เพลงบอก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

เพลงบอก คือการแสดงชนิดหนึ่งของไทย เป็นการละเล่นอย่างหนึ่งของชาวปักษ์ใต้บริเวณจังหวัดภาคใต้ตอนบนและตอนล่าง อันได้แก่ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ตรัง พัทลุง และสงขลา นิยมเล่นในวันตรุษสงกรานต์ เป็นการบอกข่าวของชาวบ้านทุกละแวกให้ทราบว่าใกล้ถึงปีใหม่แล้ว หรือเป็นการบอกเล่าเรื่องราวข่าวสารต่าง ๆ เช่นบอกข่าวเชิญไปทำบุญตามเหตุการณ์ ต่าง ๆ เรียกได้ว่า เพลงบอกเป็นความเชื่อทางวัฒนธรรมทางจิตใจอย่างหนึ่งของชาวใต้ซึ่งคู่กับชาวบ้านมานานตั้งแต่โบราณ และสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน

นครศรีธรรมราชได้ชื่อว่า เป็นจังหวัดที่มีนักเล่นเพลงบอกมากที่สุดทั้งในอดีตและปัจจุบัน จนได้รับสมญานามว่า เมืองเพลงบอก นอกจากมีนักเล่นเพลงบอกเป็นจำนวนมากแล้ว นักเล่นเพลงบอกที่มีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมชมชอบว่ามีฝีปากคมคายเป็นที่ดีเยี่ยมส่วนใหญ่มีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช

เพลงบอกจะแต่งเป็นบทกลอน มีฉันทลักษณ์เป็นแบบฉบับของตนเอง ส่วนมากกลอนหนึ่งบทจะประกอบด้วย ๔ วรรค สามวรรคแรกจะมีวรรคละ ๖ คำ ส่วนวรรคสุดท้ายจะมี ๔ คำ เพลงบอกจะต้องมีลูกคู่คอยร้องรับ ซึ่งเพลงบอกคณะหนึ่ง ๆ จะมีลูกอย่างน้อย ๒ คน หรือมากสุดไม่เกิน ๔ คน และเครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบการขับร้องเพลงบอกมี ๒ ชนิด คือ ฉิ่ง ๑ คู่ และกรับ ๑ คู่

ปัจจุบันนี้เพลงบอกนอกจากจะนิยมเล่นกันในวันสงกรานต์แล้วยังนิยมเล่นในงานสำคัญต่าง ๆ เช่น งานผูกพัทธสีมา งานศพ งานบวชนาค งานทำบุญขึ้นบ้านใหม่ งานแห่พระ งานประจำปีของวัด งานทอดกฐินผ้าป่าต่าง ๆ และได้มีการจัดการแข่งขันประชันเพลงบอกขึ้น

การประชันเพลงบอกสมัยก่อนจะจัดขึ้นภายในวัด โดยมีแม่เพลงบอกนั่งร้องขับบทกันที่ศาลากลางวัด แม่เพลงผู้อวุโสจะเป็นผู้แสดงฝีปากก่อน ซึ่งจะเริ่มร้องด้วยบทไหว้ครู สิ่งศักดิ์สิทธิ์ บุคคลสำคัญ และเจ้าบ้านผ่านเมือง เมื่อแม่เพลงร้องจบ ฝ่ายตรงข้ามจะเริ่มร้องบทไหว้ครูเช่นเดียวกัน

ปัจจุบันนี้การประชันเพลงบอกจะมาหลักเกณฑ์ในการพิจารณาว่าเพลงบอกจะดีหรือไม่ คือการสังเกตที่ฉัทลักษณ์ว่าถูกต้องตามแบบของกลอนเพลงบอกหรือไม่ นอกจากนี้ยังสังเกตจากการเลือกสรรคำมาใช้ ดูคำศัพท์ สำนวนโวหาร ว่ามีความคมคาย กว้างแคบ หรือใช้ได้เพียงไร การดูปัญญาความรอบรู้ และปฏิภาณไหวพริบของแม่เพลง การนำเสนอความคิดเห็นที่แยบคาย แปลกใหม่ ดูท่วงทำนอง ลีลาจังหวะ สุ้มเสียง และการร้องรับของลูกคู่

ค่านิยมที่ปรากฏในเพลงบอกที่เด่น ๆ มีอยู่ ๒ ประเด็นการคือ การเคารพยึดมั่นในสถาบันพระมหากษัตริย์ และการเคารพยกย่องครูอาจารย์ นอกจากนี้ในบทกลอนเพลงบอกยังสะท้อนถึงชีวิตความเป็นอยู่และการละเล่นต่าง ๆ ของชาวภาคใต้ ตลอดจนการแสดงความคิดเห็นในเรื่องการเมืองการปกครองอีกด้วย

ปัจจุบันนี้ความนิยมชมชอบเพลงบอกกำลังลดน้อยลงเนื่องจากเยาวชรับอิทธิพลจากต่างชาติเข้ามามาก ผู้สนใจที่จะสืบทอดวัฒนพื้นบ้านเพลงบอกมีน้อยลง เราจึงควรร่วมมือกันในการเผยแพร่มรดกพื้นบ้านนี้ออกไปให้เป็นที่รู้จักแก่คนทั่วไปและร่วมกันส่งเสริมให้เยาวชนหันมานิยมศิลปพื้นบ้าน และร่วมสืบทอดเพื่อไม่ให้เพลงบอกสูญหายไปจากนครศรีธรรมราช

ตัดต่อโดย:ชนาภัทร อุสสาพันธ์

อ้างอิง[แก้]

http://folklore.culture.go.th เก็บถาวร 2012-02-25 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน