เป๊ปซี่

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เป๊ปซี่
Pepsi
ก่อตั้ง1893; 131 ปีที่แล้ว (1893) (แบรดส์ ดริงค์)
1898; 126 ปีที่แล้ว (1898) (เป๊ปซี่-โคล่า)
1961; 63 ปีที่แล้ว (1961) ( เป๊ปซี่)
สำนักงานใหญ่สหรัฐอเมริกา
บุคลากรหลัก
Indra Nooyi Chairman & CEO
ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มโคล่า
บริษัทในเครือPepsiCo. (สหรัฐอเมริกา)
>บริษัท เสริมสุข จำกัด (มหาชน) (ไทย , 18 มีนาคม พ.ศ. 2496 - 31 ตุลาคม พ.ศ. 2555)
บริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด (ไทย , 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 - ปัจจุบัน)
เว็บไซต์http://www.pepsi.com/
http://www.pepsiworld.com/
http://www.pepsi.com/th/

เป๊ปซี่ - โคล่า เป็นเครื่องดื่มอัดลมที่ผลิตโดยเป๊ปซี่โค คิดค้นสูตรและพัฒนาครั้งแรกในปี ค.ศ. 1893 โดยเคเลบ แบรดแฮม ในชื่อ Brad's Drink ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น เป๊ปซี่-โคล่า ในปี ค.ศ. 1898 และย่อชื่อเป็น เป๊ปซี่ ในปี ค.ศ. 1961 เพื่อให้เรียกง่ายขึ้น

ในปี พ.ศ. 2554 (2011) เป๊ปซี่ได้รับรางวัล The Brand Trust Report, India Study, 2011[2] ที่ประเทศอินเดีย งานจัดขึ้นในวันที่ 18 มกราคม ค.ศ. 2011

ประวัติ[แก้]

จุดเริ่มต้นของเป๊ปซี่[แก้]

โลโก้ในปี ค.ศ. 1898 (ต้นฉบับ)
โลโก้ในปี ค.ศ. 1905

เป๊ปซี่นั้น ในปี ค.ศ. 1898 คิดค้นขึ้นมาเพื่อใช้เป็นยาในร้านขายยาของนาย คาเลบ แบรดแฮม (Caleb D. Bradham) เภสัชกรจากเมืองนิวเบิร์น รัฐนอร์ทแคโรไลนา คาเลบ แบรดแฮม รู้ว่าเพื่อเป็นการเรียกลูกค้าให้กลับมาใช้บริการร้านขายยาของเขาอีก เขาจะต้องทำให้ร้านขายยากลายเป็นแหล่งนัดพบกัน ในตอนเปลี่ยนเข้าศตวรรษใหม่เขาทำอย่างที่เภสัชกรหลายๆ ทำ คือมีตู้น้ำโซดาในร้านขายยา ซึ่งเขาบริการเครื่องดื่มแก่ลูกค้าด้วยน้ำโซดาที่เขาปรุงขึ้นเองโดยเป็นส่วนผสมของ น้ำคาร์บอเนต ผลโคล่า วานิลลา และน้ำมันหอมสกัด ลูกค้าของเขาพากันเรียกเครื่องดื่มนี้โดยใช้ชื่อว่าเครื่องดื่มคาร์บอเนต ใช้เครื่องหมายการค้าครั้งแรกว่า "แบรดส์ ดริงค์" (Brad's Drink) เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม และในปี ค.ศ. 1902 นายแบรดแฮม ยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าภายใต้ชื่อ "เป๊ปซี่-โคล่า" (Pepsi-Cola) [3][4]

ต่อมาในปี ค.ศ. 1903 ต่อมามีการจำหน่ายและขายผลิตภันฑ์ของเป๊ปซี่ โดยยังคงความเป็นต้นตำรับและคุณสมบัติการช่วยย่อยอาหาร จึงได้มีการจัดทำโฆษณาเครื่องดื่มว่า "สดชื่น มีชีวิตชีวา และช่วยในการย่อยอาหาร" ตามเจตนารมณ์เดิม หลังจากที่ได้มีการว่าจำหน่ายมาประมาณ 2 ปี ในปี ค.ศ. 1905 ได้มีการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงโลโก้ใหม่จากการก่อตั้งครั้งแรกในปี ค.ศ. 1898 โรงงานบรรจุขวด คาเลบได้เปลี่ยนชื่อเป็น เป๊ปซี่-โคล่า สาขาแรกได้ก่อก่อตั้งในเมืองชาร์ล็อตและเดอร์แฮม รัฐนอร์ทแคโรไลนา 8 ปีต่อมาเป๊ปซี่เปลี่ยนโลโก้ใหม่อีกครั้ง ในปี ค.ศ. 1906 ซึ่งนับเป็นโลโก้แบบที่ 3 และเปลี่ยนแปลงข้อความโฆษณา "The Original Pure Food Drink" โดยในปีนั้นเป๊ปซี่มีโรงงานบรรจุขวดแล้วทั้งหมด 15 โรงงานทั่วสหรัฐอเมริกา โดยเครื่องหมายการค้าของเป๊ปซี่ได้รับการจดทะเบียนเพิ่มในในประเทศแคนาดา โดยมียอดจำหน่ายมากถึง 38,605 แกลลอน และในปีต่อมาได่มีการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเป๊ปซี่ ในประเทศเม็กซิโก ในปี ค.ศ. 1907 และมีการเปลี่ยนมาใช้ข้อความที่ว่า "รสชาติเยี่ยมและมีประโยชน์ต่อสุขภาพ" (อังกฤษ: "Delicious and healthful") โดยมีการใช้ข้อความนี้มาต่อเนื่องยาวนานถึง 2 ทศวรรษ

และได้โฆษณาเครื่องดื่มชนิดใหม่ของเขานี้ต่อลูกค้าที่ชื่นชอบ เมื่อยอดขายของเป๊ปซี่-โคล่าเริ่มเพิ่มขึ้นเขาจึงเริ่มตั้งบริษัทและทำการตลาดให้กับเครื่องดื่มใหม่ของเขา จนในปี 1902 เขาเริ่มดำเนินกิจการบริษัทเป๊ปซี่-โคลา ในห้องด้านหลังร้านขายยา เขาจดสิทธิบัตรเครื่องหมายการค้าและได้รับมอบสิทธิบัตรเมื่อ 16 มิถุนายน 1903 ในตอนแรกเขาผสมเครื่องดื่มด้วยตัวเองและจำหน่ายผ่านตู้กดน้ำ แต่ในไม่ช้าคาเลบเริ่มรู้ตัวว่ามีโอกาสอันดีรออยู่ -นั่นคือการบรรจุขวดเป๊ปซี่-โคล่า เพื่อที่ว่าทุกๆ คนในวงกว้างจะได้สามารถลิ้มรสเครื่องดื่มของเขาได้

เริ่มสร้างธุรกิจ[แก้]

ธุรกิจเป๊ปซี่-โคลาเริ่มต้นด้วยโฆษณาภายใต้แนวคิดว่า สดชื่น มีชีวิตชีวา ช่วยย่อยอาหาร ทำให้ในปี 1903 คาเลบขายเครื่องดื่มของเขาได้ 7,968 แกลลอน และในอีกสองปีต่อมาเขาได้ขยายการบรรจุขวดเป๊ปซี่-โคล่าออกไปอีก 2 สาขาให้กับนักลงทุนอิสระในเมือง ชาร์ล็อต และ เดอร์แฮม นอร์ธคาโรไลนา ในปี 1906 ได้สาขาขยายเพิ่มขึ้นอีกเป็น 15 สาขา และเพิ่มก้าวกระโดดไปเป็น 40 สาขาในปี 1907 จนกระทั่งในตอนปลายปี 1910 มีสาขาของเป๊ปซี่-โคลาตั้งอยู่ใน 24 รัฐ และขายเครื่องดื่มได้กว่า 100,000 แกลลอนต่อปี คาเลบประสบความสำเร็จในธุรกิจเป็นอย่างมาก ด้วยผู้บรรจุขวดเป๊ปซี่-โคลา นักลงทุน และการตั้งกองทุนที่มั่นคงเพื่อการขยายองค์กร นับเป็นการวางรากฐานของกิจการ เป๊ปซี่-โคล่า นับตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมาจนถึงวันนี้

ในปี ค.ศ. 1920 เป๊ปซี่ได้รับการนำออกสู่ตลาดด้วยแนวคิด "ดื่มเป๊ปซี่ โคล่า แล้วคุณจะพอใจ ("Drink Pepsi Cola. It will satisfy you.") [3] เมื่อราคาน้ำตาลในตลาดหุ้นนิวยอร์ก พุ่งขึ้นสูงถึง 26 เซ็นต์ต่อปอนด์ แบรดแฮม ก็ได้ลงทุนซื้อน้ำตาลเพื่อเก็บไว้เป็นจำนวนมาก ในขณะที่ราคาพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ และพอถึงช่วงปลายปี เมื่อความต้องการน้ำตาลลดลงราคาก็ตกลงอย่างมากจนเหลือเพียงแค่ 2 เซ็นต์ต่อปอนด์เท่านั้น

ในปี ค.ศ. 1923 บริษัทเป๊ปซี่-โคล่า ถึงคราวต้องประกาศล้มละลาย และต้องขายสินทรัพย์ให้แก่บริษัท คราเวน โฮลดิ้ง คอร์เปอเรชั่น ในนอร์ธ คาโรไลน่า เป็นจำนวนเงิน 30,000 ดอลลาร์สหรัฐ รอย ซี. เม็กการ์เกล (Roy C. Megargel) นายหน้าค้าหุ้นจากตลาดหุ้น วอลล์ สตรีท ได้ซื้อเครื่องหมายการค้า, ธุรกิจ รวมถึงความนิยมที่ได้สร้างสมมา จาก คราเวน โฮลดิ้ง คอร์เปอเรชั่น เป็นจำนวนเงิน 35,000 ดอลลาร์สหรัฐ และก่อตั้งเป็นบริษัทเป๊ปซี่-โคล่า คอร์เปอเรชั่น ในปี ค.ศ. 1932 จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในประเทศ อาร์เจนติน่า แล้วเริ่มออกจำหน่ายผลิตภัณฑ์ขนาดบรรจุขวด 12 ออนซ์ ในราคา 5 เซนต์ ซึ่งเป็นราคาเดียวกับเครื่องดื่มของคู่แข่งในขนาด 6 ออนซ์ ในปี ค.ศ. 1934[3]

ในปี ค.ศ. 1939 การ์ตูนสั้น "เป๊ปซี่ และ พีท" (Pepsi & Pete) [5] ซึ่งตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์ ได้ริเริ่มนิยามว่า "ได้สองเท่า เพียงจ่ายแค่ห้าเซ็นต์" ("Twice as much for a nickel") เพื่อเพิ่มทำให้เป๊ปซี่เป็นที่รู้จักในหมู่ผู้บริโภคมากขึ้นในด้านคุณค่า[3] แล้วในปีต่อมาได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเป๊ปซี่ ในประเทศเม็กซิโก เมื่อปี ค.ศ. 1940

เป๊ปซี่ขยายไปทั่วโลก[แก้]

โลโก้ในปี ค.ศ. 1940 เริ่มปั๊มโลโก้เป๊ปซี่ลงที่ตัวขวดแก้ว โดยที่ก่อนหน้านี้จะเป็นการติดฉลากกับตัวขวด[6]

ในปี ค.ศ. 1941 เพื่อเป็นการสนับสนุนกองทัพอเมริกา เป๊ปซี่เปลี่ยนสีของฝาขวดเป็นสีแดง ขาว และน้ำเงิน ร้านค้าเป๊ปซี่ในไทม์ สแควร์ นิวยอร์ก ได้เปิดกิจการตลอดช่วงระยะเวลาที่เกิดสงคราม ทำให้ครอบครัวมากกว่า 1 ล้านครอบครัว สามารถบันทึกข้อความสำหรับฝ่ายริการของกองทัพที่อยู่โพ้นทะเลได้ และในปี ค.ศ. 1943 กลยุทธ์การโฆษณาชุด "Twice as much" เริ่มรวมเอาแนวความคิด "Bigger drink, better taste" เข้าไปด้วย[3]

หลังจากสงครามสิ้นสุดลงในปี 1945 เป๊ปซี่-โคลาได้ย้ายสำนักงานใหญ่ไปยังแมนฮัตตัน และเริ่มขยายกิจการไปต่างประเทศ ทั้งละตินอเมริกา ฟิลิปปินส์ และตะวันออกกลาง สำหรับตลาดในประเทศก็ได้เริ่มทดลองบรรจุภัณฑ์ขนาดใหม่ และเริ่มบรรจุกระป๋องเป็นครั้งแรก แต่การตลาดหลังสงครามมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วมาก ปรากฏการณ์ร้านค้าปลีกที่เรียกว่า ซูเปอร์มาร์เก็ตเริ่มปรากฏขึ้น ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงในเศรษฐกิจในการผลิตเครื่องดื่ม เป๊ปซี่ละทิ้งกลยุทธ์การขายเครื่องดื่มแบบเดิมที่ตั้งราคาขายครึ่งราคาของคู่แข่งหลัก ในไม่ช้าโฆณา ห้าเซ็นต์ ห้าเซ็นต์ ที่ใช้มาอย่างยาวนานก็ได้รับการแทนที่ด้วย ได้มากกว่า 1 ออนซ์ (More Bounce to the Ounce) เพื่อให้เข้ากับอเมริกายุคหลังสงคราม ในช่วงเวลานี้ ประธานบริษัทของเป๊ปซี่ อัล สตีล สมรสกับดาราภาพยนตร์ชื่อดังของอเมริกา โจน ครอวฟอร์ด (Joan Crawford)

เมื่อถึงสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดวิกฤติน้ำตาลขึ้นอีกครั้ง เพื่อเป็นการแก้ปัญหาวิกฤตินี้ แม็ค ซื้อกิจการปลูกอ้อยน้ำตาลในคิวบา ซึ่งจะเห็นได้ว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่ามากทีเดียว แล้วใช้ "Bigger Drink, Better Taste" เป็นแนวคิดหลัก แล้วเป๊ปซี่-โคล่า เริ่มแพร่ไปสู่ ละติน อเมริกา แล้วในปีต่อมาผลกำไรนานาชาติสูงถึง 6,769,000 ดอลลาร์สหรัฐ จากนั้น เป๊ปซี่เริ่มขยายตัวไปสู่ ฟิลิปปินส์ และตะวันออกกลาง จนในปี ค.ศ. 1948 สำนักงานใหญ่ย้ายจาก เมืองลองไอแลนด์ นิวยอร์ก ไปยังใจกลางเมืองแมนฮัตตัน

ในปี ค.ศ. 1950 นายอัลเฟรด เอ็น สตีล ขึ้นดำรงตำแหน่ง ประธานกรรมการและ CEO ของเป๊ปซี่-โคล่า ดาราฮอลลีวูด โจน ครอวฟอร์ด (Joan Crawford) ภรรยาของมิสเตอร์ สตีล เป็นพรีเซ็นเตอร์ในการโปรโมทสินค้าของบริษัท โฆษณาของเป๊ปซี่-โคล่า ก้าวทันรสนิยมของผู้บริโภค ดังเช่นที่สตีลได้บุกเบิกการส่งเสริมการขายเป๊ปซี่-โคล่า ว่าเป็นประสบการณ์มากกว่าการต่อรองราคา สโลแกน "สองเท่าในราคา 5 เซ็นต์ (Twice as much for a nickel" ก็เหมือนกับ "ได้มากกว่า 1 ออนซ์" ("More Bounce to the Ounce") ส่งให้เป๊ปซี่มีทศวรรษที่เต็มไปด้วยพละกำลัง

โลโก้ในปี ค.ศ. 1950 มีการใช้ฝาขวดเป็นโลโก้ของเป๊ปซี่ และใช้สโลแกน "Bigger Drink, Better Taste." เป๊ปซี่เปลี่ยนสีของฝาขวดเป็นสีแดง ขาว และน้ำเงิน เพื่อเป็นการสนับสนุนกองทัพอเมริกา

ในปี ค.ศ. 1953 เมื่อชาวอเมริกันเริ่มตระหนักถึงเรื่องน้ำหนักตัว เป๊ปซี่เริ่มใช้กลยุทธ์ใหม่เกี่ยวกับเรื่องแคลอรี่ต่ำในแคมเปญ "ความสดชื่นแบบเบาๆ" ("The Light Refreshment") นอกเหนือจากในอเมริกาแล้ว เป๊ปซี่มีโรงงานบรรจุขวดเป๊ปซี่-โคล่าเปิดดำเนินการ 149 โรง ใน 61 ประเทศ หลายคนเชื่อว่า ครอวฟอร์ด เป็นผู้ที่เปลี่ยนแนวคิดบริษัทจาก คุณค่า ของยุค 40 ไปเป็นการรณรงค์ด้วยแนวคิดใหม่ทางด้านภาพลักษณ์ในปี 50 มีการนำฝาขวดมาออกแบบเป็นโลโก้ใหม่ และเป๊ปซี่ไม่ได้ทำโฆษณาโดยยึดจุดเด่นทางด้านราคาอีกต่อไป แต่เปลี่ยนมาพูดถึงไลฟ์สไตล์ หลังจากการเสียชีวิตของ มิสเตอร์ สตีล ในปี 1959 แล้ว มิส ครอวฟอร์ด ได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกของคณะกรรมการบริหาร ในยุคนั้นชาวอเมริกันมีความตระหนักในเรื่องน้ำหนักตัวกันมากขึ้น โฆษณาของเป๊ปซี่ตอบรับการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมนี้ด้วยแคมเปญเป๊ปซี่มีแคลอรี่ต่ำผ่านสโลแกน ความสดชื่นแบบเบาๆ (The Light Refreshment) และ สดชื่นได้ โดยไม่ต้องเติม (Refreshing Without Filling)

ธุรกิจยังคงดำเนินต่อไปอย่างก้าวหน้า ขวดรูปแบบใหม่ในแบบเกลียวที่สวยงามโดดเด่นผลิตออกมาในปี 1958 ซึ่งเป็นปีเดียวกับการรณรงค์โฆษณาใหม่ อยากเข้ากันได้กับกลุ่ม ดื่มเป๊ปซี่สิ (Be sociable, have a Pepsi) ในตลาดต่างประเทศเป๊ปซี่ยังคงขยายตัวออกไปอย่างต่อเนื่อง โดยมีจำหน่ายใน 120 ประเทศ ในปี 1959 ที่งานแสดงสินค้า American Exposition ที่กรุงมอสโคว์ ประธานเป๊ปซี่-โคล่า อินเตอร์เนชั่นแนล โดนัลด์ เอ็ม. เคนดัลล์ ได้พบกับรองประธานาธิบดี ริชาร์ด เอ็ม. นิกสัน และนายกรัฐมนตรีของโซเวียต ครุสชอฟ ซึ่งได้เยี่ยมชมตู้จำหน่ายเป๊ปซี่ ในครั้งนั้นสื่อมวลชนพากันถ่ายภาพของสองผู้นำโลกจิบเป๊ปซี่และนำไปสู่การพาดหัว การเข้าสังคม บนหน้าหนังสือพิมพ์ทั่วโลกเข้าสังคมเป็นแคมเปญโฆษณาแรกของเป๊ปซี่-โคล่า ที่จับกลุ่มคนหนุ่มสาวเป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก และในไม่นานต่อจากนั้นก็ตามมาด้วยอีกหลายแคมเปญที่ใช้คนหนุ่มสาวเป็นหลัก ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นบุคลิกของเป๊ปซี่ เป๊ปซี่ สำหรับผู้ที่คิดแบบหนุ่มสาว (Now It's Pepsi, for those Who Think Young.)

ยุคสมัยเป๊ปซี่[แก้]

ก้าวใหม่ของวงการโฆษณา ในตอนปลายของทศวรรษ 1950 เกิดปรากฏการณ์ทางด้านประชากรศาสตร์ที่เรียกว่า Baby Boom ซึ่งโลกเปลี่ยนโฉมหน้าไปตลอดกาล คนอเมริกันต้องคิด กระทำ และ ดำรงชีวิต พวกเขาคือคนรุ่นใหม่ มีไลฟ์สไตล์ใหม่ และมุ่งหน้าไปสู่อนาคต ด้วยความเชื่อมั่นว่าสิ่งที่รออยู่ข้างหน้าต้องดีกว่าสิ่งที่ผ่านมา เป๊ปซี่-โคล่า จับทัศนคตินั้นรวมเข้ากับจิตวิญญาณของพวกเขา ด้วยชื่อที่อยู่เหนือเวลาและบ่งบอกถึงตัวตนของคนอเมริกันในวันนี้ พวกเขาคือ Pepsi Generation กลุ่มแรก ผู้นำทางสังคม ชอบความสนุกสนาน คนอเมริกันร่วมสมัยอ้างเอาเป๊ปซี่เป็นสัญลักษณ์ของพวกเขา ภายใต้แนวคิด มาเถิด! คุณคือคนยุคเป๊ปซี่ (Come Alive! You're in the Pepsi Generation) แคมเปญนี้ปล่อยออกมาในตอนต้นของช่วงยุค 60s สร้างมาตรฐานใหม่ให้กับการโฆษณา ใหม่ ไม่เหมือนใคร สะท้อนภาพวิถีชีวิตของคนอเมริกันได้อย่างที่สุด

นับตั้งแต่นั้นมา แคมเปญโฆษณา Pepsi Generation นี้ก็กลายเป็นหนึ่งในโฆษณาที่ชื่นชอบที่สุด และจดจำได้มากที่สุดอันหนึ่งของคนอเมริกัน – “Join the Pepsi People, Feelin' Free” “You've got a Lot to Live. Pepsi's Got a Lot to Give” “Have a Pepsi Day!” “Catch that PepsiSpirit!” “Pepsi Now!” “The Joy of Pepsi” - แคมเปญที่เป็นเหมือนกระจกสะท้อนภาพของอเมริกาได้อย่างดีที่สุด

เบบี้บูม ไม่ใช่เพียงจำนวนประชากรของประเทศชาติเท่านั้นที่เปลี่ยนไป แต่ยังเป็นการเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรมการบริโภคอีกด้วย ดังนั้นในปี 1964 บริษัทจึงพัฒนาเครื่องดื่มแคลอรี่ต่ำที่ยังคงมีรสชาติเหมือนเป๊ปซี่-โคล่า ใช้ชื่อว่า ไดเอ็ท เป๊ปซี่มีการโฆษณาควบคู่ไปกับเป๊ปซี่ หนึ่งในโฆษณาชิ้นแรกๆ ของไดเอ็ท เป๊ปซี่ มีชื่อว่า Girlwatchers มีเพลงประกอบโฆษณาที่ติดหู จนได้รับความนิยมติดอันดับ top 40

ในปี 1964 เมาเทนดิว เครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมในประเทศ กลายเป็นตัวสำคัญในการเสริมทัพความแข็งแกร่งให้กับเป๊ปซี่-โคล่า ด้วยแนวคิดการโฆษณา Ya-Hoo, Mountain Dew! ก็กลายมาเป็นลายเซ็นที่สร้างความจดจำให้กับตรายี่ห้อ การจำหน่ายเป๊ปซี่บรรจุกระป๋องที่เป็นที่นิยมในปัจจุบันนี้มีจุดเริ่มต้นในปี 1965 และในปีเดียวกันนั้นบริษัทเป๊ปซี่-โคล่ายุบรวมกับบริษัท ฟริโต-เลย์ ซึ่งเป็นบริษัทจำหน่ายขนมขบเคี้ยวที่ประสบความสำเร็จจากเมือง ดัลลัส เท็กซัส และกลายเป็นบริษัท PepsiCo, Inc. - หนึ่งในบริษัทประสบความสำเร็จของอเมริกา โดนัลด์ เอ็ม. เคนดัลล์ เป็นผู้ก่อตั้ง และหลังจากนั้นไม่นาน บริษัทก็เปิดธุรกิจในยุโรปตะวันออก และ ญี่ปุ่น

ความท้าทายของเป๊ปซี่[แก้]

โลโก้ในปี ค.ศ. 1962
โลโก้ในปี ค.ศ. 1970-1991 มีการพัฒนาโลโก้อีกครั้งให้เป็นรูปทรงสี่เหลี่ยม และใช้โลโก้แบบนี้ต่อมาอีกหลายปี

ปรากฏการณ์ทางธุรกิจที่น่าจดจำเกิดขึ้นในช่วงทศวรรษ 1960 ถึงยุค 70 นักธุรกิจ สื่อ และ ผู้บริโภคสังเกตได้ว่าเป๊ปซี่เริ่มมาแรง และเริ่มตีตลาดเครื่องดื่มซอฟท์ดริงค์ โคคา-โคล่า ด้วยความสำเร็จ สื่อตั้งชื่อการแข่งขันนี้ว่า สงครามโคล่า และมันก็ส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อวงการอุตสาหกรรมเครื่องดื่มซอฟท์ดริงค์ ในปี ค.ศ. 1965 เปลี่ยนโลโก้จากรูปฝาขวดเป็นสัญลักษณ์ที่เรียบง่ายขึ้น

ตลอดยุค 70 เป๊ปซี่ยังคงก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง ขวดบรรจุขนาดใหญ่ได้รับการแนะนำออกสู่ตลาด อย่างเช่นขวด 32 ออนซ์ และ 64 ออนซ์ หลังจากนั้นขนาดบรรจุขนาดครอบครัวก็ทำให้ใช้งานได้ง่ายยิ่งขึ้น ซึ่งต้องขอบคุณขวดพลาสติกที่มีน้ำหนักเบา นำไปรีไซเคิลได้ และด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย พลาสติกก็มีน้ำหนักเบาและแข็งแรงยิ่งกว่าแก้ว ในปี 1970 บริษัทย้ายสำนักงานใหญ่จากนิวยอร์กไปยัง เพอร์เชส นิวยอร์ก เมื่อผู้บริโภคเปลี่ยน และเป๊ปซี่เปลี่ยน และ Pepsi Generation ยังคงดำเนินไปได้อย่างถูกจังหวะเวลา ไดเอทเป๊ปซี่ ยังคงเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โฆษณาของ เมาเทนดิว ก็แพร่ภาพทางโทรทัศน์ไปทั่วประเทศเป็นครั้งแรก ในต่างประเทศ ประมาณ 15 ปีให้หลังที่รองประธานาธิบดี นิกสัน และนายกรัฐมนตรี ครุสชอฟ ของโซเวียตได้เยี่ยมชมตู้จำหน่ายเป๊ปซี่-โคล่า ที่งานแสดงสินค้า American Exposition เป๊ปซี่กลายมาเป็นสินค้าอุปโภคบริโภคอันดับแรกของอเมริกาที่มีการผลิตในสหภาพโซเวียต ระหว่างครึ่งทศวรรษของ Pepsi Challenge มีการทำกลยุทธ์ทางการตลาดนานาชาติ เมื่อผู้บริโภคได้ทดลองดื่มแล้วและยืนยันว่าผู้คนจำนวนมากชื่นชอบรสชาติของเป๊ปซี่มากกว่าโค้ก แคมเปญ Pepsi Challenge ทำให้เรื่องจริงกลายเป็นโฆษณา ด้วยการบันทึกภาพการทดลองดื่มเป๊ปซี่และโค้ก แคมเปญนี้สร้างประวัติศาสตร์ทางการตลาด และช่วยให้เป๊ปซี่ได้รับส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ้น ในปี 1976 อย่างไม่เคยมีมาก่อน เป๊ปซี่-โคล่า กลายเป็นเครื่องดื่มซอฟท์ดริงค์ที่มียอดขายมากที่สุดในซูเปอร์มาร์เก็ตในอเมริกา ในตอนต้นของ 1980s เป๊ปซี่เป็นอันดับหนึ่งในด้านของการขายสินค้าซื้อกลับบ้าน (ร้านขายของชำ และร้านสะดวกซื้อ) ตลาดของการลดน้ำหนักเติบโตขึ้น และไดเอทเป๊ปซี่ก็เจริญเติบโตด้วย เช่นกันกับ เมาเท่นดิว ที่ทะยานตัวขึ้นด้วยแคมเปญโฆษณา Give Me a Dew

เป๊ปซี่ฮิตติดชาร์ต[แก้]

ในปี 1984 แทบจะไม่มีใครสังเกตว่า Pepsi Generation ได้ฉลองครบรอบปีที่ 20 แต่กลับสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับวงการโฆษณา ซึ่งในครั้งนี้ดนตรีป๊อปได้เข้ามารับบทเด่น ด้วย Pepsi. The Choice of a New Generation และอีกครั้งที่ส่งให้เป๊ปซี่เป็นผู้นำแถวหน้าในวัฒนธรรมร่วมสมัย ในก้าวแรก แคมเปญ New Generation เป็นการปะทะกันระหว่างสุดยอดเอ็นเตอร์เทนเนอร์แห่งยุค ไมเคิล แจ๊คสัน และ บิลลี จีน นำแสดงในโฆษณาชุดของ เป๊ปซี่-โคลา เป็นการรวมเอาโลกของธุรกิจและความบันเทิงเข้าไว้ในวิถีทางที่ไม่มีใครเห็นมาก่อน

เส้นทางความสำเร็จของเป๊ปซี่ จากโฆษณา Pepsi Generation ถึง Pepsi Challenge และสู่ New Generation ส่งผลกระทบไปทั่ว โคคา-โคล่า ซึ่งเป็นคู่แข่งที่ใหญ่ที่สุดของ Pepsi-Cola พยายามหนีจากการเจริญเติบโตของเป๊ปซี่ จนได้ละทิ้งสูตรส่วนผสมเดิมๆ ที่ล้าสมัยของโค้ก และปรับเปลี่ยนให้รสชาติใกล้เคียงกับเป๊ปซี่ยิ่งขึ้น แต่อย่างไรก็ดีผู้บริโภคให้การปฏิเสธอย่างรวดเร็ว จนโคคา-โคล่าต้องกลับมาสู่ผลิตภัณฑ์เดิมภายใต้ชื่อ โคคา-โคล่า คลาสสิก ประธานเป๊ปซี่ โรเจอร์ เอ็นริโค ประกาศชัยชนะในสงครามโคล่า และให้รางวัลแก่พนักงานของเป๊ปซี่ด้วยการประกาศวันหยุดเพิ่มเติมตลอดช่วงยุค 80 ดารา ซูเปอร์สตาร์ มากมายได้เข้ามาร่วมงานกับเป๊ปซี่ รวมทั้งนักร้องเพลงป๊อปอย่าง ไลโอเนล ริชชี่, ทีน่า เทอร์เนอร์, เดวิด โบวี่, เกล็น เฟรย์ และ กลอเรีย เอสตาฟาน และนักกีฬาชื่อดัง โจ มอนทานา และ แดน มาริโน ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งรองประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นผู้หญิงคนแรก เจอรัลดีน เฟอร์ราโร ก็นำแสดงในสปอตโฆษณา ไดเอทเป๊ปซี่ ด้วย ไมเคิล เจ. ฟ็อกซ์ ก็ได้ฝากฝีมือยอดเยี่ยมไว้ในภาพยนตร์โฆษณาชุดของ เป๊ปซี่ และ ไดเอทเป๊ปซี่ ไมเคิล แจ๊คสัน กลับมานำแสดงในภาพยนตร์โฆษณาอลังการ และเป๊ปซี่ได้ขึ้นไปบนกระสวยอวกาศซึ่งออกแบบเป็นพิเศษ กระป๋องอวกาศ เมื่อเป๊ปซี่ขยายฐานผู้บริโภคออกไปด้วยการโฆษณา การขยายไปนานาชาติก็ดำเนินต่อไป เป๊ปซี่เปิดตลาดใหม่ๆ ด้วยการกระจายไปยังประเทศจีน ในตอนกลางของทศวรรษมีโรงงานเป๊ปซี่มากกว่า 600 โรงใน 148 ประเทศทั่วโลก

ขยายศักยภาพ[แก้]

โลโก้ในปี ค.ศ. 1998 เป็นการเฉลิมฉลองวาระครบรอบหนึ่งศตวรรษของเป๊ปซี่ มีการใช้รูปทรงกลมที่มีแถบสีขาว พาดกลางระหว่างสีแดงและน้ำเงิน มาใช้เป็นสัญลักษณ์ใหม่ ของเป๊ปซี่ทั่วโลก เพื่อสื่อถึงความเป็นผู้นำ และสื่อถึงความทันสมัย พร้อมที่จะก้าวสู่สหัสวรรษใหม่[7]

ในตอนเริ่มต้นของช่วงปี 1990 นับเป็นยุคใหม่ของธุรกิจเป๊ปซี่-โคล่าทั่วโลก บริษัทลงนามในสัญญาทางการค้าครั้งที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์กับทางสหภาพโซเวียต และลงทุนในตลาดที่มีศักยภาพสูงเช่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยุโรปตะวันออก เม็กซิโก และ อาร์เจนตินา ก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ของโฆษณา ตำนานของวงการดนตรี เรย์ ชาร์ลส์ เข้าร่วมเป็นครอบครัวเป๊ปซี่ ด้วยการร้องเพลง “You Got the Right One Baby, Uh-Huh!” ให้กับ ไดเอท เป๊ปซี่ นางแบบชื่อดัง ซินดี้ ครอว์ฟอร์ด ช่วยโปรโมทแพ็คเกจดีไซน์ใหม่ นอกจากนั้นนักบาสเก็ตบอลชื่อดัง ชาควิลล์ โอนีล ก็ช่วยเตือนอเมริกาว่า “Be Young, Have Fun, Drink Pepsi.” เมาเทนดิว และ ไดเอทเมาเทนดิว ในขณะนี้เป็นเครื่องหมายการค้าที่ใหญ่เป็นอันดับ 6 ของอเมริกา - นำเสนอภาพลักษณ์ Generation X ผ่านกลุ่มเด็กหนุ่มแรงๆ ที่เรียกกันว่า Dew Crew

โฆษณา Pepsi Challenge ได้ออกเผยแพร่เป็นครั้งแรกในต่างประเทศ แห่งแรกคือที่ละตินอเมริกา เป๊ปซี่เวอร์ชันไม่มีคาเฟอีน ไดเอทเป๊ปซี่ และ เมาเท่นดิว มาช่วยเสริมทัพให้กับเป๊ปซี่ ผู้บริโภคยังคงต้องการเครื่องดื่มรสชาติใหม่ๆ เป๊ปซี่จึงได้ขยายสายผลิตภัณฑ์และก้าวสู่โฉมใหม่ของธุรกิจ - บริษัทเครื่องดื่มครบวงจร ทั้งเครื่องดื่มซอฟท์ดริงค์ น้ำดื่ม ชา กาแฟ น้ำผลไม้

ด้วยการสร้างพันธมิตรทางธุรกิจกับบริษัท โธมัส เจ. ลิปตัน ในปี 1991 ทำให้เป๊ปซี่กลายเป็นผู้นำทางการตลาดในชาพร้อมดื่ม ด้วย ลิปตัน บริสก์ ซึ่งเป็นอันดับหนึ่งในตลาด และยังจับมือกับกาแฟสตาร์บัคส์ ผลิตกาแฟ แฟรปปูชิโน ซึ่งเป็นเครื่องดื่มกาแฟเย็นในรูปแบบใหม่ซึ่งได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว กลายเป็นกาแฟเย็นพร้อมดื่มที่ได้รับความนิยมที่สุด

แนวคิด Generation กลับมาอีกครั้งสำหรับผู้บริโภคยุคใหม่ของเป๊ปซี่ ในปี 1998 เมื่อเป๊ปซี่เฉลิมฉลองครบ 100 ปี เป๊ปซี่แคนช่วยสนันสนุนภาพลักษณ์ใหม่รับศตวรรษใหม่ ภาพลักษณ์ใหม่ของเป๊ปซี่เรียกกันว่า Globe ภาพลูกทรงกลม 3 มิติ โดดเด่นออกจากพื้นหลังที่เป็นภาพน้ำแข็ง โลโก้นี้ปรากฏอยู่บนรถบรรทุกเป๊ปซี่ ตู้จำหน่าย คูลเลอร์ อุปกรณ์ต่างๆ ... พูดง่ายๆ ว่าทุกอย่างที่เป็นของเป๊ปซี่ เป๊ปซี่เป็นผู้นำแนวคิดวันหมดอายุมาใช้ เพื่อให้ผู้บริโภคได้สามารถทราบได้ว่าเครื่องดื่มจะหมดอายุในวันไหน วันที่หมดอายุได้รับการใช้เป็นครั้งแรกบนบรรจุภัณฑ์ของไดเอทเป๊ปซี่ และกลายเป็นมาตรฐานของผลิตภัณฑ์เป๊ปซี่ทั้งหมด วันหมดอายุยังกลายมาเป็นแบบแผนของอุตสาหกรรมอีกด้วย

ในปี ค.ศ. 1999 โฆษณาชุดใหม่ "The Joy of Cola" ได้เสียงประกอบของดาราดังอย่าง มาร์ลอน แบรนโด (Marlon Brando), ไอแซค (Isaac Hayes) และ ราชินีเพลงโซล อาเรธา แฟรงคลิน (Aretha Frankin) และยังมี ดาราเด็ก ฮาล์ลี ไอเซนเบิร์ก (Hallie Eisenberg) ร่วมแสดงเป็น "Little Girl" อีกด้วย เป๊ปซี่และลูคัสฟิล์มร่วมมือกันในภาพยนตร์สุดฮิตเรื่อง "Star Wars: Episode l - The Phantom Menance" สร้างความตื่นเต้นให้กับผู้บริโภคที่รอชมมานาน ด้วยกระป๋องเป๊ปซี่และขวดที่มีรูปของตัวละครใน เรื่องสตาร์วอร์สทั้งหมด 24 แบบ และยังมีกระป๋องทอง "โยดา" อีกด้วย

เป๊ปซี่ว่าจ้าง "spokealien" Marfalump ให้แสดงในภาพยนตร์โฆษณา Marfalump ซึ่งได้รับการสร้างสรรค์ขึ้นมาโดย BBDO และ George Lucas' Industrial Light and Magic company หลงใหลในสองสิ่งคือ เป๊ปซี่และสตาร์วอร์ส โฆษณาชุด "Landing" และ "Play Acting" แสดงให้เห็นถึงระยะเวลาอันยาวนาน ที่มนุษย์ต่างดาวรุ่นเด็กจะได้สำราญไปกับสองสิ่งนี้ เป๊ปซี่แห่งอเมริกาเหนือ ได้ต้อนรับ แกรี่ รอดคิน (Gary Rodkin) เข้ามาเป็นประธานกรรมการและ CEO

ในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างครั้งใหญ่ของธุรกิจ เป๊ปซี่ได้ประกาศ IPOs ครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ และในวันที่ 31 มีนาคม 2542 ก็ได้ตั้งบริษัท The Pepsi Bottling Group, Inc. (PBG) และกลายมา เป็นบริษัทการค้าและบริษัทผลิตขวดที่ใหญ่ที่สุดของเป๊ปซี่ ซึ่งบริหารงานโดย เครก เวธเธอรัป (Craig Weatherup)

มีการเปลี่ยนแปลงโลโก้เป๊ปซี่ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวแบบใหม่ ที่แสดงความโดดเด่นมากยิ่งขึ้น โดยใช้ Pepsi Globe บนพื้นสีน้ำเงิน เป๊ปซี่เฉลิมฉลองครบรอบหนึ่งร้อยปี โดยมีบริษัทผู้ผลิตขวดเป๊ปซี่-โคล่าทั่วโลกมาร่วมงาน รวมทั้งดาราดัง ของเป๊ปซี่ เช่น เรย์ ชาร์ลส์ (Ray Charles), Kool and the Gang และ เดอะ โรลลิ่ง สโตน

ประธานาธิบดีบุชและนางบุช นางแธ็ตเชอร์ และวอลเตอร์ ครอนไคท์ (Walter Cronkite) ยังได้ช่วยกล่าว รำลึกถึงโอกาสที่ Pepsi's legacy ได้รับการยกย่องให้เกียรติ และมีการเผยภาพลักษณ์ใหม่สำหรับ สหัสวรรษใหม่ โลโก้เป๊ปซี่ที่เป็นสามมิติบนพื้นสีน้ำเงิน ได้กลายมาเป็นสัญลักษณ์สากลเพื่อความเป็นหนึ่งเดียวของ ครอบครัวเป๊ปซี่ ซึ่งได้รับการปรับให้พร้อมสำหรับนวัตกรรม และความเป็นผู้นำของโลก ในขณะที่ก้าวเข้าสู่ศตวรรษใหม่นี้

สหัสวรรษใหม่และเข้าสู่ยุคดิจิทัล[แก้]

โลโก้ในปี ค.ศ. 2003–2008 เป๊ปซี่ต้อนรับสหัสวรรษใหม่ด้วยการปรับเปลี่ยนโลโก้ ให้ดูสดชื่นสดใสมากขึ้น

เมื่อเข้าสู่สหัสวรรษใหม่ ทีมวิจัยและพัฒนาของเป๊ปซี่ได้ออกผลิตภัณฑ์ใหม่ของเป๊ปซี่ เมาเทนดิวออกรสชาติใหม่: Mountain Dew Code Red (เมาเทนดิวรสเชอร์รี่) และ Mountain Dew LiveWire (เมาเทนดิวรสส้ม) และ เซียร์รา มิสต์ ออกผลิตภัณฑ์ใหม่รสมะนาว แบรนด์ชั้นนำของเป๊ปซี่นำทัพด้วย Pepsi ONE, Pepsi Twist, Pepsi Vanilla และ Pepsi Edge เป๊ปซี่ที่มีแคลอรี และน้ำตาลแค่ครึ่งเดียวของโคล่าปกติ ความต้องการเครื่องดื่มปราศจากคาร์บอเน็ตของผู้บริโภคเพิ่มสูงขึ้นอย่างฉับพลัน เป๊ปซี่ตอบสนองด้วยเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ SoBe และเสริมด้วยเครื่องดื่มอย่างเช่น Dole และ ทรอปิคคาน่า เป๊ปซี่ให้ความสดชื่นสำหรับทุกรสชาติและทุกเวลาของวัน ผ่านทั้งทางสื่อกระจายเสียง อินเทอร์เน็ต และ ตู้เครื่องดื่ม การโฆษณาและการตลาดที่เหนือชั้นของเป๊ปซี่ก็ยังเป็นผู้นำที่กล่าวขานอีกด้วย

เมาเทนดิวนำเสนอตัวเองภายใต้คอนเซ็ปต์ความตื่นเต้นท้าทายของ Dew Dudes ไม่ว่าจะเป็นการปีนเขาจนถึงสู้กับเสือชีต้า ไม่มีอะไรที่คนพวกนี้จะไม่ทำเพื่อให้ได้เมาเท่นดิวของเขา การเป็นพันธมิตรกับบริษัทที่มีชื่อเสียงอื่นๆ ทำให้เป๊ปซี่และตรายี่ห้อสดใหม่อยู่ในใจผู้บริโภคเสอ และยืนอยู่แถวหน้า การสร้างความสัมพันธ์ทางการตลาดกับ Yahoo เป็นการช่วยโปรโมทเว็บไซต์ให้เป็นที่รู้จัก ผู้บริโภคสามารถนำคะแนนเป๊ปซี่มาแลกของรางวัลทางออนไลน์ได้ เป๊ปซี่ทีวี ออกอากาศครั้งแรกด้วยการโชว์เพลง “Pepsi Smash” เป๊ปซี่ยังจับมือกับ Apple Computer, Inc. เว็บไซต์ iTunes และเครื่องเล่นเพลง iPod เพื่อจับสลากรางวัลให้ดาวน์โหลดฟรี และรางวัลอื่นๆ อีกด้วย

ในสนามกีฬา เป๊ปซี่จับมือกับสมาคมเบสบอลที่ดังที่สุด สมาคมฟุตบอลดัง และสมาคมฟุตบอลทีมชาติ รวมทั้งกับดาวเด่นของแต่ละสมาคมกีฬาอีกด้วย ปัจจุบันนี้ Pepsi-Cola ยังคงสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ สร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ รสชาติใหม่ๆ และบรรจุภัณฑ์ใหม่ๆ ในหลากหลายรูปทรงและขนาดเพื่อรองรับความต้องการที่สูงขึ้น เพื่อเป็นตัวเลือกให้กับผู้บริโภค เป๊ปซี่ยังคงมองหาวิถีทางที่จะทำให้ผู้บริโภคได้รับสินค้าที่พวกเขาต้องการ ได้ทุกเมื่อ และทุกที่

เป๊ปซี่ในประเทศไทย[แก้]

แต่เดิม เป๊ปซี่โค อินค์.สหรัฐอเมริกา ทำสัญญามอบสิทธิในการผลิตและจัดจำหน่ายเป๊ปซี่ในประเทศไทย ให้แก่บริษัท เสริมสุข จำกัด (มหาชน) โดยเสริมสุขก่อตั้งโรงงานขนาดย่อมแห่งแรก ขึ้นบนเนื้อที่ราว 4 ไร่ บริเวณริมถนนสีลม และเริ่มการจัดจำหน่ายสินค้าประเภทขวดแก้วขนาด 10 ออนซ์ ภายใต้กำลังการผลิตวันละ 20,000 ขวดเป็นครั้งแรก ในเวลาเช้าของวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2496 ภายใต้คำขวัญโฆษณาที่ว่า ดีมาก มากดี (อังกฤษ: Quality Quantity) [8] โดยจำหน่ายในราคา 1 บาท

ในประเทศไทยเป๊ปซี่จัดจ้างผลิต ภาพยนตร์โฆษณาทางโทรทัศน์ เป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2525[9] จนถึงปัจจุบัน โดยมีนักแสดง นักร้องชื่อดังจำนวนมาก ซึ่งเคยเป็นผู้นำเสนอสินค้า (Presenters) ให้กับเป๊ปซี่ เช่น สินจัย หงษ์ไทย, ฉัตรชัย เปล่งพานิช, อัญชลี จงคดีกิจ, วงเฉลียง, พีท ทองเจือ, ปกรณ์ ลัม, บอดี้สแลม เป็นต้น

ทว่าหลังจากดำเนินธุรกิจร่วมกันมาเป็นเวลาถึง 59 ปี ในที่สุดเมื่อวันเสาร์ที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2555 บริษัทแม่เป๊ปซี่โค อินค์. ก็ยุติการต่อสัญญาผลิตและจัดจำหน่ายเป๊ปซี่กับ บจก.เสริมสุข เป็นผลให้สัญญาดังกล่าวสิ้นสุดลงในวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2555 โดยเป๊ปซี่โค อินค์.จัดตั้งบริษัทเป๊ปซี่-โคลา (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด ขึ้นเพื่อดำเนินธุรกิจการผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องดื่มเป๊ปซี่ รวมถึงมิรินด้าและเซเว่นอัพ ในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555[10] นับแต่บัดนั้น ส่วนแบ่งการตลาดของเป็ปซี่ลดต่ำลง ปิดตำนานความเป็นเจ้าตลาดน้ำดำอันดับหนึ่งของประเทศไทยที่เคยครองมาหลายทศวรรษ

อ้างอิง[แก้]

  1. Snider, Mike (28 March 2023). "Pepsi unveils new logo: See the updated branding ahead of iconic cola's 125th anniversary". USA Today. สืบค้นเมื่อ 28 March 2023.
  2. "The Brand Trust Report lists India's Most Trusted Brands". afaqs!. 2011-01-18. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-05-25. สืบค้นเมื่อ 2011-12-10.
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 "ความเป็นมาในปี ค.ศ. 1898 - ค.ศ. 2009". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-12-14. สืบค้นเมื่อ 2012-02-11.
  4. Pepsi Revised Story
  5. pepsi cola hits the spot
  6. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-12-20. สืบค้นเมื่อ 2012-01-31.
  7. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-11-12. สืบค้นเมื่อ 2012-01-31.
  8. "เกี่ยวกับเสริมสุข (หน้าเว็บย้อนหลัง)". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-10-26. สืบค้นเมื่อ 2010-10-26.
  9. วีดีโอโฆษณาเป๊ปซี่ พ.ศ. 2525 ยูทูบ
  10. 'เป๊ปซี่' ลงทุน1.84หมื่นล้าน หลังจบสัญญา 'เสริมสุข' เก็บถาวร 2012-12-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 25 ตุลาคม 2555, ข่าวกรุงเทพธุรกิจ.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]