เมนต์มอร์ทาวเวอส์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เมนต์มอร์ทาวเวอส์
เมนต์มอร์ทาวเวอส์
ประเภทฟื้นฟูเรอแนซ็องส์
พื้นที่เมนต์มอร์, บักกิงแฮมเชอร์ สหราชอาณาจักร
ข้อมูล
เจ้าของบารอนเมเยอร์ อัมเชล เดอ รอทไชลด์
ประวัติศาสตร์
สร้างค.ศ. 1852 - ค.ศ. 1854
สถาปนิกโจเซฟ แพกซ์ตัน

เมนต์มอร์ทาวเวอส์ (อังกฤษ: Mentmore Towers) เป็นคฤหาสน์ชนบทขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่ที่เมนต์มอร์ในบักกิงแฮมเชอร์ในสหราชอาณาจักร "เมนต์มอร์ทาวเวอส์" ก่อสร้างเป็นครั้งแรกระหว่างปีค.ศ. 1852 ถึงปี ค.ศ. 1854 เป็นสถาปัตยกรรมฟื้นฟูเรอแนซ็องส์ ที่สร้างให้แก่บารอนเมเยอร์ อัมเชล เดอ รอทไชลด์ โดยมีโจเซฟ แพกซ์ตัน[1]เป็นสถาปนิก

ชื่อคฤหาสน์มาจากชื่อหมู่บ้านที่คฤหาสน์ตั้งอยู่และเพราะมียอดและหอตกแต่งมากมาย มักจะเรียกกันง่าย ๆ ว่า "เมนต์มอร์" โดยผู้พำนักอยู่ในบริเวณนั้นและผู้ที่ทำงานให้กับคฤหาสน์เช่นเดียวกับทริงพาร์ก (Tring Park) ที่ตั้งอยู่ไม่ไกลนัก เฮนรี พริมโรส เอิร์ลแห่งโรสบรีที่ 6 เจ้าของเดิมคนหนึ่งของเมนต์มอร์เปรยว่าชื่อคฤหาสน์ฟังแล้วเหมือนบ้านให้เช่าห้องถูก ๆ เมนต์มอร์ทาวเวอส์อยู่ในข่ายสิ่งก่อสร้างภายใต้การพิทักษ์ระดับ 1

สมัยรอทไชลด์[แก้]

เมนต์มอร์ทาวเวอส์สร้างระหว่างปี ค.ศ. 1852 ถึงปี ค.ศ. 1854 สำหรับบารอนเมเยอร์ อัมเชล เดอ รอทไชลด์ ผู้ต้องการจะมีบ้านใกล้ลอนดอน ต่อมาตระกูลรอทไชลด์ก็สร้างคฤหาสน์ที่ทริงในฮาร์ตฟอร์ตเชอร์, แอสค็อต, แอสตันคลินตัน, แวดเดสดอน และฮาลตัน (Halton House)[2] ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1846 บารอนเมเยอร์ก็ค่อย ๆ กว้านซื้อที่ดินในบริเวณนั้น[3] แต่ก็ไม่ได้ซื้อเมนต์มอร์จนกระทั่งปี ค.ศ. 1850 เป็นจำนวน 12,400 ปอนด์จากผู้จัดการดูแลทรัพย์สินของตระกูลฮาร์คอร์ท

ผังการสร้างคฤหาสน์ที่เริ่มในปี ค.ศ. 1852 เลียนแบบคฤหาสน์วอลลาตันฮอลล์ (Wollaton Hall) ในนอตทิงแฮม ที่เขียนโดยสถาปนิกโจเซฟ แพกซ์ตันผู้มีชื่อเสียงจากการเขียนแบบเรือนแก้ว (the Crystal Palace)

คฤหาสน์เดิมที่ด้านหน้าเป็นแบบจอร์เจียที่สร้างโดยตระกูลวิกก์ในคริสต์ศตวรรษที่ 16 กลายเป็น "เรือนสวน" (Garden House) ที่ใช้เป็นที่พำนักของหัวหน้าคนสวนของรอทไชลด์ ต่อมาเป็นสำนักงานทรัพย์สิน ในปี ค.ศ. 2004 ก็เปลี่ยนกลับไปเป็นคฤหาสน์มาเนอร์ของหมู่บ้าน

สมัยโรสบรี[แก้]

หลังจากเมนต์มอร์ทาวเวอส์สร้างเสร็จได้ไม่นานบารอนและภรรยาก็มีชีวิตอยู่ได้ไม่นาน หลังจากบารอนเนสสิ้นชีวิตแล้วคฤหาสน์ก็ตกไปเป็นของลูกสาว--ฮันนาห์ พริมโรส เคานเทสแห่งโรสบรี[4] เมื่อฮันนาห์สิ้นชีวิตในปี ค.ศ. 1890 เมื่ออายุเพียง 39 ปีจากไตอักเสบ (Bright's Disease หรือที่เรียกว่า Nephritis ในปัจจุบัน) เมนต์มอร์ทาวเวอส์จึงตกไปเป็นของสามีอาร์ชิบอลด์ พริมโรส เอิร์ลแห่งโรสบรีที่ 5 ผู้ต่อมาเป็นนายกรัฐมนตรีอยู่สองปีตั้งแต่ปี ค.ศ. 1894[4] ในคริสต์ทศวรรษ 1920 อาร์ชิบอลด์ก็มอบคฤหาสน์ให้ลูกชายs the fifth earl gave the estate to his son แฮรี ผู้กลายมาเป็นเอิร์ลแห่งโรสบรีคนที่หกหลังจากที่บิดาเสียชีวิต[4]

เอิร์ลทั้งพ่อและลูกเป็นนักผสมพันธุ์ม้าแข่งที่มีโรงเลี้ยงม้าสำหรับผสมพันธุ์สองแห่ง รวมทั้งม้าที่ได้รับชัยชนะในการแข่งขันเอ็พซอมดาร์บี (Epsom Derby) ห้าตัว โรงม้าอยู่ห่างจากตัวคฤหาสน์เพียงไม่ถึงหนึ่งกิโลเมตร และออกแบบโดยสถาปนิกจอร์จ เดวีย์ (George Devey) ผู้ออกแบบกระท่อมอีกหลายหลังภายในหมู่บ้านเมนต์มอร์, หมู่บ้านคราฟตัน และหมู่บ้านเล็ดเบิร์นของคฤหาสน์

ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ทางรัฐบาลก็ย้ายราชรถม้าหลวง (Gold State Coach) มาเก็บไว้ที่เมนต์มอร์เพื่อป้องกันจากการถูกทำลายโดยลูกระเบิด

The staircase (7), view to the Grand Hall (1).

หลังจากเอิร์ลแห่งโรสบรีที่ 6 เสียชีวิตในปี ค.ศ. 1973 รัฐบาลพรรคกรรมกรที่นำโดยเจมส์ คัลลาฮานไม่ยอมรับข้อเสนอในการรับสิ่งของภายในคฤหาสน์แทนการจ่ายภาษีมรดกเป็นตัวเงิน ซึ่งถ้ารับคฤหาสน์ก็จะกลายเป็นพิพิธภัณฑ์ที่งานสะสมที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของเครื่องเรือนแบบยุโรป, งานศิลปะ (objets d'art) และงานสถาปัตยกรรมของสมัยวิคตอเรีย ทางฝ่ายคฤหาสน์เสนอขายบ้านและทรัพย์สินภายในให้แก่รัฐบาลเป็นจำนวน 2,000,000 ปอนด์แต่รัฐบาลไม่ตกลงหลังจากการเจรจาต่อรองกันอยู่สามปี หลังจากนั้นผู้จัดการมรดกจึงประมูลขายทรัพย์สินภายในคฤหาสน์ได้เป็นจำนวนกว่า 6,000,000 ปอนด์ ในบรรดางานจิตรกรรมที่ขายไปก็ได้แก่งานของทอมัส เกนส์เบรอ, โจชัว เรย์โนลด์ส, ฟร็องซัว บูเช, โจวันนี บัตติสตา โมโรนี (Giovanni Battista Moroni) และจิตรกรคนสำคัญ ๆ อื่น ๆ และงานเฟอร์นิเจอร์โดยช่างผู้มีชื่อเสียงที่รวมทั้งฌ็อง อ็องรี รีเซอเนอร์ (Jean Henri Riesener) และทอมัส ชิปเพนเดล (Thomas Chippendale) นอกจากงานจิตรกรรมแล้วก็ยังมีงานของช่างทองฝีมือดีจากเยอรมนีและรัสเซีย และงานเครื่องเคลือบที่มีชื่อเสียงของลีมอฌ (Limoges) กล่าวกันว่างานสะสมของรอทไชลด์/เมนต์มอร์ถือกันว่าเป็นงานสะสมส่วนบุคคลที่มีคุณค่าดีที่สุดนอกไปจากงานสะสมของรัสเซียและราชสำนักอังกฤษ[5]

ตัวบ้านเปล่า ๆ ที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่สร้างมาขายในปี ค.ศ. 1977 เป็นจำนวนเงิน 220,000 ปอนด์แก่ขบวนการธรรมสมาธิ[6] (Transcendental Meditation movement) ที่ก่อตั้งโดยมหาริชี มเหช โยคี[7] (Maharishi Mahesh Yogi) ในปี ค.ศ. 1992 ขบวนการนี้ก็ยกฐานะให้เมนต์มอร์เป็นสำนักงานกลางของแขนงการเมืองของลัทธิที่เรียกว่า "พรรคกฎธรรมชาติ" (Natural Law Party)

ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1977 ถึงปี ค.ศ. 1979 เมนต์มอร์ก็เป็นที่ตั้งของสำนักงานกลางของขบวนการธรรมสมาธิ ที่ใช้ในการประชุมหรือสัมนนา หรือการศึกษาระยะยาวเกี่ยวกับธรรมสมาธิและ ในการประชุมเกี่ยวกับการแสดงหาความสันติสุขแก่โลก เมื่อต้นปี ค.ศ. 1979 มหาริชี มเหช โยคีก็นำชายหนุ่มราวร้อยคนและครูที่สอนการทำธรรมสมาธิไปยังคฤหาสน์เพื่อให้เป็นการมีโครงการธรรมสมาธิเป็นการต่อเนื่อง เมนต์มอร์เป็นที่ตั้งของ "รัฐบาลโลกเพื่อยุคแห่งการเรืองปัญญา" (World Government for the Age of Enlightenment) ที่ก่อตั้งในปี ค.ศ. 1975 และใช้เป็นที่ริเริ่มรัฐสภาเมือง (City Parliaments) สำหรับเมืองใหญ่ ๆ ในสหราชอาณาจักร ในช่วงสามปีระหว่างปี ค.ศ. 1979 จนถึงปี ค.ศ. 1982) เมนต์มอร์เป็นที่ที่มีเหตุการณ์ต่าง ๆ เกิดขึ้นอย่างมากมายที่รวมทั้งงานเลี้ยงเพื่อชวนเชิญผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันการศึกษา, รัฐบาล หรือนักธุรกิจให้เข้ามามีส่วนร่วม นอกจากนั้นก็มีการก่อตั้งห้องทดลองต่าง ๆ ในปีกคนรับใช้เพื่อใช้ในการค้นคว้าเกี่ยวกับธรรมสมาธิ ที่บริหารในชื่อ "มหาวิทยาลัยมหาริชีแห่งการค้นคว้าแห่งยุโรป" (Maharishi European Research University) หรือ MERU หลังจากที่สถาบันชื่อเดียวกันได้รับก่อตั้งขึ้นในสวิสเซอร์แลนด์ จากนั้นก็มีการจัดการสัมนากันขึ้นหลายครั้งเพื่อเป็นเครื่องกระตุ้นให้สถาบันการศึกษาหันมาสนใจในการค้นคว้าเกี่ยวกับธรรมสมาธิ โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดและมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์

ในปี ค.ศ. 1982 เมนต์มอร์ก็กลายเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยมหาริชีแห่งกฎธรรมชาติ ในปี ค.ศ. 1992 บทบาทของเมนต์มอร์ก็เปลี่ยนไปอีกครั้งนี้กลายเป็นสำนักงานกลางของพรรคกฎธรรมชาติซึ่งมีผู้สมัครเข้ารับเลือกตั้งเป็นตัวแทนของพรรคกว่า 300 คนในปีการเลือกตั้งนั้น

ขบวนการธรรมสมาธิหารายได้จากการสัมนาและอื่น ๆ เช่นการจัดคอนเซิร์ต แต่หลังจากปี ค.ศ. 1982 แล้วจำนวนสมาชิกก็ลดน้อยลงตามลำดับจนเหลือเพียงราวสามสิบคนก่อนที่เมนต์มอร์จะถูกขายต่อไป

อนาคต[แก้]

บันไดหินอ่อน

ในปี ค.ศ. 1997 เมนต์มอร์ทาวเวอส์ก็ได้รับการขายให้แก่บริษัทที่เป็นของไซมอน ฮาลาบี (Simon Halabi) และเปลี่ยนชื่อไปเป็นบริษัทเมนต์มอร์ทาวเวอส์จำกัด โดยมีแผนที่จะบูรณปฏิสังขรณ์และทำเป็นโรงแรมชั้นสูงที่มีห้องชุด 101 ห้องและรวมทั้งอีก 62 ในปีกใหม่ต่ำลงมาบนเนินจากตัวบ้านเดิม[8] แต่ในเดือนกันยายน ค.ศ. 2004 ผู้อาศัยอยู่ในท้องถิ่นได้รับชัยชนะในการระงับการก่อสร้างโดยคำสั่งห้าม (injunction) ของศาลยุติธรรมสูงสุด (High Court of Justice) ระหว่างการพิจารณาสืบสวนว่าการก่อสร้างเป็นไปตามใบอนุญาตการก่อสร้าง (planning permission) อย่างถูกต้องหรือไม่ ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 2005 ศาลยุติธรรมสูงสุดก็ตัดสินเข้าข้างผู้ก่อสร้างโรงแรม แต่กิจการการก่อสร้างของไซมอน ฮาลาบีอยู่ในสภาวะที่ไม่ไคร่ดีนักเพราะการล่มของตลาดการก่อสร้างและโครงการก็ดูเหมือนจะยุติลง สถาบันอนุรักษ์อังกฤษลงทะเบียนเมนต์มอร์ทาวเวอส์ในทะเบียนทรัพย์ที่อยู่ในอันตราย (Risk register) และต้องการการซ่อมแซมอย่างรีบด่วนบนหลังคาและปล่องไฟ นอกจากนั้นก็ยังมีความกังวลกันว่าสภาวะอากาศอาจจะสร้างความเสียหายให้แก่ภายในตัวอาคารที่เป็นงานการตกแต่งที่ดีที่สุดของการออกแบบการตกแต่งภายในและงานฝีมือของสมัยวิคตอเรีย

ฉากภาพยนตร์[แก้]

เมนต์มอร์ทาวเวอส์ใช้เป็นฉากในการสร้างภาพยนตร์หลายเรื่องเช่น "Eyes Wide Shut", "Ali G Indahouse", "Johnny English" "บราซิล", "เดอะ มัมมี่ รีเทิร์น" และ "แบทแมน บีกินส์" สไปซ์ เกิร์ลสใช้ในการถ่ายวิดีโอ "Goodbye" และ เอนยา ในการถ่ายวิดีโอ "Only If..."

อ้างอิง[แก้]

  1. BBC - Historic Figures - Joseph Paxton (1803 - 1865)[1]
  2. Cowles, Virginia (1975). The Rothschilds, a family of fortune. London: First Futura Publications. ISBN 08600 7206 1.
  3. Binney, Marcus. John Robinson. William Allan (1977). SAVE Mentmore for the Nation. London: SAVE Britain's Heritage.
  4. 4.0 4.1 4.2 McKinstry, Leo (2005). Rosebery, a statesman in turmoil. London: John Murray (publishers). ISBN 0 7195 6586 3.
  5. Sotheby's (1977). Mentmore Volume I -V. London: Sotheby, Parke, Bernet & Co.
  6. Transcendental Meditation[2] เก็บถาวร 2009-06-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  7. Transcendental Meditation[3] เก็บถาวร 2009-06-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  8. EPR Architects, Mentmore Towers เก็บถาวร 2006-10-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน - accessed 22 September 2006

ดูเพิ่ม[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ เมนต์มอร์ทาวเวอส์