เบิกฤกษ์ ชาติวันชัย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เบิกฤกษ์ ชาติวันชัย
ชื่อจริงติณพงษ์ แซ่ห่าน (อดีต)
ติณพงษ์ หาญตนศิริสกุล (อดีต)
เบิกฤกษ์ ชาติวันชัย (ปัจจุบัน)
รุ่นฟลายเวท
แบนตั้มเวท
เกิด25 ตุลาคม พ.ศ. 2487
ตำบลจักรวรรดิ อำเภอสัมพันธวงศ์ จังหวัดพระนคร ประเทศไทย
เสียชีวิต7 มีนาคม พ.ศ. 2565 (77 ปี)
ชกทั้งหมด40
ชนะ29
ชนะน็อก6
แพ้8 ( แพ้น็อก 4 )
เสมอ3
ผู้จัดการบุญส่ง กิจกล่ำศวร

เบิกฤกษ์ ชาติวันชัย มีชื่อจริงในอดีตคือ ติณพงษ์ หาญตนศิริสกุล เป็นชาวไทยเชื้อสายจีน (แซ่ห่าน) เกิดเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2487 ที่ย่านสะพานหัน จังหวัดพระนคร จบการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 (ม.6) จากโรงเรียนชิโนรสวิทยาลัย และเข้ารับการศึกษาต่อจากโรงเรียนการไปรษณีย์จนจบ หลังจากนั้นจึงเข้ารับราชการหลังแขวนนวมแล้ว

ประวัติ[แก้]

จากแชมป์มวยไทยสู่แชมป์โลกคนที่ 3[แก้]

เบิกฤกษ์ เคยชกมวยไทยมาอย่างโชกโชน จนเป็นมวยชื่อดัง นับเป็นมวยฝีมือดี คล่องแคล่วว่องไว สายตาดี ได้ครองแชมป์เวทีลุมพินีรุ่นฟลายเวท ชนะคะแนน หลักชัย สิงห์เมืองสอง และต่อมาได้ครองแชมป์มวยไทยของทั้งสนามมวยเวทีลุมพินี และเวทีราชดำเนินรุ่นแบนตั้มเวทด้วย จากนั้นเบิกฤกษ์จึงหันมาชกมวยสากล เนื่องจากไม่มีคู่ชกแล้วในแบบมวยไทย โดยอยู่ในสังกัดของ บุญส่ง กิจกล่ำศวร และ "พญาอินทรี" เทียมบุญ อินทรบุตร โปรโมเตอร์ชื่อดังในสมัยนั้น โดยขึ้นชกครั้งแรกเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2510 ชนะคะแนน สมฤกษ์ ร.ส.พ. ที่ลุมพินี จากนั้นชกชนะนักมวยที่มีชื่อเสียงหลายคน เช่น ศักดิ์หน่อย ศ.โกสุม ริค มากราโม วิทยาน้อย สิงห์ยอดฟ้า เบอร์นาเบ้ วิลลาแคมโป ทางกลุ่มผู้สนับสนุนจึงได้ให้ขึ้นแชมป์โลกกับ เบอร์นาเบ้ วิลลาแคมโป้ นักมวยชาวฟิลิปปินส์ คู่ปรับเก่าที่ไปคว้าแชมป์โลกมาด้วยการชนะคะแนน ฮิโรยูกิ เอบิฮาระจากญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2513 ที่สนามกีฬาจารุเสถียร ทั้ง ๆ ที่เบิกฤกษ์เพิ่งมีประสบการณ์ชกมวยสากลอาชีพมาได้แค่ 11 ไฟท์เท่านั้น

ผลการชก เบิกฤกษ์เอาชนะคะแนนไปได้อย่างคู่คี่สูสีตลอดทั้งการชก 15 ยก ได้เป็นแชมป์โลก WBA รุ่นในฟลายเวท และเป็นแชมป์โลกคนที่ 3 ของไทย โดยการได้แชมป์โลกครั้งนี้ของเบิกฤกษ์นับว่าเป็นครั้งแรกของเมืองไทย ที่มีแชมป์โลกพร้อมกันทีเดียวถึง 2 คน โดยอีกคนในเวลานั้นก็คือ ชาติชาย เชี่ยวน้อย ซึ่งขณะนั้นเพิ่งได้เป็นแชมป์ในสมัยที่ 2 โดยครองแชมป์ของเดอะ ริง (The Ring) และสภามวยโลก (WBC) รุ่นฟลายเวท พร้อมกันทีเดียวสองสถาบัน และยังเป็นการทำลายความเชื่อที่เชื่อว่า นักมวยที่เคยขึ้นชกมวยไทยไม่สามารถเอาดีทางด้านมวยสากลได้ เพราะแชมป์โลก 2 คน ก่อนหน้านั้น ทั้ง โผน กิ่งเพชร และชาติชาย เชี่ยวน้อย ต่างไม่เคยชกมวยไทยมาก่อนเลย

เสียแชมป์[แก้]

หลังจากครองแชมป์โลก เบิกฤกษ์เดินทางไปชกนอกรอบกับเออร์บิโต้ ซาลาวาเรีย เมื่อ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2533 ปรากฏว่าเบิกฤกษ์เป็นฝ่ายแพ้คะแนน จากนั้น เดินทางไปป้องกันตำแหน่งครั้งแรก เบิกฤกษ์ ก็เสียตำแหน่งทันทีให้แก่ มาซาโอะ โอบะ ซึ่งเป็นนักมวยอันตรายชาวญี่ปุ่น ที่เคยเอาชนะชาติชาย เชี่ยวน้อย มาแล้ว โดยแพ้ทีเคโอ​ยก 13 ถึงประเทศของผู้ท้าชิงเอง ซึ่งก็เป็นไปตามความคาดหมายของแฟนมวยชาวไทยอยู่แล้ว จากนั้นเบิกฤกษ์ก็ยังคงชกมวยต่อไป โดยหวังจะได้ขึ้นชิงแชมป์โลกอีกครั้ง หลังจากเสียแชมป์ เบิกฤกษ์ขึ้นชกที่เวทีราชดำเนินอีก 4 ครั้ง ชนะ 3 แพ้ 1 จากนั้น และเมื่อ ชาติชาย เชี่ยวน้อย เสียตำแหน่งแชมป์ครั้งที่ 2 ไป ทั้งคู่ก็ได้ชกกัน โดยที่ผู้ชนะจะได้รับการสนับสนุนให้ชิงแชมป์โลกอีกครั้ง ในรายการป๊อบท็อป ของ พ.อ.(พิเศษ) การุณ เก่งระดมยิง ทางช่อง 5 เมื่อ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 ซึ่งเบิกฤกษ์เป็นฝ่ายแพ้คะแนน หลังจากชกแพ้ชาติชายแล้ว เบิกฤกษ์ขึ้นชกชนะคะแนนฟรานซิสโก ครูซจากฟิลิปปินส์อีกเพียงครั้งเดียวเท่านั้น จากนั้นชกแพ้ตลอด รวมทั้งแพ้น็อค ถนอมจิต สุโขทัย ยก 10 แพ้คะแนน ฮง ซู-ฮวัน เบิกฤกษ์ขึ้นชกครั้งสุดท้ายเมื่อ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2516 แพ้น็อค เฟอร์นันโด คาบาเนยา ยก 5 ที่ฟิลิปปินส์ จากนั้นจึงแขวนนวมไป[1]

หลังแขวนนวม[แก้]

เบิกฤกษ์ ชาติวันชัย มีชื่อที่แฟนมวยเรียกกันติดปากว่า "ไอ้เหม็น" ชีวิตหลังแขวนนวมเบิกฤกษ์ทำงานเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจ ตำแหน่งนายไปรษณีย์ระดับ 6 การสื่อสารแห่งประเทศไทย (กสท.) และเปลี่ยนชื่อ นามสกุล เป็น "เบิกฤกษ์ ชาติวันชัย" ตามชื่อนักมวยตัวเอง มีชีวิตความเป็นอยู่สุขสบายดี

นอกจากนี้ เบิกฤกษ์ ชาติวันชัย ยังได้เป็นเทรนเนอร์ของ โอเล่ห์ดง ศักดิ์เสมอชัย และ พงษ์ศักดิ์เล็ก ศิษย์คนองศักดิ์ ร่วมกับ พยัคฆ์ ช.พิมล อีกด้วย โดยพยัคฆ์ได้ขอให้เบิกฤกษ์มาช่วยเป็นกรณีพิเศษในการที่ทั้งคู่จะไปชกป้องกันตำแหน่งที่ประเทศญี่ปุ่นในปลายเดือนมีนาคม พ.ศ. 2553[2]

เกียรติประวัติ[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. ชายพจน์. มวยดังไทยแลนด์ในอดีต:"ไอ้เหม็น" เบิกฤกษ์ ชาติวันชัย แชมป์โลกคนที่ 3 ของไทย. นิตยสารมวยโลก. เล่มที่ 850. ธันวาคม 2542. หน้า 42-44
  2. หน้า 18 หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันเสาร์ที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2553 แรม 6 ค่ำ เดือน 4 ปีฉลู

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]