. ปืนรันตูวอ แสดงเป็นตัวตลกตัวที่ 2 มีฐานะเป็นเสนาอาวุโส คนสนิทตัวรองของเปาะโย่ง สนิทสนมกับปือรันมูดอ และเป็นตัวคอยที่คอยสนับสนุนให้ปีรันมูดอสามารถตลกจี้เส้นได้มากขึ้น การแต่งกายของปือรันมูดอและปืนรันตูวอ คือนุ่งกางเกงขายาว สวมเสื้อแขนยาวคอตั้ง นุ่งผ้าทับแค่เข่าโพกศีรษะหรือสวมหมากซอเกาะ

องค์ประกอบในการแสดง[แก้]

รือบับ

เวลาที่ใช้แสดง[แก้]

เมาะโย่งเป็นละครของชาวไทยมุสลิมภาคใต้นิยมกันมากในอดีตจัดแสดงเมื่อมีงานมงคลต่างๆ ของชาวพื้นเมืองเช่น งานมงคลสมรส (มาแกปูโละ) เข้าสุนัต (มะโซะยาวี) เมาลิด ฮารีรายอ การแก้บน (บายากาโอล) การสะเดาะเคราะห์ และพิธีกรรมบูชาขวัญข้าว (ปูยอมือแน) หรือบางครั้งแม้ไม่มีงานบุญก็อาจจะหามาเล่นเพื่อความบันเทิงในหมู่บ้านก็ได้ หรือตามที่เจ้างานรับไปแสดง ปกติแสดงในเวลากลางคืนโดยเริ่มแสดงราว 19 นาฬิกา เลิกเวลาประมาณ 1 นาฬิกา

โรงแสดง[แก้]

โรงหรือเวทีแสดง (ปาฆง) ปัจจุบันโรงมะโย่งปลูกยกพื้นเตี้ยๆเป็นเพิงหมาแหงน (บาไล) ยกพื้นสูงประมาณ 1 เมตร กว้าง 5-6 เมตร ยาว 8 -10 เมตร จากท้ายโรงประมาณ 1-2 เมตร จะกั้นฝา 3 ด้าน คือ ด้านท้ายกับด้านข้างทั้งสอง ด้านหน้าใช้ฉากปิดกั้นให้มีช่องออกหน้าโรงได้ เนื้อที่ด้านท้ายโรงใช้เป็นที่แต่งกายเก็บของและพักผ่อนนอนหลับ ด้านหน้าโรงเป็นโล่งทั้ง 3 ด้าน จากพื้นถึงหลังคาด้านหน้าสูงประมาณ 3.5 เมตร ชายหลังด้านหน้านี้จะมีระบายป้ายชื่อคณะอย่างโรงลิเกหรือโนรา ส่วนใต้ถุนโรงใช้เป็นที่พักหลับนอนไปด้วย[10]

การแต่งกาย[แก้]

ตัวพระนุ่งกางเกงคล้ายสนับเพลา แบบเดียวกับโนรา มีผ้าโสร่งนุ่งทับบน สูงเลยเข่าขึ้นมาเล็กน้อย ศีรษะโพกผ้าสาปูตางัน สวมเสื้อแขนสั้นรัดรูป นิยมใช้ผ้าแพรสีหรือผ้ากำมะหยี่เป็นพื้น เหน็บกริชไว้ข้างสะเอว มือถือมัดหวาย ส่วนตัวนางนุ่งผ้าปาเต๊ะ ลวดลายหลากสี สวมเสื้อกะบายอแขนยาว ใช้ผ้าสีดอกดวงเด่นๆ และมีผ้าสไบคล้องคอห้อยชายลงมาข้างแขน ผมเกล้ามวย มีดอกไม้ทัดหูและสอดแซมผม ส่วนตัวตลก หรือ พราน นุ่งโสร่งไม่สวมเสื้อ ใช้ผ้าขาวม้าคาดท้องและพาดบ่า มีมีด (ปีซาโกล้ด) เหน็บสะเอว สวมหน้ากากหรือตอแปง ส่วนตัวพี่เลี้ยง นางกำนัล นุ่งผ้าปาเต๊ะ สวมเสื้อกะบายอแขนยาวเป็นผ้าธรรมดา

เครื่องดนตรี[11][แก้]

เครื่องดนตรีของมะโย่งนั้นมีกลองแขกหรือกลองมลายู 2 ใบ ฆ้องใหญ่ (ตาเวาะ)เสียงทุ้มและแหลมอย่างละใบ ซองา (รือบะ) สำหรับสีคลอเสียงร้องของเมาะโย่ง 1 คัน ปี่ (ซูนู) 1 เลา บางคณะมีเครื่องคนตรีอีก 2 ชนิด คือ กรับ (กอเลาะ) และท่อนไม้ไผ่ยาวประมาณ 16-18 นิ้ว (จือเระ) ใช้ตี

ธรรมเนียมการแสดง[แก้]

ก่อนเริ่มแสดงจะมีพิธีเบิกโรง เรียกว่า บูกอปาฆง มะโย่งแต่ละคณะจะมี บอมอ หรือ หมอ ประจำอย่างน้อยคณะละ 1 คน บอมอเป็นผู้ทรงคุณวุฒิทางไสยศาสตร์ไว้ป้องกันและแก้เวทมนตร์คาถาที่คู่ต่อสู้ส่งมาทำลายเวลาเล่นประชันโรง และไว้ทำพิธีไหว้ครูบูชาเทพาอารักษ์

วันแรกของการแสดง ผู้จัดงานต้องจัดเครื่องบัตรพลี มีหมาก พลู บุหรี่ ด้ายดิบ ข้าวสาร กำยาน น้ำ เทียน และกล้วยตานี พร้อมด้วยเงินค่ากำนัลจำนวน 30 บาท มามอบให้นายโรงมะโย่งเพื่อทำพิธีเบิกโรง พิธีเริ่มด้วยผู้แสดงและคนเล่นดนตรีเข้ามานั่งล้อมกันเป็นวงกลม หมอผู้ทำพิธีนั่งกลางวงหันหน้าไปทางทิศตะวันออก หยิบผงกำยานพโรยลงในภาชนะที่บรรจุถ่านไฟซึ่งกำลังคุอยู่จนกลิ่นและควันกำยานพุ่งขึ้น หมอยกภาชนะที่บรรจุเครื่องบัตรพลีเวียนไปรอบๆ เปลวควัน 3 รอบ แล้วกล่าวคาถาบวงสรวงพระภูมิเทวา จบแล้วจุดเทียนนำไปติดที่เสาโรงด้านทิศตะวันออกและเสากลางโรง ตลอดถึงเครื่องประโคมอื่นๆ เฉพาะซอและฆ้อง นอกจากติดเทียนบูชาแล้ว จะต้องนำกล้วยตานีไปเซ่นบวงสรวงด้วย มะโย่งถือว่าซอและฆ้องเป็นหลัก เป็นประธานของดนตรี จากนั้นก็บรรเลงเพลงโหมโรง

เสร็จจากเบิกโรง คนซอจะออกมานั่งกลางเวที ตัวพระ ตัวนาง และพี่เลี้ยง นั่งเป็นแถวครึ่งวงกลมหันหน้าเข้าหาคนซอ และขับร้องคลอกับเสียงซอ แล้วลุกขึ้นเดินร่ายรำและร้องเพลงไปรอบๆ เวที ทำนองการรำเบิกโรง หลังจากนั้นตัวละครก็จะกลับไปนั่งรอคอยบทบาทที่ตนจะต้องแสดงอยู่ข้างขอบเวที คงเหลือแต่ตัวมะโย่งยืนขับร้องและเจรจาแนะนำตัวให้ผู้ชมทราบว่าเป็นผู้ใด อยู่ทีไหน กำลังจะทำอะไรในท้องเรื่อง จากนั้นตัวมะโย่งเรียกตัวตลกหรือเสนาให้ออกมา แล้วพูดจาเรื่อยเปื่อยไปด้วยถ้อยคำที่ขบขัน จากนั้นก็แสดงนิยายที่ได้เตรียมมา[12]

เรื่องที่ทำการแสดง[แก้]

เรื่องที่มะโย่งนิยมแสดง มักเป็นนิยายเก่าแก่ เกี่ยวกับความรักของชายหนุ่ม-หญิงสาว เช่น รายอมูดอ ลือแมะ, รอยอ ซันแซนา, รายอดอละเวง, รายอมูดอ ปีแน, มาโวะ แดวอ ปีเจ, รายอ กอแน, แดแว มูดอ, อาเนาะรายอ กันตัง, บงซู สตี, กาเด็ง บูเวาะ ตีฆัง, ปุตรีตีมุง เป็นต้น

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. มะโย่ง วัฒนธรรมนำสันติสุข
  2. "Kelantan refuses to lift Mak Yong ban". The Star. 2007. สืบค้นเมื่อ 5 December 2017.
  3. ม.ราชภัฏยะลา เตรียมดึง 'มะโย่ง' ให้นักศึกษาสืบทอด เก็บถาวร 2010-05-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน มุสลิมไทยดอตคอม 30 ตุลาคม 2552 10:44:50
  4. ขุนศิลปกรรมพิเศษ. คำพ้องภาษา ไทย-มลายู, หน้า 121
  5. "Mak Yong Malaysia". UNESCO. 2008. สืบค้นเมื่อ 5 December 2017.
  6. มะโย่ง เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ฐานข้อมูลและวัฒนธรรมสิ่งแวดล้อม
  7. ประพนธ์ เรืองณรงค์. “มะโย่ง” วิชชาวารสารทางวิชาการวิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช. ปีที่ 2 ฉบับที่ 1 มิถุนายน 2619, หน้า 257
  8. ประพนธ์ เรืองณรงค์. ตำนานการละเล่นและภาษาชาวใต้, หน้า 67
  9. สุจิตต์ วงษ์เทศ. กรุงเทพฯ มาจากไหน?. มติชน:กรุงเทพฯ, กุมภาพันธ์ 2548. หน้า 202
  10. การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยตำบลบาเจาะ อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส การศึกษา ศิลปวัฒนธรรม และการพัฒนาอาชีพ
  11. "ลักษณะไทย มะโย่ง". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-13. สืบค้นเมื่อ 2010-06-25.
  12. มีใครรู้จักมะโย่งบ้าง?

อ่านเพิ่ม[แก้]

The Basics of Kelantan Drums in Mak Yong by Yap Eng Sim